เพื่อนเฟซบุ๊ค-ชมรมคนรักในหลวง เบิกความเป็นพยานโจทก์คดี 112 ‘ไผ่ ดาวดิน’

เพื่อนเฟซบุ๊ค-ชมรมคนรักในหลวง เบิกความเป็นพยานโจทก์คดี 112 ‘ไผ่ ดาวดิน’

นัดที่ 2 ของการสืบพยานโจทก์ ‘ลับ’ คดี 112 ของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ พยานเข้าเบิกความรวม 4 ปาก ทั้งประธานสภาทนายความ-สภาวัฒนธรรม-ชมรมคนรักในหลวง จ.ขอนแก่น ส่วนเพื่อนเฟซบุ๊คของไผ่ เจ้าหน้าที่คุ้มกันอย่างแน่นหนา

4 ส.ค. 60 นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 ในคดี 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่ง ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจำเลย จากกรณีแชร์บทความของบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” และคัดลอกข้อความบางส่วนมาใส่ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับทั้งคดี และห้ามเผยแพร่เนื้อหาในการสืบพยาน

โจทก์นำพยานเข้าเบิกความในนัดนี้รวม 4 ปาก ได้แก่ น.ส. จาริณี นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊คกับจตุภัทร์, นายสุรสิทธิ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น, นายประหยัด จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และนายสุพัฒน์ ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดขอนแก่น ซึ่ง 3 ปากหลังเป็นพยานที่มาให้ความเห็นต่อความหมายของข้อความในคดี โดยในนัดนี้พ่อและแม่ของจตุภัทร์ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังการสืบพยานในห้องพิจารณาคดี มีเพียงอัยการ-โจทก์ จำเลย และทนายจำเลย

ส่วนบรรยากาศภายนอกห้องพิจารณา เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.จาริณี ซึ่งอัยการส่งหมายนัดให้มาตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. และได้เข้าเบิกความในวันที่ 4 ส.ค. นี้ ได้รับการคุ้มกันจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อย่างแน่นหนา นอกจากนี้ ยังคงมีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย และประชาชนผู้สนใจกว่า 10 คน มานั่งรอหน้าห้องพิจารณาคดี แม้เข้าฟังการพิจารณาคดีไม่ได้ เพื่อรอเข้าพบและให้กำลังใจจตุภัทร์ในช่วงที่ศาลพักการพิจารณาคดี

การสืบพยานใน 2 วัน ที่ผ่านมา สืบพยานโจทก์ไปได้รวม 5 ปาก ยังคงเหลือพยานตามที่โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานไว้อีก 14 ปาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สืบสวน 3 ปาก, เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 2 ปาก, พนักงานสอบสวน 4 ปาก, นักวิชาการด้าน ICT ผู้ตรวจข้อมูลการจราจรทางอินเตอร์เน็ต และกองพิสูจน์หลักฐาน ผู้ตรวจพิสูจน์แผ่นซีดี รวม 3 ปาก, นักวิชาการและประชาชนผู้ให้ความเห็นเรื่องความหมายของข้อความ อีก 2 ปาก รวมทั้ง พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ผู้กล่าวหา ที่ยังตอบคำถามค้านของทนายจำเลยยังไม่เสร็จ ทั้งหมดนี้จะเข้าเบิกความ ในวันที่ 15-17 ส.ค. 60 จากนั้นจึงจะเป็นการสืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 60

คดีนี้ นายสายัน จันทะรัง พนักงานอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 4 รักษาการในตำแหน่งอัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 60 โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาท และดูหมิ่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ โดยจำเลยได้โพสต์ข้อความให้ปรากฏทางอินเทอร์เน็ตในเพจเฟซบุ๊ก ของผู้ให้บริการที่ใช้ชื่อโปรไฟล์ว่า Pai jatupat ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูและตรวจสอบได้ โดยใส่ความหมิ่นประมาท และดูหมิ่น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ต่อประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ทั้งนี้ คำฟ้องได้ยกข้อความ 4 ย่อหน้าช่วงท้ายบทความเรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของบีบีซีไทย โดยระบุว่า เป็นข้อความที่จำเลยโพสต์ แต่ไม่ได้อ้างว่าข้อความดังกล่าวจำเลยได้คัดลอกมาจากบทความของบีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวมีผู้แชร์ไปมากกว่า 2,500 ครั้ง แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่น รวมทั้งสำนักข่าวบีบีซีไทย ผู้ผลิตและเผยแพร่บทความ ถูกดำเนินคดี นอกจากจตุภัทร์เพียงคนเดียว

การพิจารณาคดีนี้เริ่มขึ้นหลังจตุภัทร์ ซึ่งในขณะที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดและถูกจับกุม เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน/ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถูกขังในระหว่างการสอบสวนและรอการพิจารณาคดีมาเป็นเวลากว่า 7 เดือน โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 วรรค 2  รับรองไว้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคตาม ICCPR ข้อ 14 วรรค 3 (ข) ด้วย

ปัจจุบันสถานการณ์การดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในประเทศไทยเป็นที่วิตกของประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งมีการออกแถลงการณ์เป็นระยะๆ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินการที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะดังกล่าว ล่าสุด สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีในคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2557 และและการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด โดยระบุว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ การลงโทษจำคุกบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นการละเมิดต่อมาตรา 19 ของ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี นอกจากนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยังมีความกังวลถึงกระบวนการพิจารณาคดีหลังรัฐประหาร ซึ่งคดี 112 ส่วนมากจะได้รับการพิจารณาคดีในศาลทหาร และเป็นการพิจารณาคดีลับ โดยจำเลยส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และบางรายถูกฝากขังก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลานาน สุดท้าย สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ในทันที เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้ทบทวนคดีที่อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทุกคดีด้วย

 

อ่านความเป็นมาของคดีและข่าวที่เกี่ยวข้อง:

กระบวนการยุติธรรมกับการจำกัดเสรีภาพ ‘ไผ่ ดาวดิน’: ประมวลคดี 112 ‘ไผ่’ ก่อนถึงวันสิ้นปี 59

สำรวจกระแส ปล่อย ‘ไผ่’ สะท้อนการดำเนินคดี ถอนประกัน และไม่ให้ประกันที่ไม่เป็นธรรม

เปิดคำฟ้องคดี “ไผ่” แชร์ข่าวบีบีซีไทย ขณะศาลยังคงปิดห้องพิจารณาเป็นการลับ

‘ไผ่’ ร้อง ไม่ได้สิทธิต่อสู้คดีเต็มที่ ศาลให้ปรึกษาทนาย แต่ยังปฏิเสธให้ประกัน

“ไผ่ ดาวดิน” ยังไร้เสรีภาพหลังยื่นประกันครั้งที่ 10 ศาลไม่อนุญาต

ศาลขอนแก่นสั่งพิจารณาคดีลับ 112 “ไผ่” จนกว่าจะมีคำพิพากษา

 

X