รธน.ประกาศใช้ แต่คดีประชามติยังไม่จบ: ประมวลปากคำพยานคดี “ลุงสามารถ” แปะใบปลิวโหวตโน

 

ระหว่างวันที่ 22-23 ก.พ. ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 6 และ 15 มี.ค.60 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีของนายสามารถ ขวัญชัย ข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559  มาตรา 61(1) วรรค 2 จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

 

ภาพจำเลยขณะเข้าฟังคำสั่งของพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 12 ก.ย.59

นายสามารถ ปัจจุบันอายุ 63 ปี จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยประกอบอาชีพเป็นวิศวกร แต่ปัจจุบันประกอบอาชีพช่วยครอบครัวขายภาพโมเสคที่ร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในฐานะมวลชนอิสระ และเคยร่วมเป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 (อ่านเรื่องราวในคดีก่อนหน้านี้)

บรรยากาศในการสืบพยานทั้ง 4 วัน มีผู้ให้ความสนใจหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในการสืบพยานปากสุดท้ายของจำเลยที่นำพยานผู้เชี่ยวชาญเข้าเบิกความให้ความเห็นทางกฎหมาย มีผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณา ทั้งผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน, คณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มเพื่อนๆ ของจำเลย รวมทั้งผู้สื่อข่าวจากบางสำนักข่าว

สำหรับการสืบพยาน  โจทก์ได้นำพยานเข้าสืบจำนวน 5 ปากด้วยกัน เป็นเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าว 1 ปาก, เจ้าหน้าที่ทหารผู้บังคับกองร้อยรักษาความสงบ 1 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน 2 ปาก และพนักงานสอบสวนอีก 1 ปาก ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 3 ปาก คือตัวจำเลยเอง และพยานผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ปาก

ข้อต่อสู้ของจำเลยที่สำคัญในคดีนี้ คือการยืนยันว่าใบปลิวที่นำไปติดนั้น ไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ โดยในใบปลิวไม่ได้มีถ้อยคำ รุนแรง หยาบคาย หรือเป็นการปลุกระดมแต่อย่างใด แม้จำเลยจะยอมรับว่าเป็นผู้นำใบปลิวไปแปะไว้จริง แต่ก็เป็นการกระทำในฐานะคนไทยที่มีสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนได้สำนึกและหวงแหนในประชาธิปไตย ไม่ได้มีความมุ่งร้ายต่อคนอื่น สังคม หรือประเทศชาติแต่อย่างใด

อีกทั้ง ในระหว่างการสืบพยานวันแรก เมื่อเห็นว่ามีผู้จดบันทึกหลายคน ศาลได้พักการพิจารณา และให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์นำสมุดของผู้สังเกตการณ์มาตรวจดู ก่อนที่จะคืนให้ในภายหลัง และห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์คดีจดบันทึกระหว่างการพิจารณาอีก

ก่อนที่ศาลจะนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 24 เม.ย.60 นี้ รายงานชิ้นนี้ประมวลปากคำของพยานทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้ที่น่าสนใจ อันสะท้อนทั้งการใช้อำนาจโดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ของเจ้าหน้าที่ทหาร ขณะก็สะท้อนความคิดเห็นของชายนักต่อสู้คนหนึ่ง ในวันที่บ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญที่เขาไม่เห็นด้วย ถูกประกาศใช้

 

 

ภาพขณะเจ้าหน้าที่แถลงข่าวเรื่องการจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวกับการลงประชามติในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.59 ทีกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 โดยนายสามารถ ถูกนำไปนั่งแถลงข่าวร่วมกับผู้ต้องหากรณีอื่นด้วย  (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)

ปากคำจากเจ้าหน้าที่ทหารผู้สืบหาข่าวและเข้าแจ้งความ

สำหรับพยานที่โจทก์นำเข้าสืบปากแรก ได้แก่ พันโทพิษณุพงษ์  ใจพุทธ โดยเป็นทหารผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีจากที่มีการพบเห็นใบปลิวดังกล่าว ขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาราชการแทนหัวหน้ากองข่าว มณฑลทหารบกที่ 33  พันโทพิษณุพงษ์ได้เบิกความว่าตนมีหน้าที่ติดตามข่าวสารทั้งปวงของฝ่ายตรงข้ามที่เป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ และมีอำนาจหน้าที่ตามประกาศของคสช.ที่ 3/2558 ในการรักษาความสงบ ป้องกัน และปราบปรามความไม่สงบในประเทศ

พันโทพิษณุพงษ์เบิกความถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ก.ค.59 เวลาประมาณ 9.00 น. ว่าตนได้รับแจ้งจากพันตรี โสภณ ภักดิ์เกษม รองผู้บังคับบัญชากองร้อยที่ 4 กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ทางไลน์ว่ามีการตรวจพบใบปลิว มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No”ที่ลานจอดรถห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า หลังจากได้รับรูปภาพใบปลิวดังกล่าวทางไลน์ จึงได้นำเรียนต่อผู้บังคับบัญชา

พันโทพิษณุพงษ์ได้เบิกความว่าตนเข้าใจว่าข้อความในใบปลิวมีเนื้อหาเป็นการต่อต้านรัฐบาลคสช. โดยคำว่า “เผด็จการ” หมายถึงการยึดอำนาจเพื่อบริหารประเทศ คำว่า “พินาศ” หมายถึง ให้หมดสิ้นไปหรือการทำลายให้หมดไป  ส่วน “7 ส.ค.” หมายถึงวันที่จะมีการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 59 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งคนทั่วไปต้องรับรู้  ส่วนรูปภาพมือชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ส่วนข้อความ “Vote No” เป็นการชี้นำชักชวนประชาชน ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งข้อความทั้งหมดมีลักษณะเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ให้ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

พันโทพิษณุพงษ์ จึงได้เข้าพบกับผู้บังคับบัญชา คือพันเอก จิรวัฒน์ จุฬากุล รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 โดยรายงานให้ทราบ ว่าได้รับแจ้งจากพันตรีโสภณ ว่ามีการแจกใบปลิวที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.59 เวลาประมาณ 15.00-17.00น. ผู้บังคับบัญชาจึงได้มอบหมายด้วยวาจาให้ตนไปกับนายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ เวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 22 ก.ค. 59

 

เมื่อทหารกล่าวหาว่าใบปลิวอาจทำให้เกิด “ความไม่สงบเรียบร้อย”

ฝ่ายโจทก์ยังได้มีการนำพยานเจ้าหน้าที่ทหารผู้สั่งการให้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและเข้าร่วมจับกุมตัวจำเลยในคดี คือพันตรี โสภณ ภัคดิ์เกษม ขึ้นเบิกความ โดยในขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยรักษาความสงบที่ 4 จังหวัดเชียงใหม่ กองพันพัฒนาที่ 3

พันตรีโสภณ ได้เบิกความถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ก.ค.59 พยานได้รับรายงานทางไลน์ในช่วงเช้า จากผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าได้มีการเผยแพร่เอกสารแผ่นพับที่ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า โดยได้ทราบข้อความของแผ่นพับดังกล่าวจากในไลน์ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาส่งมาให้  พันตรีโสภณเบิกความว่าเมื่อเห็นข้อความดังกล่าว คิดว่าอาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ที่พยานเป็นผู้ดูแล และอาจจะผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  พยานเห็นว่าผู้ได้อ่านอาจมีความรู้สึกคล้อยตามและเกิดความเข้าใจผิด อาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อยและความวุ่นวายในประเทศได้ ซึ่งเกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐบาล คสช.

พันตรีโสภณ จึงได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ โดยตนเองไม่ได้ไปด้วย เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าตรวจสอบแล้วเสร็จ ก็ได้รายงานทางไลน์ของกลุ่มกองกำลังรักษาความสงบ ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการพยานกับเจ้าพนักงานตำรวจให้รวบรวมพยานหลักฐานและสืบหาตัวผู้กระทำความผิด

ในช่วงเช้าวันที่ 22 ก.ค.59 พันตรีโสภณจึงได้โทรศัพท์ประสานติดต่อไปที่รองผู้กำกับสภ.เมืองเชียงใหม่ ว่ามีการแจกใบปลิวบริเวณลานจอดรถห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า และทางมณฑลทหารบกที่ 33 สั่งการให้ตัวพยานและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ  แต่พยานติดภารกิจจึงมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าตรวจสอบแทน ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น. ผู้ใต้บังคับบัญชาได้โทรศัพท์รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบผู้ต้องสงสัยและสามารถระบุตัวตนได้ แต่ยังไม่ได้แจ้งชื่อผู้ต้องสงสัย พยานจึงได้โทรศัพท์รายงานไปที่พันโทพิษณุพงษ์ ใจพุทธ

พันตรีโสภณเบิกความต่อว่า เวลาประมาณ 22.00 น. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา คือพลตรี โกศล ประทุมชาติ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ให้จัดกำลังเตรียมปฏิบัติการ แต่ไม่ทราบเป้าหมาย จากนั้นเวลา 5.00 น. วันที่ 23 ก.ค.59 พยานนำกำลังพลจำนวน 10 นาย ไปรวมพลตามคำสั่งการ พบว่านอกจากมีเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยอื่นๆ ซึ่งพยานไม่รู้จักแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอยู่อีกด้วย

พันตรีโสภณระบุว่าพันเอกจิรวัฒน์ จุฬากุล ได้สั่งการให้พยานนำกำลังพลเข้าไปที่บ้านของนายสามารถ ขวัญชัย โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าระหว่างนั้นให้รอหมายจับจากเจ้าหน้าที่ก่อน จนเมื่อได้หมายจับมาเวลา 8.00 น. จึงได้เข้าไปยังบ้านของนายสามารถ อ้างอิงอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 เข้าเคาะประตูเรียกนายสามารถ พร้อมแสดงหมายจับนายสามารถให้การยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับและภาพถ่าย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจึงได้เข้าตรวจค้นบ้าน พบกระเป๋าเป้วางอยู่ในห้องรับแขก และใส่ใบปลิวของกลางจำนวน  405 ใบ

พันตรีโสภณเบิกความอีกว่าตนเองได้อยู่ด้วยขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย และจำเลยให้การรับว่าเป็นผู้จัดทำใบปลิวขึ้นเอง  เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61(1) และวรรค 2 เมื่อพยานจับกุมเสร็จแล้วก็ได้กลับมณฑลทหารบกที่ 33

(ภาพใบปลิวที่นำมาสู่การฟ้องร้องต่อจำเลย)

เจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจใดในการปฏิบัติการ

ในการถามค้านพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ทนายจำเลยยังได้ซักถามถึงอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  โดยพันโทพิษณุพงษ์เบิกความว่า ในการเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนนั้น พยานได้กระทำในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

ทนายความจึงได้นำคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ให้พยานดู ก่อนเจ้าหน้าที่จะยอมรับว่าไม่มีพ.ร.บ.ประชามติในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าว ทนายจำเลยจึงได้ถามว่านอกจากคำสั่งฉบับนี้ พยานได้อ้างอำนาจอื่นอีกหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่ได้อาศัยอำนาจอื่นในการร้องทุกข์

ส่วนพยานปากพันตรีโสภณ ได้เบิกความเช่นกันว่าไม่มีพ.ร.บ.ประชามติระบุเป็นข้อหาความผิดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในคำสั่งหัวหน้าหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่อาจถือเป็นความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ หรือคำสั่งคสช. หรือหัวหน้าคสช.ตามข้อ 3(4) ได้ ขณะที่ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารอ้างในการเข้าตรวจค้น ก็ไม่ได้มีข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ เป็นความผิดแนบท้ายแต่อย่างใด

ทางทนายจำเลยและอัยการโจทก์ยังได้มีการซักถามถึงประเด็นการเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ว่าจำเป็นจะต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง หรือมีบัตรประจำตัวด้วยในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งพยานปากเจ้าหน้าที่ทหารต่างระบุว่าไม่ทราบว่ามีหรือไม่ เพียงแต่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารยศร้อยตรีขึ้นไปก็ถือว่ามีอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว

ในระหว่างที่ทำการสืบพยานโจทก์ปากเจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นปากสุดท้าย อัยการยังได้อ้างส่งเอกสารที่เข้าใจว่าเป็นคำสั่งแต่งตั้งพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่มีชื่อพันโทพิษณุพงษ์และพันตรีโสภณในคำสั่งดังกล่าว โดยระบุว่าเอกสารดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งมอบไว้แก่เจ้าพนักงานสอบสวนแล้ว แต่ทางพนักงานสอบสวนไม่ได้นำส่งอัยการมาก่อนหน้านี้ จึงเพิ่งนำมาส่งต่อศาล

แม้ทางทนายจำเลยได้พยายามคัดค้านการส่งเอกสารดังกล่าว เนื่องจากเป็นเอกสารที่ทางโจทก์ไม่ได้ยื่นส่งต่อศาลก่อนวันสืบพยาน จะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี แต่ศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการรับเอกสารไว้ โดยบันทึกการคัดค้านของฝ่ายจำเลยไว้ในกระบวนพิจารณาด้วย พร้อมกำชับอัยการไม่ให้มีการอ้างส่งเอกสารตามมาภายหลังเช่นนี้อีก

ภายหลังการสืบพยาน ทนายจำเลยยังระบุว่าเมื่อดูเอกสารที่อัยการอ้างส่งดังกล่าวแล้ว กลับพบว่าเป็น คำสั่งแต่งตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของมณฑลทหารบกที่ 33 ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหารยศพันเอกไปจนถึงยศสิบตรีที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่ใช่คำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่อย่างใด

 

 

เจ้าหน้าที่มีความเห็นต่อคำว่า “เผด็จการ”  อย่างไร

ในการเบิกความของพยานโจทก์ ทางอัยการยังได้ถามความคิดเห็นของพยานปากต่างๆ ต่อถ้อยคำที่ปรากฏในใบปลิว ถ้อยคำหนึ่งที่มีความน่าสนใจจนนำมาสู่ปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ได้แก่ คำว่า “เผด็จการจงพินาศ”โดยพยานฝ่ายโจทก์ได้เบิกความต่อถ้อยคำดังกล่าว ดังนี้

พันโทพิษณุพงษ์ได้เบิกความว่าในความเห็นของตน เข้าใจความหมายของคำว่า  “เผด็จการจงพินาศ” หมายถึงการต่อต้านรัฐบาลคสช. โดยคำว่า “เผด็จการ” หมายถึง การยึดอำนาจเพื่อบริหารประเทศ คำว่า “พินาศ” หมายถึง ให้หมดสิ้นไป การทำลายให้หมดไป  ข้อความดังกล่าวเป็นการต่อต้านการเข้ามายึดอำนาจของคสช.อย่างรุนแรง

พันตรีโสภณเบิกความว่า ความหมายของ “เผด็จการจงพินาศ” เมื่อพยานเห็นรูปภาพดังกล่าว คิดว่าข้อความอาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ที่พยานเป็นผู้ดูแล และอาจจะผิดพ.ร.บ.ประชามติ  พยานเบิกความว่าพยานรู้สึกว่าถ้าผู้คนทั่วไปเห็นข้อความดังกล่าวคนทั่วไปจะต้องคิดว่าเป็นข้อความที่รุนแรง และข้อความ “เผด็จการ” สื่อถึงรัฐบาลในขณะนั้น

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร.ต.อ.ชยพล ทาอุปรงค์ พนักงานสอบสวนในคดีนี้เบิกความว่า คำว่า “เผด็จการจงพินาศ”เห็นว่าหมายถึงรัฐบาลในขณะนั้น รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจทุกๆ ยุค ส่วนข้อความว่า “พินาศ” หมายถึงเสียหายวอดวาย เป็นข้อความที่รุนแรง ดูโดยรวมแล้วเป็นถ้อยคำ คำขวัญของกลุ่มคนที่ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเห็นว่าเป็นการปลุกระดมทางการเมือง

สุดท้ายคือความเห็นของ พ.ต.ต.ฐนศกณ ประมาณ รองผู้กำกับสภ.เมืองเชียงใหม่ เบิกความว่าความหมายของคำว่า “เผด็จการจงพินาศ” หมายถึง ระบอบการปกครองแบบเผด็จการจงวิบัติหรือล่มจม โดยคำว่าเผด็จการสื่อถึงรัฐบาลในขณะนั้น ที่มาจากการยึดอำนาจ

 


เจตนารมณ์ของจำเลยผู้แปะใบปลิว

ด้านจำเลยในคดี นายสามารถ ขวัญชัย ได้เบิกความยอมรับว่าตนเองเป็นผู้จัดทำใบปลิวและนำไปแปะไว้จริง โดยอธิบายว่าการจัดทำใบปลิวเป็นการกระทำในฐานะคนไทย ที่มีสิทธิและเสรีภาพ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ เป็นการทำเพื่อให้ประชาชนได้สำนึกและหวงแหนในประชาธิปไตย ไม่ได้มีความมุ่งร้ายต่อคนอื่น สังคม หรือประเทศใดๆ

นายสามารถเบิกความว่าตนมีความคิดตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่อยากจะให้มีประชาธิปไตยในสังคม แต่คนไทยกลับถูกยึดอำนาจซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนคนไทยไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ตนเห็นว่าทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น เป็นการทำลายประเทศชาติ เป็นการทำลายเศรษฐกิจ ความน่าเชื่อถือของต่างประเทศต่อประเทศไทย และเห็นว่าประชาชนควรมีสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชน ด้วยความคิดเช่นนี้ พยานจึงได้จัดทำใบปลิวในคดีนี้ขึ้น โดยประสงค์จะปลุกจิตสำนึกคนไทยให้รักประชาธิปไตย เหตุที่นำใบปลิวไปเสียบไว้หน้ารถยนต์ ก็เพื่อให้เจ้าของรถที่พยานไม่ได้รู้จักได้คิดและเกิดความหวงแหนในประชาธิปไตย หวังว่าผู้อ่านจะคิดตาม เกิดความรักประชาธิปไตย  หากไม่เห็นด้วยก็ทิ้งไปเท่านั้น  ไม่ได้เห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดร้ายแรงและความผิดอาญาใดๆ

สามารถเบิกความว่าในส่วนความหมายของข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เป็นคำของครูครอง จันดาวงศ์ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่กล่าวก่อนจะถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในสมัยเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากการถูกกล่าวหาในข้อหาคอมมิวนิสต์  ตนยังเห็นว่าเอกสาร 1 แผ่นไม่สามารถจะปลุกระดมผู้คนให้ก่อความวุ่นวายได้ ข้อความดังกล่าวอาจมีส่วนในการปลุกจิตสำนึกของประชาชน แต่ไม่ใช่การปลุกระดม

สามารถระบุว่าได้จัดทำใบปลิวไว้นานแล้ว ประมาณ ปี 2557 ช่วงที่มีการรัฐประหารโดยคสช. คิดว่ารอดูก่อนว่าการบริหารของคสช.จะเป็นอย่างไร แต่ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้  จึงได้เฝ้ารอวันที่คสช.จะคืนอำนาจให้ประชาชนและจัดการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าในช่วงการลงประชามติ พบว่าร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มีมาให้ประชาชนได้อ่านเหมือนเช่นที่เคยทำในอดีตที่ผ่านๆ มา

สามารถยังได้เบิกความอีกว่า คำว่า “Vote No”ในใบปลิว คือการแสดงความเห็นว่าไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งหมายถึงตัวพยานคนเดียว ไม่จำเป็นที่คนอ่านจะต้องเห็นด้วยเพราะเชื่อว่าคนไทยมีความคิดของตนเอง ใบปลิวดังกล่าวจึงไม่ได้มีถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย ข่มขู่ใดๆ และพยานถือว่าเป็นการสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้นด้วยซ้ำไป เพราะรัฐบาลระบุเองว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย 99.99%

 

เหตุบ้านการเมืองก่อนการลงประชามติ

ในคดีนี้นอกไปจากข้อกฎหมายแล้ว ประเด็นที่ฝ่ายจำเลยสืบ ยังรวมไปถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะก่อนลงประชามติ โดยนำพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเบิกความ

นายณัฐกรเบิกความว่าการลงประชามติในประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหม่พอสมควร ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกคือการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับเมื่อปี 2550 ครั้งนั้น บรรยากาศการลงประชามติค่อนข้างเปิดกว้าง มีการเปิดให้ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วย ได้มีเวทีดีเบต รณรงค์ หรือแจกเอกสารของฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นบทเรียนว่าการลงประชามติจะต้องมีลักษณะเช่นนี้ แต่การลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.59 ในช่วงต้น ไม่ได้มีลักษณะเช่นนี้ เพราะมีหลายเวทีที่จะวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกระงับไม่ให้จัด หรือมีการจับกุมดำเนินคดีคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ  นอกจากนี้ทางกกต.เอง มีการมีจัดทำเอกสารสรุปย่อสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแจกแก่ประชาชน เอกสารดังกล่าวเน้นสรุปด้านดี และไม่ได้นำเสนอเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน ทำให้เอกสารมีแนวโน้มจะเป็นการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

นายณัฐกรเบิกความว่าระหว่างช่วงก่อนการลงประชามตินั้น ได้มีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนตามข้อหาพ.ร.บ.ประชามติ จากการเผยแพร่เอกสารณรงค์ว่าไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ที่จังหวัดราชบุรี ทางสื่อมวลชนก็มีการไปสอบถามนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าเรื่องนี้ทำได้หรือไม่ ทางนายสมชัยก็ระบุว่าการรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ถ้าการนำเสนอข้อมูลเป็นความจริงและไม่ขัดต่อกฎหมาย

ณัฐกรยังเบิกความด้วยว่าในการลงประชามติ มีบุคคลสำคัญให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ทั้งในทางเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีผู้ใดถูกดำเนินคดี อาทิเช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์ว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยืนยันว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ต้องให้ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการร่างใหม่  ขณะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอง ก็พูดในหลายโอกาสว่าร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ไขปัญหาประเทศได้ โดยตนจะรับร่าง และเชิญชวนให้ประชาชนไปให้สิทธิ์ โดยทนายจำเลยได้ยื่นเอกสารคำให้สัมภาษณ์ในสื่อมวลชนของบุคคลต่างๆ ดังกล่าว ประกอบการพิจารณาต่อศาลด้วย

ความเห็นทางกฎหมายของผู้เชี่ยวชาญต่อใบปลิวของจำเลย

ฝ่ายจำเลยยังได้นำพยานผู้เชี่ยวชาญ มาให้ความเห็นทางกฎหมายต่อใบปลิวในคดีนี้อีกหนึ่งปาก ได้แก่ รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมชายได้เบิกความว่าโดยหลักการในสังคมเสรีประชาธิปไตย การออกกฎหมายใดๆ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์และโต้เถียงโต้แย้งกันได้ เช่นเดียวกับกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ว่าจะฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ให้สามารถถกเถียงกันได้ และหลักการในการร่างรัฐธรรมนูญและออกเสียงประชามติ ก็ต้องยอมรับการถกเถียงและเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีสิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม โดยในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น เทียบกับการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยในครั้งนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ดังจะพบในหลายกรณีที่ผู้แสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญจะถูกจับกุมดำเนินคดี

สมชายเบิกความถึงมาตรา 7 ของพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติว่าได้กำหนดหลักการพื้นฐานของการออกเสียงประชามติ คือการให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนในมาตรา 61 วรรค 2 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษทางอาญา โดยหลักการแล้วต้องตีความกฎหมายแบบเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายความได้

สมชายเห็นว่าข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ในใบปลิวในคดีนี้ เป็นข้อความที่กล่าวถึงหลักการการปกครองในเชิงนามธรรม ไม่ได้เจาะจงไปที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ข้อความดังกล่าวยังเป็นหลักการพื้นฐานในสังคมไทย โดยมีการบันทึกว่าเคยเป็นคำที่ครูครอง จันดาวงศ์ กล่าวในขณะถูกประหารชีวิตในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และข้อความในใบปลิวเป็นการแสดงเจตนาของผู้เผยแพร่เอกสาร ว่าเห็นด้วยกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นการปลุกระดม และไม่ได้มีลักษณะเป็นถ้อยคำรุนแรงหรือก้าวร้าวหยาบคาย ตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรค 2 ข้อความในใบปลิวยังแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติด้วย ส่วนภาพชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์จากภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง หมายถึงการต่อต้านการปกครองโดยเผด็จการ

สมชายยังได้เบิกความถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ว่าเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามตามคำสั่งนี้ จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช. ไม่ใช่ทหารที่ยศร้อยตรีขึ้นไปก็เป็นเจ้าพนักงานตามคำสั่งนี้ได้ทันที ส่วนในบัญชีความผิดท้ายคำสั่ง ก็ไม่ได้รวมเอาความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติเอาไว้ จึงเห็นว่าคำสั่งฉบับนี้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับฐานความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติได้ ทั้งคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ยังระบุจุดมุ่งหมายในเรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ไม่ได้ครอบคลุมมาถึงความผิดเรื่องการทำประชามติแต่อย่างใด

 

จับตาคำพิพากษาศาล 24 เม.ย.

ภายหลังการสืบพยานทั้งหมดเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 24 เมษายน 2560 เวลา 9.00 น. โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่ศาลจะมีคำพิพากษา ในข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ประเด็นที่น่าจับตาในคำพิพากษาของศาล ได้แก่ ศาลจะพิจารณาอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารอย่างไร ในกระบวนการสืบสวน ตรวจค้น และเข้าจับกุมโดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.ประชามติไว้ และศาลจะวินิจฉัยข้อความที่ปรากฏในใบปลิวในคดีนี้ อย่างไร จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 (1) วรรค 2 หรือไม่ อย่างไร

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี

นอนคุกแล้ว 4 วัน! ลุงวัย 63 ปี แปะใบปลิวโหวตโนที่ห้างในชม. ถูกแจ้งผิดพ.ร.บ.ประชามติ

ศาลเชียงใหม่ให้ประกันตัว ‘ลุงแปะใบปลิวโหวตโน’ หลังนอนคุกรวม 9 วัน

อัยการยื่นฟ้องคดี “ลุงแปะใบปลิวโหวตโน” ข้อหาพ.ร.บ.ประชามติ ต่อศาลเชียงใหม่แล้ว

X