เสรีภาพสำคัญยิ่งสำหรับงานประชุมวิชาการ: เปิดคำให้การ ‘อานันท์ กาญจนพันธุ์’ ในคดีไทยศึกษา

19 ก.ย.60 ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนในคดีของ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายมีข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.60

ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้แก่ นายชยันต์ วรรธนะภูติ, นางภัควดี วีระภาสพงษ์, นายนลธวัช มะชัย, นายชัยพงษ์ สำเนียง และนายธีรมล บัวงาม ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสอนได้สอบพยานนักวิชาการในสาขาต่างๆ เพิ่มเติมจำนวน 5 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของผู้ต้องหา ภายหลังพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการศาลแขวงเชียงใหม่โดยยังไม่ได้สอบพยานเพิ่มเติม ทางฝ่ายผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับพนักงานอัยการ ทำให้ทางอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมได้

ในคดีนี้ ทางอัยการศาลแขวงยังได้นัดหมายผู้ต้องหามาผัดฟ้องเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. โดยอัยการระบุว่าเนื่องจากคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 5 ได้ร้องขอความเป็นธรรม และเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะ อัยการแขวงจะทำการส่งสำนวนไปยังอธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อพิจารณาและมีความเห็นทางคดีต่อไป ซึ่งทำให้การนัดหมายหลังจากนี้จะมีระยะเวลาขยายออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยระหว่างนั้นพนักงานสอบสวนก็จะทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาได้ทำการร้องขอ ทางฝ่ายผู้ต้องหาจึงได้ทยอยนำพยานเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนตามลำดับ

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เดินทางมาให้กำลังใจผู้ต้องหาขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ช้างเผือก เมื่อวันที่ 21 ส.ค.60 

 

ที่มาที่ไปงานประชุมวิชาการไทยศึกษา

ในส่วนคำให้การของ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ระบุว่าตนได้เคยเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษามาแล้วหลายครั้ง ทั้งยังเคยเข้าร่วมนำเสนองานวิชาการในการประชุมมาโดยตลอด ทำให้ทราบถึงความเป็นมาของงานและลักษณะของงานประชุม อีกทั้ง ในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2539 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ยังได้เคยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ร่วมจัดการประชุมครั้งนั้นด้วย

อานันท์ระบุว่างานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2524 ด้วยความร่วมมือกันของนักวิชาการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้มีการจัดสัมมนาร่วมกันขึ้นมา มุ่งหมายให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีมองและวิธีศึกษาสังคมไทย ในการจัดงานประชุมช่วงแรกๆ จะเน้นไปที่มิติเรื่องวัฒนธรรมและวรรณกรรม โดยการประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีทั้งนักวิชาการไทย นักวิชาการอินเดีย นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายประเทศเข้าร่วม ทั้งยังมีนักวิชาการไทอาหม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย เข้าร่วมด้วย

งานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษามีลักษณะเป็นการจัดงานสัมมนาวิชาการขนาดใหญ่ มีนักวิชาการมาร่วมนำเสนอผลงานในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสังคมไทย จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี ต่อหนึ่งครั้ง โดยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยในต่างประเทศและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ในการประชุมแต่ละครั้ง นักวิชาการที่เข้าร่วมจะร่วมกันทบทวนว่าในรอบสามปี งานวิชาการที่ศึกษาเรื่องเมืองไทยมีความเคลื่อนไหวไปถึงไหนบ้าง มีใครศึกษาอะไรบ้าง และมีมุมมองเน้นในเรื่องอะไร ซึ่งมีทั้งประเด็นในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ในงานประชุมจึงมีการนำเสนอผลงานวิชาการครอบคลุมแทบทุกเรื่อง และหลากหลายแง่มุมของสังคมไทย ซึ่งรวมทั้งประเด็นหัวข้อทางการเมืองต่างๆ ด้วย เช่น ระบบการเมืองไทยเป็นอย่างไร การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นอย่างไร เป็นต้น

 

ผู้ร่วมประชุมรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาแทรกแซงงานประชุม

สำหรับในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ที่หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ อานันท์ระบุว่าตนได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของการจัดงานประชุม มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาหารือในการจัดหัวข้อ และจัดโปรแกรมนำเสนองานวิชาการในการประชุม

อานันท์ให้การว่าในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาแต่ละครั้ง รวมทั้งครั้งที่ 13 นี้ มีลักษณะเป็นงานปิด บุคคลที่จะเข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อน และต้องเสียค่าลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงาน เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1,500 บาท ขึ้นไป เพราะผู้จัดงานต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าหอประชุม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

อานันท์ระบุว่าในการประชุมครั้งนี้ ได้รับทราบจากเพื่อนนักวิชาการทั้งนักวิชาการไทยและต่างประเทศว่าได้มีกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาในงานประชุม ซึ่งเพื่อนนักวิชาการระบุกันว่าบางส่วนเป็นเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน และมีการเข้าถ่ายรูปผู้เข้าร่วมประชุมโดยไม่ได้ขออนุญาต โดยตนยังได้เห็นรูปภาพจากเพื่อนนักวิชาการ ซึ่งเป็นรูปเจ้าหน้าที่ทหารในชุดเครื่องแบบทหารเดินอยู่ในงานประชุม

เนื่องจากงานประชุมมีผู้เข้าร่วมไม่ใช่เพียงคนไทย แต่เป็นนักวิชาการและผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศทั่วโลก การกระทำดังกล่าวของกลุ่มบุคคลที่เข้ามาโดยไม่ได้รับเชิญ อานันท์เห็นว่ามีลักษณะเป็นการแทรกแซงงานประชุม เป็นการละเมิดสิทธิของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นๆ ที่ต้องเสียค่าลงทะเบียนเข้าร่วม และยังเป็นการละเมิดสิทธิของการนำเสนองานทางวิชาการ  การกระทำดังกล่าวได้ทำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศซึ่งมีการแทรกแซงเข้ามาในงานประชุม

 

ต้องพิจารณาข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในบริบทของงานประชุมวิชาการ

อานันท์ระบุว่าตนไม่ได้เห็นเหตุการณ์ตอนที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมถือป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” แต่ก็เห็นว่าข้อความดังกล่าวแสดงออกถึงความอึดอัดและความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในบรรยากาศโดยรวมของที่ประชุม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งผู้เข้าร่วมการประชุมที่เป็นนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ ข้อความดังกล่าวเป็นคำบอกเล่าทั่วไป ที่ต้องการสื่อสารว่าการประชุมทางวิชาการจำเป็นต้องมีอิสระ และจำเป็นต้องมีเสรีภาพ หากมีการแทรกแซงต่อการประชุมหรือการทำงานวิชาการ ก็จะทำให้การศึกษาและการให้ความรู้ต่อสังคมไม่ตรงกับความเป็นจริง

อานันท์เห็นว่าการถือป้ายดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกโดยสงบและสุจริตภายใต้การประชุมทางวิชาการ ไม่ได้มีลักษณะของการชุมนุมที่ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล หรือปลุกระดมทางการเมืองใดๆ  โดยการกระทำดังกล่าวต้องพิจารณาภายใต้บริบทและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในงานประชุมวิชาการนานาชาติ มิใช่พิจารณาแต่เพียงตัวข้อความดังกล่าวเพียงลำพัง

 

ความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการ

อานันท์ระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับงานประชุมทางวิชาการ เนื่องจากนักวิชาการและนักศึกษาควรได้คิดอย่างอิสระเสรี โดยเฉพาะภายใต้สังคมโลกาภิวัตน์ ที่ประเทศไทยต้องอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลก ไม่สามารถอยู่โดยลำพังได้ งานวิชาการจึงจำเป็นต้องมีอิสระ เพราะนานาชาติต้องการจะแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดกับประเทศของเราอย่างมีอิสระ โดยเฉพาะความรู้และความเป็นไปของสังคมไทย

อีกทั้งการมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการจะทำให้เราเข้าใจตัวเราเองดีขึ้น ว่าเรามีปัญหาใด หรือเราได้ก้าวหน้าไปถึงไหน การเปิดกว้างให้นักวิชาการนานาชาติและนักวิชาการไทยได้พูดถึงสังคมไทยอย่างที่เป็นจริงจึงมีความสำคัญ

อานันท์ยืนยันว่าการดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา อาจทำให้เกิดภาวะของการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว และยังทำให้เกิดบรรยากาศของปิดกั้นการสามารถพูดถึงความจริง อันทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมไทยเอง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดคำให้การ 5 ผู้ต้องหาคดีติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานไทยศึกษา

ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา

5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษายื่นขอความเป็นธรรม ร้องให้อัยการสั่งสอบพยานนักวิชาการเพิ่มเติม

5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษารายงานตัวอัยการ ดร.ชยันต์ถูกเชิญพูดคุยทหารหน่วยข่าวร่วมชั่วโมง

 

X