คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเรียกร้องให้โอนคดีพลเรือนที่ยังพิจารณาในศาลทหารไปศาลยุติธรรมในเวทียูเอ็น

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเรียกร้องให้โอนคดีพลเรือนที่ยังพิจารณาในศาลทหารไปศาลยุติธรรมในเวทียูเอ็น

        photo_2016-09-24_16-22-32

          23 กันยายน 2559 นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ในสมัยประชุมสามัญที่ 33  ในวาระที่  6 ซึ่งเป็นการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระ (Universal Periodic Review) ของประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและคำสั่งและประกาศคสช. ซึ่งขัดแย้งกับหลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน โอนคดีพลเรือนที่ยังคงค้างทั้งหมดไปยังศาลพลเรือน รวมถึงยุติการคุกคามใด ๆ ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

      ในที่ประชุมดังกล่าว ICJ แสดงความยินดีในโอกาสที่ประเทศไทยได้ผ่านกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระเป็นครั้งที่สอง และผิดหวังที่รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนข้อเสนอแนะหลักที่สำคัญบางประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิทางพลเรือนและสิทธิทางการเมืองในประเทศ

           นอกจากนี้ ICJ ยังย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งรัฐบาลทหารประกาศใช้ภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้ โดยมาตรา 44 ให้อำนาจรัฐบาล อย่างกว้างขวางและไม่สามารถตรวจสอบได้ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์พื้นฐานของหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

         รัฐบาลทหารได้ออกคำสั่งและประกาศหลายฉบับ โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้มีการเอาผิดทางอาญากับการชุมนุมทางการเมือง เปิดโอกาสให้มีการควบคุมตัวโดยพลการไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีข้อหา รวมถึงให้อำนาจการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ทหาร พลเรือนอย่างน้อย 1,811 ราย ถูกไต่สวนในศาลทหาร ซึ่งขัดกับกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ  และพลเรือนจำนวนหลายคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีและการชุมนุมอย่างสงบ

            รัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอใด ๆ อันจะเป็นผลให้มีการยกเลิกข้อจำกัดต่อหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้แม้ว่า ICJ จะยินดีกับคำสั่งที่ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ยุติการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นหลังจากวันดังกล่าว แต่ยังคงมีคดีอีกประมาณ 500 คดีที่ค้างอยู่ในศาลทหาร

           ICJ ยังกังวลด้วยว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตั้งข้อหาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามคน โดยเป็นการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญา เนื่องจากการกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ ฉะนั้น ICJ  ขอให้รัฐบาลไทยยอมรับและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

  • ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและคำสั่งและประกาศคสช.ทั้งหมด ซึ่งขัดแย้งกับหลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน
  • โอนคดีพลเรือนที่ยังคงค้างทั้งหมดไปยังศาลพลเรือน และให้ยกเลิกคำตัดสินลงโทษต่อพลเรือนที่เคยถูกฟ้องในศาลทหารนับแต่รัฐประหาร พ.ศ. 2557 อีกทั้ง
  • ยุติการคุกคามใด ๆ ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

 

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม

Thailand-hrc33-upr-Advocacy-non legal submission-2016-ENG

Thailand-hrc33-upr-advocacy-non-legal-submission-2016-THA

ดูการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยประชุมสามัญที่ 33

 

 

X