สถานะ ‘ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล’ กับหลักสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความอาญาสมัยใหม่

“ช่วงวันที่ 27-28 กันยายน 2560 ในระหว่างการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลของ นักศึกษาและนักกิจกรรม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาล จากการทำกิจกรรมให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560  ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นได้ขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของนักศึกษาที่มาร่วมฟังการไต่สวน ซึ่งผู้พิพากษาชี้แจงว่า หากพบว่ามีคนใดที่มาร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวอาจมีการดำเนินการเพิ่ม

“นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังกล่าวอีกว่า ในคดีละเมิดอำนาจศาล ศาลเป็นผู้เสียหาย และกฎหมายละเมิดอำนาจศาลยังเป็นกฎหมายเดียวที่ให้อำนาจศาลเป็นทั้งพนักงานสอบสวนและผู้ตัดสินคดี หากไม่พอใจ (กระบวนการไต่สวนคดี) ให้ไปเป็น ส.ส. แล้วแก้กฎหมาย  อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการคัดค้านของทีมทนาย จึงยังไม่ผู้ใดถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม และคดีดังกล่าว ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมีคำพิพากษาในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 นี้”

 

 

1. บทนำ

“ละเมิดอำนาจศาล” หรือ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 30 – 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กลายเป็นฐานความผิดที่ได้รับการพูดถึงอีกครั้งภายหลังการดำเนินคดีต่อ 7 นักศึกษา ซึ่งรวมตัวทำกิจกรรมกันหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียกร้องสิทธิในการดำเนินคดีที่เป็นธรรมให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน หลังจากถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพราะแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ไทย

หรือกรณีอดีตนักการเมืองอย่างนายวัฒนา เมืองสุข ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว เพราะเหตุประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล จากการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ภายในอาคารชั้น 2 และจากการส่งหมายนัดศาลให้สื่อมวลชนทางไลน์ ตลอดจนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณบันไดหน้าศาลเดียวกัน

ความผิดฐานดังกล่าวมิใช่ความผิดซึ่งได้รับการพัฒนามาพร้อมกับระบบวิธีพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ของไทย หรือถูกหยิบยกมาใช้ภายใต้บริบททางการเมืองภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 เท่านั้น แต่ศาลมีบทบาทในการตีความคุ้มครองกระบวนการพิจารณาผ่านความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทั้งในศาลปกครอง ศาลทหาร โดยเฉพาะศาลยุติธรรมมาแล้วอย่างน้อย 200 ปี ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็น “กฎหมายเก่า” ในบริบทของสังคมใหม่ และเป็นที่น่าสนใจว่าเจตนารมณ์ของบทบัญญัติและบริบทการบังคับใช้ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสมัยใหม่นั้น ขอบเขตของฐานความผิดนี้และหลักประกันที่กฎหมายให้ต่อผู้ถูกกล่าวหามีมากน้อยเพียงใด สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่หลักกฎหมายในวิธีพิจารณาคดีอาญาของไทยหรือไม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงประสงค์จะนำเสนอและทบทวนถึงหลักการทางกฎหมายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทั้งในบริบทของกฎหมายต่างประเทศ กฎหมายไทย และตามหลักการสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พร้อมทั้งข้อเสนอแนะบางส่วนจากงานวิทยานิพนธ์และเอกสารวิชาการประกอบกับแนวทางการตีความของศาลฎีกา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการพิจารณาถึงเจตนารมณ์และประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดนี้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


(รูปประกอบจากสำนักข่าวประชาไท-นายวัฒนา เมืองสุข ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บริเวณด้านหน้าศาลอาญา)

 

2. เจตนารมณ์ของการบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมาย  Civil Law และ Common Law

ในเอกสารเผยแพร่เรื่องขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล: มองกฎหมายต่างประเทศแล้วย้อนดูไทย ซึ่งสรุปย่อโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล” โดย น.ส.วรรณวิสาข์ สุทธิวารี แยกให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างแนวคิดพื้นฐานที่นำมาสู่การบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) และระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law)

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการบังคับใช้ความผิดฐานดังกล่าวยังคงยึดโยงกับแนวคิดที่ว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลคือ มาตรการหรือเครื่องมือที่ให้อำนาจศาลชี้ขาดหรือขจัดข้อพิพาทให้แก่คู่ความ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เพื่อทำให้กระบวนพิจารณาคดีดำเนินไปโดยยุติธรรมและรวดเร็ว และเพื่อป้องกันมิให้คู่ความใช้สิทธิในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริต (Abuse of Procedure)

สำหรับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมาย Common Law ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษา รวมตลอดถึงคณะลูกขุนและพยาน ซึ่งขอบเขตการบังคับใช้ดังกล่าว พัฒนามาจากรากฐานของระบบกฎหมายจารีตประเพณีที่ผู้พิพากษาเป็นส่วนหนึ่งของที่มาในการวางหลักกฎหมายผ่านการทำคำพิพากษา ผู้พิพากษาจึงอยู่ในฐานะบ่อเกิดแห่งกฎหมายด้วย[1] การคุ้มครองความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาจึงมีความสำคัญ ต่อทั้งตัวผู้พิพากษาเองและต่อคู่ความ

อย่างไรก็ตาม ต่อมากฎหมายดังกล่าวได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ ซึ่งยกระดับผู้ถูกกล่าวหาขึ้นเป็นประธานแห่งคดี และประกันสิทธิที่จะเข้าถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to Fair) โดยแยกวิธีพิจารณาสำหรับความผิดที่เกิดต่อหน้าศาล และมิได้เกิดต่อหน้าศาล ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิคัดค้านผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในความผิดฐานนี้ได้ ตลอดทั้งมีสิทธิในการต่อสู้คดีเช่นคดีอาญาปกติ โดยมีพนักงานอัยการเป็นผู้มีสิทธิกล่าวหาหรือเริ่มกระบวนการ มิจำกัดเฉพาะศาลเท่านั้น เป็นต้น

ในบางกรณี ข้อพิพาทซึ่งเป็นที่มาของการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมาจากการพูด การเขียน การแสดงออกของคู่ความหรือบุคคลภายนอก ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของระบบกฎหมาย Common Law อย่างอังกฤษ[2]  จึงออกกฎหมาย The Human Rights Act 1988 ขึ้นมาคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และบัญญัติชัดเจนไว้ใน The Court and Criminal Act 2013 ว่าเสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญอินเดียที่คุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวไว้ในมาตรา 19 (a) แต่อาจถูกจำกัดได้เช่นกันตาม The Contempt of Courts Act 1971 อย่างไรก็ตาม ในกฎหมายนั้นเองยังยกเว้นให้ “การเผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริต ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมหาชน” มิใช่การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งหมายความว่า สิทธิในเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นจะยังได้รับการคุ้มครองตราบเท่าที่การแสดงความเห็นนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมหาชนหรือเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนในระบบกฎหมาย Civil Law ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้รับการบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศาลใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างการพิจารณาคดี และศาลมีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทันทีกับผู้รบกวนการพิจารณาคดีนั้น โดยศาลสามารถสั่งปรับหรือบังคับกักกันผู้นั้นได้โดยไม่ถือว่าเป็นการลงโทษทางอาญา และไม่ห้ามที่จะดำเนินคดีในความผิดอาญาต่อผู้ถูกกล่าวหาอีก

อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 177 ธรรมนูญศาลยุติธรรมของประเทศเยอรมัน ซึ่งบัญญัติให้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมิอาจใช้บังคับแก่บุคคลและการกระทำบางอย่าง เช่น (ก) ไม่ใช้บังคับกับพนักงานอัยการและทนายความ และ (ข) ไม่ครอบคลุมถึงการชุมนุมประท้วงหน้าศาล เป็นต้น[3] นอกจากนี้ ในมาตรา 178 ของกฎหมายเดียวกัน ยังบัญญัติให้ศาลสามารถใช้มาตรการป้องกัน (เช่น พูดตักเตือนหรือให้คู่ความถอนคำพูด) ได้ก่อนใช้มาตรการบังคับ ซึ่งมาตรการบังคับคือการบังคับกักกันผู้กระทำความผิด แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ในกฎหมายใช้คำว่า Coercive Detention หรือการบังคับกักกันแทนคำว่า Imprisonment หรือการจำคุก อันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการบังคับโทษของทั้งสองส่วน[4]

อย่างไรก็ตาม ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Civil Law เช่นกัน กลับไม่มีบทบัญญัติเฉพาะสำหรับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่มีบัญญัติในประมวลอาญาซึ่งใช้บังคับแทนกันได้ตามมาตรา 434-24 และมาตรา 424-26 เรื่องการคุกคามเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

 

3. องค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกฎหมายไทย

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของตุลาการไทยมีมาตั้งเเต่ใช้กฎหมายตราสามดวง จนถึงในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเเพ่งในปัจจุบัน สำหรับหลักการที่ได้รับการอธิบายว่าเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว คือการประกันหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา[5] และความผิดนี้ถือเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ศาลใช้โดยคำนึงถึงการผดุงรักษาความยุติธรรม เพื่อควบคุมกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม รวดเร็ว และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล มิใช่กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษา[6] อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดกระทำความผิดฐานนี้ซึ่งถือว่าเป็นความผิดต่อศาลโดยตรง ศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนได้เองตามสมควร ไม่ว่าพยานหลักฐานนั้นฝ่ายใดจะได้อ้างหรือไม่ ซึ่งก็คือการให้อำนาจศาลในการลงโทษผู้กระทำการอันเป็นการละเมิดอำนาจศาลโดยตรงนั่นเอง

สำหรับองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของกฎหมายไทย ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น

(ก) อำนาจของศาลในการออกข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลและหากผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้นที่จะนำมาสู่การพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 30

(ข) ขอบเขตความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 ประกอบด้วย (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาล (2) ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล (3) แสดงข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการไต่สวนยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล (4) จงใจหรือหลีกเลี่ยงไม่รับคำคู่ความหรือเอกสาร (5) ตรวจหรือคัดเอกสารโดยไม่ได้รับอนุญาต (6) ขัดขืนไม่มาศาลตามคำสั่งศาล หรือ (7) ละเมิดอำนาจศาลโดยเป็นการกระทำของผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์

(ค) บทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 33 โดยศาลสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตความผิดฐานดังกล่าวบางส่วนนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณะว่าศาลตีความเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติ เช่น การใช้ดุลพินิจของศาลตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อย การตีความคำว่า “ในบริเวณศาล” ให้รวมถึงนอกตัวอาคารศาล และการตีความคำว่า “โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาลหรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป” โดยพิจารณาจากถ้อยคำในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

 

4. เเนวทางการตีความขอบเขตความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 31 และมาตรา 32  

นับตั้งแต่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้รับการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็ปรากฏแนวทางการตีความตามคำพิพากษาศาลฎีกาในหลายคดีที่ขยายขอบเขตการพิจารณาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลออกไปครอบคลุมถึงการกระทำนอกห้องพิจารณา จนกระทั่งปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการตีความว่าการกระทำดังกล่าวก่อความวุ่นวาย หรือ “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ในกรณีล่าสุดของ 7 นักศึกษาซึ่งรวมตัวกันแสดงสัญลักษณ์หน้าศาลจังหวัดขอนแก่น โดยการจำลองตราชูแขวนรองเท้าบูทและดอกไม้ก่อนอ่านแถลงการณ์ ร้องเพลง และอ่านบทกวีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ “ไผ่ ดาวดิน” ผู้อำนวยการศาลจังหวัดขอนแก่นได้ขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ แม้ต่อมาหัวหน้ารักษาความปลอดภัยศาลซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุวันนั้นจะเบิกความต่อศาลว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในศาลก็ตาม (อ่านต่อที่นี่)

(รูปประกอบจาก The Isaan Record)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอทบทวนแนวทางการตีความในบางการกระทำของความผิดฐานนี้ เพื่อย้อนดูดุลพินิจของศาลที่ตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เช่น การออกข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในศาล ตามมาตรา 30 ซึ่งศาลอาจจะออกข้อกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาก็ได้ แต่หากข้อกำหนดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การออกข้อกำหนดโดยไม่จำเป็น เดือนร้อนต่อคู่ความเกินสมควร หรือไม่มีผลเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย การไม่ปฏิบัติตามย่อมเป็นไม่ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2520) หรือกรณีล่าสุดที่ศาลอาญาได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้เจ้าพนักงานกระทำการใดๆ อันเป็นการเผยแพร่หมายจับต่อบุคคลผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมบุคคลตามหมายจับโดยตรง มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล[7] เป็นต้น

ส่วนการละเมิดอำนาจศาลซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 31 (1) โดยหลักเป็นความผิดในตัว ศาลไม่จำเป็นต้องออกข้อกำหนดก่อน ซึ่งตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วางแนวทางการตีความคำว่า “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ไว้เช่น ผู้ถูกกล่าวหาพูดข่มขู่จะทำอันตรายต่อชีวิตผู้กล่าวหาก่อนที่ผู้กล่าวหาจะเบิกความเป็นพยาน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1715/2548) โดยต่อมาศาลฎีกายังตีความเอาผลของการกระทำความผิดนอกศาลมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ โดยถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาลเช่นกัน เช่น การให้อามิสสินจ้างบุคคลนอกศาลเพื่อให้นำเงินไปให้ผู้พิพากษา หรือการเขียนคำแถลงเสียดสีศาลว่าเอนเอียงไม่ยุติธรรม เพราะไม่จดบันทึกคำเบิกความพยานของผู้ถูกกล่าวหา

นอกจากนี้ แม้ว่าการกระทำบางอย่างอาจเป็นความผิดซ้ำกันทั้งละเมิดอำนาจศาลและความผิดอาญาอื่น เช่น หมิ่นประมาทศาลในขณะที่ศาลออกนั่งพิจารณาคดี หรือขัดขวางศาลในระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งเป็นความผิดอาญาอยู่แล้ว ศาลก็สามารถลงโทษหรือพิจารณาคดีในกรณีเหล่านั้นได้อีก ด้วยเหตุที่ว่าโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมิใช่โทษทางอาญาและสิทธิในการดำเนินคดีอาญายังไม่ระงับไป ตามมาตรา 39 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ส่วนมาตรา 32 ซึ่งบัญญัติให้การกระทำของผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ อาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ หากการกระทำนั้นคือ

(ก) การเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ศาลสั่งห้าม ตามมาตรา 32 (1) ซึ่งเหตุที่ศาลจะสั่งห้ามเปิดเผยได้มี 2 ประการ คือ เพื่อความเหมาะสมของคดีหรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งคำสั่งห้ามนั้นอาจเกิดขึ้นจากศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ หรือแม้ศาลไม่พิจารณาเป็นการลับแต่สั่งห้ามเปิดเผยข้อเท็จจริงเพราะเหตุข้างต้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเปิดเผยเนื้อหาของคำพิพากษาที่อ่านแล้ว อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าการวิจารณ์คำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุดไปในทางติเตียนอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้เช่นกัน

(ข) การสร้างอิทธิพลเหนือคดี ตามมาตรา 32 (2) ซึ่งศาลเคยตีความคำว่า “โดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาลหรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป” ไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ 2611/2523 ว่า การลงข้อความและบทความในหนังสือพิมพ์เป็นเชิงเปรียบเปรยให้เข้าใจว่าผู้พิพากษาสั่งเลื่อนคดีโดยไม่ยุติธรรม หรือความยุติธรรมหาไม่ได้ เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

โดยสรุปจากแนวทางการตีความความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยศาลฎีกา ศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าสามารถแบ่งรูปแบบความผิดออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ได้กระทำลงต่อหน้าศาล และความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่มิได้กระทำลงต่อหน้าศาล แต่มิได้มีการกำหนดวิธีพิจารณาและโทษสำหรับผู้กระทำความผิดที่แตกต่างกันนัก โดยซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในหัวข้อถัดไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาที่ผ่านมา พบว่าความผิดฐานดังกล่าวถูกตีความ และใช้บังคับไปตามแนวทางของระบบกฎหมาย Common Law มากกว่า Civil Law ซึ่งมีแนวโน้มคุ้มครองตัวผู้พิพากษามากกว่าคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีนั่นเอง[8]

 

5. ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกฎหมายไทย กับหลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการพูด การเขียน การแสดงออก หรือการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาจถูกพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ซึ่งโดยเนื้อแท้ของฐานความผิดนี้ คือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความเห็นตามหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่าในหลายประเทศก็รับเอาแนวคิดดังกล่าวเข้ามาปรับปรุงเพื่อให้ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลำดับรอง อย่างพระราชบัญญัติที่กำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลสอดคล้องกับหลักการข้างต้น และยังพัฒนาให้วิธีพิจารณาคดีและการลงโทษสำหรับความผิดฐานดังกล่าวสอดคล้องหลักวิธีพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ ที่ประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหา ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองกระบวนการหรือตัวผู้พิพากษา (ขึ้นอยู่กับรากฐาน/แนวความคิดของระบบกฎหมายในแต่ละระบบ) เช่นเดียวกัน

ส่วนรัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้น ตามมาตรา 34 บัญญัติให้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้ โดยข้อยกเว้นอันจะเป็นการจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เป็นการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น กระทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกซึ่งอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลบางประการ ยังมิได้รับการทบทวนด้วยหลักการข้างต้น  นอกจากนี้ กฎหมายไทยเองยังงดเว้นการคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมบางประการสำหรับการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ในทุกคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หากความผิดนั้นเกิดต่อหน้าศาล ศาลสามารถลงโทษได้ทันที (คำพิพากษาฎีกาที่ 1604/2511) โดยไม่ต้องตักเตือนหรือออกข้อกำหนดก่อน ส่วนความผิดที่มิได้เกิดต่อหน้าศาล แม้ศาลจะต้องไต่สวนหาความจริงก่อน แต่แนวทางการตีความตามคำพิพากษาฎีกาวางหลักการค้นหาความจริงที่ต่างไปว่า เพียงพยานสาบานตนโดยศาลชั้นต้นได้บันทึกถ้อยคำพยานไว้ ศาลก็สามารถใช้บันทึกดังกล่าวลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ และศาลไม่จำเป็นต้องรับฟังพยานหลักฐานจากผู้กล่าวหาอีกหากเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว (ฎีกาที่ 3809/2532)[9]  ดังนั้น โดยทั่วไปผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีสิทธิสู้คดี ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาต่อหน้า[10] ไม่มีสิทธิตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา มีสิทธิแต่เพียงอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลสูงเท่านั้น และหากความผิดเกิดในศาลฎีกา ก็ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้อีก

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงวิธีการไต่สวนหาความจริงของศาลแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความย้อนแย้งกับหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่ความผิดฐานนี้มุ่งคุ้มครอง เพราะแท้จริงแล้วในทุกการดำเนินคดีอาญา ความเป็นกลางของผู้พิพากษา คือกลไกสำคัญที่ทำให้วิธีพิจารณาคดีบรรลุเป้าหมายของกฎหมายอาญา ได้แก่ เกิดการตรวจสอบความจริงของเรื่องราวที่กล่าวหาและชี้ขาดเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการชี้ขาดนั้นต้องอาศัยความจริงที่ได้มาจากกระบวนการพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย (Due Process of Law) พร้อมกับการต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา และประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา (อันประกอบด้วยความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียและความเป็นภาวะวิสัย) ด้วย  หลักการดังกล่าวล้วนแล้วแต่จะทำให้การชี้ขาดความจริงเป็นไปอย่างยุติธรรม ดังจะเห็นได้จากการพัฒนา จนมีบทบัญญัติให้คู่ความสามารถคัดค้านผู้พิพากษาหรือ “ตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา” ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 27 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 – มาตรา 14 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หลักการข้างต้นกลับไม่ถูกนำมาใช้กับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างนักกฎหมายสองฝ่าย[11] โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าขัดต่อหลักการลงโทษทางอาญาที่บุคคลไม่ควรเป็นผู้ตัดสินในคดีซึ่งตนมีส่วนได้เสียอยู่ด้วย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอำนาจของศาลที่จะลงโทษผู้ละเมิดในทันทีทันใดย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี จึงควรงดเว้นหลักการคัดค้านผู้พิพากษาไว้[12] ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงเป็นเพราะวิธีพิจารณาคดีและโทษในความผิดฐานนี้ ไม่ได้รับการแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างการกระทำความผิดต่อหน้าศาลและการกระทำความผิดที่มิได้เกิดต่อหน้าศาล โดยในกฎหมายไทยเองยังคงให้นิยามคำว่า “ศาล” ว่าหมายถึงตัวอาคารสถานที่และตัวบุคคลซึ่งก็คือผู้พิพากษาด้วย การตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายและการลงโทษจึงยังลักลั่นและย้อนแย้งว่าท้ายที่สุด ศาลซึ่งอาจคิดว่าตัวเองเป็นผู้เสียหายโดยตรง แต่กลับลงมาพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิดเสียเองในทุกกรณีเช่นนี้ จะขัดต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาหรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งของความย้อนแย้งในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คือการขัดต่อหลักการไม่พิจารณาลงโทษสองครั้ง (Non bis in idem) เพราะแม้การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในบางกรณี จะมีลักษณะเป็นความผิดอาญา และศาลได้ลงโทษบุคคลนั้นในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแล้ว แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะไปดำเนินคดีอาญากับบุคคลนั้นอีก เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นการดำเนินคดีสองครั้งในการกระทำความผิดเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 87/2484)

ตัวอย่างเช่น ในคดีเจเจ สเปรย์กระป๋อง ผู้ถูกกล่าวหาใช้สีสเปรย์พ่นบนป้ายศาลอาญา เพราะโกรธแค้นที่คดีฆาตกรรมรุ่นพี่ของตน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคู่กรณีไม่มีความคืบหน้า ซึ่งผู้ถูกกล่าวหายังถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อีกด้วย หรือคดีที่นายมหาหินและนายยุทธนาร่วมกันขว้างระเบิดใส่ศาลอาญา ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลอาศัยคำรับสารภาพในคดีก่อนมาร้องทุกข์ว่าทั้งสองคนกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ด้วยการขว้างระเบิดใส่ตัวอาคารศาล ทำให้ทั้งสองคดีจำเลยได้รับโทษจำคุกถึงสองครั้งในการกระทำความผิดกรรมเดียว นอกจากนี้ โทษที่ลงมีทั้งโทษจำ และโทษปรับซึ่งก็คือโทษทางอาญาประเภทหนึ่ง ดังนั้น เมื่อโทษในความผิดฐานเหมือนกับโทษอาญา และเมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกนำตัวเข้าเรือนจำ ก็ได้รับการปฏิบัติไม่แตกต่างจากผู้กระทำความผิดฐานอื่น จึงแย้งไม่ได้ทั้งในเชิงหลักการ และการปฏิบัติว่าการลงโทษในความผิดฐานนี้ไม่ใช่โทษทางอาญา[13]

(รูปประกอบจากสำนักข่าวประชาไท-ภาพนายเจเจ หรือ ณัฐพล เข็มเงิน ขณะถูกนำตัวมาเเถลงข่าว)

ในงานวิจัยทางวิชาการหลายฉบับ ยังตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นในการบังคับใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในบริบทของกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งหากพิจารณาการกระทำที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลแล้ว กลับมีความผิดทางอาญาฐานอื่นในประมวลกฎหมายอาญา ที่สามารถปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน และสามารถใช้วิธีพิจารณาคดีอาญาแบบปกติเพื่อชี้ขาดข้อเท็จจริงได้ เช่น ความผิดฐานเสนอสินบนให้ศาล (มาตรา 167) ความผิดฐานขัดขืนหมายหรือคำสั่งศาล (มาตรา 170) ความผิดฐานเอาความเท็จมาฟ้องคดีอาญาต่อศาล (มาตรา 175) ความผิดฐานเบิกความเท็จ (มาตรา 177) ความผิดฐานนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ (มาตรา 180) หรือความผิดฐานดูหมิ่นศาล (มาตรา 198)

แม้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงหลักการและผลการบังคับใช้ แต่มีแนวโน้มว่าความผิดฐานดังกล่าวจะได้รับการขยายกว้างขึ้นไปคุ้มครองถึงการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริต โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า จะมีการบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมการรักษาความสงบเรียบร้อยในกระบวนการพิจารณาคดีภายใต้เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่เฉพาะในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 เท่านั้น

“…ส่วนเรื่องการวิพากษณ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายอุดมกล่าวว่าก่อนหน้านี้  ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวที่ยังไม่มีบทบัญญัติส่วนนี้ ต่อไปจะมีการเพิ่มบทบัญญัติการละเมิดอำนาจ  ศาลให้กับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมี โดยใช้หลักการเดียวกับศาลทั่วไปเป็นพื้นฐาน แต่ๆ ขยายให้คุ้มครองการป้องกันการวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสื่อสังคมออนไลน์  โดยกำหนดมาตรการลงโทษไว้ในมาตรา 39 ตั้งแต่การตักเตือน ไล่ออกจากบริเวณศาล จนถึงการลงโทษจำไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ..

(รูปประกอบจาก Voice TV)

 

6. ความจำเป็นที่ยังต้องคงไว้ซึ่งความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเเต่ต้องสอดคล้องกับนิติวิธีในระบบกฎหมายแบบ Civil Law     

กล่าวโดยสรุปจากหลักการ เจตนารมณ์ของกฎหมายและแนวทางการตีความของศาลฎีกา ศูนย์ทนายความฯ เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องทบทวนอย่างเร็วที่สุดถึงการบังคับใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในบริบทของการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะในคดีระหว่างรัฐกับซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล หรือแม้แต่คดีที่เป็นที่มาของการแสดงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อศาล เพราะเมื่อหลักการหลายประการไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาได้แล้ว คำพิพากษาของศาลที่ออกมาอาจสร้างความขัดแย้งหรือกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สาธารณะ และเมื่อแนวโน้มการตีความยังครอบคลุมถึงการกระทำที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม รวมถึงการกระทำที่แทบเป็นกิจลักษณะของการนำเสนอข่าว เช่น การให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของคดีว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลแล้ว เช่นนี้ เราไม่อาจกำหนดเส้นแบ่งระหว่างการกระทำที่เป็นความผิดได้เลย เมื่อการตีความเกินกว่าตัวบทได้รับการรับรองโดยศาลฏีกา

ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์ทนายความฯ ยังเห็นว่าทั้งเจตนารมณ์ของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ควรได้รับการทบทวนเพื่อให้แก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับนิติวิธีในระบบกฎหมายเป็นแบบ Civil Law และปรับให้ทันสมัยกับวิธีพิจารณาความสมัยใหม่ ซึ่งรับรองหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาไว้ในทุกคดีและทุกขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม (อ่านข้อเสนอแนะเพิ่มที่นี่)

 

———————————————————

[1] ดู วรรณชัย บุญบำรุงและคณะ “ละเมิดอำนาจศาล”, เอกสารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กันยายน 2557, หน้า 2

[2] ตัวอย่างการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในประเทศอังกฤษ เช่น การขว้างไข่ไก่ มะเขือเทศใส่ผู้พิพากษา ลูกขุน พยาน หรือเจ้าหน้าที่ศาล (ทำต่อหน้าศาล)  การตะโกนหรือการร้องเพลงประท้วงเพื่อรบกวนการพิจารณาของศาล (มิได้ทำต่อหน้าศาล) การดูหมิ่นศาล (ซึ่งต่อมาถูกยกเลิก) การวิพากษ์วิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริต การลงข่าวจูงใจลูกขุน เป็นต้น, ดู  วรรณวิสาข์ สุทธิวารี, “ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ.2557, หน้า 30-55

[3] ดู  วรรณวิสาข์ สุทธิวารี, “ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล”, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ.2557, หน้า 56-66

[4] ดู วรรณวิสาข์ สุทธิวารี,อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, หน้า 63

[5] ดู นางจุฑารัตน์ แก้วกัญญา “กฎหมายละเมิดอำนาจศาลในประเทศไทย” เอกสารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, (ไม่ทราบเดือน) 2557, หน้า 10

[6] อุดม เฟื่องฟุ้ง,คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 1 ตอน 1, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร:สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2541), หน้า 309

[7] ดู นางจุฑารัตน์ แก้วกัญญา, อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 5, หน้า 3

[8] นางจุฑารัตน์ แก้วกัญญา, อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 5, หน้า 16

[9] นริศ ชำนาญชานันท์, “ละเมิดอำนาจศาลโทษที่ขัดต่อกระบวนการ Due Process”, วารสารอัยการ,เล่ม 215, ปีที่ 19, หน้า144 (มกราคม 2539)

[10] สำหรับหลักการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย ประกันสิทธิให้จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาต้องได้ได้รับทราบถึงพยานหลักฐานและต้องสามารถยกข้อโต้แย้งขึ้นเพื่อต่อสู้คดีได้ อย่างไรก็ตาม แต่ยังมีข้อถกเถียงระหว่างนักกฎหมาย 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเห็นว่า แม้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะมีโทษทางอาญาอยู่ด้วยแต่โดยเจตนารมณ์แล้วเป็นศาลใช้เป็นมาตรการพิเศษเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล ด้วยเหตุนี้จึงมิได้นำหลักการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยมาใช้ ส่วนนักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า โดยสภาพของความผิดฐานนี้ถือเป็นโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวจึงควรได้รับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักความชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินคดี (Due Process of Law) อีกด้วย, ดู วรรณวิสาข์ สุทธิวารี,อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, หน้า 94

[11] ไมตรี ศรีอรุณ, “ละเมิดอำนาจศาล” ในละเมิดอำนาจศาลกับสังคมไทย. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์พาสิโก,2552), หน้า 4

[12] ประภาศน์ อวยชัย, “ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”, ดุลพาห เล่ม 3, ปีที่ 35, หน้า 14 (พฤษภาคม 2531)

[13] ดู วรรณวิสาข์ สุทธิวารี,อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3, หน้า 104 – 105

 

X