คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “ศศิพิมล-เธียรสุธรรม” สองผู้ต้องขังคดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้รับรองความคิดเห็นในกรณีของศศิพิมล (สงวนนามสกุล) และกรณีของเธียรสุธรรม (สงวนนามสกุล) หรือ “ใหญ่ แดงเดือด” สองผู้ต้องขังคดีตามมาตรา 112 ในการประชุมครั้งที่ 79 ระหว่างวันที่ 21-25 สิงหาคม 2560 โดยคณะทำงานฯ ลงมติเห็นว่าการควบคุมตัวทั้งสองคนเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสองคนโดยทันที

.

ศศิพิมล-เธียรสุธรรม: สองผู้ต้องขังคดี 112 ที่ได้รับโทษสูงอันดับต้นๆ

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention) รวมทั้งเป็นกลไกที่เปิดรับข้อร้องเรียนรายกรณี โดยก่อนหน้านี้คณะทำงานฯ เคยมีความเห็นที่เป็นทางการต่อกรณีผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ มาแล้วทั้งหมด 4 กรณี ได้แก่ กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข (ปีพ.ศ.2555) กรณีปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (ปีพ.ศ.2557) และภรณ์ทิพย์ มั่นคง (ปีพ.ศ.2558) สองนักกิจกรรมในคดีเจ้าสาวหมาป่า และกรณีของพงษ์ศักดิ์ (ปีพ.ศ.2559) (ดูเพิ่มเติมในรายงาน)

ส่วนในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมนั้น เป็นสองกรณีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ล่าสุด ที่คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้จัดทำรายงานความคิดเห็นที่เป็นทางการออกมาอีกสองฉบับ (ความคิดเห็นอันดับที่ 51/2017 รับรองเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 และความคิดเห็นอันดับที่ 56/2017 รับรองเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560)

สำหรับกรณีของศศิพิมล หรือก่อนหน้านี้รายงานในชื่อ “ศศิวิมล” แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองคน อดีตพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอถูกกล่าวหาจากกรณีการใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำพิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112 จำนวน 7 ข้อความ แม้เธอยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหว่านล้อมและกดดันให้ยินยอมรับสารภาพ โดยไม่มีญาติหรือทนายความอยู่ด้วย ก่อนจะมีการสั่งฟ้องต่อศาลทหาร โดยเธอไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ต่อมาได้ยินยอมรับสารภาพในชั้นศาล ก่อนที่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ศศิพิมลได้ถูกศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาจำคุก 56 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 28 ปี และจนถึงปัจจุบันเธอยังถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำ (ดูเรื่องราวในคดีของศศิพิมล)

ส่วนกรณีของเธียรสุธรรม หรือ “ใหญ่ แดงเดือด” นักธุรกิจในกรุงเทพฯ ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 5 ข้อความ โดยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 เขาและภรรยาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ปอท. จับกุมตัวจากบ้านพักไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนที่ภรรยาจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนเขาถูกควบคุมตัวต่อ ก่อนจะถูกนำตัวมาแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 โดยไม่ได้รับการประกันตัว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 เธียรสุธรรมถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุก 50 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 25 ปี จนถึงปัจจุบันยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเช่นกัน (ดูเรื่องราวในคดีของเธียรสุธรรม)

ในทั้งสองกรณีนี้ จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาเนื่องจากเกิดขึ้นในขณะการประกาศกฎอัยการศึก และทั้งสองกรณีนับได้ว่าเป็นคดีที่ศาลทหารมีการลงโทษจำคุกสูงเป็นอันดับต้นๆ เท่าที่เคยมีมาในข้อหาตามมาตรา 112 โดยนอกจากกรณีของพงษ์ศักดิ์ ที่ถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 60 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี ซึ่งคณะทำงานฯ ของสหประชาชาติเคยมีความเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการมาก่อนหน้านี้แล้ว  ล่าสุดยังมีกรณีของ “วิชัย” จากกรณีการปลอมเฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ ได้ถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 70 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 35 ปี

 

ภาพกรณีศศิพิมล (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

คำชี้แจงของรัฐบาลไทย

ภายใต้กลไกการรับข้อร้องเรียนรายกรณี หลังจากคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้รับข้อร้องเรียนและได้พิจารณาข้อมูลแล้ว จะมีการสอบถามกลับไปยังรัฐบาลต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจงกลับมา ในระยะเวลา 60 วัน ก่อนจะมีการส่งคำชี้แจงดังกล่าวไปยังผู้ร้องเรียนสำหรับให้ความเห็นกลับมาอีกครั้ง แล้วคณะทำงานฯ จึงจะจัดทำความเห็นจากข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว

ในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมที่มีการร้องเรียนไป ทางคณะทำงานฯ ได้สอบถามกลับมายังรัฐบาลไทยเช่นกัน แต่ในกรณีของศศิพิมล ทางรัฐบาลไม่ได้มีการตอบกลับใดๆ ต่อข้อร้องเรียนที่คณะทำงานฯ สอบถามไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560

ส่วนในกรณีของเธียรสุธรรม คณะทำงานฯ ได้สอบถามไปยังรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 และรัฐบาลไทยได้ชี้แจงกลับมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 โดยยืนยันว่าประเทศไทยสนับสนุนและให้คุณค่ากับเสรีภาพในการแสดงออกที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สิทธินี้ไม่สมบูรณ์และจะต้องแสดงออกภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ไม่กระทบต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสามัคคีในสังคม หรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ตามข้อ 19 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

คำตอบของรัฐบาลไทยยังระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นไปตามหลักการดังกล่าว โดยที่สถาบันกษัตริย์ถือได้ว่าเป็นเสาหลักของสังคมไทย และกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่นเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งสิทธิในการแสดงออกของประชาชน

ต่อมา ผู้ร้องเรียนที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะทำงานฯ ว่าคำชี้แจงของรัฐบาลไทยเป็นไปในลักษณะเดิมซ้ำกับคำชี้แจงในกรณีอื่นๆ ที่มีการสื่อสารกับผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานฯ ต่างๆ ของสหประชาชาติก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดถึงเหตุผลว่าทำไมจึงควรเชื่อว่าการดำเนินคดีบุคคลตามมาตรา 112 ซึ่งได้รับการลงโทษอย่างต่อเนื่องโดยการจับกุม คุมขัง และถูกจำคุกอย่างยาวนาน เป็นการสอดคล้องกับข้อ 19 ของกติกา ICCPR และรัฐบาลก็ไม่ได้อธิบายถึงการใช้ศาลทหารต่อพลเรือน ซึ่งขัดแย้งกับข้อ 14 ของกติกานี้

ผู้ร้องเรียนยังแสดงความกังวลว่าการละเมิดสิทธิผ่านมาตรา 112 ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรงจากศาลหลังการรัฐประหาร 2557 โดยยกตัวอย่างถึงกรณี “วิชัย” ที่ศาลทหารมีการกำหนดโทษสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

คณะทำงานฯ UN ชี้การควบคุมตัว ‘ศศิพิมล-เธียรสุธรรม’ เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

จากข้อมูลของผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ทั้งสองคน คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการได้จัดทำความเห็น โดยพิจารณาว่ากรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมมีลักษณะเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ และขัดต่อกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งสองกรณี

คณะทำงานฯ พิจารณาเห็นว่าการลิดรอนอิสรภาพในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรม จากกรณีข้อกล่าวหาเรื่องการโพสต์ข้อความโดยการใช้กฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิในการมีเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งได้รับการรับรองตามข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

คณะทำงานฯ ระบุว่าไม่สามารถเห็นได้ว่าการลิดรอนอิสรภาพของทั้งสองคนตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เป็นความจำเป็น หรือเหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์ที่กำหนดยกเว้นไว้ในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกได้ ตามข้อ 19 (3) ของกติกา ICCPR

คณะทำงานฯ เห็นว่ากฎหมายไม่ควรมีการกำหนดโทษที่รุนแรงขึ้น บนพื้นฐานอัตลักษณ์ของบุคคลเพียงอย่างเดียว กรณีถ้าทั้งสองคนได้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทบุคคลจริงๆ การดำเนินการก็ควรเป็นไปภายใต้การหมิ่นประมาทในทางแพ่งมากกว่าความผิดในทางอาญา ซึ่งมาตรการนี้เพียงพอสำหรับการปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

คณะทำงานฯ ได้อ้างอิงถึงความคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 34 (2554) ซึ่งเห็นว่ารูปแบบในการแสดงออกในลักษณะที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ยังไม่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมมากเพียงพอให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา แม้ว่าบุคคลสาธารณะก็ย่อมอาจได้รับประโยชน์จากข้อบทในกติกา นอกจากนั้น เป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่บุคคลสาธารณะทุกคน รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างเช่น ประมุขของรัฐและรัฐบาล จะสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงกันข้าม

คณะทำงานฯ ยังอ้างอิงถึงความคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของสหประชาชาติ ที่เห็นว่าสิทธิในการมีเสรีภาพการแสดงออกนั้น รวมไปถึงการแสดงออกถึงมุมมองหรือความเห็นที่เป็นการขัดใจ หรือทำให้สะทกสะท้าน อาทิเช่น ข้อกล่าวอ้างเรื่องการปกป้องความมั่นคงของรัฐหรือการตอบโต้การก่อการร้าย ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการให้ความชอบธรรมกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ยกเว้นรัฐบาลจะอธิบายได้ว่าการแสดงออกนั้นตั้งใจยุยงให้เกิดความรุนแรงอย่างชัดแจ้งอย่างไร หรือมีความเชื่อมโยงทางตรงและโดยทันทีระหว่างการแสดงออกนั้น กับความเป็นไปได้หรือการเกิดขึ้นของความรุนแรงนั้นอย่างไร

 

 

การพิจารณา ‘ศศิพิมล-เธียรสุธรรม’ ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน คณะทำงานฯ ยังเห็นว่ากรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรมเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ในรูปแบบที่ขัดต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ตามข้อ 14 ของกติกา ICCPR ทั้งด้วยการถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร การถูกพิจารณาคดีโดยปิดลับ การไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขัดต่อสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และยังถูกละเมิดสิทธิในการไม่ถูกบังคับให้รับสารภาพโดยไม่ยินยอม

อีกทั้ง ทั้งสองคนยังไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้ ขัดต่อสิทธิในการได้รับการทบทวนคดีโดยศาลที่สูงขึ้นไป คณะทำงานฯ ชี้ว่าสิทธิในการได้รับการทบทวนคดีและโทษที่ได้รับนี้ จะต้องได้รับการเคารพแม้จะอยู่ใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ก็ตาม

คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการถูกควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดีควรจะเป็นข้อยกเว้น มากกว่าเป็นระเบียบที่เกิดขึ้นประจำ การควบคุมตัวระหว่างการพิจารณานี้ควรจะพิจารณาบนฐานบุคคลแต่ละคน ภายใต้เหตุผลและความจำเป็นโดยคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งหมด เช่น จุดประสงค์เรื่องป้องกันการหลบหนี, การแทรกแซงพยานหลักฐาน หรือการกระทำความผิดซ้ำ และควรระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกฎหมาย โดยไม่ควรรวมถ้อยคำคลุมเครือและกว้างขวาง อย่าง “ความมั่นคงของสาธารณะ” และไม่ควรทำให้การคุมขังระหว่างสอบสวนกลายเป็นข้อบังคับสำหรับจำเลยทุกคนที่ถูกกล่าวหาในความผิดเฉพาะเดียวกัน โดยปราศจากการพิจารณาถึงสถานการณ์รายบุคคลนั้นๆ

ในกรณีของศศิพิมลและเธียรสุธรรม คณะทำงานฯ เห็นว่าศาลทหารไม่สามารถอ้างเรื่องการมีอัตราโทษรุนแรงมาใช้ปฏิเสธการประกันตัวได้ โดยไม่ได้ชี้ให้เห็นสถานการณ์รายบุคคลที่กล่าวอ้างว่าจะทำให้พวกเขาหรือเธอหลบหนีตามที่ถูกให้เหตุผลไว้ ทั้งที่เป็นภาระของรัฐเองที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นของการควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดี รวมทั้งคณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการปฏิเสธการประกันตัวนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในคดีมาตรา 112 โดยคณะทำงานฯ ระบุตัวเลขหลังรัฐประหารว่ามีประมาณ 6% ของผู้ต้องหาในคดีนี้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา

นอกจากนั้น ในกรณีของเธียรสุธรรม คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการละเมิดอิสรภาพนั้นเกิดขึ้นโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย โดยเขาถูกจับกุมตัวไปจากบ้านโดยไม่มีการแสดงหมายจับ และถูกควบคุมตัวภายในมณฑลทหารบกที่ 11 ระหว่างวันที่ 18 ถึง 22 ธันวาคม 2557 โดยญาติหรือทนายความไม่สามารถเข้าพบได้

อีกทั้ง การที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวภรรยาของเธียรสุธรรมไปด้วยนั้นเข้าข่ายเป็นการละเมิด โดยตามความเห็นของคณะทำงานฯ มาตรการปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวของผู้ต้องสงสัยเสมือนกับเป็นผู้ต้องสงสัยเอง ไม่ควรจะดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตย หรือแม้แต่ใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ก็ตาม

 

การประชุมทบทวนการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ที่เจนีวา รอบของประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2560

.

การใช้มาตรา 112 มีความคลุมเครือ-ตีความกว้างขวาง

นอกจากการพิจารณาถึงสองกรณีดังกล่าว คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ยังแสดงความกังวลถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112 ภายหลังการรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ระบุว่ามีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า โดยจากช่วงปี 2554-2556 มีจำนวนอย่างน้อย 119 กรณี แต่ในช่วงปี 2557-2559 มีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 285 กรณี ทั้งในระหว่างการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรอบของประเทศไทย (UPR) ในเดือนพฤษภาคม 2559 สถานการณ์ในเรื่องการจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพการแสดงออก โดยเฉพาะการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นี้ เป็นประเด็นที่คณะผู้แทนฯ หยิบยกขึ้นมาแสดงความกังวลต่อไทยอย่างมาก

คณะทำงานฯ ยังอ้างอิงไปถึงข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ในการประชุมทบทวนรายงานการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ของประเทศไทย ซึ่งได้มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ถูกคุมขังและฟ้องร้องในข้อหาตามมาตรา 112 ตั้งแต่หลังรัฐประหาร และยังมีการลงโทษจำคุกที่รุนแรง โดยบางกรณีถูกลงโทษจำคุกหลายสิบปี ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการคุมขังบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา เป็นการละเมิดต่อข้อ 19 ของกติกา ICCPR ซึ่งประเทศไทยมีพันธะต้องปฏิบัติตาม

คณะทำงานฯ ยังแสดงความกังวลต่อความคลุมเครือ และการถูกตีความอย่างกว้างขวาง ในนิยามของคำว่า “หมิ่นประมาท” ภายใต้ข้อหามาตรา 112 ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นว่าความคลุมเครือ การตีความอย่างกว้างขวาง และการลงโทษอย่างรุนแรงดังกล่าว จะทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว ทำให้ผู้คนเซ็นเซอร์ตนเอง และส่งผลเป็นการระงับยับยั้งการถกเถียงที่มีความสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ

คณะทำงานฯ เน้นย้ำถึงรูปแบบของการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทย โดยเห็นว่าภายใต้บางสถานการณ์ การแพร่กระจายของการคุมขังอย่างกว้างขวางหรืออย่างเป็นระบบ หรือการลิดรอนอิสรภาพอื่นๆ ตามข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง อาจนับเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (crimes against humanity) ได้

ในตอนท้ายรายงานทั้งสองฉบับ คณะทำงานฯ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวศศิพิมลและเธียรสุธรรมโดยทันที พร้อมให้การชดเชย-เยียวยาจากการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้น และยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) โดยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จากสมยศถึงพงษ์ศักดิ์: ย้อนดูความเห็นคณะทำงาน UN ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการในคดี 112

ประมวลภาพรวมหนังสือผู้รายงานพิเศษ UN ทวงถามไทยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุค คสช.

เปิดหนังสือผู้รายงานพิเศษ UN ถามรัฐบาลไทยกรณีละเมิดสิทธิ “ไผ่” และคดี 112

 

X