คุยกับผู้มีอิทธิพลตามคำสั่งของ คสช. : ครบรอบ 2 ปี รัฐประหาร “คสช.กำลังคืนความทุกข์ให้พวกเรา”

สัมภาษณ์ พันธวิศย์ เทพจันทร์
“คำขวัญของ คสช คือคืนความสุขให้กับประชาชน ณ วันนี้ผมได้รับแล้ว แต่เป็นความทุกข์ ความสุขผมไม่รู้อยู่ที่ไหน”  หนึ่งในแกนนำที่ถูกควบคุมตัวด้วยคำสั่ง หน.คสช. ที่ 3/2558
เนื่องด้วยวาระครบรอบ 2 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ด้วยเหตุผลของการทำรัฐประหารคือ ลดความขัดแย้งภายในสังคม เสริมสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ

ด้วยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557  ที่ทำให้ “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”มีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือ การกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด

ทำให้เกิดประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. ขึ้นมามากมายเพื่อใช้ในการสนองนโยบายของรัฐบาลภายใต้ คสช. “คืนความสุขให้กับคนในชาติ” ตามมาด้วยนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลในประเทศ สร้างความปรองดองให้กับคนในชาติด้วย ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558  ให้อำนาจข้าราชการทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกบุคคลใดก็ได้มารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยโดยทันทีและสามารถควบคุมตัวได้อีกไม่เกิน 7 วัน

และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ขยายฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเพื่อเพิ่มฐานอำนาจให้พนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเรียกบุคคลมารายงานตัวได้ โดยเหตุผลที่ คสช.ใช้ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ก็เพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่และป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง

แต่…ใครบ้างคือ “ผู้มีอิทธิพล” ในสายตาของ คสช. ใครบ้างที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเพราะเห็นว่าเป็นผู้มีอิทธิพล และแท้จริงแล้วพวกเขาคือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จริงหรือไม่ วันที่ถูกควบคุมตัวพวกเขาต้องเผชิญอะไรบ้าง

วันนี้  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดบทสัมภาษณ์บุคคลที่เคยถูกเรียกรายงานตัว เพราะถือว่าเป็น  “ผู้มีอิทธิพล” …อนันต์ ทองมณี  1 ใน 3  ผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวตามคำสั่งที่ 3/2558

screen-shot-2016-05-24-at-10-03-57-am

อนันต์ ทองมณี ชาวตำบลปากน้ำ จังหวัดระยอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชายฝั่งตำบลปากน้ำ เป็นแกนนำมวลชนในการเรียกร้องให้เทศบาลนครระยองชะลอการไล่รื้อพื้นที่ประกอบอาชีพของชาวบ้านบริเวณริมชายหาด เขตตำบลปากน้ำ อีกทั้งยังเป็นแกนนำยื่นหนังสือเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้หน่วยงานของรัฐทำแผนเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อพื้นที่ประกอบอาชีพ

แต่แล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 อนันต์และพวก รวม 3 คน ถูกนำตัวไปควบคุมที่มณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรีเป็นเวลา 2  วัน 1 คืน โดยในเอกสารบันทึก ระบุเหตุผลการควบคุมตัวตามอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดว่าด้วยอาวุธปืน และอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะ  ซึ่งพฤติกรรมของเขาเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล

เขาเป็นใคร มีอิทธิพลจนอาจนำไปสู่การสร้างความรุนแรงให้กับคนในชาติได้อย่างไร ต่อจากนี้คือเรื่องราวของผู้มีอิทธิพลตามความเห็นของ คสช. แต่เขาคือผู้มีอิทธิพลตามความเห็นของผู้อ่านหรือไม่ เชิญทัศนา…

screen-shot-2016-05-24-at-10-06-02-am

อนันต์ ทองมณี
อนันต์ ทองมณี เป็นใคร มาจากไหน มีอาชีพอะไร

ผมเป็นชาวประมงที่ออกเรือมา แล้วพอดีก็ขายเรือขายแพเสร็จไม่มีที่ไปเลยมาทำอาชีพแปรรูปอาหารทะเล โดยยึดริมชายหาดทำมาหากินที่ ต.ปากน้ำ ซึ่งรับช่วงต่อมาจากพ่อ แม่ ตา แล้วผมก็มาทำต่อมา ตั้งแต่เป็นแพขนาดเล็ก ๆ ขึ้นจากชายฝั่งมาตรงนี้ จนเป็นแพขนาดใหญ่ แล้วมาโดนสั่งรื้อ สภาพตามที่เห็น

ก่อนที่จะโดนสั่งรื้อตรงนี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นของใครมาก่อน

มันเป็นที่ชายหาดมาตั้งแต่ดั้งเดิม รุ่นปู่ย่าตายายที่เขาเกาะตลิ่งทำมาหากินกันมา พอออกเรือมาก็มาปลดปูปลดปลาไว้ชายหาด แล้วก็เอาขึ้นมาขาย มีหมึกก็เอามาผ่ากันที่ชายหาด มีปลาก็มาตากกันที่ชายหาด ทำกันอย่างนี้ ปูปลาที่ตากกันที่ชายหาด เราต้องใช้น้ำทะเล ใช้แดด ใช้ลมทะเล แล้วก็มีการออกเรือเล็ก ออกไปหาปลาได้มาก็ผ่าก็หากินเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวเล็ก ๆ จนมามีเรือใหญ่ ที่ปากน้ำมีเรือพาณิชย์ เราก็ไปรับจากเรือพาณิชย์ แล้วก็มาทำใหญ่ขึ้น ๆ ทีนี้พอใหญ่ขึ้นจะมีบริษัทเขามารับไปแปรรูปอีกที มันก็ต้องทำใหญ่ตาม ตามเศรษฐกิจ แล้วประมาณปี พ.ศ.2513 – 2515 ทางเทศบาลนครระยองก็มีแผนว่าจะสร้างถนนริมชายหาด

ช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เอาเอกสารมาให้ชาวบ้านลงนาม ชาวบ้านเขาก็ไม่รู้อะไรมากนักก็ลงนามกันไป ต่อมา ก็มีเจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ มาจับชาวบ้านไปติดคุก หาว่าเป็นผู้บุกรุก ชาวบ้านไม่ยอมเพราะพวกเขาต้องมาขึ้นเรือขึ้น ตากปลากันอยู่ที่นี่ เขาก็ทำมาอย่างนี้ ในที่สุดเทศบาลฯ ก็ยอมออมชอมให้ ชาวบ้านก็ประกอบอาชีพแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนในช่วงหลังสุดก่อนที่จะถูกรื้อไล่ที่ เทศบาลฯ กับชาวบ้านก็มาประชุมกันที่นี่  ณ ตรงนี้ ยังมีเอกสารอยู่เลย เป็นเหมือนสัญญาลูกผู้ชาย จะจัดโซนสำหรับประกอบอาชีพแปรรูปอาหารทะเลให้ก่อนที่จะรื้อพื้นที่ตรงจุดนี้ ชาวบ้านก็รอตรงนั้นมาตลอด

พอมาถึงปัจจุบันนี้ สมัย คสช. ก็เริ่มมีนโยบายจัดระเบียบชายหาดขึ้นมา รัฐบาลก็มีนโยบายจัดการทั่วประเทศ ไล่รื้อชาวบ้านออกจากพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านของเราก็ต้องยอม แต่เราก็ยึดถือว่า จะจัดการไล่รื้อพื้นที่อย่างไรก็ขอให้มีที่รองรับให้กับเราหน่อย ให้คนจน ๆ ระบบรากหญ้าได้มีที่ยืน ได้มีพื้นที่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ใช่มารื้ออาชีพดั้งเดิมเขา แล้วไม่มีพื้นที่รองรับอะไรเลย มันเดือดร้อน บางคนร้องไห้เลย มีภาพทหารมาหิ้ว ร้องไห้ ก็หมดตัวน่ะ คนเราหมดตัวจะทำไง

screen-shot-2016-05-24-at-10-12-53-am

อนันต์และภรรยากำลังเก็บซากบ้านที่ถูกคำสั่งให้รื้อออก
แต่วันนี้ผมมาอยู่ตรงนี้ ตามคำสั่งของเทศบาลฯ เขียนไว้ว่าที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด ผมก็จำเป็นจะต้องมานั่งกินตรงนี้ นอนกินตรงนี้ เพื่อรออะไร รอให้เขาได้จัดสรร ได้เข้ามาช่วยเหลือ ผมก็อยากรู้ ท่านจะทนเห็นได้ไหมกับคนที่ถูกล้มล้างอาชีพที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ต้องมาเป็นอย่างนี้ แผงตากปลาก็ต้องมากองอยู่ตรงนี้ แผงที่ใช้ตากหมึกต้องมากองอยู่ตรงนี้

ชาวบ้านวางแผน สร้างระบบการจัดการด้วยตัวเองจนสามารถตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเอกชน แต่พอโดนคำสั่งให้รื้ออาคารแบบนี้ จากเงินฝากระดมทุนกันมา มีกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนที่มาคอยช่วยเหลือชาวบ้านที่ต้องการเงินซื้ออุปกรณ์เพื่อประกอบอาชีพ แล้วกลับมาโดนรื้อแบบนี้ มันไม่มีอะไรเหลือแล้ว เครดิตยูเนี่ยนก็โดน กลุ่มธนาคารปู วิสาหกิจชุมชนก็โดนรื้อไป มันไม่มีอะไรเหลือแล้ว ถ้าร้องไห้ให้ดูก็อยากจะร้องให้ดู มันหมดแล้ว

แต่ก่อนที่ คสช. จะมีนโยบายจัดระเบียบคืนพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทางเทศบาลฯ เองก็มีความพยายามที่จะไล่รื้อแผงที่ใช้ประกอบอาชีพทางทะเลของชาวบ้านอย่างไรบ้าง แล้วผลเป็นอย่างไร
ทางเทศบาลนครระยองก็ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ชาวบ้านอพยพย้ายออกไปจากพื้นที่นี้ และทำการรื้ออาคารทั้งหมดออก แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เทศบาลก็เลยใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อ้างตามที่เห็นประกาศว่า สิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และอาคารดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เดินสายไฟฟ้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อาจะเกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้

เราไปอุทธรณ์ต่อศาลมาแล้ว อย่างน้อยให้เทศบาลนครระยองรอคำสั่งอุทธรณ์ก่อน แต่ทางเทศบาลฯ ก็มาติดหมายให้ชาวบ้านรื้ออาคารออกให้หมด ชาวบ้านที่นี่ก็บอกว่า ยังไม่รื้อ ขอรอคำสั่งอุทธรณ์ก่อน จนกระทั่งเช้ามืด วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ทหารก็มาเชิญตัวไป เขาบอกผมว่าจะเชิญไปกินกาแฟ เราก็ไป แต่กลายเป็นว่า พาเรามายัง มทบ.14 แล้วก็ให้ลงนามในเอกสารบันทึกการควบคุมตัวแทน

ผมก็กลัวไอ้ข้อหาที่ว่า เป็นผู้มีอิทธิพล รับเป็นมาเฟียโดยไม่รู้ตัว ถ้ามีแค่ผมน่ะไม่กลัว แต่กลัวคนข้างหลัง ลูกหลานน่ะ ไม่มีจะกิน ถ้าขาดผมไปซักคน ครอบครัวเดือดร้อนมาก

ก่อนเจ้าหน้าที่ทหารจะปล่อยตัว ถูกตั้งเงื่อนไขอะไรบ้าง

เขาบอกว่า ให้ผมทำตามมติที่ประชุม จับมือทำตามมติที่ประชุมก็คือ ให้รื้ออาคารที่ใช้ประกอบอาชีพออกไป แล้วห้ามให้ผมเข้าไปในที่ ๆ มีคนมาก ห้ามประชุมกับชาวบ้าน ผมก็ทำตาม แม้แต่จะไปงานบวชของเพื่อนบ้านผมก็ยังไม่ไปเลย กลัวเขาจะมาเชิญผมไปอีก กลัวเดือดร้อน ไปงานแต่งก็กลัว ที่มีคนเยอะ ๆ เพราะทหารห้ามไว้แล้ว ผมก็ต้องปฎิบัติตามเพราะไม่แน่ใจว่า เราจะถูกเชิญตัวอีกเมื่อไหร่

ทุกวันนี้ผมก็กลัวไอ้ข้อหาที่ว่า เป็นผู้มีอิทธิพล รับเป็นมาเฟียโดยไม่รู้ตัว ถ้ามีแค่ผมน่ะไม่กลัว แต่กลัวคนข้างหลัง ลูกหลานน่ะ ไม่มีกิน ถ้าขาดผมไปสักคน ครอบครัวเดือดร้อนมาก รถยนต์ก็ไม่มี ผมในฐานะสามีก็มาถูกจับ จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปก็ไม่รู้ ผมไปอยู่ที่ไหน ไปไม่ได้ ลูกเต้าก็ไม่ยอมไปโรงเรียน ปู่ถูกจับ ตาถูกจับ พ่อถูกจับ  มันเดือดร้อนไปหมดกับคนคนเดียว ถามว่าเรากลัว… คือเรากลัวเนี่ย กลัวครอบครัวเนี่ย มันเดือดร้อนมาก ๆ ถ้าขาดเราไปสักคนหนึ่ง

screen-shot-2016-05-24-at-10-24-01-am

สภาพบ้านพักชั่วคราวของครอบครัวอนันต์ ทองมณี ด้านขวาสุดของภาพคือซากบ้านของเขา
ทำไมถึงไม่ยื่นฟ้องหรือยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้กับองค์กรสิทธิต่าง ๆ เหมือนที่เคยทำ

สมัยก่อนน่ะ มันมีช่องให้เราเดิน มีทางให้เราไป ไปตรงนี้  มีสภาผู้แทนราษฎร มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้เรายื่นเรื่องเพื่อขอให้ยุติหรือระงับโครงการที่อาจจะกระทบกับชาวบ้านไว้ก่อน ซึ่งเราก็อาศัยช่องทางนี้ แล้วพอเรายื่นเรื่องไปก็มีเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจาก ส.ส. หรือ ส.ว. มาตรวจสอบข้อเท็จจริง บางทีก็ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นเลย แล้วยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ มาสนใจปัญหาของชาวบ้านที่นี่ ก็ทำให้พวกเราอุ่นใจได้  แต่ตอนนี้ทุกอย่างก็จะขึ้นอยู่กับประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. อย่างเดียว

บางทีเราก็หวังในตอนนี้ว่า คงจะมีงบสนับสนุน หรือหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรื่องพื้นที่สำหรับประกอบอาชีพชุมชนชายฝั่งแถบนี้บ้างเพื่อให้ชาวบ้านมีที่ยืน มีที่หายใจแต่มันก็ไม่มีเลย บางทีผมก็อยากจะถามว่า ทำไมภาครัฐถึงช่วยเหลือแต่คนรวย ยึดถือว่าได้สัมปทานจากการถมทะเล ทำไมเขาอยู่ได้เป็นหลายสิบกิโลเมตร ทำไมเขายังประกอบอาชีพด้วยการเปิดโรงงานขนาดใหญ่ได้ แต่ชาวบ้านที่ชายฝั่งที่เกาะตลิ่งทำมาหากินเป็นชั่วลูกชั่วหลานชั่วอายุคนมาแล้ว ทำไมถึงต้องถูกกระทำ ถูกไล่รื้อที่ เอารถ เอาเครื่องจักรมาทำลายอาคารบ้านเรือนของเรา

แล้วยังไม่มีมาตรการเยียวยาใด ๆ เลย ช่วยสะท้อนให้หน่อย ช่วยเปรียบเทียบให้หน่อย ดูจากตาเปล่าตอนนี้ก็แล้วเห็น ว่าอะไรมันคืออะไร ถมทะเลกันไปเป็นสิบกิโลเมตร ไม่ผิดกฎหมาย ชาวบ้านเกาะตลิ่งทำมาหากิน ผิดกฎหมาย นี่หรือ อย่าให้พูดวันนี้.. นี่หรือ ความยุติธรรม มีไหม ความยุติธรรมกับชุมชนชายฝั่งที่ทำมาหากิน ให้ความยุติธรรมกับพวกเราบ้าง

หลังการถูกควบคุมตัวใน มทบ.14 เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเห็นว่า เป็นผู้มีอิทธิพล คิดว่าตัวเองเป็นศัตรูของ คสช.หรือไม่

ผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นศัตรู คสช. ไม่เคยคิดว่าจะขัดคำสั่งของ คสช. คำขวัญของ คสช. คือคืนความสุขให้กับประชาชน ณ วันนี้ผมได้รับแล้ว แต่เป็นความทุกข์ ความสุขไม่รู้ผมอยู่ที่ไหนนะ คำขวัญประโยคนี้ของ คสช. ผมยังไม่ได้รับเลย ตอนนี้ผมได้รับแต่ความทุกข์

screen-shot-2016-05-24-at-10-34-33-am

สภาพที่พักของอนันต์

หลังจากเข้าค่ายทหารด้วยเหตุผลเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ตอนนี้ทัศนคติเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ทัศนคติที่เปลี่ยนไปก็คือ จะต้องทำตาม คสช. เพราะว่าท่านพูดขออะไร ก็ต้องทำตาม แม้จะเดือดร้อนก็ตาม เพราะเราก็ยึดถือ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ปี  2557) เป็นที่ตั้ง

แม้มันจะแย่ต่อชาวบ้านในพื้นที่งั้นหรือ

ก็จะทำอย่างไรได้ แล้วหน่วยงานไหนที่จะช่วยเราได้ หน่วยงานไหนที่จะเข้ามาช่วยได้ หน่วยงานไหนที่จะมารองรับไป หน่วยงานไหนที่จะมาบอกว่า อันนี้นะ ถ้าทำแล้วท่านจะมีความสุข ท่านจะทุกข์ยังไงไม่รู้ ณ วันนี้ไม่มีหน่วยงานไหนมาเหลียวแลเลย สักคนเดียว  แล้วความมั่นใจมันไม่มี ตอนนี้ความมั่นใจไม่มีแล้ว เหมือนโดดเดี่ยว เหมือนคนกลุ่มนี้ถูกทิ้งไปแล้ว

screen-shot-2016-05-24-at-10-32-22-am

ป้ายคำสั่งของเทศบาลนครระยองโดยอ้างถึงนโยบายของ คสช. และรัฐบาล

ในตอนหน้า อนันต์ ทองมณี  จะมาเปิดเผยประสบการณ์ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวใน มทบ.14 เพื่อปรับทัศนคติเป็นเวลา 2  วัน 1 คืน รวมถึงเปิดเผยขั้นตอนต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ทหารปฎิบัติต่อเขา คำถามและคำพูดใดบ้างที่เจ้าหน้าที่ทหารบอกต่อ  โดยเขาหวังเพียงว่า ข้อมูลต่าง ๆ จะทำให้เกิดภาวะการตั้งคำถามและบอกต่อความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล คสช.

X