คู่มือ (ทำอย่างไรเมื่อถูก คสช. เรียก) ตอน 2 (จบ)

คู่มือ (ทำอย่างไรเมื่อถูก คสช. เรียก) ตอน 2 (จบ)

คู่มือการปฏิบัติในกรณีถูกเรียกให้ไปรายงานตามคำสั่งคณะรักษาความสงบ

(ทำอย่างไรเมื่อถูก คสช. เรียก)

โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ผู้ถูกจับกุม

  1. ควรบอก ชื่อ นามสกุล เบอร์ติดต่อญาติหรือคนใกล้ชิด ให้คนที่อยู่บริเวณที่ถูกจับกุมทราบ
  2. ควรสอบถามว่าจะถูกควบคุมตัวไปไว้ที่ไหน
  3. ควรแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของตนเป็นระยะ ว่าถูกควบคุมตัวไว้ในที่ไหน
  4. ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ให้ผู้ถูกจับกุมแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวในโอกาสแรก หากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ก็ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อให้
  5. ควรแจ้งให้ญาติหรือคนใกล้ชิดมาขอเยี่ยมทันทีที่ถูกกักตัว

กรณีถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่

  1. ถ้าแน่ใจว่าข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาไม่ถูกต้อง ต้องปฏิเสธ
  2. ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น
  3. ไม่ควรพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เกินกว่าที่จำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
  4. หากเจ้าหน้าที่ให้เซนต์เอกสาร ควรอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ (ต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมคิดหรือคาดเดาไปเอง) หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกตรง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซนต์

กรณีถูกกักตัว

  1. เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจกักตัวได้ไม่เกิน7 วัน (กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ) หากมีการควบคุมเกินกว่านั้น เป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  2. กรณีที่ญาติอยู่ด้วยระหว่างมีการจับกุม ญาติควรตามไปเพื่อให้ทราบสถานที่กักตัวหรือควบคุมตัว
  3. กรณีไม่ทราบสถานที่กักตัว ให้ญาติติดต่อสอบถามหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องโดยแจ้งจุดที่ถูกจับให้เจ้าหน้าที่ทราบ
  4. ญาติควรเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมในโอกาสแรก
  5. ญาติควรเข้าเยี่ยมผู้ถูกกักตัวตั้งแต่วันแรก และทุกวัน (บ่อยๆเท่าที่เป็นไปได้)
  6. ครบ7 วัน ญาติควรไปรับผู้ถูกกักตัวจากสถานที่ควบคุมตัว หากครบ 7 วัน ยังไม่มีการปล่อยตัวให้ติดต่อทนายความเพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม มาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  7. ในระหว่างการกักตัว7 วันนั้น หากมีการนำตัวผู้ถูกเรียกให้รายงานตัวและถูกจับไปที่สถานีตำรวจเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ให้ขอตำรวจแจ้งญาติให้ทราบทันที และให้เตรียมหลักทรัพย์มาประกันตัว
  8. เมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว มีสิทธิขอประกันตัวต่อพนักงานสอบสวน

สิทธิของผู้ถูกจับ

  • กรณีการจับกุมตามกฎหมายพิเศษ ให้ดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น
  • มีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจ ทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวในโอกาสแรก
  • มีสิทธิพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว
  • มีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนในชั้นสอบสวนได้
  • ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อญาติได้ตามสมควร
  • ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
  • ได้รับแจ้งสิทธิจากเจ้าพนักงานหรือตำรวจในโอกาสแรก
  • ได้รับการเยี่ยม ตามสมควร
  • ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว เมื่อเกิดการเจ็บป่วย
  • ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาหรือรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ทราบ หากมีหมายจับ  ต้องแสดงหมายจับให้ผู้ถูกจับทราบขณะจับกุม การจับตามพรก.ฉุกเฉินฯ /ป.วิฯอาญา จะมีหมายจับ  เว้นแต่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า หากจับตามกฎอัยการศึกไม่ต้องหมายจับ
  • มีสิทธิจะไม่ให้การหรือให้การก็ได้
  • สิทธิที่จะถูกนำตัวไปสถานีตำรวจทันที (กรณีเป็นผู้ต้องหาตามป.วิฯอาญา)
  • มีสิทธิได้รับสำเนาบันทึกการจับกุม
X