ศูนย์ทนายสิทธิฯ ยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ กรณีไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกรมราชทัณฑ์เป็นจำเลยที่ 1, ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายเป็นจำเลยที่ 2 และหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายเป็นจำเลยที่ 3 ร่วมกันในคดีละเมิดเนื่องมาจากคำสั่งไม่ให้ทนายความเข้าพบลูกความ โดยอ้างเหตุว่าคดีได้สิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว

 

Prisoner-Vector

(ภาพประกอบจากเว็บไซต์ clipart-library )

จากกรณีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 นายอานนท์ นำภา ทนายความ ได้ยื่นคำร้องขอเข้าพบนายสมัคร (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดี 112 ในเรือนจำกลางเชียงราย  ลูกความหนึ่งในคดีที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ต่อหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงราย แต่ปรากฏว่าหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าเยี่ยมได้ โดยระบุเหตุว่าเนื่องจากคดีได้สิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว

ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2559 นายอานนท์ นำภา ทนายความ จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เข้าพบนายสมัคร ต่อผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย โดยระบุว่าทนายความได้ขอเข้าพบลูกความ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการขอพิจารณาคดีใหม่ ติดตามอาการป่วยทางจิตเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตามกฎหมาย และแจ้งเรื่องขอรับพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย การที่หัวหน้างานเยี่ยมญาติมีคำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าว กระทบต่อสิทธิตามกฎหมายและการทำหน้าที่ทนายความ แต่ปรากฏว่าผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์ของทนายความ ระบุว่าเหตุอุทธรณ์ของทนายในกรณีดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงและเหตุผลเพียงพอที่จะหักล้างและเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้

ล่าสุดวันที่ 16 มกราคม 2560  นายอานนท์ นำภา ทนายความ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกรมราชทัณฑ์เป็นจำเลยที่ 1, ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายเป็นจำเลยที่ 2 และหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีละเมิดเนื่องจากการไม่ให้เข้าพบลูกความ เป็นการโต้แย้งสิทธิของทนายความที่จะให้คำปรึกษากับนายสมัครเป็นการเฉพาะตัว และเป็นการออกคำสั่งที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมายหลายบทอาทิเช่น สิทธิเข้าเยี่ยมปรึกษาเป็นการเฉพาะตัวของทนายความตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 (3) ซึ่งถูกรับรองไว้ในมาตรา  40 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และข้อ 14 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และ มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย ดังนั้น การสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบลูกความ ของผู้ถูกฟ้องที่ 2 และ 3 จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและผิดต่อกฎหมาย

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้ทนายความเสียหายและไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามใบแต่งตั้งทนายความได้ คิดเป็นความเสียหายมูลค่า 200,000 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 กรมราชทัณฑ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการต้นสังกัดจึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3

ทนายความผู้ฟ้องจึงร้องขอต่อศาลให้พิจารณา

  1. ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบนายสมัคร ผู้ต้องขังเรือนจำกลางเชียงรายฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2559 ของหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายและคำสั่งผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย เรื่องการแจ้งผลพิจารณาอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2559
  2. ขอให้หัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายและผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายมีคำสั่งอนุญาตให้ทนายความพบนายสมัคร ผู้ต้องขังเรือนจำกลางเชียงราย
  3. ขอให้กรมราชทัณฑ์ชดใช้เงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องคดีนี้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
  4. ขอให้จำเลยทั้งสามคือกรมราชทัณฑ์,ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายและหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายร่วมกันออกกฎหรือระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ออกคำสั่งที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดอีก

หลังการยื่นคำฟ้องดังกล่าว ทางสำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ได้รับเรื่องไว้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 โดยศาลจะพิจารณาว่าจะรับฟ้องดังกล่าวไว้เป็นคดีหรือไม่ และจะแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้ร้องต่อไป

IMG_0204

ทั้งนี้ นายสมัคร เป็นชาวนาในจังหวัดเชียงราย และเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาอาการจิตเภท เขาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากกรณีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 ก่อนจะตัดสินใจรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่สามารถทนรอการต่อสู้คดีที่ยาวนานได้ ศาลทหารเชียงรายจึงได้พิพากษาจำคุก 10 ปี รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 5 ปี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 โดยคดีเป็นอันถึงที่สุดในศาลเดียว เนื่องจากเหตุเกิดขึ้นในช่วงการประกาศใช้กฎอัยการศึก (ดูเรื่องราวในคดีของสมัคร) โดยต่อมาหลังคดีถึงที่สุดแล้ว นายสมัครประสงค์จะให้ทนายความทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลให้ แต่ทนายความกลับไม่สามารถเข้าเยี่ยมลูกความได้

นอกจากเรือนจำกลางเชียงรายแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เรือนจำหลายแห่งมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วได้ ทั้งที่ในทางกฎหมาย แม้ “จำเลย” จะกลายเป็น “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ” เมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ผู้ต้องขังก็ยังมีสิทธิพบทนายความ โดยยังสามารถมีประเด็นอื่นๆ เพื่อขอคำปรึกษาทางกฎหมายได้อยู่ เช่น เรื่องการร้องขอให้ศาลทุเลาการบังคับโทษจำคุกไว้ก่อน, เรื่องการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ หรือเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นต้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงาน “เรือนจำกับการปิดล้อมสิทธิของผู้ต้องขังในการได้พบญาติและทนายความ”)

X