พรุ่งนี้ 9โมงเช้า ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหนูหริ่งไม่เข้ารายงานตัว

9.00 น. พรุ่งนี้ (9 ส.ค.2560) ศาลแขวงดุสิตมีนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก. ลายจุด” ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก่อนหน้านี้ (30 มิ.ย.59) ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นที่เห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง ว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คดีนี้เหตุที่นายสมบัติยื่นคำร้องขอฎีกาคดีตนเอง เพราะเห็นว่าในชั้นอุทธรณ์ได้แก้คำพิพากษาโดยนำข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กลับมาพิจารณาลงโทษจำคุกอีก ซึ่งเดิมศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องในข้อหานี้ไปแล้วและมีการเพิ่มโทษ ทั้งนายสมบัติก็ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงขอฎีกาในประเด็นดังต่อไปนี้

นายสมบัติเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า คสช. ได้ยึดอำนาจสำเร็จและมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ การที่ คสช. ได้อำนาจปกครองมานั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จะถือว่าได้อำนาจมาโดยสำเร็จและมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ได้ และการตีความรับรองการรัฐประหารว่ามีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยดูเพียงว่ามีคณะทหารกลุ่มหนึ่งใช้กำลังเข้ายึดครองและประกาศว่ายึดอำนาจสำเร็จ จะก่อให้เกิดผลแปลกประหลาด เพราะจะทำให้การปกครองแผ่นดินไม่มีความมั่นคงแน่นอน ผลัดเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย เพราะสถานะของคณะรัฐประหารมีความไม่แน่นอนว่าจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือกบฏ เพราะอาจจะเกิดการต่อต้านจนการรัฐประหารล้มเหลว

นอกจากนั้นการถือว่าการยึดอำนาจของ คสช. สำเร็จและเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทันที ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 69 ที่ให้สิทธิบุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ต่อวิธีการที่ได้มาซึ่งอำนาจปกครองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ มาตรา 70 ที่บัญญัติว่าบุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะไม่มีช่วงเวลาใดที่จะเกิดการต่อต้านขึ้นได้ การตีความแบบนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานส่งเสริมให้เกิดการยึดอำนาจการปกครองทำลายระบบกฎหมายนิติรัฐ และหลักการแบ่งอำนาจ

อีกทั้ง ตามข้อเท็จจริงหลังคสช.ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ก็ยังมีการต่อต้านโดยประชาชนอย่างกว้างขวาง ในเมื่อการรัฐประหารไม่สำเร็จในทันที และเป็นการทำเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ นายสมบัติจึงเห็นว่าตนในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีเจตจำนงยึดมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตย จึงไม่จำเป็นต้องไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และเป็นการใช้สิทธิต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติวิธี

ด้วยเหตุข้างต้น การรัฐประหารของคสช.จึงยังไม่สำเร็จในทันที จึงไม่มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์และไม่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกนายสมบัติไปรายงานตัว

ประเด็นต่อมา การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าการโต้แย้งของจำเลยที่อ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหารโดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าวจะเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมืองต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจ ทั้งนี้จำเลยเห็นว่าการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นเพียงข้อเท็จจริงหนึ่งเท่านั้นที่จะพิจารณษว่ารัฐประหารจะสำเร็จหรือไม่ หาใช่การก้าวล่วงพระราชอำนาจแต่อย่างใด

ประเด็นต่อมา การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่ากฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด แต่จำเลยเห็นว่าเมื่อคสช. ไม่ได้ทำรัฐประหารเสร็จโดยทันที การออกประกาศคำสั่งต่างๆ จึงไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแต่อย่างใด ศาลจะนำรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณาให้ประกาศและคำสั่ง คสช. มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้การกระทำของนายสมบัติที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ซึ่งไม่มีความผิดทางอาญากลับเป็นมีความผิด ซึ่งจะเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังไปเอาผิดและลงโทษบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งขัดกับหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย”

ในประเด็นที่จำเลยได้ต่อสู้มาตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์แล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากในคดีนี้ไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดฐาน “ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 มาก่อน จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหานี้ต่อศาล ทั้งนี้ศาลทั้ง 2 ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาตามมาตรา 368 แต่จำเลยเห็นว่าการให้การของพยานพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อหาและเป็นผู้จัดทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหานั้น ขัดแย้งกับบันทึกที่พยานจัดทำ เนื่องจากในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหามีเพียงข้อหาไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. แต่ไม่มีข้อหาตามมาตรา 368

คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่1/57 ประกาศคสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดี (อ่านที่นี่)

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30มิ.ย.2559แก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 และฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช. อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี (อ่านที่นี่)

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ย้อนอ่านคำเบิกความพยาน คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ประกาศ คสช. ไม่มีโทษย้อนหลัง คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

X