ศาลทหารพิพากษาคดี ‘รุ่งศิลา’ ไม่รายงานตัว จำคุก 8 เดือน ปรับหมื่นสอง แต่ให้รอลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี

25 พ.ย.2559 ศาลทหารกรุงเทพฯ มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีของนายสิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ นักเขียนและนักกวีการเมือง จำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวของ คสช. ศาลเห็นว่า คสช.ออกประกาศคำสั่งในฐานะรัฏฐาธิปัตย์จึงสามารถบังคับใช้ได้ การฝ่าฝืนไม่รายงานตัวของนายสิรภพจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 18,000บาท โดยลดโทษโทษจำคุกเหลือ 8 เดือน ปรับ 12,000บาท เนื่องจากคำให้การเป็นประโยชน์ แต่ให้รอการลงโทษจำคุกเอาไว้ 2 ปี

คำพิพากษาได้บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 22พ.ค.2557 คสช.ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประะเทศ จากนั้นคสช. ประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารในวันที่ 25พ.ค.2557 และวันที่ 26 พ.ค.2557 ได้มีการประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ข้อ 1 กำหนดโทษทางอาญาสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ต้องระหว่างโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ต่อมา คสช. ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรื่องเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ซึ่งมีนายสิรภพอยู่ในรายชื่อด้วย ให้เข้ารายงานตัวที่ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศน์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 3 มิ.ย.2557 โดยมีการประกาศผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่

ทั้งนี้นายสิรภพไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเพื่อดำเนินคดีกับนายสิรภพในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อ คสช. และทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องถึงศาลทหารให้ออกหมายจับนายสิรภพ

นายสิรภพให้เหตุผลที่ไม่เข้ารายงานตัวว่าขณะนั้นเขาทราบว่ามีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและตนเองถูกเรียกเข้ารายงานตัว แต่ที่เขาไม่เข้ารายงานตัวเพราะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจึงกระทำตนอารยะขัดขืนไม่มารายงานตัวต่อทหารที่ทำการยึดอำนาจการปกครองเนื่องจากตนได้เสนอความคิดในากรต่อต้านรัฐประหารโดยตลอดและเชื่อว่าคณะรัฐประหารจะยึดอำนาจไว้ได้ไม่นาน จึงเลือกที่จะปกป้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธีอหิงสาไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร อีกไม่ยอมรับว่าคสช. มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์การประกาศใช้กฎอัยการศึกยึดอำนาจและมีคำสั่งเรียกรายงานตัวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โจทก์ได้นำสืบพยานพ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ ได้ความว่าหลัง คสช. ยึดอำนาจได้ออกคำสั่งเรียกบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและอาจกระทบความมั่นคงเข้ารายงานตัวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จากนั้นพยานได้รับคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบฯ

พ.ท.ชัยยงค์ วงษ์สววรค์เจ้าหน้าที่ทหารผู้รับรายงานตัวเบิกความว่าในวันที่ 3มิ.ย.2557 จำเลยไม่ได้เข้ารายงานตัวโดยไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้อง

ศาลเห็นว่า เมื่อคสช.ได้ยึดอำนาจสำเร็จแล้ว ประกาศ คำสั่งหรือกฎหมายใดในการใช้สั่งบังคับประชาชน ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ ภายหลังคสช.ยึดอำนาจการปกครองแล้วได้ออกคำสั่งฉบับที่  44/2557 เรียกให้จำเลยเข้ารายงานตัวต่อ คสช. ในวันที่ 3มิ.ย.2557 จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ให้การว่าไม่ไปรายงานตัวจริง การกระทำของจำเลยเป็นการขัดขืนกฎหมายและในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้มีการระบุเอาไว้ว่าให้การกระทำในลักษณะนี้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

จากข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่านายสิรภพได้กระทำความผิดโดยฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 เรื่องเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวต่อคสช. ให้ลงโทษตามประกาส คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ข้อ 1 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 18,000 บาท แต่การนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษลงเหลือ 1ใน3 ให้โทษจำคุกเหลือ 8 เดือน ปรับ 12,000บาท แต่จำเลยไม่เคยกระทำความผิดอาญามาก่อนและเพื่อจำเลยมีโอกาสปรับความประพฤติเป็นคนดีให้รอการลงโทษจำคุกเอาไว้ 2 ปี

คดีนี้ศาลทหารเคยพิจารณาว่าคำแถลงปิดคดีของนายสิรภพที่โดยให้เหตุผลว่าคำแถลงดังกล่าวเป็นการเสียดสีศาลเนื่องจากในคำแถลงดังกล่าวมีการกล่าวถึงการทำรัฐประหารของ คสช. นั้นเป็นการกระทำความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 การยอมรับการใช้อำนาจของ คสช. จึงเป็นการยอมรับต่ออำนาจของผู้ปกครองประเทศที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย(อ่าน ที่นี่)

นอกจากคดีนี้แล้วนายสิรภพยังถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์บทความบน 3 เว็บไซต์ ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารแต่คดีอยู่ในศาลทหารเช่นกันเนื่องจากเมื่อวันที่ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาว่าคดีนี้อยู่ในศาลทหารเนื่องจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่อยู่จนมีการประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร แม้ว่าศาลยุติธรรมจะเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อข้อมูลถูก “นำเข้า” สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ถือว่าการกระทำความผิดได้สำเร็จแล้ว(อ่าน ที่นี่)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สำนึกของสิรภพ ประชาชนผู้ขัดขืนอำนาจของคณะรัฐประหาร

X