นักวิชาการภาษาศาสตร์ให้การคดี “ไทยศึกษา” ชี้การยกข้อความออกจากบริบท เพื่อเน้นการต่อต้านรัฐบาล ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน

วันนี้ 7 ธ.ค. 60  ดร.อิสระ ชูศรี  อาจารย์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์  ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญต่อพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ในคดีของ 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกรณีการติดแผ่นป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร”ที่ฝาผนังห้องประชุมศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ค.60

ในคดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งห้าคน ได้แก่ นายชยันต์ วรรธนะภูติ, นางภัควดี วีระภาสพงษ์, นายนลธวัช มะชัย, นายชัยพงษ์ สำเนียง และนายธีรมล บัวงาม ได้ถูกกล่าวหาว่าการติดแผ่นป้ายดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ โดยผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ โดยขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นอัยการศาลแขวง

 

ข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” แสดงการปฏิเสธประโยค “เวทีวิชาการ คือค่ายทหาร”

คำให้การโดยสรุป ดร.อิสระเห็นว่า การจะพิจารณาความหมายของข้อความใดๆ ก็ตาม เพื่อที่จะให้เข้าใจเจตนาของผู้ที่ใช้ข้อความนั้นเพื่อส่งสาร ผู้รับสารจะต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานของการสื่อสารหรือสนทนากัน ได้แก่ ความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมอยู่ในบริบทของการสื่อสารหรือเป็นคู่สนทนากัน

เมื่อนำหลักการดังกล่าวมาวิเคราะห์ ข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”  อยู่ในรูปประโยคปฏิเสธ  ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่าผู้สร้างข้อความแสดงการปฏิเสธประโยคที่มีความหมายตรงข้ามกับประโยคดังกล่าว ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นประโยคที่มีความหมายโดยประมาณว่า “เวทีวิชาการ คือค่ายทหาร” จึงจะทำให้สามารถเข้าใจความหมายของ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”  ได้ชัดเจนขึ้นในฐานะที่เป็นประโยคที่แสดงความหมายเชิงโต้แย้ง

จากการที่พยาน ติดตามข่าวสารในช่วงนั้น พบว่าเวทีวิชาการที่อยู่ในข้อความที่เป็นปัญหานั้น คือการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นการประชุมทางวิชาการที่มีชื่อเสียงอย่างมากในระดับนานาชาติ แต่กลับพบว่าในการประชุมนั้นมีทหารในเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์การประชุมและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะที่ผิดไปจากปกติที่เคยเป็นมาในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ในฐานะที่พยาน เองก็มีความเป็นนักวิชาการ จึงเข้าใจได้ว่าบรรยากาศของการจัดประชุมนั้นอยู่ภายใต้การจับจ้องและตรวจตราของทหารจำนวนหนึ่ง จนคล้ายกับว่าการประชุมของนักวิชาการที่จัดอยู่นั้นเป็นเสมือนค่ายทหาร

ด้วยเหตุนี้เองพยาน จึงตีความว่าข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นข้อความที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ หรือเป็นอุปลักษณ์ ที่แสดงข้อคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการจัดประชุมในลักษณะที่ขัดกับวัฒนธรรมของนักวิชาการที่ต้องการพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแง่มุมต่าง ๆ โดยเสรี โดยอาศัยเหตุผลและข้อเท็จจริงเป็นเครื่องสนับสนุน อันจะยังให้เกิดความงอกงามตามขนบทางวิชาการที่มีความเป็นสากล

โดยสรุป ข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”  ที่ปรากฏขึ้น ในเหตุการณ์การประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา มีความหมายเป็นการแสดงจุดยืน    คัดค้านการแทรกแซงการจัดประชุมทางวิชาการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

 

“เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไม่มีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมทางด้านการเมือง

ดร.อิสระ ยังเห็นว่าข้อความ“เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไม่ได้เป็นข้อความที่ถูกแสดงขึ้นโดยเอกเทศ แต่เป็นข้อความที่ขึ้นกับบริบทของการสื่อสารที่มีความจำเพาะเจาะจง กล่าวคือการแสดงข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่ผิดไปจากความปกติธรรมดาของการประชุมทางวิชาการที่มุ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการด้วยกันเป็นสำคัญ จนกระทั่งเมื่อมีเหตุการณ์ที่ผิดไปจากความปกติธรรมดาของ “เวทีวิชาการ” เกิดขึ้น ได้แก่ การเข้าสังเกตการณ์หรือตรวจสอบการประชุมฯ โดยเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ ข้อความที่เป็นปัญหาจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารความไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าหน้าที่ประพฤติตนในลักษณะที่เป็นการแทรกแซงการประชุมทางวิชาการ

การชูป้ายข้อความดังกล่าว ก็มิได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอิสระหรือมีการเตรียมการต่างหากจากการประชุมทางวิชาการที่เป็นบริบทของมัน แต่เกิดขึ้นในฐานะปฏิกิริยาของผู้ร่วมการประชุมฯ ส่วนหนึ่งที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในการประชุมนั้น

จากเหตุผลสองประการข้างต้น พยานจึงมีความคิดเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมทางด้านการเมือง และอาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลเชิงลบโดยทั่วไปแต่อย่างใด เนื่องจากข้อความนี้ไม่ได้มีรายละเอียดเนื้อหาที่เป็นการยุยงปลุกปั่นปลุกระดมทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแง่อื่นใดเลย นอกเหนือไปจากที่เป็นการปฏิเสธการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่ทหารในการประชุมทางวิชาการ ที่ถือว่าเป็นวิถีปกติของผู้ที่อยู่ในวิชาชีพที่ต้องอาศัยวิชาการนี้

การที่ผู้กล่าวหามีการหยิบยกเอาข้อความดังกล่าวออกมาจากบริบทของการสื่อสาร เพื่อเน้นให้เห็นเฉพาะแง่มุมที่เป็นการต่อต้านรัฐบาล จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจความหมายที่คลาดเคลื่อนไปจากบริบทที่ข้อความนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนและความต้องการที่จะธำรงเสรีภาพทางวิชาการด้วยการจัดประชุมทางวิชาการโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ

 

 

อ่านคำให้การพยานปากอื่นๆ เพิ่มเติม

เสรีภาพสำคัญยิ่งสำหรับงานประชุมวิชาการ: เปิดคำให้การ ‘อานันท์ กาญจนพันธุ์’ ในคดีไทยศึกษา

นักวิชาการรัฐศาสตร์-สื่อสารมวลชน เข้ายื่นคำให้การพยานในคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’

นักวิชาการกฎหมายให้การคดีไทยศึกษา ชี้คำสั่งหน.คสช.3/58 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อมีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ผู้ต้องหาคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” รายงานตัวอัยการ พร้อมร้องขอสอบพยานเพิ่ม 1 ปาก

X