ทนายความศิริกาญจน์ เข้ารับรางวัล Lawyers for Lawyers award 2017

 

วันนี้ (19 พ.ค.60) ทนายความศิริกาญจน์ เจริญศิริ เข้ารับรางวัล Lawyers for Lawyers award 2017 จากองค์กร Lawyers for Lawyers  ณ เมืองอัมสเตอดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

รางวัล Lawyers for Lawyers Award เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2554 และมอบรางวัลในทุกๆสองปี โดยองค์กรภาคประชาสังคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ Lawyers for Lawyers (L4L) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระและไม่สังกัดพรรคการเมือง มีภารกิจในการส่งเสริมนิติรัฐ เสรีภาพ และความเป็นอิสระในวิชาชีพกฎหมาย โดยการสนับสนุนทนายความทั่วโลกซึ่งถูกข่มขู่หรือคุกคามการทำหน้าที่ตามวิชาชีพ ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานว่าด้วยบทบาทนักกฎหมายของสหประชาชาติ

สำหรับปี 2560 คณะกรรมการได้พิจารณารางวัลจากรายชื่อทนายความและองค์กรกว่า 18 รายชื่อทั่วโลก และมอบรางวัลให้กับศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อชื่นชมในความกล้าหาญและมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยซึ่งไม่เป็นที่รับรู้ในโลกตะวันตกมากนัก โดยงานมอบรางวัลจัดขึ้นในงานสัมมนา “เสียงของสิทธิ” ซึ่งได้พูดถึงสถานการณ์การคุกคามการทำหน้าที่ทนายความและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศต่างๆ อาทิเช่น โคลัมเบีย ตุรกี สหราชอาณาจักร และประเทศไทย จัดโดย สำนักงานกฎหมาย Allen & Overy ณ เมืองอัมสเตอดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยในงานดังกล่าวศิริกาญจน์ได้กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยซึ่งยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดระยะสามปีภายหลังการรัฐประหาร ความสำคัญในการทำหน้าที่ทนายความเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งร่วมกันปกป้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และระบบกฎหมายภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

คำกล่าวในโอกาสรับรางวัลของศิริกาญจน์ เจริญศิริ (จูน)

รางวัล Lawyers for Lawyers Award 2560

19 พฤษภาคม 2560

ท่านประธานองค์กร Lawyers for Lawyers และคณะกรรมการ กรรมการตัดสินผู้ทรงเกียรติ เพื่อนร่วมงาน สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ  

ในวันที่ 27 มีนาคม สามสัปดาห์หลังจากที่ดิฉันเดินทางมาถึงเมืองทิลเบิร์กตามโครงการระยะสามเดือนว่าด้วยความยุติธรรมและสันติภาพของเมืองเชลเตอร์ซิตี้  ซึ่งเป็นความร่วมมือเมืองต่าง ๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ดิฉันได้รับอีเมล์ในตอนเช้าแจ้งว่าเป็นผู้ได้รับคัดเลือกเข้ารับรางวัล Lawyers for Lawyers Award ประจำปี 2560 ดิฉันใช้เวลาอ่านอีเมล์ฉบับนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงและอ่านทวนอีก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้อ่านผิด ความคิดแวบแรกคือ “เรื่องจริงหรือนี่? ดิฉันยังอายุน้อยและด้อยประสบการณ์ (ที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติเช่นนี้!)” จากนั้นก็รู้สึกเป็นเกียรติ รู้สึกขอบคุณที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องความมานะพยายามของนักกฎหมายในการปกป้องหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ระหว่างที่ถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง

ดิฉันยืนเบื้องหน้าท่านวันนี้ เพื่อแสดงความขอบคุณอย่างลึกซึ้ง และในนามตัวแทนนักกฎหมายของไทย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้ ขอบคุณ Lawyers for Lawyers และทุกท่านที่ให้ความสนับสนุนกับเรา

ดิฉันอยากอธิบายให้เห็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นดังที่กรรมการตัดสินได้ปรารภว่าเป็นเรื่องที่ชาวตะวันตกไม่ค่อยได้ทราบมากนัก

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยได้ทำรัฐประหาร เปลี่ยนจากอำนาจรัฐบาลพลเรือนเป็นรัฐบาลทหาร ใช้วิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ การระงับใช้รัฐธรรมนูญ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทน ซึ่งสถาปนาอำนาจกองทัพเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน โดยไม่มีข้อหาและไม่ให้เข้าถึงทนายความ สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ขยายเขตอำนาจศาลทหารเหนือพลเรือนสำหรับความผิดบางกรณี รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษจำคุก 3-15 ปีต่อหนึ่งกรรม

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ดิฉันและเพื่อนร่วมงานเห็นว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เป็นความเห็นชอบร่วมกันไม่เฉพาะบรรดานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แต่รวมถึงเพื่อนของเราทั้งที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และอาสาสมัครซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคมมายาวนาน พวกเราเห็นว่าภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนต้องก้าวออกมาเป็นแนวหน้าเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เราได้ก่อตั้ง “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีโดยรัฐบาลทหาร เราเห็นว่าสถานการณ์น่าจะกลับสู่สภาวะปรกติภายในเวลาสามเดือน แต่หลังจากนั้นก็ตระหนักว่า ทหารจะยังคงมีอำนาจต่อไปยาวนานกว่านั้น และจนถึงทุกวันนี้ โดยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไม่เปลี่ยนแปลงเลย

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือในคดีที่ขึ้นศาลทหารและศาลพลเรือน 110 คดี เป็นคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และคดีอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องประกันให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ ในเวลาเดียวกัน เพื่อนร่วมงานของดิฉันที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างน้อยสองคนซึ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน กลับถูกดำเนินคดีและต้องขึ้นศาลทหารเนื่องจากการทำงานของตน

แต่พวกเขายังไม่ท้อถอยและยังคงมุ่งหน้าทำงานให้ดีที่สุดต่อไป

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 รัฐบาลไทยได้กำหนดกรอบกฎหมายเผด็จการซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจอย่างกว้างขวางและตรวจสอบไม่ได้กับหัวหน้าคสช. โดยศาลก็ไม่สามารถตรวจสอบอำนาจนี้ได้ และประกาศคำสั่งเหล่านี้จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป แม้ภายหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ร่างขึ้นใหม่และประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน

ในฐานะนักกฎหมาย ดิฉันไม่สามารถยอมรับ กรอบและระบอบเผด็จการซึ่งทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพได้ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลทหารและบรรดาหน่วยงานของพวกเขาได้รับการยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายท่านใดซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองกฎหมาย จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ได้? เราไม่ได้เป็นผู้ปกป้องความยุติธรรมหรือ?

ในปี 2558 ดิฉันต้องประสบปัญหาท้าทายสำคัญในชีวิตการทำงาน เป็นบททดสอบอย่างแท้จริงว่า ดิฉันเป็นนักกฎหมายที่มีศักดิ์ศรีและน่าภาคภูมิใจ และสามารถปกป้องสิทธิของบุคคลอื่นได้หรือไม่ เนื่องจากทางการไทยได้พยายามขอตรวจค้นรถยนต์ของดิฉันตอนกลางคืนโดยไม่มีหมายศาลในบริเวณพื้นที่ของศาลทหาร เจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเขาต้องการตรวจยึดสิ่งของและโทรศัพท์มือถือของนักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษา 14 คนที่เป็นลูกความของดิฉัน สิ่งที่ดิฉันคิดคือเราจะเป็นนักกฎหมายได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้มีการตรวจค้นอย่างผิดกฎหมายเกิดขึ้นได้? ดิฉันจะมีหน้าไปบอกลูกความอย่างไรเวลาไปเยี่ยมพวกเขาในเรือนจำ? ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องไร้จริยธรรมและกระทบต่อความลับส่วนตัวของลูกความดิฉัน ที่สำคัญยังเท่ากับว่าดิฉันยินยอมให้มีการละเมิดความยุติธรรมทางกฎหมาย และเพิกเฉยให้มีการโจมตีต่อความเป็นอิสระของนักกฎหมาย ดิฉันจึงปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่และการกระทำที่เป็นการละเมิดกฎหมายของพวกเขา แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะส่งผลให้ดิฉันถูกดำเนินคดีอาญาในหลายข้อหา รวมทั้งการปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานและข้อหาร่วมกันล้มล้างระบอบปกครอง ซึ่งอยู่ใต้เขตอำนาจศาลทหาร แต่ดิฉันไม่เคยเสียใจ

นอกจากแรงบันดาลใจของเพื่อนร่วมงานที่มีหลักการและกล้าหาญแล้ว การตัดสินใจของดิฉันครั้งนั้นยังเป็นผลมาจากจิตใจอันกล้าหาญของนักกิจกรรมหนุ่มสาว ซึ่งกล้าแสดงความเห็นและประท้วงอย่างสงบต่อระบอบที่ไม่เป็นธรรมและรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย หนึ่งในจำนวนนั้นถูกคุมขังอยู่ในปัจจุบัน โดยถูกควบคุมตัวมาแล้วห้าเดือนตามความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการแชร์ข่าวเกี่ยวกับพระราชประวัติขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านทางเฟซบุ๊ก ดิฉันหวังว่าเราจะส่งความคิดและกำลังใจให้กับพวกเขา ซึ่งเป็นผู้ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและประชาธิปไตยอย่างสงบ และบรรดาผู้ที่ลุกขึ้นยืนต่อสู้เพื่อสิทธิของคนอื่น

ความกล้าหาญในการทำงานกฎหมายและการปกป้องสิทธิของบุคคลอื่นที่บุคคลต่าง ๆ ยกย่องในตัวดิฉัน เป็นผลมาจากความเข้มแข็งและปณิธานที่เหนียวแน่นของบุคคลต่าง ๆ ที่มีต่อชีวิตดิฉัน ซึ่งคงไม่สามารถเอ่ยนามได้ทั้งหมด อย่างน้อยดิฉันอยากกล่าวถึงบุคคลต่าง ๆ ดังนี้

ขอบคุณครอบครัวดิฉันที่เลี้ยงดูให้ดิฉันมีความใส่ใจต่อชีวิตและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ส่งเสริมให้ดิฉันได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะประสบปัญหาด้านการเงินอย่างไรก็ตาม และการให้เสรีภาพที่จะให้ดิฉันเป็นตัวของตัวเอง ปฏิบัติตามปณิธานในชีวิต และทำในสิ่งที่รัก ดิฉันขอบคุณสำหรับความอดทนและความเข้มแข็งของพวกเขาที่ยืนหยัดเคียงข้างดิฉันในเส้นทางอันท้าทายนี้

ขอขอบคุณชุมชนนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ประชาคมระหว่างประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ และทุกท่านซึ่งเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ขอบคุณสำหรับความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของท่าน

ที่สำคัญ ขอขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ความกล้าหาญและปณิธานอันเด็ดเดี่ยวของดิฉันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในบรรดาเพื่อนร่วมงาน และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งร่วมกันต่อสู้และหวังว่าจะเห็นความเป็นธรรมและความยุติธรรม ดิฉันขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

หากพวกคุณกำลังรับชมและได้ยินคำกล่าวนี้ ดิฉันหวังว่าคุณจะรู้สึกถึงกำลังใจของดิฉันและกำลังใจจากบุคคลอื่น ๆ มากมายทั่วโลก ซึ่งชื่นชมการทำงานและปณิธานของท่าน

เนื่องจากเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันยุติ ดิฉันขอให้กำลังใจกับเพื่อนร่วมงานและนักกฎหมายรุ่นใหม่ รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พวกท่านต้องไม่ท้อถอย ต้องมีความหวัง และภาคภูมิใจในสิ่งที่ท่านทำอยู่

รางวัล Lawyers for Lawyers Award สะท้อนถึงการทำงานอย่างซื่อสัตย์และมั่นคงและความสนับสนุนที่ดิฉันได้รับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ เหมือนพวกเขากำลังบอกดิฉันอย่างหนักแน่นว่า “จูน คุณทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่นักกฎหมายที่ดีต้องทำ!” หมายถึงว่าเมื่อเพื่อนต้องเผชิญปัญหาและภัยคุกคามเนื่องจากการปกป้องสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองระบบกฎหมาย พวกเขาควรได้รับกำลังใจและความสนับสนุน เพื่อให้สามารถทำงานอย่างเป็นอิสระ ปราศจากความกลัวและการคุกคาม

ด้วยเหตุดังกล่าว ดิฉันเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่ารางวัลนี้เป็นสิ่งที่อุทิศให้กับนักกฎหมายและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ อีกมาก บางท่านอยู่ร่วมกับเราในวันนี้ พวกเขาไม่เคยยกเลิกการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิของบุคคลอื่น ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงที่อื่น ๆ ด้วย

รางวัลนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการยกย่องส่วนบุคคล แต่เป็นการยกย่องการทำงานที่ยิ่งใหญ่ของทุกคน ในการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น และเป็นการต่อสู้ร่วมกันของเราเพื่อสิทธิและความยุติธรรมขั้นพื้นฐาน อย่าลืมว่างานของเรายังไม่สิ้นสุด! ให้ร่วมกันทำงานต่อไปทุกวัน!

ขอขอบคุณ

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

 

 

X