ศาลอาญาล็อกห้องพิพากษาลับคดี 112 จำคุกปิยะ 8 ปี

10 ต.ค. 2559 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 8 ปี โดยอ่านคำพิพากษาปิดลับและไม่ให้ทนายความคัดถ่ายคำพิพากษา แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะอนุญาตให้จำเลยคัดสำเนาเอกสารที่เป็นการพิจารณาของศาล และให้อ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยก็ตาม

คดีนี้อัยการฟ้องปิยะเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 ว่า กระทำความผิดทั้งหมด 4 กรรมได้แก่

  • 1.1 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2551 ปิยะนำข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
  • 1.2 ต่อมาวันที่ 14 มิ.ย. 2551 ปิยะได้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามฟ้องข้อ 1.1
  • 1.3 เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2553 ปิยะได้นำเข้าข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
  • 1.4 ต่อมาในวันเดียวกัน ปิยะได้เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามฟ้องข้อ 1.3

ปิยะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล ขอต่อสู้คดี โดยตั้งแต่การสืบพยานจนถึงวันพิพากษา ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ ล็อกห้องพิจารณาคดี และยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทนายในระหว่างการสืบพยาน รวมถึงไม่อนุญาตคัดถ่ายสำเนาคำเบิกความพยาน หลักฐานที่เป็นบันทึกคำให้การที่โจทก์ยื่นเข้ามาระหว่างสืบพยาน และคำพิพากษา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 กำหนดให้จำเลยมีสิทธิตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน สำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล สำเนาคำให้การในชั้นสอบสวน และสามารถขอคัดสำเนาเอกสารเหล่านี้ได้

09.55 น. ตุลาการออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาคดีที่ปิยะ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นเท็จ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาต่อความมั่นคงของประเทศ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลได้แจ้งผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่าจะอ่านคำพิพากษาโดยลับ ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกนอกห้องพิจารณาและล็อกประตูห้อง โดยอ้างว่าเป็นคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์

คำพิพากษา ใจความว่า คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิด 4 กรรม ตามฟ้องข้อ 1.1-1.4 ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 คือ ความผิดฐานนำเข้าข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์สู่ระบบคอมพิวเตอร์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2551 และเผยแพร่หรือส่งต่อเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2551 ให้จำเลยทราบในชั้นสอบสวน สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่า ทราบข้อกล่าวหานี้ครั้งแรกเมื่อถูกฟ้องที่ศาลนี้ เท่ากับพนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ที่ให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ จึงห้ามโจทก์ยื่นฟ้องข้อหานี้ตาม มาตรา 120 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้

ส่วนข้อความตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.3 มีลักษณะโจมตีมุ่งร้าย ทำให้เสียต่อพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ศาลเห็นว่า ในเนื้อหาบางส่วนพาดพิงไปถึงชีวิตส่วนตัวของจำเลย และลงชื่อ Vincent Wang (วินเซนต์ หวัง) ซึ่งจำเลยยอมรับว่าใช้ชื่อดังกล่าวในวงการธุรกิจระหว่างประเทศ และ พ.ต.ท.อุดมวิทย์ พนักงานสอบสวน เคยสอบถามอดีตภรรยาของจำเลยทราบว่าข้อมูลชีวิตส่วนตัวของจำเลยตรงกับที่เขียนลงในข้อความนั้น

ศาลเห็นว่า ผู้เขียนข้อความทั้งหมดนี้ตกอยู่ในห้วงอารมณ์จิตที่มีโมหะ และโทสะ ทั้งผู้เขียนใช้ชื่อวินเซนต์ หวัง เช่นเดียวกันทั้งสองครั้ง จึงเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลเดียวกัน และอีกตอนหนึ่งระบุว่า “เพราะผมพยายามเมาเหล้าก่อนที่จะทำตามที่พวกมันบังคับเพื่อแลกกับชีวิตภรรยาผม” ศาลเห็นว่า ปกติคนที่ลุ่มหลงสุรายาเสพติดจนมีอาการมึนเมา มักกระทำการใด ๆ ที่ขาดสติยั้งคิด ไม่คิดหน้าคิดหลังถึงผลดีผลร้ายที่จะตามมาภายหน้า จึงเชื่อว่าผู้เขียนข้อความดังกล่าวมีความกล้าพอที่จะใช้นามแฝงของตนจริง ๆ

นอกจากนี้ สิทธิศักดิ์ หลานของจำเลยได้ให้ปากคำกับตำรวจว่า จำเลยเป็นคนมีนิสัยชอบพูดคนเดียว อารมณ์หงุดหงิด ด่าบ่นไปเรื่อย สอดคล้องกับที่อดีตภรรยาให้การไว้ว่า ช่วงหลัง จำเลยไม่ได้ทำงาน เริ่มเสพยาเสพติด ดื่มสุรา มีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย ทั้งเคยทะเลาะทำร้ายตบตีภรรยาถึงขั้นหมดสติไป

ศาลเห็นว่า เนื้อหาพยานหลักฐานโจทก์สอดรับกันดีมีน้ำหนักมาก เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวพันถึงเรื่องราวส่วนตัวของจำเลย ยากที่บุคคลอื่นจะล่วงรู้ได้ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดมุ่งใส่ความให้ร้ายจำเลย จึงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเขียนข้อความดังกล่าวและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จตามคำฟ้องจริง แต่โจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่า ข้อความตามคำฟ้องข้อ 1.3 ที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น จำเลยได้เผยแพร่หรือส่งต่อไปให้บุคคลอื่น วันเวลาใด และใช้วิธีการอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเผยแพร่หรือส่งต่อ ตามคำฟ้องข้อ 1.4 ได้

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี

คดีนี้เป็นคดี 112 คดีที่สองของปิยะ ศาลอาญาพิพากษาจำคุกปิยะในคดีแรก 9 ปี แต่ลดโทษเหลือ 6 ปี โทษจำคุกในคดีที่สองนี้จะนับโทษต่อจากคดีแรก โดยคดีแรกอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา และปิยะจะยื่นอุทธรณ์ในคดีที่สองด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แต่มาตรา 182 วรรคสอง ระบุชัดเจนให้ศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี โดยไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นใด ๆ ซึ่งตามหลักแล้วศาลจะต้องพิพากษาคดีโดยเปิดเผย และเปิดโอกาสให้ให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยให้การรับรองเป็นภาคี ข้อ 14 (1) ระบุว่า บุคคลมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม รวมถึงต้องเปิดเผยคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดี มีข้อยกเว้นเฉพาะกรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หรือกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็กเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X