ศาลทหารยกคำร้องคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ชี้ไม่มีช่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ศาลทหารยกคำร้องคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ชี้ไม่มีช่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

รูปเลือกตั้งที่รัก

10 ต.ค. 2559 นักกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก เดินทางไปศาลทหารกรุงเทพ เพื่อฟังคำสั่งว่าศาลทหารจะอนุญาตจำเลยจึงยื่นคำร้องให้ศาลทหารเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ด้านศาลทหารยกคำร้อง ชี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลทหารส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

08.30 น. นายอานนท์ นำภา, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว), นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ จำเลยข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 จากการจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก เดินทางเข้ารับฟังคำสั่งศาลทหารกรณีขอให้ศาลทหารส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายที่ใช้บังคับว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

คำร้องของจำเลยให้เหตุผลว่า ตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยตั้งแต่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิฉัยว่า บทบัญญัติในกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประกอบกับ มาตรา 5 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557บัญญัติไว้ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้การกระทำนั้นหรือวินิจฉัยนั้นไปตามประเพณีการปกครอง

ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า  บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับในคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องฉบับนี้ของจำเลยได้ แต่ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วจึงยกคำร้องขอที่ 1 พร้อมให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลทหารส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นอกจากนี้ ในคำร้องของทนายจำเลยที่ร้องขอต่อศาลทหารให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายที่ใช้ในคดีดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดดังนี้

เนื่องจาก จำเลยทั้ง 4 คน เห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498  ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

อันเนื่องมาจากพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 มาตรา 10 ขัดหรือแย้งกับหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพราะในมาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 ระบุว่าอำนาจในการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและยังดำรงตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษา คสช. ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศ คสช.มาบังคับใช้เอาผิดกับจำเลยทั้ง 4 คน

รวมถึงประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ ฉบับที่ 38/2557 ที่ทำให้จำเลยทั้ง 4 ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหารนั้น จึงขัดแย้งกับหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14(1) ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคในการพิจารณาของศาลและตุลาการในการพิจารณาคดีอาญาในคดีต้องหาว่ากระทำหรือพิจารณาพิพาททางสิทธิและหน้าที่ของตน ทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณา อย่างเป็นธรรมและเปิดเผยในศาลที่มีอำนาจในนอิสระเป็นกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย” ซึ่งกติการะหว่างประเทศดังกล่าวก็ถูกบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีอาญาทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น พลเรือนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา ซึ่งรวมถึงคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึง คดี มาตรา 112 และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐตั้งแต่มาตรา 113 ถึง มาตรา 118 หรือความผิดตามประกาศคำสั่งของ คสช. อันเป็นสิ่งที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันทั้งสิ้น พลเรือนทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาเหล่านี้ก็จะได้รับการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม อย่างไม่เลือกปฎบัติ เท่าเทียมกัน

ฉะนั้นการประกาศคำสั่งทั้งสองฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อจำเลยทั้งสี่ และตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยก็กำหนดให้ศาล ซึ่งหมายรวมถึงศาลทหารด้วย มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้ในคดี ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ศาลทหารได้ยกคำร้องดังกล่าว โดยอ้างว่าศาลทหารไม่มีช่องทางให้ยื่นคำร้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมาย เพราะตามมาตรา 5 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้นที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้ ด้วยเหตุนี้ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่สามารถส่งเรื่องดังกล่าวได้ ทำให้คดีนี้ต้องถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพต่อ และเนื่องจากคดีเกิดขึ้นในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทำให้ศาลทหารจะอยู่ในสถานะศาลทหารในภาวะไม่ปกติ จำเลยไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้

X