กด like ไม่ใช่อาชญากรรม : ไม่เป็นตัวการร่วม ไม่ใช่ผู้สนับสนุน

ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เช่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ และแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ทำให้การสื่อสารรวดเร็วมากขึ้น และยังเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องสังคมการเมือง โดยเฉพาะผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ติดอันดับต้น ๆ ของโลก จนทำให้ในขณะนี้ของหน่วยงานรัฐเข้ามาจับตาและพยายามควบคุมการใช้งานเฟซบุ๊กตามที่ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมามีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการแชร์หรือการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กอยู่หลายคดี จนกระทั่งมีการดำเนินคดีจากการกดถูกใจ หรือ ไลก์(like) เกิดขึ้นคือกรณีของนายฐนกร ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการกดไลก์แฟนเพจเฟซบุ๊ก (อ่านต่อ ที่นี่)

ล่าสุดมีตำรวจนายหนึ่งถูกออกหมายเรียกให้เป็นพยานในคดีหมิ่นประมาท เพราะไปกดไลก์ถ้อยคำที่มีลักษณะดังกล่าว โดยพนักงานสอบสวนอ้างว่าการกดไลค์ เป็นการทำให้ข้อมูล “ได้รับความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น” ภายหลังตำรวจนายนี้ยังชี้เเจงว่าอาจจะเป็นลูกของตนที่กดไลก์ เพราะตนไม่ได้รู้จักคู่กรณีที่พิพาทกันเป็นการส่วนตัว เเละไม่เคยอ่านข้อความดังกล่าวอีกด้วย (อ่านต่อ ที่นี่)

ซึ่งการตีความการกดไลก์ว่าเป็นการสนับสนุนเห็นด้วย อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังเคยมีเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่าเพียงเเค่กดไลก์ก็กลายเป็นอาชญากรรมได้เพราะถือเป็นการ “กระทำความผิดซ้ำ” (อ่านต่อ ที่นี่) ได้สร้างบรรยากาศความกลัวให้กับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยตรง

ในฐานะที่เป็นองค์กรทางกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีจึงเห็นเกี่ยวกับประเด็น “กดไลก์”  เนื้อหาหรือความเห็นใน เฟซบุ๊ก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีทางอาญา ดังต่อไปนี้

1. ตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ทุกชนิดเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้กล่าวหา เเต่การใช้พยานหลักฐานที่ไม่ปรากฏถ้อยคำหรือข้อความใดเลยนอกจากการกดไลก์หรือถูกใจ มาอ้างว่าทำให้เนื้อหาที่เป็นความผิดนั้น “ได้รับความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น” เป็นการรวบรวมพยานหลักฐานที่เเทบจะไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า ผู้ใช้ เฟซบุ๊ก มีเจตนาที่จะทำให้ข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นจริงหรือไม่ เพราะการกดไลก์ในเฟซบุ๊กของผู้ใช้ในปัจจุบันเเสดงออกถึงความหมายได้หลายทาง บางคนอาจจะเเทบไม่ได้อ่านข้อความหรือฟังรายละเอียดของเนื้อหาในโพสต์นั้นๆ ทั้งหมด เเต่กดไลค์ เพียงเพราะเป็น “เพื่อน” กันในเฟซบุ๊ก หรืออย่างในกรณีข้างต้นผู้ได้รับหมายเเจ้งว่าตนไม่ใช่ผู้กดไลก์ เเต่เมื่อได้รับหมายเรียกก็ต้องเดินทางไปให้การกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมาย

2. ด้วยความที่กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีโทษซึ่งต้องบังคับกับเนื้อตัวร่างกายของผู้กระทำความผิดโดยตรง เช่น การจำคุก การกักขัง หรือแม้แต่การประหารชีวิต ดังนั้น ในมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” หรือ ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด

ดังนั้น เมื่อการกดไลก์ เนื้อความหรือความเห็นบน เฟซบุ๊ก ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด ผู้กระทำจึงไม่ต้องรับโทษทางอาญาเพราะไม่ได้กระทำความผิดเเต่ประการใด

3. นอกจากนี้ ในทางหลักการของกฎหมายอาญายังระบุชัดว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำความผิดนั้นโดยเจตนา ซึ่งเจตนาถือเป็นองค์ประกอบภายในของความผิดอาญาเเต่ละฐานเเละต้องพิจารณาประกอบกับองค์ประกอบภายนอกของฐานความผิดนั้นด้วย โดยในมาตรา 59 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ว่า  การกระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำเเละในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งผลของการกระทำนั้น

4. ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีบางกระเเสอ้างว่า การกดไลก์เนื้อหาหรือความเห็นที่เป็นความผิด ซึ่งถูกเผยแพร่อยู่ใน เฟซบุ๊กผู้ที่กดไลก์ ต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วม ตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันหมายความว่า ผู้ที่กดไลก์ กระทำความผิดร่วมกับตัวเจ้าของเนื้อความหรือความเห็นนั้นด้วย ในประเด็นนี้ อาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์เคยให้ความเห็นไว้ว่า การมีตัวการร่วมนั้น ผู้กด ไลค์ ต้องมีการกระทำในรูปแบบ ” ร่วมมือร่วมใจ” กับตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งโดยสภาพการกดไลก์ในเฟซบุ๊ก นั้น ผู้กดไลก์ไม่ได้ร่วมมือร่วมใจสร้างหรือทำเนื้อหาหรือความเห็นร่วมกับเจ้าของเนื้อหาหรือความเห็นนั้นเลย ผู้กดไลก์เพียงเเต่มากดปุ่มไลก์ภายหลังที่เนื้อหาหรือความเห็นนั้นถูกสร้างขึ้นเเล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมเเต่อย่างใด (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่)

5. ทั้งนี้ ยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่อาจถูกนำไปขยายความต่อได้ว่า ผู้ที่กดไลก์อาจต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ตามมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ในตัวมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเเล้วว่าการจะเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานใด ผู้นั้นต้องกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่กระทำความผิดก่อนหรือขณะที่กระทำความผิด ดังนั้น ในประเด็นนี้จึงต้องอธิบายเช่นเดียวกับข้อ 4 ว่า เนื้อหาหรือความเห็นใดที่ได้รับการเผยเเพร่ลงอยู่ใน เฟซบุ๊ก ย่อมเป็นเนื้อหาหรือความเห็นที่ผู้กดไลก์ไม่สามารถไปแก้ไขหรือเพิ่มเติมอันจะตีความได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเนื้อหาหรือความเห็นนั้นได้อีกเเล้ว ดังนั้น การกด ไลก์จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเช่นกัน

ดังนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยนชนมีความเห็นว่า การตีความว่าการกดไลก์เป็นการยืนยันให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงเป็นเพียงการคาดเดาเจตนาของผู้ใช้เฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความกฎหมายเกินเลยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมิอาจใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อนำมาพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ใดได้เลย ทำให้เกิดความสับสนหวาดกลัวขึ้นในสังคมและยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

เพื่อเป็นการยืนยันถึงสิทธิในเสรีภาพแห่งการเเสดงออก  หากมีเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวอ้างว่า การกดไลก์ของท่านผิดกฎหมายโปรดดูข้อเเนะนำเบื้องต้น ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ที่ “กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม : คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ถูกเรียกตัวไปซักถาม

 

X