เมื่อ ‘จม.วิจารณ์ร่างรธน.’ ถูกทำให้กลายเป็น ‘จม.บิดเบือน’: ประมวลสถานการณ์กรณีจับกุมบุคคลภายในมทบ.11

ตลอดครึ่งเดือนที่ผ่านมา ข่าวสารและเหตุการณ์ในกรณีจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่พบตามตู้ไปรษณีย์ในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ถูกนำเสนอแทบจะรายวัน ตั้งแต่การตรวจพบจดหมายของเจ้าหน้าที่ การติดตามตรวจค้นบ้านบุคคลหลายราย กระทั่งมาถึงการควบคุมตัวบุคคลมากกว่า 10 ราย เข้าไปในมณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดทำจดหมายดังกล่าว ในจำนวนนี้มีทั้งนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ บุคคลในตระกูลที่มีชื่อเสียงทางธุรกิจ-การเมืองท้องถิ่น ได้แก่ ตระกูลบูรณุปกรณ์ รวมทั้งพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายคน

จากการรวบรวมข่าวสารในกรณีนี้ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 31 ก.ค.59 พบว่ามีบุคคลถูกจับกุม ควบคุมตัว และกล่าวหาดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 17 ราย โดยมีจำนวน 12 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามคำสั่งห้วหน้าคสช.ที่ 3/2558 ควบคุมตัวอยู่ภายในมทบ.11 โดยยังไม่มีความชัดเจนเรื่องข้อกล่าวหา ส่วนอีก 1 ราย ยังอยู่ระหว่างการติดตามตัวของเจ้าหน้าที่ ขณะที่อีก 4 รายที่จังหวัดลำปาง ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ ก่อนได้รับการประกันตัว นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐยังมีการเข้าตรวจค้นบ้านบุคคลหรือเชิญตัวบุคคลมาพูดคุยอีกหลายราย เพื่อติดตามตรวจสอบหาความเชื่อมโยงในกรณีนี้

รายงานชิ้นนี้ประมวลลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดในกรณีนี้ตั้งแต่การตรวจพบจดหมาย การติดตามตรวจค้น และการดำเนินการจับกุมของเจ้าหน้าที่ พร้อมชี้ให้เห็นปัญหาของการดำเนินการในกรณีนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้บรรยากาศการลงประชามติที่ไม่เปิดกว้าง ไม่เสรี และไม่เป็นธรรม

พบจดหมายกว่า 1 หมื่นฉบับ ในพื้นที่ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่

วันที่ 12 ก.ค.59 เป็นวันแรกของการมีรายงานข่าวการพบจดหมาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์เมืองลำปาง โดยมีการพบจดหมายจำนวนกว่า 3,000 ฉบับ ในลักษณะเป็นซองจดหมายสีขาว มีตราครุฑอยู่มุมซ้ายบน จ่าหน้าซองถึงบ้านเลขที่ของผู้รับ แต่ไม่มีการระบุถึงชื่อผู้รับ และไม่ระบุชื่อของผู้ส่ง โดยพบตามตู้ไปรษณีย์หลายตู้ในเขตตัวเมืองลำปาง ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเข้าตรวจสอบ พบว่าด้านในเป็นเอกสารแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความเชิญชวนประชาชนไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่จึงอายัดจดหมายเอาไว้

ต่อมาวันที่ 13 ก.ค.59 รายงานข่าวระบุว่ามีการพบจดหมายลักษณะเดียวกันนี้อีกกว่า 2,000 ฉบับ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยพบในตู้ไปรษณีย์สาธารณะในพื้นที่อำเภอรอบเมืองเชียงใหม่ เช่น สันทราย สันกำแพง สันป่าข่อย แม่ริม และแม่โจ้ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจึงได้เข้าตรวจยึดทั้งหมดที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดเชียงใหม่ ในวันเดียวกัน ยังพบจดหมายในพื้นที่จังหวัดลำพูน อีกกว่า 450 ฉบับ โดยมีการระบุปลายทางผู้รับไว้ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 14 ก.ค.59 ในจังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบจดหมายดังกล่าวเพิ่มอีกราว 1,000 ฉบับ ส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังพบจดหมายเพิ่มอีกกว่า 4,000 ฉบับ รายงานข่าวยังระบุว่าจดหมายบางส่วนถูกส่งมาจากตู้ไปรษณีย์ในเขตดุสิต กรุงเทพฯ มายังจังหวัดเชียงใหม่ด้วย  ทำให้รวมแล้ว 3 วัน มีการตรวจพบและยึดจดหมายดังกล่าวมากกว่า 10,000 ฉบับ ทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน  ในแต่ละพื้นที่ได้มีการส่งจดหมายให้กกต.ตรวจสอบ และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ส่งจดหมายดังกล่าวด้วย

1

3

ภาพเจ้าหน้าที่เข้าตรวจดูจดหมายที่ไปรษณีย์จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.59 (ภาพจาก North Public News)

จนท.เข้าตรวจค้นบ้านแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่ พร้อมให้พิมพ์ลายนิ้วมือเทียบ

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในแต่ละพื้นที่ ได้มีการเข้าตรวจค้นบ้านของแกนนำเสื้อแดงหลายราย เพื่อติดตามหาผู้เกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายดังกล่าว โดยวันที่ 19 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 32 จังหวัดลำปาง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านของนายรัชชานนท์ รอดฉวาง แกนนำเสื้อแดงในลำปาง ทั้งเจ้าหน้าที่ยังมีการให้นายรัชชานนท์ไปพิมพ์ลายนิ้วมือที่ สภ.ห้างฉัตร เพื่อนำลายนิ้วมือและฝ่ามือไปตรวจสอบเทียบกับลายนิ้วมือแฝงที่อยู่บนซองจดหมาย แต่ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือหลักฐานใด

ต่อมาวันที่ 20 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในจังหวัดลำปาง ยังได้เข้าไปพบนางธิมลวรรณ จินากูล แกนนำคนเสื้อแดงอีกรายในจังหวัด ที่ร้านถ่ายเอกสารของเธอ โดยเจ้าหน้าที่มีการทดลองถ่ายเอกสารกับเครื่องภายในร้าน เพื่อตรวจสอบเทียบกับหมึกพิมพ์ในเอกสารแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ และยังให้นางธิมลวรรณพิมพ์ลายนิ้วมือและฝ่ามือเช่นเดียวกัน เพื่อนำไปเทียบเคียงกับลายนิ้วมือแฝงบนซองจดหมาย แต่ก็ไม่พบสิ่งเกี่ยวข้องใด

ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายงานข่าวการเข้าตรวจค้นบ้านพักของแกนนำ นปช.เชียงใหม่-ชมรมคนรักประชาธิปไตย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นแกนนำเปิดศูนย์อบรมสื่ออาสา แต่ผลการตรวจค้นก็ไม่พบหลักฐานใด นอกจากนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านของแกนนำเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่อีกอย่างน้อย 1 ราย แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่พบหลักฐานใดเกี่ยวกับเรื่องจดหมายดังกล่าว การตรวจค้นดังกล่าวไม่มีรายงานชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่มีหมายศาลหรืออ้างอำนาจใดในการดำเนินการ

31-6-768x453

ภาพเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเข้าตรวจค้นร้านของแกนนำเสื้อแดงลำปาง พร้อมให้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ (ภาพจากมติชนออนไลน์)

จนท.เข้าตรวจค้นหลายจุดที่เกี่ยวข้องกับตระกูลบูรณุปกรณ์ 

จนกระทั่งวันที่ 23 ก.ค.59 ตั้งแต่ในช่วงเช้า รายงานข่าวระบุว่ามีการสนธิกำลังกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 6 จุด โดยส่วนหนึ่งในนั้น ได้แก่ ที่บริษัท ทัศนาภรณ์ จำกัด บริเวณถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลบูรณุปกรณ์ รวมทั้งบ้านที่ตรงข้ามกันกับบริษัทดังกล่าว ส่วนเป้าหมายอื่นๆ อีก 4 จุด รายงานข่าวระบุว่าตั้งอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน

ในช่วงสายวันเดียวกัน ทหารและตำรวจยังได้นำกำลังเข้าตรวจค้นที่สำนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก ซึ่งมีนายคเชน เจียกขจร ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก และมีศักดิ์เป็นหลานเขยของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ โดยได้เข้าตรวจค้นห้องทำงานของนายกเทศมนตรี และห้องทำงานสำนักปลัดเทศบาล นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำการตรวจค้นบ้านพักส่วนตัวของนายคเชนด้วย รายงานข่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดหลักฐานที่เชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับกรณีจดหมายได้จำนวนหนึ่ง

559000007549504

ภาพจากเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจเข้าตรวจค้นสถานที่เกี่ยวข้องกับตระกูลบูรณุปกรณ์ ในจังหวัดเชียงใหม่ (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

สู่การจับกุมพนักงานอบจ.เชียงใหม่ พร้อมคุมตัวครอบครัวไปค่ายทหาร

ในช่วงบ่ายวันที่ 23 ก.ค.นั้นเอง รายงานข่าวจากประชาไทระบุว่าว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวนายวิศรุต คุณะนิติสาร อายุ 38 ปี เป็นพนักงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ขณะลงมาเยี่ยมญาติที่กรุงเทพฯ โดยถูกจับที่คอนโดของน้องสาวย่านลาดพร้าว ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ 473/2559 ลงวันที่ 22 ก.ค.59 ข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 จากกรณีเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังมีการนำหมายค้นเข้าค้นห้องของน้องสาวด้วย นายวิศรุตได้ถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อทำบันทึกการจับกุม ก่อนคุมตัวเดินทางโดยเครื่องบินไปยังจังหวัดเชียงใหม่

ครอบครัวของนายวิศรุตเปิดเผยกับทนายความด้วยว่า ขณะที่มีการจับกุมนายวิศรุตที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดเชียงใหม่ยังได้อ้างอำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวพ่อและแม่ของนายวิศรุตเข้าไปพูดคุยภายในค่ายกาวิละด้วย

ในช่วงเย็นวันนั้นเอง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวกับความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 โดยในกรณีการส่งจดหมายที่มีเนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ระบุว่าระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค.ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน พบจดหมายดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 11,181 ฉบับ ขณะเดียวกันในการแถลงข่าวยังมีการนำตัวนายสามารถ ขวัญชัย ผู้ต้องหาจากกรณีแปะใบปลิวโหวตโนที่ห้างในจังหวัดเชียงใหม่ ไปนั่งแถลงข่าวด้วย ทั้งที่ไม่ใช่กรณีเดียวกันและไม่เกี่ยวข้องกันกับกรณีจดหมายแต่อย่างใด

559000007563101

ภาพการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวกับประชามติที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

ลำปาง-ลำพูนจับกุมดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ประชามติอย่างน้อย 4 ราย

ด้านที่จังหวัดลำพูน ในวันเดียวกับที่มีการจับกุมนายวิศรุต (23 ก.ค.) รายงานข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พร้อมฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันเข้าจับกุมตัวนายพงษ์พันธ์ จีระวัง อายุ 33 ปี ทำอาชีพเปิดร้านซักรีดร่วมกับภรรยา ตามหมายจับของศาลจังหวัดลำปาง ที่ 116/2559 ลงวันที่ 22 ก.ค.59 ในข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 เนื่องจากตรวจสอบหลักฐานแล้วตรงกับลายนิ้วมือแฝงบนซองจดหมายที่ส่งในตู้ไปรษณีย์ในพื้นที่ลำปาง นายพงษ์พันธ์ได้ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ยังมีการเข้าค้นบ้านพักของนายจรัญศักดิ์ ปัญโญใหญ่ พนักงานขับรถของเทศบาลตำบลบ้านธิ ที่มีการระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยจ้างวานให้พับจดหมายใส่ซองด้วย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานข่าวที่ชัดเจนว่ามีการจับกุมตัวนายจรัญศักดิ์หรือไม่

ในวันต่อมา (24 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังได้เข้าตรวจค้นเพิ่มเติมในพื้นที่อำเภอบ้านธิ จำนวน 2 จุด ได้แก่ บ้านพักของนายวรชาติ ศรีไม้ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านธิ และตรวจค้นห้องทำงานของนายกเทศมนตรีตำบลบ้านธิ โดยตรวจสอบทั้งเอกสารและค้นข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ทั้งสองจุดไม่พบเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ

จนวันที่ 27 ก.ค. พ.ต.อ.นิคม เครือนพรัตน์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองลำปาง เปิดเผยกับมติชนออนไลน์ว่าในพื้นที่จังหวัดลำปาง ซึ่งพบจดหมายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 4,306 ซอง เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาไปแล้ว 4 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน แต่ในรายงานข่าวยังไม่มีการระบุชื่อผู้ต้องหาเอาไว้ ทั้งหมดได้ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดลำปางในการฝากขัง และต่อมาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท  รวมทั้ง ผู้ต้องหายังมีการซัดทอดไปยังผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นอีก ทำให้ได้มีการขออำนาจศาลในการออกหมายจับเพิ่มเติมอีก

Image (1)

ภาพเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นในพื้นที่อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

คุมตัว ‘ทัศนีย์’ พร้อมพวก 6 ราย เข้ามทบ.11 อ้างผิดม.116

ระหว่างนั้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนขยายผลเพิ่มเติมหลังการจับกุมนายวิศรุต โดยวันที่ 25 ก.ค. มีการนำกำลังเข้าตรวจค้นห้องทำงานของนายวิศรุต ที่กองการศึกษา สำนักงานปลัดเทศบาลตำบลช้างเผือก และต่อมาได้คุมตัวนักศึกษาฝึกงานจำนวน 3 คน เป็นชาย 1 หญิง 2 คน ไปสอบปากคำในฐานะพยานที่ สภ.แม่ปิง เนื่องจากคาดว่าได้รับคำสั่งจากบุคคลให้ลบข้อมูลบางส่วนออกจากเครื่องพิวเตอร์

ต่อมาวันที่ 26 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ออกคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 44/2559 ให้มีการพักราชการนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการชั่วคราวไว้ก่อน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการตรวจสอบโดยเร็ว  ในกรณีพบว่ามีผู้บริหารหรือข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับ “การกระทําความผิด”

กระทั่งกลางดึกวันที่ 26 ก.ค.59 นั้นเอง เจ้าหน้าที่ได้พยายามเข้าควบคุมตัวน.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ น้องสาวของนางทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยจากคำบอกเล่าของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ระบุว่าในคืนวันดังกล่าว ขณะน.ส.ธารทิพย์กำลังกลับเข้าบ้าน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจำนวนมากได้ดักรออยู่ ก่อนเข้าทำการปิดหัวปิดท้ายรถกักไม่ยอมให้ไปไหน โดยเจ้าตัวไม่ยินยอมไปกับเจ้าหน้าที่เพราะเป็นเวลากลางดึก ก่อนจะมีพี่ชายช่วยเจรจา เจ้าหน้าที่จึงยอมให้แม่ของน.ส.ธารทิพย์เข้าไปในบ้าน จนกระทั่งเวลาประมาณ 2.00 น. เจ้าหน้าที่จึงยอมให้น.ส.ธารทิพย์กลับเข้าไปในบ้าน ก่อนที่เช้าวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่เวลา 6.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมากได้เข้านำตัวน.ส.ธารทิพย์ไปยังค่ายทหาร

ในช่วงเช้าวันที่ 27 ก.ค.59 จึงได้ปรากฏรายงานข่าวว่ามีการติดตามตัวผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ที่ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายของคสช. ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษที่กองปราบปราม ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการควบคุมตัวบุคคล 7 ราย เอาไว้ ได้แก่ นายคเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก, น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ อาชีพทันตแพทย์, นายอติพงษ์ คำมูล เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลช้างเผือก, นางกอบกาญจน์ สุชีตา, นางสุภาวดี งามเมือง, น.ส.เอมอร ดับโสรก และนายวิศรุต คุณะนิติสาร

ในเวลา 8.00 น. ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มีการชี้แจงเหตุผลเรื่อง “การเชิญตัว” ต่อทั้ง 7 คนภายในห้องประชุมของค่ายกาวิละ ก่อนที่เวลา 9.00 น. จะนำตัวทั้งหมดเดินทางไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 เขตดุสิต กรุงเทพฯ เพื่อควบคุมตัวไว้ โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.

ในวันเดียวกันเวลา 12.00 น. ที่กรุงเทพมหานคร น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายกอบจ.เชียงใหม่ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดต่อขอเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกรณีถูกกล่าวหา แต่ในขณะที่ยังไม่ได้พบผบ.ตร.แต่อย่างใด พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ได้เข้าควบคุมตัว น.ศ.ทัศนีย์ โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2556 ก่อนนำตัวขึ้นรถทหารไปยังมทบ.11 เช่นกัน

ทัศนีย์1

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวน.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

คุมตัว ‘บุญเลิศ’ นายกอบจ.เชียงใหม่เข้ามทบ.11

หลังจากนั้น การติดตามตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ยังดำเนินต่อไป โดยช่วงบ่ายวันที่ 27 ก.ค. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และปกครอง กว่า 50 นาย ได้บุกเข้าตรวจค้นห้องทำงานของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการตรวจยึดฮาร์ดดิสก์วงจรปิด-คอมพิวเตอร์ จำนวน 3 ชุด และยังเข้าตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เทศบาลตำบลช้างเผือกซ้ำอีกครั้ง

จนในช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.ค. มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่สนธิกำลังสามฝ่ายเข้าควบคุมตัวนายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งของ คสช. หลังพบหลักฐานที่ตรวจยึดได้เพิ่มเติม โดยนำตัวเข้าไปที่ มทบ.11 เช่นเดียวกัน โดยที่นายไพรัช ไม่ได้มีรายชื่ออยู่ใน 11 ราย ที่รายงานข่าวระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความที่กองปราบปรามแต่อย่างใด

ถึงช่วงเย็นวันที่ 28 ก.ค. นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ ได้เดินทางกลับจากต่างประเทศมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่จึงพูดคุยให้เข้า “รายงานตัว” ในวันรุ่งขึ้น ทำให้ในเช้าวันที่ 29 ก.ค. เจ้าหน้าที่ทหารค่ายกาวิละจึงได้นำตัวนายบุญเลิศเดินทางขึ้นเครื่องบิน เพื่อนำส่งตัวไปยังมทบ.11 เช่นกัน  อีกทั้ง มีรายงานว่ามีการควบคุมตัวนายอัครพล ถนอมศิลป์ เจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ไปยังมทบ.11 อีกรายหนึ่ง โดยนายอัครพลไม่ได้มีรายชื่ออยู่ใน 11 คนแต่อย่างใด แต่รายงานข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องในการจัดพิมพ์เอกสารในจดหมายดังกล่าว

นอกจากนั้น มีรายงานข่าวว่านายกฤตกร โพธยา ที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นพนักงานขับรถของเทศบาล และเป็น 1 ใน 11 คน ซึ่งถูกแจ้งความที่กองปราบปราม ได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกแล้วเช่นกัน ยังเหลือเพียงนายเทวรัตน์ วินต๋า ที่เป็น 1 ใน 11 ราย ที่ยังไม่มีข่าวระบุว่าเดินทางเข้ารายงานตัวแล้วหรือไม่

โดยสรุปในเบื้องต้น จนถึงวันที่ 31 ก.ค.59 ในกรณีการส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ภาคเหนือ มีบุคคลถูกจับกุม ควบคุมตัว และกล่าวหาดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 17 ราย โดยมีจำนวน 12 รายถูกเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามคำสั่งห้วหน้าคสช.ที่ 3/2558 ควบคุมตัวอยู่ภายในมทบ.11 ส่วนอีก 1 ราย ยังอยู่ระหว่างการติดตามตัวของเจ้าหน้าที่ ขณะที่อีก 4 รายที่จังหวัดลำปาง ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ ก่อนได้รับการประกันตัวแล้ว

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการปล่อยตัวบุคคลถูกควบคุมตัวในมทบ.11 โดยญาติ เพื่อน และทนายความยังไม่สามารถเข้าพบบุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ ทั้งยังมีกระแสข่าวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว อาจถูกแจ้งความผิดถึง 3 ข้อหา ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบ) มาตรา 210 (ความผิดฐานเป็นซ่องโจร) และ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งในกรณีหากมีการแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 จะทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารอีกด้วย

111

ภาพนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ ขณะถูกจนท.ควบคุมตัวเดินทางไปมทบ.11 (ภาพจากไทยรัฐออนไลน์)

การเบือนบิดให้กลายเป็น “จดหมายบิดเบือน”

ตลอดลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีจดหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวได้ว่าแทบไม่มีสื่อใดนำเสนอเนื้อหาที่ชัดเจนของจดหมายดังกล่าว แต่เรื่องราวกลับถูกนำเสนอตามการให้ “ความเห็น” ของคสช. กกต. หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ระบุว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการ “บิดเบือน” สาระของร่างรัฐธรรมนูญ หรือนำเสนอข่าวในลักษณะว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปลอม” และมีความผิดตาม“กฎหมาย”

หากโดยข้อเท็จจริง จดหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทความขนาดสั้น ยาว 1 หน้ากระดาษเอสี่ ระบุชื่อบทความว่า “จริงหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตัดสิทธิ์ของประชาชน” โดยเนื้อหาระบุไล่เรียงถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ การลงประชามติที่จะเกิดขึ้นวันที่ 7 ส.ค.59 พร้อมกับนำเสนอประเด็นจากร่างรัฐธรรมนูญนี้จำนวน 3 ประเด็นสั้นๆ ได้แก่ เรื่องสิทธิด้านการรักษาพยาบาลฟรี, เรื่องการช่วยเหลือบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี และเรื่องสิทธิการเรียนฟรี พร้อมระบุเพิ่มเติมถึงคำถามพ่วงในการลงประชามติ ทั้งได้เขียนปิดท้ายว่า “อนาคตของประเทศไทยและสิทธิของประชาชนจะหายไปหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับผลประชามติ 7 สิงหาคม 2559 นี้”

จม.เต็ม

เนื้อหาในจดหมายอันเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ในเรื่องนี้ (ภาพจากเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา)

หากอ่านจดหมายทั้งหมด จะพบว่าในเนื้อหาไม่ได้มีข้อความตอนใดที่มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ และไม่ได้มีข้อความตอนใด ที่ระบุโดยตรงให้ผู้อ่านไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่มีลักษณะเป็นเพียงจดหมายที่มีถ้อยคำเชิญชวนให้ไปร่วมลงประชามติ นำเสนอคำถามพ่วงที่มีในการลงประชามติ และแสดงความเห็นในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำปกติ ทั้งโดยเนื้อหาก็ไม่ได้มีลักษณะเนื้อหาที่เป็นการปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นข้อหาในหมวดความมั่นคงแต่อย่างใด

แม้ในส่วนของข้อความที่วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น อาจมีเนื้อหาส่วนที่ “ตีความผิดไป” บ้าง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้วิธีการในการชี้แจง ทำความเข้าใจ หรือนำเสนอการ “ตีความ” ในมุมมองของฝ่ายตนได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย และเปิดให้ประชาชนในสังคมใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินใจ ภายใต้การเปิดให้มีเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

มาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติเอง ก็มีปัญหาบัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ ทั้งคำว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “ปลุกระดม” ยังเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทั้งที่ตามหลักกฎหมายอาญา การบัญญัติกฎหมายต้องใช้ถ้อยคำที่มีความชัดเจนแน่นอน และตีความอย่างเคร่งครัด ทำให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่

อีกทั้งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังถูกนำไปบังคับใช้ร่วมกับคำสั่งหัวหน้าคสช. ในการเข้าปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จับกุมดำเนินคดีการแสดงออกในลักษณะต่างๆ ของประชาชนต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สร้างบรรยากาศของลงประชามติที่ไม่เปิดกว้างและไม่เสรีอย่างต่อเนื่อง (ดูในรายงาน Not Free and Fair การรณรงค์ที่ต้องจ่ายด้วยเสรีภาพ: ประมวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิก่อนออกเสียงประชามติ)

การเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งโดยการถกเถียง แลกเปลี่ยน ให้ฝ่ายต่างๆ ได้นำเสนอความคิดเห็นทางสาธารณะอย่างรอบด้าน นอกจากจะเป็นการทำให้คนในสังคมได้ใช้วิจารณญาณของตนเองในการทำความเข้าใจ คิด วิเคราะห์ แยกแยะความเห็นของฝ่ายต่างๆ แล้ว ยังเป็นลดการดำเนินการแสดงออกในลักษณะ “ไม่เปิดเผย” หรือ “ไม่แสดงตัวตน” ของผู้แสดงออกได้ด้วย เนื่องจากการแสดงออกอย่างสงบสันติในทางสาธารณะสามารถทำได้อย่างเป็นปกติโดยไม่ต้องหวาดกลัว

การดำเนินการที่เกิดขึ้นโดยคสช.และเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีของจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งการนำตัวไปควบคุมภายในค่ายทหาร การไม่อนุญาตให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยม การใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หรือการเตรียมใช้ข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ซึ่งจะทำให้คดีถูกนำไปพิจารณาในศาลทหารนั้น จึงมีลักษณะเกินสมควรกว่าเหตุ เป็นการบิดเบือน “กฎหมาย” มาใช้ตามอำเภอใจ และมุ่งใช้ “กฎหมาย” ในลักษณะเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อกดปราบการแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ และควบคุมการแสดงออกของคนในสังคม

แม้แต่การดำเนินปฏิบัติการข่าวสารในลักษณะที่ “บิดเบือน” ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น “ใหญ่โต” เกินจริง หรือกลายไปเป็นเรื่องที่ “ร้ายแรง” เกินกว่าข้อเท็จจริง โดยที่ประชาชนหรือสังคมไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงของเนื้อหาแต่อย่างใด ก็มีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของการมุ่งสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม ทำให้ประชาชนไม่สามารถแน่ใจได้ว่าการแสดงความเห็นต่อประชามติหรือร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะใดทำได้หรือไม่ได้ กระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และยิ่งทำให้บรรยากาศของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่เปิดกว้าง ไม่เสรี และไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

 

X