ไต่สวนละเมิดอำนาจศาลเจ็ดนักศึกษาเสร็จแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 2 พ.ย.

ไต่สวนละเมิดอำนาจศาลเจ็ดนักศึกษาเสร็จแล้ว นัดฟังคำพิพากษา 2 พ.ย.

 

เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงแอบถ่ายภาพรายงานผู้บังคับบัญชาขณะพิจารณาคดี ด้าน 7 นักศึกษา เบิกความต่อศาลยืนยันตาชั่งสื่อถึงทหารที่ใช้อำนาจลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่วนตาช่างอีกข้างมีนกสีขาวสื่อถึงเสรีภาพ ไม่ได้พาดพิงถึงศาลแต่อย่างใด

28 ก.ย.60 เวลาประมาณ 09.00 น. ศาลไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาคดี 7 นักศึกษา ละเมิดอำนาจศาล จากการทำกิจกรรมให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน บริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เสร็จสิ้นทุกปากและมีหนึ่งปากที่ศาลงดสืบพยาน คือ พรทิพย์ หงษ์ชัย เนื่องจากศาลมองว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ  นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 พ.ย. 60 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น

โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคนคือ พายุ บุญโสภณ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อาคม ศรีบุตตะ หรือฉัตรมงคล นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน, นางสาวเอ (นามสมมติ) อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ

หกนักศึกษาเชื่อโดยสุจริตใจ ศาลเป็นที่สุดท้ายที่ตนจะสามารถแสดงออกได้

เมื่อวันที่ 27-28 ก.ย. 60 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 เบิกความศาลจังหวัดขอนแก่นตรงกันว่า กิจกรรมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 พวกตนและเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ต้องการจัดขึ้นเพื่อให้กำลังใจ จตุภัทร์ ถึงแม้ว่าในวันดังกล่าว “ไผ่” จะถูกนำตัวกลับเรือนจำทันทีหลังพิจารณาคดีเสร็จ แต่พวกตนก็ยังจัดกิจกรรมเพื่อจะได้สื่อสารเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่า “ไม่ผิดไม่เป็นไร และเราจะไม่ทิ้งกัน” นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าว มีการอ่านแถลงการณ์ อ่านกวี ร้องเพลง “บทเพลงของสามัญชน” ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้กำลังใจผู้ที่ถูกคุมขังจากการต่อสู้ และวางดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ ซึ่งเป็นดอกกุหลาบสีขาวสื่อถึงความบริสุทธิ์ของพลังนักศึกษา และความบริสุทธิ์ของไผ่

ส่วนตาชั่งที่วางอยู่ในบริเวณที่ทำกิจกรรม ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกอธิบายว่า ตาชั่งข้างหนึ่งที่เป็นรองเท้าบู๊ทนั้น สื่อถึงทหารและอำนาจของทหารที่อยู่เหนือประชาชนและทหารใช้อำนาจลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นถังพลาสติก ข้างในมีนกกระดาษสีขาวสื่อถึงเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้มีอะไรที่พูดถึงหรือพาดพิงศาลแต่อย่างใด และพวกตนก็เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า พวกตนสามารถทำกิจกรรมให้กำลังใจบริเวณศาลได้ เนื่องจากพวกตนเห็นว่าศาลคือพื้นที่ปลอดภัยจากทหาร เพราะว่าปกติแล้วเวลาที่พวกตนจัดกิจกรรมก็จะมีทหารไปห้ามไม่ให้จัดตลอด และพวกตนเชื่อมั่นว่าศาลยังคงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกคน ยังเบิกความอีกว่า ภายหลังรัฐประหารพวกตนถูกจับตาจากทหารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกติดตาม คุกคาม ทั้งตนและครอบครัว ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโทรถามว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่บ่อยครั้ง บางทีหากมีกิจกรรมเจ้าหน้าที่ก็จะมาคอยถ่ายรูป อัดวิดีโอ อยู่ตลอดเวลาทำให้พวกตนรู้สึกอึดอัดและรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย และเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทหารลิดรอนเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ หกนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาเป็นนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน 5 ราย ได้เบิกความเพิ่มเติมว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่สนใจประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและทำกิจกรรมโดยการลงพื้นที่ศึกษาปัญหา พร้อมทั้งให้ความรู้ทางด้านกฎหมายกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ อาทิเช่น กิจกรรม walk for rights  การฟ้องคดีที่ศาลปกครองขอนแก่นกรณีปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่นามูล-ดูนสาด เป็นต้น  และนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ 1 ราย ซึ่งทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมือง เช่น กิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พูดถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกคนเบิกความต่อว่า พวกตนได้รู้จักนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” จากกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้  การทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้ภายหลังรัฐประหารเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานความมั่นคงได้เพ่งเล็ง  ติดตามและห้ามกลุ่มของพวกตนไม่ให้ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในพื้นที่หรือแม้กระทั่งภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะจตุภัทร์ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และถูกจับกุมดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งพวกตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม รวมถึงการดำเนินคดีจตุภัทร์จากกรณีแชร์ข่าวบีบีซี ซึ่งผู้กล่าวหาคือพันโทพิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าปฏิบัติการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

“จ่านิว” ยืนยันกิจกรรมไม่ได้เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ด้านนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว”ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ได้มาศาล และชี้แจงเหตุที่ไม่สามารถเดินทางมาศาลเมื่อวานนี้ ( 27 ก.ย.) ได้ เนื่องจากติดภารกิจเตรียมการศึกษาต่อ ซึ่งได้ขอให้ทนายความแถลงต่อศาลว่าขอให้พิจารณาลับหลังตนแล้ว แต่ศาลต้องการพยานหลักฐานยืนยันจึงให้นายสิรวิชญ์ยื่นพยานหลักฐานดังกล่าวภายใน 15 วัน มิเช่นนั้นศาลจะพิจารณาเพิกถอนสัญญาประกัน

เมื่อขึ้นเบิกความ นายสิรวัชญ์ได้ให้การว่าขณะเป็นนักศึกษาตนได้ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการคัดค้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายหลังมีการรัฐประหาร ซึ่งปัจจุบันตนถูกดำเนินคดีในความผิดฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่  7/57, ที่ 40/57 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 และตามพระราชบัญญัติการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้านเมืองพ.ศ.2535

นอกจากนี้ในวันที่ 20 ม.ค.59 ตนยังเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปิดบังใบหน้าควบคุมตัวตนไปข่มขู่และทำร้ายร่างกายมาก่อน เกี่ยวกับคดีนี้ตนได้เดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจนายจตุภัทร์ซึ่งรู้จักกันมาประมาณปีกว่า โดยเมื่อมาถึงศาลประมาณ 8.00 น. ได้พบกลุ่มคนใส่หน้ากากรูปการ์ตูนหน้าไผ่ และได้มีคนเรียกตนไปถ่ายรูปพร้อมยื่นหน้ากากให้ เหตุที่ใส่หน้ากากนั้น เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวบอกว่าเพราะ “เราทุกคนคือไผ่” เมื่อทำการถ่ายรูปแล้ว ตนจึงเข้ามาในศาลและเห็นทหารทำการตรวจค้นตัวและกระเป๋า ทั้งมีรถฮัมวี่ของทหารจดในบริเวณศาล

หลังจากไผ่ได้กลับไป ตนได้เดินมายังบริเวณศาลาและทราบว่าจะมีกิจกรรมของนักศึกษาสี่ภาค ตนได้เดินไปดู โดยรู้จักบางคนในกลุ่มดาวดิน กิจกรรมดังกล่าวมีการอ่านบทกวี ร้องเพลง และแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับทหาร มีการแจกดอกกุหลาบสีขาวเพื่อให้คนนำไปวาง ส่วนสัญลักษณ์ไม้กางเขนตนจับใจความได้ว่าหมายถึงอำนาจของทหารและประชาชนที่ไม่เท่าเทียมกัน ตนยืนยันว่ากิจกรรมไม่มีการพาดพิงถึงศาล เพราะถ้ามีตนคงต้องเดินออกจากบริเวณนั้นทันที

 

เจ้าหน้าที่ ilaw เบิกความในฐานะผู้สังเกตการณ์ เห็นว่ากิจกรรมสื่อถึงทหาร

นอกจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจะขึ้นเบิกความแล้ว ยังมี นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากศูนย์ข้อมูลกฎหมายและเสรีภาพ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ซึ่งมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในวันที่ 10 ก.พ.60 ขึ้นเบิกความเป็นพยานว่า ilaw ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลคดีสิทธิเสรีภาพ ได้ติดตามคดีของนายจตุภัทร์มาตั้งแต่ปี 2557  ปัจจุบันนายจตุภัทร์ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 5 คดี ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้านรัฐประหารและการลงประชามติ ซึ่งตนทำหน้าที่มาสังเกตการณ์ที่ศาลในวันเกิดเหตุ

ยิ่งชีพเบิกความว่าในวันดังกล่าวได้พบเจ้าหน้าที่ทหารหลายนายทั้งภายในและภายนอกอาคาร และบริเวณห้องควบคุมตัว เมื่อทราบว่าศาลสั่งพิจารณาโดยลับ ตนจึงลงมาด้านล่าง ภายหลังการพิจารณาเสร็จสิ้น ประมาณ 10.00 น. ตนจึงได้เดินตามกลุ่มนักศึกษาไปดูกิจกรรมด้านหน้าศาล โดยมีการอ่านแถลงการณ์ อ่านบทกวี จำได้ว่ามีการพูดว่า “ไม่ผิด ไม่เป็นไร” และร้องเพลง “บทเพลงของสามัญชน” ซึ่งเป็นบทเพลงของวงสามัญชนที่ใช้ร้องให้กำลังใจผู้ที่ถูกคุมขัง ระหว่างทำกิจกรรมพบว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลมาสังเกตการณ์ด้วย แต่ไม่ได้มีการห้ามปรามใดๆ ส่วนตาชั่ง (อุปกรณ์ประกอบกิจกรรม) นั้นตนเห็นว่าเป็นการสื่อสารถึงทหาร เพราะกลุ่มดาวดินถูกทหารติดตามมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ในคดีอื่นที่มีผู้ได้รับผลกระทบมากหรือมีประชาชนสนใจมาก ก็มักจะมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะดังกล่าว

 

งดสืบพยานคนนอก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม ศาลได้สั่งงดสืบพยานปากนางพรทิพย์ พงษ์ชัย สมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำหนึ่งในพื้นที่ที่กลุ่มดาวดินลงไปทำงานด้วย ซึ่งทนายความต้องการนำสืบถึงการทำกิจกรรมของกลุ่มดาวดิน การไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ศาลอื่นก่อนหน้าเกิดเหตุ และความเห็นต่อตาชั่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบกิจกรรมในวันเกิดเหตุ แต่ศาลเห็นว่าพยานคนดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุและไม่ใช่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ จึงสั่งงดสืบพยาน โดยให้ทนายความทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลได้ภายใน 15 วัน

 

หน่วยงานความมั่นคงตามบันทึกภาพคดีนักศึกษาภายในห้องพิจารณา

นอกจากนี้ระหว่างการสืบพยาน ได้มีผู้สังเกตการณ์แจ้งต่อศาลว่า มีบุคคลซึ่งนั่งอยู่แถวหลังสุดของห้องพิจารณานั้นได้ทำการบันทึกภาพภายในห้องพิจารณา ศาลจึงสอบถามบุคคลดังกล่าวทราบชื่อคือ นายเดชาธร ดิษยาภูดินันท์ มาจากหน่วยงานความมั่นคง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยนายเดชาธรได้ชี้แจงว่าตนใช้โทรศัพท์ถ่ายเพื่อรายงาน “นาย”   ศาลจึงเรียกผู้อำนวยการศาลมาทำการตรวจสอบ พบว่ามีการบันทึกภาพในห้องพิจารณาสามภาพ ศาลจึงตั้งเรื่องการไต่สวนละเมิดอำนาจศาลในกรณีของนายเดชาธร เนื่องจากศาลมีข้อกำหนดในการห้ามถ่ายภาพภายในห้องพิจารณา

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น กลุ่มเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค จัดกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจนายจตุภัทร์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่) ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่) ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงทำการไต่สวนกลุ่มบุคคลที่ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31 และมีโทษตามมาตรา 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

ทั้งนี้ ศาลได้สั่งสืบเสาะประวัติและความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดรายและนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 2 พ.ย. 60 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สืบพยานผู้กล่าวหาเสร็จสิ้น พรุ่งนี้สืบต่อ 7 นศ.ละเมิดอำนาจศาล

“เปิดบันทึกพยาน” ผู้กล่าวหาตอบคำถามค้านคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล

ศาลขอนแก่นเลื่อนไต่สวนคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล ก่อนให้อาจารย์ใช้ตำแหน่งประกันตัว “จ่านิว”

7 นักศึกษา คดีละเมิดอำนาจศาล ยืนยันจัดกิจกรรมสะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม

นักศึกษาโดนเพิ่มอีก 3 “ละเมิดอำนาจศาล” เหตุกิจกรรมให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์

 

X