คุยกับจิตแพทย์: เมื่อผู้ป่วยจิตเภทเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 นอกจากจับกุมดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านั้นแล้ว ยังปรากฏกรณีผู้ต้องหาที่เป็นผู้ป่วยมีอาการเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 7 ราย ซึ่งนับเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ทั้งหมด 30 คดี ที่ศูนย์ทนายสิทธิฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหลังรัฐประหาร

จำเลยในกลุ่มนี้เคยได้รับการตรวจและรักษาอาการทางจิตเภทมาก่อนเกิดเหตุคดี อาการมีทั้งผู้ป่วยที่มีอาการหูแว่วและหวาดระแวง คล้ายมีคนมาพูดอยู่ที่ข้างหู บางรายก็ได้ยินเสียงที่ข้างหูบอกให้ฆ่าตัวตายหรือบอกให้ทำนั่นทำนี่ บางรายก็มีอาการพูดคนเดียวและคิดว่ามีร่างทรง มีไมโครชิพอยู่ในสมอง หรือบางรายก็มีอาการประสาทหลอน คิดว่าตนเองเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ

ในจำนวน 7 รายนี้ มีคดีที่ศาลพิพากษาตัดสินไปแล้วจำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีของสมัคร และคดีของทะเนช โดยทั้งสองคดี ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย และไม่ได้นำเรื่องอาการทางจิตมาพิจารณาในทางละเว้นหรือบรรเทาโทษแก่ตัวจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 แต่อย่างใด ขณะที่คดีที่เหลือก็ยังต้องต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยที่จำเลยบางคนก็ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และหลายคดียังถูกพิจารณาในศาลทหาร (ดูในรายงาน)

จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้พูดคุยขอความรู้จากจิตแพทย์ท่านหนึ่ง ที่เคยเป็นผู้ดูแลและรักษาอาการของผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 รายหนึ่ง ซึ่งคุณหมอวินิจฉัยและยืนยันว่าเขามีอาการทางจิตเภท คุณหมอท่านนี้ทำงานจิตแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลในจังหวัดแห่งหนึ่งมากว่า 30 ปี ทำให้ได้คลุกคลีและตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเภทเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีบทบาทในการนำเสนอความรู้ด้านจิตเภทต่อสังคมไทยมาหลายปี

คุณหมอยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม ทั้งเคยไปเบิกความในศาลถึงอาการของผู้ป่วยในฐานะจิตแพทย์ในหลายคดี และยังเข้าไปตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในจังหวัด โดยคุณหมอเล่าว่าได้ขอทางเรือนจำเข้าไปตรวจผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ถูกคุมขังเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง ถึงปัจจุบันก็กว่า 20 ปีแล้ว ทั้งที่เรือนจำแต่ละแห่งโดยปกติแล้ว ไม่ได้มีนโยบายให้มีจิตแพทย์เข้าไปตรวจรักษาในเรือนจำเป็นประจำ และบุคลากรอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในต่างจังหวัดก็มีอย่างจำกัดจำเขี่ย

จากประสบการณ์ดังกล่าว คุณหมอเห็นว่าการจัดการกับผู้ป่วยจิตเภทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีความต่างๆ ของสังคมไทย มีปัญหาแทบทั้งหมด ตั้งแต่คดีเล็กน้อย อย่างข้อหาลักทรัพย์ ไปจนถึงคดีที่ความอ่อนไหวต่างๆ หรือแม้แต่คดีทางการเมือง

แต่เนื่องจากไม่ต้องการจะเป็นข่าว และเห็นว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนไหวอยู่ในสังคมไทย คุณหมอจึงไม่สะดวกเปิดเผยชื่อสกุลในรายงานนี้ หากยังเห็นว่าบางส่วนของบทสนทนา ทั้งเรื่องหลักการกว้างๆ ของการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดี และปัญหาเรื่องนี้ในกระบวนการยุติธรรมไทย จะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ ศูนย์ทนายสิทธิฯ จึงเรียบเรียงมานำเสนอในที่นี้

 

เวลามีผู้ป่วยจิตเภทไปเกี่ยวข้องกับการก่อคดีต่างๆ โดยหลักการจะมีการตรวจพิสูจน์อย่างไรบ้าง

โดยหลักการคือเราอยากรู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภทหรือเปล่า ผู้ป่วยไม่ว่าจะก่อคดีอะไรก็ตาม จะเป็นคดีขโมยของ คดีฆาตกรรม ถ้าเขาเป็น ก็คือมีความเป็นไปได้ที่เขาจะไม่รู้ “สาระของการกระทำ” เขาอาจรู้ว่ากำลังทำอะไร ทำไปโดยรู้สึกตัว แต่เขาไม่รู้สาระของการกระทำนั้น ไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนั้น มีความหมายว่าอย่างไร อันนี้คือหลักการกว้างๆ

คราวนี้ในทางปฏิบัติ จากประสบการณ์ของผม ผู้ป่วยบางคนไม่เคยได้รับการรักษาเลย ถ้าเป็นแบบนี้เราก็มีสมมติฐานว่า เขาไม่น่าจะรู้สาระของการกระทำ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมีความหมายว่าอย่างไร แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มรักษามาบ้าง หรืออยู่ระหว่างการรักษา อันนี้ก็จะเป็นปัญหาว่า ผลการรักษาดีมากพอที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สาระหรือความหมายของการกระทำหรือยัง

แต่ในทางปฏิบัติ มันจะมีปัญหาว่ากว่าที่หมอจะได้ตรวจ มักจะล่วงเลยวันที่ก่อคดีมานาน อาจจะหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน คราวนี้สิ่งที่หมอตรวจได้ คือผลในวันที่เขาส่งมาพบหมอ ไม่ใช่ผลในวันที่ก่อคดี ดังนั้น หมอก็มีหน้าที่ให้ความเห็นว่าจากวันนั้นถึงวันนี้เนี่ย คิดว่าวันนั้นเขาเป็นอย่างไร

แต่โดยสมมติฐาน คือถ้าเขาเป็นผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง หรือการรักษาไม่เพียงพอ  วันนี้กับวันนั้น ก็ไม่น่าจะต่างกันมาก อันนี้เป็นสมมติฐาน

ทีนี้ การตรวจเพื่อไม่ให้มีความลำเอียง ปกติเราก็จะให้นักจิตวิทยาทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาก็จะใช้เครื่องมือทดสอบ เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ไม่ได้หมายถึงเครื่องเอ็กซ์เรย์ แต่คือแบบทดสอบที่มีการวิจัยมาแล้ว ก็อาจจะเป็นคำถาม เป็นโจทย์วาดรูป หรือให้ดูรูปนู้นนี่นั่น อันนี้เป็นเรื่องของวิชาชีพนักจิตวิทยา หรือ Psychologist  แต่อย่างจิตแพทย์นี่คือ Psychiatrist มีหน้าที่ตรวจสภาพจิต มันก็เหมือนกับหมอที่ตรวจร่างกาย แต่เราไม่ได้ตรวจสภาพร่างกาย เราตรวจสภาพจิต ก็จะมีวิธีการเฉพาะของมัน

ดังนั้น จะเห็นว่าโดยกระบวนการตรวจ มันจะมีกระบวนการคานอำนาจของสองวิชาชีพอยู่แล้ว ว่าสอดคล้องไปในทางเดียวกัน หรือขัดแย้งกันหรือไม่ ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีจิตแพทย์หลายคน มีนักจิตวิทยาหลายคน ผลการตรวจ โดยเฉพาะที่เป็นเคสคดี แล้วยิ่งเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว ผลพวกนี้จะเข้าสู่ที่ประชุม เป็นที่ประชุมจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพื่อช่วยกันดู และลดอคติให้น้อยที่สุด พยายามให้มีความเป็นกลางสูงสุด

แต่ในโรงพยาบาลขนาดเล็กๆ มีจิตแพทย์แค่คนเดียว มันก็ไม่ค่อยเหมาะ หรือนักจิตวิทยาก็มีสองคน มันก็เป็นไปได้ ของมันตรวจผิดได้ เราทำดีที่สุด แต่เราต้องยอมรับว่ามันตรวจผิดได้ ดังนั้นนี่เป็นเรื่องของกระบวนการตรวจ ที่มันก็มีปัญหาอยู่

 

desktop-1420224700

desktop-1420226448

desktop-1420225210

ลักษณะภาพวาดของผู้ป่วยจิตเภท ที่พยายามสะท้อนภาพของสิ่งที่อยู่ในหัวของผู้ป่วยเอง

(ดูเพิ่มเติมที่ http://www.viralnova.com/schizophrenic-art/)

เราพบว่าในบางคดี แพทย์ที่ตรวจอาการผู้ป่วย วินิจฉัยว่าเขาเป็นจิตเภท แต่แพทย์กลับระบุกับศาลว่าเขาสามารถต่อสู้คดีได้ กลายเป็นว่าผู้ป่วยก็ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป

เข้าใจว่าอันนี้เป็นไปได้ที่คุณหมอมีประสบการณ์ทางด้านการให้การไม่มาก แล้วก็ใช้คำว่าอาจจะไม่เข้าใจกระบวนการมากเท่าที่ควร หรือไม่มั่นใจสิ่งที่ตนเองตรวจพบ หรือแม้กระทั่งไม่มั่นใจถึงผลกระทบที่จะตามมา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราคิดว่า ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย สำหรับทุกคน สำหรับระบบ ก็คือควรจะต้องตรวจด้วยองค์คณะ ซึ่งแปลว่าที่จะตรวจเรื่องทำนองนี้ได้ โดยเฉพาะในคดีสำคัญหรือมีความอ่อนไหว ควรเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งมีจิตแพทย์มากกว่าหนึ่งคน นักจิตวิทยามากกว่าสองคน และมีการประชุมเพื่อพิจารณาผลอย่างเที่ยงธรรม

เรียนตามตรงว่าสำหรับผม ผมจะให้การช่วยผู้ป่วย ถ้าวินิจฉัยว่าเขาเป็นจิตเภท เป็น Schizophrenia พูดง่ายๆ ว่าเขา “บ้า” แล้ววันที่ก่อคดี วันที่มาตรวจ แม้กระทั่งวันที่ผมไปขึ้นศาล ดูยังไงก็พบว่าเป็นจิตเภท คือไม่สามารถรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองทำ ไม่รู้สาระและความหมายของการกระทำ แต่เขาเป็นมนุษย์ที่คุยได้เหมือนเรา ถามได้ตอบได้ จนคนทั่วไปอาจคิดไปว่าเขาควรจะรู้เรื่องทั้งหมด แต่ความจริงคือเขาไม่รู้

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อคิดเห็นของหมอเพียงคนเดียว ซึ่งมันก็ยังไม่เที่ยงธรรม มันควรมีหมอสองหรือสามคนช่วยกันดู และนักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งช่วยกันดู

 

ภาพสำหรับคนทั่วไป เหมือนคนที่มีอาการทางจิต จะต้องพูดคุยไม่รู้เรื่อง หรือมีอาการคลุ้มคลั่งอะไรแบบนี้ ไม่แน่ใจว่าจากประสบการณ์ของคุณหมอ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเข้าใจเรื่องผู้ป่วยแบบนี้แค่ไหน

ดูคล้ายจะไม่รู้น่ะ คือคนที่มีอาการทางจิตแบบ Schizophrenia หรือจิตเภทเนี่ย เขารู้สึกตัวตลอดเวลา เขาพูดคุยได้เหมือนเรา เขารู้วันที่เวลา เขารู้สถานที่ มีความทรงจำ แต่เขาไม่รู้ความหมายของการกระทำ มันก็เข้าใจยากน่ะ คือมีคำว่า “สาระของการกระทำ” ที่ดูเป็นคำทางกฎหมาย คือผู้ป่วยไม่รู้ความหมายของการกระทำ เช่น เมื่อคนไข้คนหนึ่งด่าแม่ เขารู้ตัว รู้ว่าทำอะไร จำได้ด้วย แต่เขาไม่รู้ความหมายของการกระทำนั้น

สำหรับผม จะค่อนข้างเข้าใจผู้ป่วย จะไปขโมยของไหน แม้กระทั่งฆ่าภรรยา ฆ่าพ่อแม่ ผมจะค่อนข้างเข้าใจผู้ป่วย แต่ “เข้าใจ” ไม่ใช่ “เข้าข้าง” คือด้วยความที่เราเห็นผู้ป่วยเยอะ โอเค เขาฆ่าสามี ฆ่าภรรยา แต่วินาทีที่เขาลงมือ เขา “บ้า” น่ะ แล้วความบ้าในสมัยใหม่มันเป็น “โรค” มันไม่ใช่นิสัย แต่มันเป็นโรค โลกสมัยใหม่ก็พิสูจน์ว่ามันเป็นโรคทางชีววิทยา เป็นโรคทางสมอง ถ้าคุณเป็น คุณก็ไม่รอด หมอเป็น หมอก็ไม่รอด

ดังนั้น เขามีศักดิ์และสิทธิของผู้ป่วยอยู่ ที่จะได้รับการรักษา และพิทักษ์สิทธิทางกฎหมาย ดังนั้นโดยรวมๆ หมอคิดว่าควรให้โอกาส ให้เขาเข้าสู่การรักษา ซึ่งการรักษาช่วยให้เขาสามารถดีขึ้นได้ หมอเข้าไปรักษาพวกที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ในเรือนจำ เข้าไปทุกเดือน มีการให้กินยาฉีดยา มันก็ดีขึ้นได้ เขาก็เสียใจในสิ่งที่ทำไป

 

ผู้ป่วยแบบนี้ที่ถูกคุมขังในเรือนจำมีเยอะแค่ไหน

เยอะ คดีที่ยังค้างอยู่ ผมก็คิดว่าเยอะ ผมก็ไม่อยากล้วงลูกมาก แต่ผมเดาว่าโดยรวมๆ ทั้งประเทศ ผมคิดว่าเยอะ แต่ดูเหมือนกลับไม่มีใครรู้เรื่องพวกนี้ แล้วก็ไม่มีใครใส่ใจเรื่องนี้เลย มีกลุ่มที่เหมือนถูกขังลืมก็เยอะ ขังไปเรื่อยๆ คดีก็ค้างอยู่อย่างนั้น ไม่มีการปิดมันให้เรียบร้อยว่าจะเอายังไงกับมนุษย์คนนี้ ผมรู้สึกอย่างนั้น

บางครั้ง ผมก็ถามพยาบาลในเรือนจำว่าคนนี้อยู่นานเท่าไรแล้ว เขาก็ตอบมาคำตอบหนึ่ง ผมก็ถามว่าแล้วคดีถึงไหนแล้ว เขาก็บอกว่าก็ไม่ถึงไหน ผมจะได้ยินคำตอบแบบนี้บ่อยๆ แล้วจะอย่างไรต่อ เขาก็ไม่รู้อีก แน่นอนล่ะ ชาวบ้านก็ไม่รู้สิทธิ ญาติก็ไม่รู้สิทธิ ผู้ป่วยยิ่งไม่รู้สิทธิ แต่ทนาย อัยการ หรือศาลก็กลับเหมือนไม่รู้ด้วย

 

อีกปัญหาหนึ่ง คือในทางกฎหมาย มันไม่มีการระบุคำว่าผู้ป่วยที่เป็น “จิตเภท” โดยตรง แต่มันกลับมีอย่างเช่นคำว่า “จิตฟั่นเฟือน” “จิตบกพร่อง” หรือ “วิกลจริต” พอเวลาคุณหมอไปให้การ ในกระบวนทางกฎหมาย มันพยายามให้อธิบายเป็นคำในกฎหมายให้ได้ มันเลยมีความลักลั่นอยู่ในการต่อสู้คดีเรื่องนี้

ผมคิดว่าอันนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมาย อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวน่ะ มันไม่น่าจะเป็นหน้าที่แพทย์ แพทย์เรียนมาเพื่อวินิจฉัยว่าคนนี้เป็นจิตเภท หรือ Schizophrenia แพทย์มีหน้าที่อธิบายอาการให้ฟัง ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าสิ่งที่แพทย์อธิบายนั้น จะเข้ากับคำศัพท์กฎหมายอันไหน แต่คำตอบนี้เป็นทัศนะน่ะ

ความจริง อาจารย์แพทย์บางคนก็อยากให้แพทย์รู้ภาษากฎหมายเยอะๆ เพื่อจะได้เข้าไปต่อสู้คดีแทนได้เลย แต่ผมคิดว่าในทางปฏิบัติ มันทำยาก มันก็จะมีหมอที่เรียน “นิติจิตเวช” โดยเฉพาะ ซึ่งประเทศไทยก็คงมีไม่กี่คน มันก็ทำงานไม่ได้หมด ทำงานบริการทั้งประเทศไม่ได้ แต่จิตแพทย์ทั้งประเทศมีจำนวนเป็นหลักร้อย ถ้าฝ่ายกฎหมายและฝ่ายประชาชนรู้สิทธิ เรื่องควรจะดีขึ้นน่ะ แพทย์ก็ไม่ได้ทำงานหนักขึ้น แพทย์ก็เพียงแต่พูดไปตามภาษาของแพทย์ พูดอย่างมีจริยธรรม

 

หรือมันควรจะปรับคำทางกฎหมายให้เหมาะสมกับทางการแพทย์ไหม

อันนี้ผมไม่รู้ ผมไม่มีความรู้ด้านกฎหมายพอ ส่วนของผม ผมทำได้เพียงแค่ช่วยเหลือคนไข้กลุ่มนี้ที่ถูกขัง ให้อาการสงบ ไม่มีหูแว่ว ไม่มีประสาทหลอน ไม่มีอาการหวาดระแวง ไม่มีความก้าวร้าว หรือไม่มีความคิดฆ่าคน ผมก็ช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ แต่ด้านกฎหมาย ผมก็ได้แต่นั่งดู แล้วก็สงสัยว่าคนไข้จะถูกขังถึงไหน บางคนก็ถูกตัดสิน แต่บางคนก็ยังไม่ได้รับการตัดสิน

 

คุณหมอพอทราบแนวโน้มผลการตัดสินหรือต่อสู้คดีกรณีผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภทไหม

ผมไม่เคยทราบผลลัพธ์ของการตัดสิน วันที่ผมไปศาล มันก็ยังไม่ตัดสิน ไปเสร็จ ผมก็กลับ หลังจากนั้นผมก็ไม่ทราบผล และอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของหมอที่จะไปติดตาม อาจจะลองไปคุยกับแพทย์ที่เป็นนิติจิตเวชแท้ๆ เป็นแพทย์ที่ทำงานด้านกฎหมายด้วย ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ดู

แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนมัน 76 จังหวัด มันก็มีปัญหาจริง ผู้ป่วยจำนวนมากถูกทอดทิ้งน่ะ ยังไม่ต้องนับคดีที่อ่อนไหวเลย เอาแค่คดีทั่วๆ ไป ลักขโมยธรรมดาๆ ก็พูดได้ว่า ผู้ป่วยเหล่านี้ถูกละเมิดน่าดู ทั้งที่ผู้ป่วยจิตเภท เรียกได้ว่าเขามีอาการป่วยชนิดหนึ่งจริงๆ แล้วมีศักดิ์มีสิทธิจะได้รับการดูแลจากทั้งทางการแพทย์ และจากกระบวนการยุติธรรม

 


หมายเหตุ

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

เรื่องอ่านประกอบ

การดำเนินคดี 112 กับผู้ป่วยจิตเภทหลังรัฐประหาร

หลังลูกกรงมี ‘คนบ้า’ เมื่อ ‘คนไม่บ้า’ เดินหน้า ‘กระบวนการยุติธรรม’

‘คนบ้า’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินคดี ม.112 กับผู้ป่วยจิตเภท

 

X