ตำรวจบ้านโป่งขึ้นเบิกความ คดีแจกสติกเกอร์ Vote No นัดหน้าเริ่มสืบจำเลยทั้ง 5 คน

26-27 ก.ย.2560 ศาลจังหวัดราชบุรีมีนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีแจกสติกเกอร์ Vote No ที่สภ.บ้านโป่ง ซึ่งอัยการศาลจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ฟ้อง นายปกรณ์ อารีกุล จำเลยที่ 1 นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา จำเลยที่ 2 นายอนันต์ โลเกตุ จำเลยที่ 3 นายอนุชา รุ่งมรกต จำเลยที่ 4 นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย จำเลยที่ 5 รวม 5 คน ในข้อหา ร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติฯ และขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตาม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา

การสืบพยานครั้งนี้เป็นการถามค้านพ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิร ตำรวจสืบสวนสภ.บ้านโป่ง ตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้ง 5 คน ต่อจากการสืบพยานเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา และยุทธนา ภูเก้าแก้ว พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ผู้สอบคำให้การจำเลยและพยานในคดีนี้และเป็นผู้ทำสำนวนมีความเห็นส่งฟ้องต่ออัยการ โดยพยานตำรวจทั้งสองนายมีการเบิกความถึงพฤติการณ์ในคดีและยังยืนยันว่าสติกเกอร์ของกลางมีเนื้อหาปลุกระดม แต่การให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าจะออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญหรือของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่าจะออกเสียงไม่รับนั้นสามารถทำได้

ทั้งนี้ในช่วงทนายความถามค้านพ.ต.ท.สรายุทธในประเด็นข้อความบนสติกเกอร์ “ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” โดยมีการอธิบายมาตราต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ทำประชามติเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และนายกรัฐมนตรีอาจถูกเสนอชื่อบุคคลภายนอกจากในบัญชีของพรรคการเมืองได้ พ.ต.ท.สรายุทธได้เบิกความว่าตนเพิ่งทราบความหมายของข้อความดังกล่าวหลังทนายความอธิบายในศาล แต่ก็ได้เบิกความด้วยว่าการ Vote No ดังกล่าวเป็นการออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่เพียงบางมาตรา (สามารถอ่านสรุปการสืบพยานได้ที่เนื้อหาด้านล่าง)

ภายหลังการสืบพยานนัดนี้ศาลนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยในวันที่ 3-5 ต.ค.2560

 

การสืบพยานในวันที่ 26 กันยายน

วันแรกของการสืบพยาน พ.ต.ท.สรายุทธ เบิกความตอบคำถามค้านของทนายความของนายปกรณ์ว่า พยานทราบว่าเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล และทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถูกยกเลิกไปและมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ชั่วคราว พ.ศ.2557 แทน แต่ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร

เมื่อทนายความให้พยานดูรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและถามว่าในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังมีการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามประเพณีการปกครองของไทยและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามเอาไว้ นอกจากนั้นตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 ก็ยังได้บัญญัติเรื่องการจับกุมควบคุมตัวจะทำโดยอำเภอใจไม่ได้และในข้อ 19 บุคคลทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง เอาไว้ด้วยใช่หรือไม่ พยานเบิกความยืนยันว่ามีการระบุเอาไว้ตามเอกสารของทนายความ

ทนายความจึงได้ถามพยานต่อว่าพยานเข้าใจใช่หรือไม่ว่าการที่ประเทศไทยได้ลงนามในพันธกรณีระหว่างประเทศต่างๆ เอาไว้ ประเทศไทยก็จะต้องมีการอนุวัติกฎหมายไทยให้เข้ากับพํนธกรณีเหล่านั้นด้วย พยานตอบว่าเข้าใจ

พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ในช่วงก่อนเกิดเหตุคดีว่า คสช.ได้มีการกำหนดวันลงประชามติไว้คือวันที่ 7 ส.ค.2559 และ กกต.ได้มีการกออกจุลสารรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติเพื่อให้เป็นการให้ความรู้ถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญและมีตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติ

ทนายความถามว่าตามบันทึกตรวจยึดของกลาง จุลสารของ กกต. ดังกล่าวก็เป็นของกลางส่วนหนึ่งที่ตรวจยึดมาได้ในวันเกิดเหตุใช่หรือไม่ พยานยืนยันว่าใช่ ทนายความจึงได้ถามว่า ดังนั้นเอกสารที่ตรวจยึดมาได้ก็เป็นเอกสารที่ไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ไม่ผิดกฎหมายแต่เป็นเอกสารที่เชื่อมโยงแล้วเป็นการชักจูงให้ผู้ออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งก็คือการ No Vote

ทนายความถามต่ออีกว่าสติกเกอร์ดังกล่าวเขียนว่า Vote No พยานเห็นแล้วเข้าใจว่าอย่างไร พยานตอบว่าใช่ แต่ตัว No ใหญ่กว่า คนทั่วไปอ่านแล้วก็เข้าใจได้ว่าเป็น No Vote

ทนายความนำสำเนาข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายสมชาย ศรีสุทธิยากร ให้พยานดูแล้วถามพยานว่าทราบหรือไม่ว่านายสมชายเคยให้ข่าวว่าการแจกสติกเกอร์ Vote No ไม่น่าเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ เอาไว้ พยานยืนยันตามเอกสารของทนายความ แต่ตอบว่าตนเองไม่เคยได้ยินข่าวดังกล่าว

ทนายความถามต่อว่าแล้วพยานเคยได้เห็นการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม ที่พูดถึงเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ว่าสามารถทำได้เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชายังแสดงความเห็นผ่านสื่อว่าจะไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอดีตนายกรัฐมนตรีก็เคยแสดงความเห็นผ่านสื่อเช่นกันว่าตนจะไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พยานตอบว่าไม่เคยเห็นข่าวเหล่านี้

ทนายความถามว่าการให้ความเห็นผ่านสื่อของพล.อ.ประยุทธ์ และนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ถือว่าเป็นการปลุกระดม ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นหรือเป็นการชี้นำให้ประชาชนออกเสียงทางใดทางหนึ่งใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่เป็น

ทนายความกล่าวว่าหนึ่งในประเด็นที่จำเลยสู้ในคดีนี้คือเหตุผลที่พวกตนมีความคิดเห็นว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามข้อความในสติกเกอร์ว่า “ไม่รับ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก”

ทนายความถามรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดว่าตามมาตรา 259 ที่มีประเด็นอยู่ว่าให้ คสช. เป็นผู้เสนอชื่อสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้ง 250 คน ให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งได้ ซึ่งสว.ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่จากการที่สว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พยานตอบว่าเป็นไปตามเอกสาร

ทนายความถามต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 269 (1) ได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหา สว. ก็ยังให้ คสช. เป็นคนตั้งคณะกรรมการดังกล่าวและในมาตราเดียวกันข้อ ค. ก็ยังระบุให้มีผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เข้ามาด้วย ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

จากนั้นทนายความถามว่าตามมาตรา 272 เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้จากรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอมาก็ให้ที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภาสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากบัญชีหรือไม่ก็ได้พยานเข้าใจว่าอย่างไร ก็คือการที่ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้

ทนายความถามว่าพยานเข้าใจหรือไม่ว่าข้อความในสติกเกอร์ “อนาคตที่ไม่ได้เลือก” คือการที่ สว.มาจากการแต่งตั้งอีกทั้งนายกรับมนตรีก็อาจจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน พยานตอบว่าเข้าใจ หลังจากที่ทนายความอธิบายให้ฟังเมื่อสักครู่ ก่อนหน้านี้ตนก็ไม่เข้าใจมาก่อนว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร

ทนายความถามว่านอกจากนั้นตามมาตรา 265 ก็ยังระบุว่าให้ คสช. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และคสช. ก็ยังสามารถใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ต่อไปแม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติแล้วก็ตาม ซึ่งมาตรา 44ก็ได้ให้อำนาจหัวหน้าคสช.ในการระงับยับยั้งอำนาจของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการได้ ซึ่งมาตราดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คัดค้านใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ ทนายความจึงถามต่อว่าในทางวิชาการแล้วถือว่ามาตราดังกล่าวนี้ถือเป็นการให้อำนาจเกินขอบเขตใช่หรือไม่ พยานตอบว่าขอไม่ออกความเห็นต่อคำถามนี้

ทนายความจึงถามต่อว่าดังนั้นการที่ คสช. ใช้มาตรา 44 ปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพ การสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดในหลายจังหวัด แม้แต่การที่สั่งย้ายผู้บัญชาการตำรวจก็สามารถทำได้ การบัญัติเอาไว้แบบนี้ขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้

พ.ต.ท.สรายุทธ เบิกความตอบคำถามทนายความของนายทวีศักดิ์ต่อว่า การกรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และการรณรงค์ว่าให้รับหรือไม่รับร่าง สามารถทำได้แต่ส่วนที่มีการโน้มน้าวชี้นำให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถทำได้ ซึ่งก็คือการที่มีคำว่า No อยู่ด้วย

ทนายความถามต่อว่าในการรณรงค์ของ กกต. ไม่ได้มีการบอกถึงข้อเสียของร่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการลงประชามติเลย มีเพียงแต่การพูดถึงข้อดีเท่านั้น ถือว่าเป็นการชี้นำหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้เป็นการชี้นำ

ทนายความถามว่าในมาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ไม่ได้มีคำว่า “ชี้นำ” อยู่ด้วยนั้นพยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ยืนยัน แต่ตนเห็นว่าการชี้นำเป็นการปลุกระดมประชาชน ทนายความถามอีกว่าการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีช้อมุลในการตัดสินใจถือเป็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

พ.ต.ท.สรายุทธ เบิกความตอบทนายความในประเด็นการเปรียบเทียบการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. และการรณรงค์ Vote No ว่าถ้าเป็นการรณรงค์ก็ควรจะมีสติกเกอร์ทั้ง Vote Yesและ Noแจกด้วยกัน ทนายความจึงถามต่อว่าถ้าอย่างนั้นการรณรงค์งดเหล้าก็ควรจะมีสติกเกอร์ให้ดื่มเหล้าด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะพ.ร.บ.ประชามติฯ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง

ทนายความถามว่าตามที่พยานได้ตอบคำถามของทนายความของนายปกรณ์ไปว่าเพิ่งเข้าใจความหมายของ “อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ในวันนี้ ก่อนหน้านี้พยานเห็นแล้วไม่เข้าใจใช่หรือไม่ พยานตอบว่าตอนนี้เข้าใจแล้วแต่ตนก็เห็นว่าการ Vote No นั้นเป็นการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่แค่มาตราใดมาตราหนึ่งตามที่ทนายความของนายปกรณ์อธิบาย

ทนายความถามว่าตามที่นายทวีศักดิ์แจ้งไว้กับพยานว่าเป็นนักข่าวที่มาทำข่าวและจากภาพถ่ายที่ให้พยานดู นายทวีศักดิ์ ก็กำลังทำการสัมภาษณ์นายบริบูรณ์ เกรียงวรางกูล (จำเลยในคดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติฯ ราชบุรี) พยานตอบว่าไม่ทราบว่าในภาพดังกล่าวนายทวีศักดิ์กำลังสัมภาษณ์ในฐานะนักข่าวอยู่หรือไม่ แต่คล้ายกับมีการพูดคุยกันและมีการจดบันทึกการคุย

ทนายความของนายทวีศักดิ์ถามคำถามสุดท้ายว่า การชี้นำที่พยานหมายถึงคือตต้องเป็นไปตามพฤติการณ์ในมาตรา 61 วรรค 2 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายความของนายอนันต์ โลหเกตุถามพ.ต.ท.สรายุทธ ว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว และมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ยังรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอยู่ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

ทนายความถามว่าจากสติกเกอร์ข้อความใดที่เป็นการแสดงออกที่มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ พยานตอบว่าขอไม่ออกความเห็น ทนายความจึงถามต่อว่าเป็นความเข้าใจของพยานเองว่าข้อความในของกลางมีลักษณะดังกล่าวใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเห็นว่าเป็นการปลุกระดม

ทนายความของนายอนุชาถามพ.ต.ท.สรายุทธ ว่าข้อความบนของกลางที่ยึดได้ ไม่ได้มีถ้อยคำต่อต้านไม่ให้ประชาชนไปออกเสียงใช่หรือไม่ พยานตอบว่ามี คือคำว่า “No”

ทนายความถามว่าการรณรงค์คือการชักชวนให้ประชาชนออกไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความจึงถามต่อว่าการปลุกระดมคือการชักชวนให้คนไปทำผิดกฎหมายใช่หรือไม่อย่างเช่นการชักชวนไปเผาศาลากลางเป็นต้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความจึงถามว่าดังนั้นแล้วข้อความใดในสติกเกอร์ที่เป็นการปลุกระดม พยานตอบว่าการที่มีคำว่า No เยอะ ก็ถือว่าเป็นการปลุกระดม

ทนายความของนายภานุวัฒน์ ถามพ.ต.ท.สรายุทธ ว่าตอนที่ได้เห็นสติกเกอร์พยานเข้าใจว่าข้อความบนสติกเกอร์เป็นอย่างไร พยานตอบว่าเห็นคำว่า No ชัดเจน และอ่านได้ทั้ง Vote No และ No Vote ทนายความจึงถามว่าถ้าเห็นแต่คำว่า No หรือ Yesถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่และถ้าบนสติกเกอร์มีคำว่า Yes จะผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ผิดถ้ามีเพียงแค่ No หรือ Yes แต่ถ้าบนสติกเกอร์มีคำว่า Yes ก็ถือว่าผิดกฎหมาย

ทนายความถามว่าการพูดบอกให้ประชาชนไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่าผิด ทนายความจึงถามว่าแล้วการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่พยานตอบว่าถือเป็นการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานที่มี่อำนาจตามกฎหมาย แต่ตนก็ไม่ได้ฟังข้อความทั้งหมด

ทนายความถามว่าการปลุกระดมพยานเข้าใจว่ามีความหมายอย่างไร พยานตอบว่า คือการให้ไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ทนายความจึงถามต่อว่าแล้วการเชิญชวนคนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นการปลุกระดมอย่างไร พยานตอบว่าในเวลานั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเพราะถือว่าไม่เหมาะควร

ทนายความจึงถามว่าแล้วการแสดงความคิดเห็นว่าไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทำได้หรือไม่ พยานตอบว่าถ้าเขาไปทำในสถานที่ที่กำหนดไว้ก็ถือว่าเหมาะควรแล้ว และถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวก็สามารถทำได้

การสืบพยานวันที่ 27 กันยายน

การสืบพยานในวันต่อมา พ.ต.ต.ยุทธนา ภูเก้าแก้ว เบิกความตอบอัยการว่าขณะเกิดเหตุเมื่อ 10 ก.ค.2559 เวลา 10.00น. พยานทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สภ.บ้านโป่ง ชุดสืบสวนและทหาร ได้จับจำเลยที่ 1-4 มาส่งให้พยาน และภายหลังมีการจับกุมจำเลยที่ 5 มาส่งเพิ่มอีกหนึ่งคน โดยมีการส่งของกลางเป็นสติกเกอร์ No Vote และเอกสารอื่นๆ โดยชุดสืบสวนได้แจ้งความจำเลยในข้อหาตามที่ฟ้องนี้ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

เอกสารในสำนวนคดีบางส่วนเป็นการจัดทำของพยาน โดยมีบางส่วนเป็นของตำรวจชุดจับกุมทำส่งมาให้ในส่วนนี้จะเป็นภาพถ่ายต่างๆ

ทั้งนี้จำเลย 1-4 หลังสอบคำให้การเสร็จ ได้ดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่จำเลยทั้ง 4 ไม่ยอมพิมพ์จึงได้มีการแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่ม แต่จำเลยที่ 5 ยอมพิมพ์จึงไม่ได้มีการแจ้งข้อหานี้กับจำเลยที่ 5

จากนั้นมีการส่งภาพจากกล้องวงจรปิดของสภ.บ้านโป่งให้พยาน เป็นภาพที่ลานจอดรถของสถานี จำเลยที่ 5 กำลังขนย้ายของกลางจากรถกระบะไปใส่ที่รถเก๋งของผู้หญิงคนหนึ่ง โดยของที่อยู่ในภาพเป็นสติกเกอร์ที่เป็นของกลางและกล่อง จากนั้นสันติบาลได้นำภาพถ่ายนายบริบูรณ์สวมเสื้อสีขาวตอนที่บนหน้าอกยังไม่มีสติกเกอร์ และภาพนายบริบูรณ์หลังจากที่มีสติกเกอร์ No Vote ติดอยู่บนอกมาให้พยาน

ภาพถ่ายในสำนวนพยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอง แต่เข้าใจว่าเป็นภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดซึ่งถูกพิมพ์ออกมาแล้ว แต่พยานก็ไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้มาก่อนรวมถึงภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิด แต่เขาจำไม่ได้แล้วว่าทำไมภาพเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสำนวนแล้วนำส่งให้อัยการ ทั้งนี้พยานได้ภาพถ่ายเหตุการณ์มาหลายชุดและมีภาพบางส่วนซ้ำกันจึงได้คัดแยกออกและภาพบางส่วนก็มีตำรวจชุดจับกุมและทหารมาขอไปเพื่อทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชาด้วย

พยานได้มีการเรียกมารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถกระบะมาสอบคำให้การ แต่ไม่ได้เรียกเจ้าของรถเก๋งมาสอบคำให้การด้วย นอกจากนั้นยังมีการเรียกตำรวจสันติบาล ทหาร และพ.ต.ท.สรายุทธ และพยานที่จำเลยที่ 2 ขอให้สอบคำให้การไว้ในประเด็นที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้สื่อข่าวที่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ

นอกจากนั้นยังมีการเรียกนายบริบูรณ์มาให้การด้วยโดยมีการส่งหมายสองครั้งไปที่บ้านพักในสมุทรสงครามมีผู้รับหมายแล้ว และได้สอบคำให้การหลังส่งสำนวนให้อัยการ เพื่อสอบถามเกี่ยวการได้มาของสติกเกอร์ที่ติดบนอกในวันเกิดเหตุว่าได้มาอย่างไร

ระหว่างพยานเบิกความตอบคำถามอัยการ ทนายความจำเลยได้แถลงค้านไม่ให้รับฟังพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารภาพถ่ายต่างๆ ของอัยการที่ส่งต่อศาลในการสืบพยานครั้งนี้ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวอยู่นอกบัญชีพยานหลักฐานที่ไม่ได้มีการส่งในวันตรวจพยานหลักฐาน จะทำให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี

จากการสอบสวนของพยานสรุปได้ว่าในวันเกิดเหตุพนักงานสอบสวนในอีกคดีหนึ่งมีการเรียกผู้ต้องหามารายงานตัวที่ สภ.บ้านโป่ง มีประชาชนมามอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ผู้ต้องหา ซึ่งจำเลยทั้ง 5 ได้มาในที่เกิดเหตุด้วยและมีการรณรงค์ให้คนไม่ไปออกเสียงประชามติ โดยใช้สติกเกอร์ No Vote โดยเห็นจากภาพว่านายบริบูรณ์ตอนที่มาถึงสถานีตำรวจยังไม่มีสติกเกอร์ติดอยู่ แต่หลังจากจำเลยทั้ง 5 มาแล้วจึงมีสติกเกอร์ติด และพยานทราบจากเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนว่ามีการเข้าตรวจค้นรถกระบะด้วยเนื่องจากมีพลเมืองดีแจ้งกับเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน จึงเข้าตตรวจค้นแล้วพบสติกเกอร์และเอกสารของกลางในคดีนี้

ในช่วงทนายความของนายปกรณ์ถามค้าน พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าในคดีนี้ไม่มีประะจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้ง 5 คน ทำการจ่ายแจกสติกเกอร์หรือเอกสารของกลางใดๆ อยู่เลย และจากคำให้การของพยานที่ตนเองได้ทำการสอบเอาไว้ก็ให้การว่าน่าจะมีการแจกจ่ายเท่านั้น แล้วก็ไม่มีพยานคนใดที่เห็นว่าจำเลยทั้ง 5 คนได้นำสติกเกอร์ไปมอบให้แก่นายบริบูรณ์ด้วย

พยานเบิกความอีกว่านายบริบูรณ์ได้ให้การเอาไว้ด้วยว่าสติกเกอร์ที่ตนติดบนอกเสื้อนั้นก็เป็นสติกเกอร์ที่ได้รับแจกมาจากกิจกรรมที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตนก็นำมาติดเพื่อแสดงความเห็นของตนว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ในส่วนของกลางในคดีพยานเบิกความว่าเอกสารที่ยึดมาส่วนหนึ่งเป็นจุลสารของ กกต. จำนวนมาก ซึ่งเป็นเอกสารที่ใช้รณรงค์ให้ประชาชนออกไปแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับ หรือไม่ออกความเห็น ซึ่งเอกสารเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ทนายความถามว่าการที่นายอภิสิทธ์ให้ข่าวว่าตนจะออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและพล.อ.ประยุทธ์ให้ข่าวว่าตนจะออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งสองคนก็เป็นการแสดงความคิดเห็นไม่ได้เป็นการชี้นำ พยานตอบว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งสามารถทำได้

ทนายความถามต่อว่าข้อความบนสติกเกอร์เป็นการเชิยชวนคนไปออกเสียง Vote No ไม่ได้เป็นการยั่วยุ ปลุกระดม เป็นเพียงการให้ข้อเท็จจริงใช่หรือไม่ ทั้งนี้พ.ต.ต.ยุทธนาเห็นว่าข้อความสามารถตีความได้ว่าเป็นการชี้นำให้ไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ไปออกเสียงก็ได้ แล้วแต่คนอ่านจะตีความ และไม่ได้มีข้อความที่เป็นไปในลักษณะข่มขู่ ทนายความถามว่าไม่เข้าข่ายการปลุกระดมด้วยใช่หรือไม่พยานตอบว่าไม่เข้าข่าย

ทนายความจึงถามว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่าจะไปรับร่างรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการชี้นำหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

ทนายความถามว่าเมื่อพยานได้อ่านข้อความบนสติกเกอร์แล้วรู้สึกอยากไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่าอ่านแล้วรู้สึกว่าต้องการไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ตอนแรกที่ได้เห็นก็เห็นคำว่า No ผู้ที่ได้เห็นก็จะเข้าใจว่าให้ไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้วจะรับหรือไม่รับก็ได้

ทนายความถามว่าเมื่อเห็นข้อความแล้วพยานเชื่อตามหรือไม่ พยานตอบว่าไม่เชื่อ และคนที่มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ก็สามารถใช้วิจารณญาณว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้

ทนายความนำรายงานข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. และถามว่านายสมชัยเคยให้สัมภาษณ์ว่าการแจกสติกเกอร์อย่างเดียวไม่เป็นความผิดดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ แต่เขาไม่เคยเรียกนายสมชัยมาสอบในฐานะพยาน แต่เคยให้ กกต.ราชบุรีมาให้ความเห็นเรื่องนี้กับพนักงานสอบสวนแต่พยานปากนี้ไม่ให้ความเห็น

ทนายความถามว่าระเบียบปฏิบัติเวลาพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเข้ามาในสำนวนก็จะต้องมีการลงลายมือชื่อของพนักงานสอบสวนผู้ทำสำนวนเอาไว้ด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ถ้าเขาเป็นคนจัดทำเอกสารขึ้นมาก็จะมีการลงลายมือชื่อไว้ แต่ CD ที่บันทึก VDO จากกล้องวงจรปิดมาพยานไม่เคยเห็นมาก่อนก็เลยไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ และไม่มีพนักงานสอบสวนที่ร่วมการสอบสวนลงชื่อไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้จัดทำ CD ดังกล่าวเป็นตำรวจชุดจับกุม แต่เขาจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นผู้จัดทำ และไม่ได้มีการทำบันทึกเอาไว้ว่าใครเป็นจัดทำ

ทนายความจึงถามต่อว่าพยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายตอนที่พ.ต.ท.สรายุทธเข้าตรวจยึดของกลางและภาพจากกล้องวงจรปิดที่พิมพ์ออกมา รวมถึงลำดับเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด1 เป็นพยานหลักฐานที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวนใช่หรือไม่พยานตอบว่าใช่

พยานเบิกความการสอบปากคำจำเลยทั้ง 5 คน ไม่ทราบว่ามีประวัติอาชญากรรมมาก่อนหรือไม่เพราะจำเลยไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ และเขาทราบเพียงว่ามีจำเลย 1คน ที่ยังมีสถานภาพนักศึกษาอยู่ในตอนนั้นแต่จำไม่ได้แล้วว่าคนไหน แต่จำเลยทั้งหมดก็ได้ให้ความร่วมมือในการสอบสวนโดยไม่มีการขัดขืน

พยานเบิกความอีกว่าในส่วนจำเลยที่ 2 หรือนายทวีศักดิ์ได้ให้การว่าตนเป็นนักข่าว แต่เขาจำไม่ได้แล้วว่ามีการแสดงบัตรให้ดูหรือไม่ และได้มีสอบคำให้การหัวหน้างานของจำเลยที่ 2 ไว้เป็นพยานด้วย ซึ่งได้ให้การยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นนักข่าวของประชาไท โดยมีการรายงานข่าวของนายบริบูรณ์ซึ่งได้นำเข้าสำนวนแล้วและส่งให้อัยการ

ทนายความของนายทวีศักดิ์ ถามพยานว่าตามที่พยานเบิกความว่า กกต. ราชบุรีไม่ให้ความเห็นเรื่องเอกสารของกลางเป็นความผิดหรือไม่เพราะอะไร พยานตอบว่าเพราะกกต. ราชบุรีไม่กล้าให้ความเห็น ถ้าจะขอความเห็นต้องไปขอจาก กกต.กลาง

จากนั้นทนายความถามพยานว่า พ.ต.ท.สรายุทธไม่เคยส่ง VDO เหตุการณ์ที่นายบริบูรณ์ติดสติกเกอร์ให้ ใช่หรือไม่ เขาเบิกความว่า ไม่เคย และเขาาเคยเห็นเพียงภาพนิ่งของนายบริบูรณ์เท่านั้น

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าเขาไม่ทราบเรื่องเวลาขณะเกิดเหตุการณ์เนื่องจากเขาทำงานอยู่ที่ชั้นบนของสถานี และเขาก็จำลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 คนเข้าให้กำลังใจนายบริบูรณ์ก่อนแล้วค่อยลงมาที่รถหรือไม่

ทนายความนำภาพถ่ายที่นายทวีศักดิ์ให้พยานดูและถามว่าเป็นภาพนักข่าวกำลังสัมภาษณ์นายบริบูรณ์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่

พยานเบิกความว่าในระบอบประชาธิปไตยประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้รวมถึงผู้บริหารประเทศ แต่ในช่วงที่มีการรัฐประหารนั้นจะยังได้รับการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

ทนายความของนายอนันต์ถามค้านพ.ต.ต.ยุทธนาต่อ พยานเบิกความว่าในภาพถ่ายที่มีการวงด้วยปากกาแดงว่าเป็นนายอนันต์เป็นภาพถ่ายขณะที่นายอนันต์ถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ ไม่ใช่ภาพขณะที่มีการขนย้ายของ และอีกภาพก็เป็นภาพขณะที่ถูกตำรวจเรียกตัวไปตรวจสอบของในรถ

พยานเบิกความต่อว่าในวันที่มีการออกเสียงประชามติไม่ได้เกิดเหตุความวุ่นวายอะไร ทนายความได้ถามว่าแล้วพยานทราบหรือไม่ว่าประชาชนในจังหวัดราชบุรีออกเสียงรับร่างประชามติถึง 64% และออกเสียงไม่รับเพียง 20% แต่พยานไม่ทราบในเรื่องนี้

ทนายความของนายอนุชาถามพยานเกี่ยวกับพยานเอกสารที่เป็นภาพถ่ายว่า หลังจากวันที่ 21 มี.ค.2560(วันสืบพยานคดีนี้) พ.ต.ท.เนรมิต งามขำ ตำรวจสันติบาล ซึ่งได้ขึ้นเบิกความของตนไปเล่าให้พยานฟังเพื่อเตรียมการสืบสวนคดีนี้เพิ่มและนำมาอ้างส่งในคดีใช่หรือไม่ พยานตอบว่าพ.ต.ท.นิรมิต ไม่ได้มาเล่าและไม่ได้มีการจัดเตรียมเอกสารไว้

ทนายความถามว่าตามพยานเอกสารมีการระบุวันที่พิมพ์เอาไว้ว่าเป็นวันที่21และ 22 มี.ค.2560 พยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่าเขาไม่ได้เป็นคนจัดทำ

ทนายความถามต่ออีกว่าการที่มีการสืบพยานไปแล้วฝ่ายสืบสวนยังไปหาพยานหลักฐานมาเพิ่มแล้วนำส่งศาลถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ขอออกความเห็น แต่การทำงานของฝ่ายสืบสวนสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ

พยานยืนยันว่าเอกสารที่มีลายมือชื่อของพยานไม่ได้มีการตัดต่อ แต่เอกสารที่ตนไม่ได้ลงลายมือชื่อเอาไว้นั้นไม่ยืนยันว่ามีการตัดต่อหรือไม่

ทนายความถามว่าตามที่พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่ามีตำรวจและทหารมาขอพยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายไปทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชา ได้มีการทำหนังสือแจ้งกับพยานไว้หรือไม่ พยานตอบว่าเป็นการขอด้วยวาจา

ทนายความถามว่าการออกหมายเรียกนายบริบูรณ์เมื่อวันที่ 23ส.ค.2559 มาเป็นพยานและนายบริบูรณ์มาให้การในวันที่ 24 อีกทั้งผู้รับหมายก็ไม่ใช่นายบริบูรณ์เอง ถือว่านายบริบูรณ์ได้ให้ความร่วมมือด้วยอย่างดีหรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายความจึงถามว่าในคำให้การของพ.ต.ท.สรายุทธระบุว่าได้มีการไปกดดันด้วยวิธีต่างๆในการเข้าตรวจค้นบ้านนายบริบูรณ์หมายถึงอย่างไร พยานตอบว่าไม่ทราบ

ทนายความถามอีกว่าแล้วทราบหรือไม่ว่านายบริบูรณ์ถูกแจ้งความด้วยข้อหาหมิ่นประมาทฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารพยายามเข้าตรวจค้นบ้านของเขา พยานตอบว่าไม่ทราบ

อัยการโจทก์ถามติงพ.ต.ต.ยุทธนาว่า เหตุการณ์คดีนี้เป็นอย่างไร พยานตอบว่าชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีการแจกสติกเกอร์ จึงเข้าทำการจับกุมจำเลย และยังได้ปรากฏภาพของนายบริบูรณ์ที่ติดสติกเกอร์บนอกเสื้อ และพยานเจ้าหน้าที่ที่ให้การกับพ.ต.ต.ยุทธนาก็มาจากคนละหน่วยงานกัน ได้รับแจ้งเหตุกันคนละทีแต่ก็สอดคล้องต้องกัน โดยพ.ต.ท.เนรมิต งามขำ ก็ให้การว่าตนได้รับแจ้งจากแอพพลิเคชั่น Line และให้การว่านอกจากนายบริบูรณ์ที่ติดสติกเกอร์แล้วก็ยังมีคนอื่นๆ อีก โดยมีการส่งภาพกันทาง Line

อัยการถามว่าเอกสารนอกสำนวนที่พ.ต.ต.ยุทธนาได้เบิกความตอบทนายความไปคืออะไร พยานตอบว่าคือการนำเอกสารเข้ามาในสำนวนโดยไม่มีการเรียงลำดับเลขเท่านั้น ซึ่งเอกสารพยานเองก็ได้รับมาหมดอยู่แล้วแต่มีการคัดออกอยู่บ้างเนื่องจากซ้ำกัน ซึ่งผ่านการสอบสวนแล้วแต่ไม่ได้นำเข้ามาในสำนวน ส่วนภาพถ่ายระบุวันที่พิมพ์อยู่ในช่วง 21-22มี.ค.2560 แต่ภาพเหตุการณ์ในเอกสารก็เป็นภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ

พยานเบิกความว่าการจะแสดงความเห็นแย้งกับรัฐบาลสามารถทำได้แต่ต้องทำอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าสติกเกอร์ถ้าไม่ได้เปิดเผยหรือมีการแจกจ่ายก็ไม่เป็นความผิดแต่ถ้านำมาแจกจ่าย มีการชี้นำให้คนเห็นด้วยก็เป็นความผิด เข้าข่ายเป็นการชักชวนชี้นำให้คนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ในประเด็นการส่งเอกสารให้อัยการ พ.ต.ต.ยุทธนาเบิกความว่าเอกสารที่ส่งให้อัยการแล้ว อัยการก็มีการขอให้ส่งเอกสารเพิ่มมาก็จะไม่มีลายชื่อของพยาน

ทนายความของนายปกรณ์แถลงศาลขอถามพ.ต.ต.ยุทธนาอีกหนึ่งคำถาม ศาลอนุญาต ทนายความได้ถามว่าในคดีนี้อัยการมีการส่งหนังสือสั่งการให้พยานนำส่งหลักฐานหรือสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี เป็นการสั่งการด้วยวาจาเท่านั้น

.

.

1 พยานหลักฐานส่วนนี้พ...สรายุทธ ได้นำมาให้อัยการในวันที่เขาขึ้นเบิกความต่อศาลครั้งที่แล้ว และได้มีการนำส่งต่อศาลระหว่างการสืบพยาน จึงไม่ได้มีการส่งในวันนัดตรวจพยานหลักฐานมาก่อน ทนายความจึงได้แถลงค้านการส่งพยานหลักบานชุดดังกล่าวว่าเป็นการทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี

.

.

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นัดตรวจพยานหลักฐานคดี พ...ประชามติ ราชบุรี นักกิจกรรม NDM พร้อมนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก 21 มี.. 60

เปิดคำฟ้องอัยการ คดี จำเลยรณรงค์ประชามติ จ.ราชบุรี ขอศาลสั่งตัดสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งหมด 10 ปี

จับ นักกิจกรรม NDM พร้อมนักข่าว แจ้งผิด พ...ประชามติ หลังค้นรถเจอเอกสาร Vote No

จับกลางดึกอีก นักศึกษา แจ้งผิด พ...ประชามติ ร่วมกับ NDM

ศาลราชบุรีอนุญาตฝากขัง ผู้ต้องหา พ...ประชามติ ก่อนให้ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 1.4 แสนบาท

เปิด ‘19 ของกลาง’รายชื่อจนท.ชุดจับกุม นักกิจกรรมนศ.-นักข่าว ที่บ้านโป่ง

X