สืบพยานตำรวจชุดจับกุมในคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลักต่อ พยานเบิกความว่ารัฐประหารเป็นการล้มล้างประชาธิปไตยและเห็นด้วยให้มีเลือกตั้ง

ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ที่อัยการทหารฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน นัดนี้ทนายความจำเลยถามค้านพยานตำรวจชุดจับกุมต่อจากนัดที่แล้ว พยานเบิกความว่าการทำรัฐประหารถือว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ อีกทั้งพยานยังเชื่อมันในระบอบประชาธิปไตยและเห็นด้วยให้มีการเลือกตั้ง หลังสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้นใน ศาลได้นัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 30ม.ค.2561

วานนี้(30 ส.ค.2560) ศาลทหารนัดสืบพยานปากที่สองในคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก พ.ต.ท.สันติชัย หนูทอง อดีตสารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.ปทุมวัน ตำรวจชุดจับกุมในวันเกิดเหตุ มาเบิกความในประเด็นการจำเลยในคดีทั้ง4คนได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายศิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ซึ่งตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

พยานเบิกความตอบคำถามทนายความว่า ประกาศและคำสั่งของ คสช. ถ้าภายหลังมีรัฐธรรมนูญ 2557 รับรองสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเอาไว้แล้ว ประกาศหรือคำสั่งที่จำกัดสิทธิถือว่าใช้ไม่ได้ไปโดยปริยายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าถ้าในรัฐธรรมนูญมีระบุว่าให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งเดิมก็จะไม่มีผลบังคับใช้อีก แต่พยานไม่แน่ใจว่าในรัฐธรรมนูญฉับบชั่วคราว 2557 ที่ประกาศใช้มีการให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.หรือไม่ ทั้งนี้พยานขอไม่ออกความเห็นว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ พยานเพียงแต่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัยชาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

พยานเบิกความถึงข้อความ “ซ้อมไว้ ซ้อมไว้ พบกัน 14 ก.พ.นี้ หน้าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ 16.00 น. อิๆ” ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อความชักชวนมาชุมนุมทางการเมือง เป็นเพียงการชวนให้มาร่วมชุมนุมเฉยๆ

ในส่วนของขั้นตอนจับกุมจำเลยทั้ง4คนที่สน.ปทุมวัน พยานยืนยันว่ามีการแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบก่อนโดยตำรวจที่ทำบันทึกจับกุม คือ ร.ต.ท.โสรชาติ ดาวเรือง ได้แจ้งสิทธิให้จำเลยฟัง ซึ่งพยานอยู่ในห้องขณะทำบันทึกจับกุมด้วยจึงทราบ ทั้งนี้พยานจำไม่ได้ว่าสาเหตุที่จำเลยทที่ 1 ไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมเพราะโต้แย้งว่าจำเลยมีสิทธิในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้รับรองสิทธิของจำเลยเอาไว้

ทนายความถามว่าทำไมลายมือชื่อของพยานในบันทึกจับกุมกับในบันทึกคำเบิกความต่อศาลจึงมีลายเส้นและน้ำหนักของเส้นปากกาไม่เท่ากันน พยานเบิกความว่าไม่เท่ากันจริงแต่เป็นเพราะใช้ปากกาคนละแท่งกันและกระดาษที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน

พยานเบิกความว่าขณะที่พยานอยู่ในเหตุการณ์พยานไม่ได้ทำการบันทึกภาพนิ่งหรือวิดีโอไว้ แม้ว่าพยานจะมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถบันทึกภาพและวิดีโอได้ จากนั้นหลังจากที่พยานได้นำตัวจำเลยทั้ง4คนไปที่สน.ปทุมวันแล้ว เหตุการณ์ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพจะเป็นอย่างไรต่อพยานไม่ทราบ ส่วนที่พยานเบิกความไปก่อนหน้านี้ว่าตอนที่พยานเข้าจับกุมจำเลย พวกของจำเลยที่มาชุมนุมก็แตกฮือออกไปนั้น พยานไม่ทราบว่าคนเหล่านั้นไปไหนหรือมีการหลบหนีหรือไม่ เพราะไม่เห็นแล้ว

พยานเบิกความต่อว่าจุดเกิดเหตุเป็นจุดเดินขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยในช่วงที่เกิดเหตุประชาชนที่ผ่านไปมาก็ใช้ทางเดินสกายวอล์คด้านบนจึงแยกกับคนที่มาร่วมการชุมนุม ส่วนคนที่อยู่บนลานหน้าหอศิลปฯ ก็มีทั้งผู้สื่อข่าวประชาชนที่ผ่านไปมาและคนที่มาร่วมชุมนุม และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบปะปนกันและผู้ที่มาเข้าร่วมก็ไม่ได้แต่งกายแตกต่างจากคนทั่วไปหรือมีสัญลักษณ์อะไร ทนายความถามว่าดังนั้นตอนที่พยานเข้าจับกุมจำเลยคนที่แตกฮือออกไปจะเป็นใครบ้างก็ไม่ทราบ ไม่ได้มีการนำตัวมาซักถามใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายความถามว่า หลังจากจำเลยทั้ง4คน ถูกนำตัวไป พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ได้เข้าร่วมการซักถามจำเลยด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าจำได้ว่ามีทหารเข้าร่วมการซักถามด้วยแต่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นใครและพยานก็ไม่ได้ตรวจสอบว่าใช้อำนาจอะไรในการเข้าร่วมการซักถามและพยานเองก็จำไม่ได้ว่าทหารที่เข้าร่วมก็ไม่ได้แสดงตนว่าใช้อำนาจตามประกาศ คสช.7/2557ในการเข้าร่วมซักถามหรือไม่ แต่ก่อนหน้าคดีนี้ในช่วงนั้นก็เคยมีทหารเข้าร่วมการซักถามกับตำรวจด้วยเช่นในคดียาเสพติด

ทนายความถามว่าตามที่พยานเบิกความว่ารู้จักจำเลยทั้ง4คนจากการที่พวกเขาเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน พยานแยกได้อย่างไรว่าการเคลื่อนไหวใดเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพหรือเป็นเรื่องการเมือง พยานตอบว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกครองประเทศหรือเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งกิจกรรมนี้มีการทวงคืนการเลือกตั้งที่หายไปด้วย

ทนายความถามพยานว่าตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.2557 มา พยานเห็นด้วยว่าประเทศไทยควรมีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ และทราบด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ

พยานขอไม่ตอบต่อคำถามของทนายความที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าการจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้งเมือวันที่ 2ก.พ.2557 ถ้าชุมนุมกันโดยสงบสันติ ปราศจากอาวุธก็สามารถทำได้

พยานเบิกความว่าตนจำไม่ได้ว่าในวันเดียวกับที่เกิดคดีนี้ กลุ่ม กปปส.จะได้มีการจัดงานรำลึกถึงการขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 สำเร็จหรือไม่ และไม่ทราบด้วยว่ามีการจับกุมดำเนินคดีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวหรือไม่

พยานเบิกความว่าตนทราบเรื่องที่ คสช. ประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2558 แต่พยานไม่ทราบว่าประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจของกฎอัยการศึกจะสิ้นผลไปด้วยหรือไม่ อีกทั้งในวันเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งข้อ 12 ในคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดคล้ายกันกับประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 แต่พยานไม่ทราบเหตุผลของการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว

ทนายความจำเลยถามพยานว่าเป็นคนที่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความจึงถามอีกว่าที่พยานมีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเพราะพยานเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นอำนาจที่มาจากประชาชน ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย

ทนายความถามอีกว่าการยึดอำนาจของ คสช. ไม่ได้เป็นการได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ซึ่งการทำรัฐประหารถือว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ และที่ได้ตอบคำถามอัยการทหารว่า คสช. มีอำนาจออกประกาศและคำสั่งซึ่งมีสถานะทางกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จะได้มาก็ต่อเมื่อยึดครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทนายความจึงได้ถามต่อไปว่าแล้วเมื่อใดที่จะถือได้ว่าเป็นการยึดครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องมีพระบรมราชโองการรับรองใช่หรือไม่ พยานไม่ตอบและศาลแจ้งว่าศาลจะไม่บันทึกเนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยง

พยานเบิกความถึงขณะที่ตนอยู่ในเหตุการณ์ว่าตนเองจำไม่ได้แล้วว่าขณะเกิดเหตุมีคนจะโกนว่า “เลือกตั้ง” หรือไม่ ส่วนตัวพยานและพ.ต.ท.บุญฤทธิ์ เสียงใส ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการสวมเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนพ.อ.บุรินทร์ ในวันนั้นเขาจำไม่ได้

ในขณะที่พยานอยู่ในที่เกิดเหตุตั้งเวลาประมาณ 17.00น. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้เครื่องขยายเสียงซึ่งเป็นลำโพงติดล้อเข็นมาใช้ในการประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าเป็นตำรวจนายใดและอยู่ในสังกัดใดเพราะตรวจชุดควบคุมฝูงชนมาจากหลายสถานี เมื่อมีการประกาศให้ยุติแล้วคนที่มาร่วมชุมนุมก็ไม่เชื่อฟังและก็ยังอยู่เฉยๆ กัน ส่วนในการจับกุมจำเลยพยานไม่ได้มีการยึดพยานวัตถุใดๆ มาด้วย

พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้บัญชาการตำรวจควบคุมฝูงชนในวันนั้น ตอนประชุมวางแผนปฏิบัติการในวันนั้นไม่ได้กำหนดชื่อแผนไว้ มีเพียงแค่ดูว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเข้าความผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากพิจารณาแล้วว่ามีความผิดผู้บัญชาการก็จะแจ้งลงมาให้ทราบ แต่หากเหตุการณ์ลุกลามผู้บัญชาการเหตุการณ์ก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเป็นผู้สั่งการ ในวันนั้นเท่าที่พยานจำได้มีการสั่งให้นำอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนไปด้วยแต่ไม่ได้นำมาใช้

ทนายความได้ถามว่าเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยดีใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความจึงได้ถามต่อว่าแล้วถ้าเช่นนั้นในวันนั้นใครเป็นคนสั่งให้จับกุมจำเลยทั้ง 4 คนพยานตอบว่าเป็นผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน ให้ทำการจับกุมเนื่องจากพบว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายแล้ว ส่วนตำรวจที่เข้าทำการจับกุมก็เป็นตำรวจชุดควบคุมฝูงชน

ทนายความถามว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ระบุเอาไว้ว่าประชาชนมีสิทธิชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจที่ไม่ได้ตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญโดยสงบสันติ ปราศจากอาวุธใช่หรือไม่ พยานตอบว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทนายความจึงถามต่อว่าแต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 ก็ยังให้การรับรองบรรดาสิทธิต่างๆ ที่มีการบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายความถามว่าหลัง 22 พ.ค.2557 ที่มีการจัดงานรำลึกต่างๆ เช่น รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาฯ 35 พยานทราบหรือไม่ว่ามีการจับกุมดำเนินคดีแบบเดียวกับคดีเลือกตั้งที่(รัก) ลัก หรือไม่ พยานตอบว่าทราบว่ามีการจัดกิจกรรม แต่พยานไม่ทราบว่ามีการจับกุมดำเนินคดีด้วยหรือไม่ และ

ทนายความขอให้พยานช่วยลงลายมือชื่อในกระดาษเพื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากเห็นว่าลายมือชื่อของพยานในบันทึกคำเบิกความในศาลกับในบันทึกจับกุมต่างกัน แต่พยานยืนยันว่าจะไม่ลงลายมือชื่อเพื่อเปรียบเทียบ ทนายความจึงขออนุญาตต่อศาล ศาลไม่อนุญาต ทนายความจึงได้แถลงคัดค้านในประเด็นนี้

จากนั้นทนายความได้ขอศาลเปิดคลิปวิดีโอชื่อ “เลือกตั้งที่(รัก) ลัก” ซึ่งบันทึกภาพเหตุการณ์ ณ วันเกิดเหตุเอาไว้เพื่อแสดงต่อศาล พยานยืนยันว่าภาพในคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นภาพเหตุการณ์ในวันนั้นจริง

ทนายความถามว่าจากคลิปวันนั้นผู้กำกับการสน.ปทุมวัน ได้พูดกับผู้ชุมนุมว่า ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง แต่จะชุมนุมก็ชุมนุมไป ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความถามต่อว่าในวนนั้นไม่ได้มีเหตุความรุนแรงอะไรจำเลยที่ถูกเชิญตัวไปที่ สน.ปทุมวันก็ยอมไปด้วยดีใช่ไหรือไม่ พยานตอบว่าใช่

พยานเบิกความว่าสัญลักษณ์ของกิจกรรมที่สัญลักษณ์เป็นหีบบัตรเลือกตั้งเป็นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

ทนายความถามว่าในการเชิญตัวจำเลยทั้ง 4 ไปที่สถานีได้มีการตรวจค้นร่างกายก่อนหรือไม่ พยานตอบว่าไม่แน่ใจว่ามีการตรวจค้นหรือไม่ แต่ในวันนั้นจำเลยทั้ง4ไม่ได้พกพาอาวุธหรือสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตรายไปด้วย ส่วนหีบบัตรเลือกตั้งและคูหาจำลองทำจากกล่องกระดาษ

ทนายความถามพยานว่าปกติคำว่ามั่วสุมจะต้องเป็นการไปประชุมหรือชุมนุมกันเพื่อกระความผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความจึงถามต่อว่าคำว่า “เลือกตั้ง” โดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่คำที่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

พยานเบิกความว่าในการจับกุมพยานได้พิจารณาด้วยตัวเองว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้จับกุมจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่จึงจะปฏิบัติตาม

ทนายความถามพยานว่าการเรียกร้องการเลือกตั้งของจำเลยทั้ง 4 คน ก็เป็นจุดประสงค์เดียวกับที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปพูดที่ประเทศญี่ปุ่นว่าจะให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2559 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบว่ามีเจตนาเดียวกันหรือไม่

พยานเบิกความตอบคำถามทนายความว่าในรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีการบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้นผ่านสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ซึ่งหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญคือสิทธิเสรีภาพซึ่งจะถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ซึ่งในการตรากฎหมายเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากสภา ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือร่างกฎหมายจะเสนอผ่านสภาและนิติบัญญัติแล้วจึงจะนำขึ้นทูลเกล้า ซึ่งการจะประกาศใช้จะต้องลงในพระราชกิจจานุเบกษา โดยต้องมีพระมหากษัตริย์ลงในนามพระปรมาภิไธย

ทนายความถามต่อว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งพยานกล่าวว่าถือเป็นบทบังคับทางกฎหมายนี้ ไม่ได้มีการลงพระปรมาภิไธยและไม่ได้รับความยินยอมจากสภา พยานตอบว่าใช่ ผู้ที่ลงนามคือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทนายความถามต่อว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่พล.อ.ประยุทธ์ตั้งตัวเองไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว พยานขอไม่ตอบคำถามนี้

นายอานนท์ นำภา จำเลยที่ 1 ซึ่งมีสถานะเป็นทนายความของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ในคดีฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก(MOU) ที่ถูกนำมารวมในคดีนี้ นายอานนท์ได้ถามพยานว่าจากการติดตามข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจำเลยทั้ง 4 คน พยานคิดว่าจำเลยทั้ง 4 นอกจากการออกมาค้านการรัฐประหารแล้วถือว่าเป็นคนดีหรือไม่ พยานตอบว่าเป็นคนดี

ทนายอานนท์ถามพยานว่าวันเกิดเหตุประเทศไทยอยู่ในการปกครองด้วยระบอบอะไร พยานตอบว่าไม่แน่ใจว่าปกครองด้วยระบอบอะไร

จากนั้นทนายอานนนท์ถามอีกว่าที่พยานไม่ตอบคำถามเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้มีกฎหมายรองรับนั้นเพราะกลัวว่าจะมีเหตุเภทภัยตามมาหลังจากการเบิกความใช่หรือไม่และถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยว่านี้พยานจะตอบได้หรือไม่ พยานขอไม่ตอบ และต่อให้เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ก็จะตอบเหมือนเดิม

ในส่วนของคดีที่นายสิรวิชญ์ถูกฟ้องว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขปล่อยตัวฯ นายอานนท์ถามว่าการที่ทหารจับกุมคนกินแซนด์วิชหรืออ่านหนังสือในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ แต่คงไม่ได้จับเพราะการกินแซนด์วิช การกระทำดังกล่าวอาจจะมีนัยยะอย่างอื่นแอบแฝงอยู่ นายอานนท์จึงถามว่าแล้วทราบหรือไม่ว่ามีนัยยะอย่างไร พยานตอบว่าไม่ทราบ

พยานเบิกความตอบทนายอานนท์ว่าตนทราบเรื่องที่นายสิรวิชญ์ถูกจับกุมพร้อมเพื่อนที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนจับ

ทนายอานนท์ถามถึงเหตุการณ์ เลือกตั้งที่(รัก)ลัก ที่เป็นเหตุแห่งคดีฝ่าฝืนเงื่อนไขปล่อยตัวว่า ในการจับกุมในวันที่14ก.พ.2558 นี้ในที่ประชุมมีการอนุญาตให้ทหารเข้าร่วมการจับกุมด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าทหารมีอำนาจทำการจับกุมอยู่แล้ว ทนายอานนท์ถามต่อว่าฝ่ายทหารมีผู้บัญชาการเป็นพ.ท.ภาสกรหรือพ.อ.บุรินทร์ หรือไม่พยานตอบว่าไม่แน่ใจ

พยานเบิกความว่าในที่ประชุมไม่ได้มีการระบุให้จับตาใครเป็นพิเศษในการชุมนุมวันนั้น ในส่วนของการจับกุมจำเลยทั้ง4คน เป็นการสั่งจากระดับบนลงมา ส่วนใครจะเป็นคนสั่งการฝ่ายทหารให้เข้าจับกุมด้วยนั้นพยานไม่ทราบ และตนก็ไม่ได้เป็นคนสั่งการให้ทหารเข้าไปจับกุม และเขาก็ไม่ได้สังเกตว่าทหารที่เข้าจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบ

ทนายอานนท์ถามว่าพยานสามารถแยกได้หรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรายใดเป็นทหารหรือตำรวจ พยานตอบว่าแยกไม่ออก

พยานเบิกความว่าจำไม่ได้จำเลยคนใดถูกเชิญตัวเป็นคนแรก โดยการนำตัวไปที่สน.ปทุมวันได้ให้จำเลยขึ้นรถตู้ไปทางด้านหน้าของหอศิลปฯ แต่พยานจำไม่ได้ว่ามีจำเลยที่ถูกนำตัวขึ้นจักรยานยนต์หรือรถสามล้อ(ตุ๊กตุ๊ก) ไปที่สน.หรือไม่ เมื่อจำเลยถูกนำตัวไปถึงสน.ปทุมวันแล้วจึงมีการทำบันทึกจับกุม

ทนายอานนท์ถามพยานว่าในกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก คนที่มาร่วมมีการถ่ายภาพ selfie มอบดอกกุหลาบ ขายหนังสือ มีการร้องเพลง และมีใครพูดปราศรัยบ้าง พยานตอบว่าจำไม่ได้ เห็นแต่เพียงว่ามีการมอบดอกไม้

ทนายอานนท์ถามว่าตำรวจนอกเครื่องแบบมีการติดสัญลักษณ์อะไรเพื่อใช้ในการสังเกตว่าเป็นเจ้าหน้าที่ พยานตอบว่ามีป้ายห้อยคอ และทหารก็มีป้ายห้อยคอเหมือนกัน

ทนายอานนท์ถามคำถามสุดท้ายว่าพยานได้เคยให้การที่สน.ปทุมวันในคดีที่นายสิรวิชญ์ถูกฟ้องว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เคย

ภายหลังการสืบพยานปากพ.ต.ท.สันติชัยเสร็จสิ้นในวันนี้ ศาลได้นัดสืบตำรวจชุดจับกุมปากถัดไปในวันที่ 30มกราคม2561

.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สืบพยานคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ตำรวจชุดจับกุมยืนยันจำเลยฝ่าฝืนประกาศ คสช. แต่รธน.ชั่วคราวยังรับรองสิทธิ

X