ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นทหารควบคุมตัว คดีโพสต์หมิ่น ฮ. รองแม่ทัพภาคที่ 3 ตก

ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นทหารควบคุมตัว คดีโพสต์หมิ่น ฮ. รองแม่ทัพภาคที่ 3 ตก

7 พ.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กรณีธนพร อุดมสิน โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมข้อความ กรณีอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์รองแม่ทัพภาคที่ 3 ตกที่ จ.พะเยา เมื่อ 17 พ.ย. 2557 และมีนายทหารเสียชีวิตรวม 9 นาย ให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 ประกอบมาตรา 328  จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ มีกำหนด 2 ปี

คดีนี้ แม้จะถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายด้วยการโฆษณา แต่ธนพรกลับถูกทหารควบคุมตัวจากที่ทำงานไปที่ค่ายทหาร โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก ยึดโทรศัพท์มือถือไม่ให้ติดต่อญาติ หรือบุคคลที่ไว้ใจ หลังจากธนพรถูกทหารควบคุมตัว มีนายทหารนำญาติของทหารที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 

ศาลอาญาพิพากษา เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2559 ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาฐา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 327 จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ มีกำหนด 2 ปี (อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่นี่)

จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 โดยระบุว่า “การพิจารณาพิพากษาคดีนี้ท่ามกลางสถานการณ์ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางทหารได้เข้ายึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนนั้น จำเลยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลอุทธรณ์จะได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยอิสระ ในฐานะสถาบันตุลาการที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายใด ยึดถือและยืนยันหลักการและองค์ประกอบแห่งกฎหมายอย่างมั่นคง ปราศจากอคติทั้งปวง ยึดถือหลักการตีความและการพิพากษาคดีโดยคำนึงถึงแนวทางแห่งคำพิพากษาของบรรพตุลาการ เพื่อให้สถาบันตุลาการยังคงเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชน อำนวยความยุติธรรมที่แท้จริงในสังคมต่อไป”

ธนพรอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นใน 5 ประเด็น ได้แก่

1. คำวินิจฉัยศาลชั้นต้นไม่ปรากฏในทางนำสืบของทั้งโจทก์และจำเลย รวมถึงไม่ปรากฏในพยานหลักฐานหรือสำนวนคดีนี้

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารคณะ พล.ต.ทรงพล ทองจีน และนายทหารรวม 9 นาย ร่วมกันโดยสารเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เดินทางไป จ.พิษณุโลก จ.ลำปาง จ.พะเยา และ จ.เชียงราย เพื่อตรวจหน่วยส่งกำลังบำรุงและงานก่อสร้างในเขตพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 3 อันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ของตน มิใช่เดินทางไปเพื่อกิจการส่วนบุคคล หรือเพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง หากแต่เป็นการทำงานราชการเพื่อประโยชน์ประโยชน์สุขของสาธารณชนโดยส่วนรวม

ซึ่งงานราชการย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการทำงานตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบและศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้าราชการจำต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่อาจเลือกปฏิบัติแต่เฉพาะคำสั่งที่ตนพอใจ หรือเลือกทำเฉพาะงานที่สะดวกสบายได้

ผู้ปฏิบัติราชการจึงต้องมีคุณธรรม คือความเสียสละเป็นพื้นฐาน ทั้งเสียสละความสุขส่วนตน เสียสละความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย และเสียสละเวลาที่จะให้แก่ครอบครัวของตน เพื่อมาอุทิศเวลาให้แก่งานราชการ โดยเฉพาะการรับราชการทหารซึ่งถือเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างอันพึงมีพึงได้ในชีวิต เพื่อปกปักรักษาประชาชนและประเทศชาติให้คงอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

โดยทหารได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์ให้เป็นผู้ถือผู้รักษาอาวุธและกำลังรบของชาติ ในยามศึกย่อมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต เพื่อความดำรงอยู่ของแผ่นดินในยามสงบ ทหารจะอยู่เคียงข้างประชาชนเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ และเป็นที่พึ่งพิงของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง

ทหารจึงเป็นนักรบในยามสงคราม เป็นรั้วของชาติในการปกป้องอธิปไตย และเป็นนักพัฒนาคอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในกิจการต่าง ๆ ด้วยหน้าที่และความเสียสละของทหารดังกล่าว ทำให้ท่านเป็นผู้มีเกียรติและศักดิ์ศรีที่ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูและสรรเสริญ

คำพิพากษาดังกล่าวทำให้จำเลยมีความกังวอย่างยิ่ง เนื่องจากการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว ไม่ได้ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์หรือจำเลย หรือปรากฏอยู่ในพยานหลักฐานหรือสำนวนคดีนี้แม้แต่น้อย ล้วนแล้วแต่เป็นความเห็น หรือความเชื่อของศาลชั้นต้นเองทั้งสิ้น และเป็นไปในทำนองชื่นชม และสำนึกในบุญคุณหรือคุณูปการของเจ้าหน้าที่ทหาร

คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลชั้นต้น แม้เป็นประเด็นเกี่ยวกับเกียรติยศ ชื่อเสียงของผู้ตาย แต่การวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการวินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้นำข้อเท็จจริงหรือประเด็นที่ปรากฏในสำนวนคดีมาวินิจฉัยแต่อย่างใด

2. การสอบสวนคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้ ผู้เสียหายทั้งหมดแจ้งความดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ข้อหาเดียวเท่านั้น แต่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ทหารในคณะ พล.ต.ทรงพล ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก และเป็นการใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม ทำให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทผู้ตายว่าเป็นคนไม่ดี ทำให้ผู้ตายได้รับความเสียหาย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้เสียหายได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะแห่งการกระทำของจำเลยที่เป็นความผิด และแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมาย คำร้องทุกข์ของผู้เสียหายจึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องอ้างฐานความผิดมาในคำร้องทุกข์ ถือว่าผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณาแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นยังวินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่า ร.ต.ปรัชญา ไม่มีอำนาจควบคุมตัวจำเลยตามกฎอัยการศึก เพราะการกระทำความผิดของจำเลยไม่อยู่ในความผิดตามบัญชีต่อท้าย  ศาลชั้นต้นเห็นว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่

การที่ ร.ต.ปรัชญา ควบคุมตุวจำเลยซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของ พ.ร.บ. นี้ หรือตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อสอบถามตามความจำเป็นของทางราชการทหารเป็นเวลา 7 วัน จึงชอบด้วย พ.ร.บ.กฎอัยการศึก แล้ว

อีกทั้ง การดำเนินคดีแก่จำเลยตั้งแต่ชั้นผู้เสียหายร้องทุกข์ ชั้นควบคุมตัว และชั้นสอบสวน จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทั้งข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พนักงานสอบสวน ปอท. ย่อมมีอำนาจสอบสวน การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ธนพรเห็นว่า การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา ไม่ใช่ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  ซึ่งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ระบุให้พนักงานสอบสวน ปอท. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนเฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ. นี้

3. ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลชั้นต้น ระบุว่า จำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กของตนเผยแพร่ภาพข่าวอุบัติเหตุเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของคณะ พล.ต.ทรงพล ตกต่อจากเฟซบุ๊กของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมพิมพ์ข้อความ “เสียดายตายแค่เจ็ด น่าจะตายสักห้าพัน แผ่นดินจะได้สูงขึ้น” ถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่แสดงให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า จำนวนเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นน้อยเกินไป หากมีจนวนเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ แผ่นดินจะสูงขึ้น เท่ากับยิ่งมีจำนวนเจ้าหน้าที่ทหารที่ยังมีชีวิตอยู่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้หนักแผ่นดินมากขึ้นเท่านั้น

แม้ข้อความดังกล่าวจะไม่ได้ให้รายละเอียดว่าผู้ตายเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่มีความประพฤติเป็นคนเลวหรือคนไม่ดีอย่างไร และข้อความนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็ตาม แต่การใช้ถ้อยคำสำนวนกล่าวหาว่าชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารเป็นเรื่องหนักแผ่นดิน ย่อมเป็นการกล่าวหาในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่รู้คุณค่าของแผ่นดินที่อาศัย เป็นผู้ทรยศต่อบ้านเมืองของตนเอง และเป็นเสนียดสังคมไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ถ้อยคำหยาบ หรือถ้อยคำไม่สุภาพทั่วไป

จำเลยได้อุทธรณ์โต้แย้งประเด็นนี้ว่า ข้อความดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเป็นเพียงการกล่าวเปรียบเทียบที่เลื่อนลอย คาดคะเนเอาเองของจำเลยโดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง และเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ เป็นเพียงการสมมติขึ้นเท่านั้น และจำเลยหรือบุคคลทั่วไปก็ไม่อาจทราบได้ว่า หากมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตสักห้าพันคนแผ่นดินจะสูงขึ้นตามที่พิมพ์ข้อความหรือไม่

ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยืนยันข้อเท็จจริงใด ๆ ที่สามารถทำให้ประชาชนทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าว เชื่อหรือเข้าใจได้ทันทีว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตเป็คนเลวหรือสมควรตาย

อีกทั้ง คำว่า “แผ่นดินจะสูงขึ้น) นั้นก็เป็นเพียงคำเปรียบเปรย คำโบราณ อันเป็น “ข้อความที่ไม่อาจเป็นจริงได้” มิได้เป็นข้อความที่ทำให้เกิด “ความเสียหาย” ต่อญาติของผู้เสียชีวิต เมื่อรวมกันแล้วตลอดข้อความที่จำเลยโพสต์นั้น เป็นเพียงข้อความในทำนองสมน้ำหน้า ซ้ำเติมผู้ตาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมในทางศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องโจทก์

ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1-3 และ 5-7 เบิกความต่อศาลในทำนองเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าผู้ตายมีพฤติกรรมเป็นคนเลวอย่างไร ส่วนพนักงานสอบสวนพิจารณาว่าเป็นข้อหาหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา เพราะข้อความดังกล่าวเป็นเหยียดหยามผู้ตาย เช่นเดียวกับที่ ร.ต.ปรัชญา ให้ความเห็นว่าข้อความดังกล่าว เป็นการดูถูกเหยียดหยามไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 578/2550 ระบุว่า ข้อความที่เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพ หรือเหยียดหยามไม่ถือเป็นการใส่ความ ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตาย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา

นอกจากนี้ ทางนำสืบของโจทก์และจำเลยไม่ปรากฏว่ามีพยานโจทก์ปากใดเบิกความถึงถ้อยคำที่จำเลยโพสต์ว่าทำให้เข้าใจว่า ผู้ตายเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่รู้คุณค่าของแผ่นดินที่อาศัย เป็นผู้ทรยศต่อบ้านเมืองของตนเอง และเป็นเสนียดสังคมไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถือเป็นการวินิจฉัยที่เกินเลยเลื่อนลอยไปจากทางนำสืบของโจทก์ที่ปรากฏในสำนวนอย่างมาก จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. โพสต์ของจำเลยไม่ได้ทำให้ผู้เสียหายต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการเหยียดหยามเกียรติของผู้ตาย อันเข้าลักษณะเป็นการใส่ความผู้ตายแล้ว เมื่อจำเลยเผยแพร่ข้อความดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก บุคคลทั่วไปที่มีบัญชีเฟซบุ๊กย่อมเข้าถึงและเข้าใจข้อความดังกล่าวได้ ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความนั้นอาจลดคุณค่าในทางสังคม หรือดูถูกเหยียดหยามเกียรติของผู้ตาย จึงน่าจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา ภริยา และบุตรของผู้ตายต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูถูก และถูกเกลียดชัง

แม้ผู้เสียหายจะไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ดูหมิ่นเกลียดชัง และการกระทำอย่างไรที่เป็นการดูหมิ่นเกลียดชัง รมถึงไม่อาจแสดงพยานหลักฐานได้ว่า บุคคลใดเชื่อการใส่ความของจำเลยบ้าง แต่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 ต้องพิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดของวิญญูชนทั่วไปเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดของจำเลย

หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า ข้อความของจำเลยน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แม้ยังไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริง เพียงแต่ “น่าจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย” การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

บุคคลทั่วไปที่รับรู้รับทราบการกระทำของจำเลย ต่างแสดงความเห็นไปในทางต่อว่า ไม่เห็นด้วยกับจำเลย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิญญูชนทั่วไปเห็นว่า การกระทำของจำเลยน่าจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่สมควร แต่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา

ธนพรอุทธรณ์ว่า ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภรรยา หรือบุตร หรือบิดามารดาของผู้ตายถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือน่าจะถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอย่างไร กลับได้จากทางนำสืบของโจทก์ว่า ประชาชนทั่วไป รวมถึงสื่อมวลชน นำเสนอข่าวไปในทางที่ตำหนิ ว่ากล่าว ด่าทอ และประณามการกระทำของจำเลย

คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่สอดคล้องกับหลักเหตุผล คือการที่บุคคลทั่วไปรับรู้รับทราบถึงการกระทำของจำเลย ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทางต่อว่า ไม่เห็นด้วยกับจำเลย เป็นคนละเรื่องกับว่าวิญญูชนทั่วไปเห็นว่าการกระทำของจำเลยน่าจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา ภรรยา และบุตรของผู้ตายต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่อย่างไร แต่ศาลชั้นต้นกลับนำมาเป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน ทั้งที่ไม่ปรากฏความเห็นของบุคคลที่แสดงความเห็นในลักษณะที่เห็นว่า การกระทำของจำเลยน่าจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดุหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

คำพิพากษาฎีกาที่ 2777/2545 ก็เคยวินิจฉัยไว้ว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความทำนองว่า ตายมากกว่านี้ แผ่นดินจะได้สูงขึ้นนั้น ประชาชนทั่วไปไม่อาจเชื่อได้ว่าจะเป็นเช่นนั้น และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีพยานหลักฐานหรือพยานบุคคลซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปมาเบิกความต่อศาล ยืนยันว่าได้อ่านข้อความที่จำเลยโพสต์แล้วเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคนเลว สมควรตาย ตามที่จำเลยโพสต์แต่อย่างใด

5. จำเลยโพสต์ด้วยเจตนาสาปแช่ง ไม่ใช่เพื่อใส่ความผู้ตาย หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตายและ/หรือผู้เสียหาย

จำเลยเคยนำสืบอ้างเหตุเมื่อปี 2553 มีเจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังและอาวุธปืนปราบปราบประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการมือง จำเลยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมเห็นเจ้าหน้าที่ทหารใช้กระสุนจริงยิงนายวสันต์ ๓ุทอง นายฮิโรยูกิ นายสยาม และนายจรูญ ไม่ทราบนามสกุล เสียชีวิตต่อหน้าจำเลย รวมถึงจำเลยได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหารเช่นกัน ทำให้จำเลยเกลียดและกลัวเจ้าหน้าที่ทหารมากจนเป็นเหตุให้จำเลยกระทำความผิดคดีนี้

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่า บุคคลทั้งสี่เป็นญาติสืบสายโลหิต หรือเคยเป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้อกับจำเลย ลำพังการที่จำเลยเห็นบุคคลทั้งสี่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ยังไม่เป็น้หตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเก็บความเคียดแค้นที่มีต่อเจ้าหน้าที่ทหารผู้ก่อเหตุดังกล่าว มากระทำการใส่ความผู้ตาย และซ้ำเติมความเศร้าโศกเสียใจของผู้เสียหายทั้งหกที่มีมากอยู่แล้วให้หนักหนามากยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมดังกล่าวเกิดตั้งแต่ปี 2553 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ถึงสี่ปีเศษ จำเลยอายุ 34 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ นับว่าเป็นผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิสูง สมควรที่จำเลยจใช้วิจารณญาณแยกแยะการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย กับการกระทำอันเป็นการปฏิบัติราชการในหน้าที่ได้

หากจำเลยเห็นว่าการใดมิชอบด้วยกฎหมาย ในฐานะผู้มีภูมิความรู้ในข้อกฎหมายอย่างดี ย่อมจะต้องใช้วิธีการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญาต่าง ๆ มิใช่เอาอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวเป็นใหญ่มาใช้เพื่อซ้ำเติมผู้เสียหาย โดยเฉพาะไม่ปรากฏว่า ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมดังกล่าวในทางหนึ่งทางใด

การที่ผู้ตายรับราชการทหาร จำเลยจะคิดเหมารวมเป็นพวกเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ทหารผู้ก่อเหตุย่อมไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม การใส่ความผู้ตายของจำเลยจึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม และไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็รนวิสัยของประชาชนย่อมกระทำอันจะเข้าบทยกเว้นความผิดของกฎหมาย

ธนพรต่อสู้ประเด็นนี้ว่า แม้นายวสันต์ ภู่ทอง นายฮิโรยูกิ นายสยาม และนายจรูญ จะไม่เกี่ยวข้องเป็นญาติสืบสายโลหิตหรือเป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้อ แต่ภาพขณะที่นายวสันต์ ภู่ทอง ถูกอาวุธปืนความเร็วสูงยิงที่ศีรษาจนศีรษะหายไปครึ่งหนึ่ง เนื้อสมองและเลือดไหลออกมากองนองพื้นจำนวนมาก เป็นภาพเหตุการณ์เลวร้าย สยดสยอง ที่จำเลยได้พบเห็นต่อหน้าต่อตาของตนเอง และจำเลยเองก็ถูกกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ และหากโชคร้าย จำเลยอาจถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมดังกล่าวไปแล้ว ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวจึงยากที่จะลบลืมได้ง่าย ๆ และย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเคียดแค้น เกลียดชังต่อผู้กระทำในลักษณะดังกล่าว

จำเลยทำได้เพียงเก็บกด โกรธแค้น ด้วยความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่อาจรู้ตัวผู้กระทำความผิด เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือความสามารถของจำเลย และอาจจะนอกเหนือความสามารถของสังคมไทย ที่จะระบุลงไปได้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิต

เมื่อทราบถึงเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในคดีนี้ ด้วยความเก็บกดเกลียดชังที่มีอยู่เป็นเวลานานไม่อาจระบายออกได้ จำเลยจึงโพสต์ข้อความดังกล่าว

หากศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อความของจำเลยอีกข้อความหนึ่งที่ว่า “ขอแสดงความสะใจ ต่อไปลูกมึงจะไม่มีพ่อ เมียมึงจะเป็นม่าย พ่อแม่พวกมึงจะขาดไร้อุปการะ ขอให้ครอบครัวพวกมึงจงทุกข์ทนตลอดไป” ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้อง จะเห็นได้ว่า ข้อความดังกล่าวแสดงเจตนาที่แท้จริงของจำเลยต่อการโพสต์ข้อความ คือการสาปแช่งแสดงความสะใจต่อการสูญเสียของครอบครัวญาติพี่น้องของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ดังเช่นที่ผู้ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เคยได้รับ ซึ่งการโพสต์ข้อความตามฟ้องก็เป็นไปด้วยเจตนาเดียวกัน คือไม่ใช่เพื่อใส่ความผู้ตายหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ตายและ/หรือผู้เสียหายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ จำเลยยังได้ติดต่อผู้เสียหายและดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอขมาดวงวิญญาณผู้ตาย ผู้เสียหาย และครอบครัว จำเลยกระทำไปเพราะได้สำนึกผิดต่อการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่งของตน ไม่มีใครยอมรับและเห็นด้วยกับการกระทำของจำเลย แต่ข้อความดังกล่าวไม่ใช่การใส่ความผู้ตาย อันน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังตามฟังโจทก์

อย่างไรก็ตาม ทนายความจำเลยต้องยื่นขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึง 4 ครั้ง เนื่องจากการคัดถ่ายคำพิพากษาศาลชั้นต้นล่าช้า

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

7 พ.ย. 2560 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ที่ห้อง 913 เริ่มอ่านคำพิพากษาประมาณ 09.55 น.

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน การสอบสวนมิชอบ และถ้อยคำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

ศาลอาญาอ่านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ข้อความของจำเลยเป็นการใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม ทำให้วิญญูชนเห็นว่าข้อความของจำเลยมีผลต่อบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อ

นอกจากนี้ ข้อความของจำเลยยังสื่อว่า ผู้ตายเป็นคนหนักแผ่นดิน และมีการเตรียมการล่วงหน้า หาใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรม อันจะเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 วิญญูชนเห็นแล้วย่อมทราบความหมายโดยชัดเจน

พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายโดยการโฆษณา เมื่อประเด็นนี้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาฐา มาตรา 328 ประกอบมาตรา 327 จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ มีกำหนด 2 ปี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รับรองทหารมีอำนาจควบคุมตัวเต็มที่ ศาลอาญาวางโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาทกรณี ฮ.กองทัพภาค 3 ตก

X