10 เรื่องที่ทำให้ ‘สิทธิมนุษยชน’ กลายเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

10 เรื่องที่ทำให้ ‘สิทธิมนุษยชน’ กลายเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

หลังประกาศให้ “สิทธิมนุษยชน” เป็นวาระแห่งชาติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงเป็นสิ่งที่ถูก “งดเว้น” และ “ควบคุมจองจำ” เอาไว้อย่างเข้มงวด จำนวนการข่มขู่คุกคาม การจับกุม กล่าวหา ดำเนินคดี ต่อผู้แสดงออกทางการเมือง พุ่งสูงขึ้น ขณะที่การใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากการถ่วงดุลและตรวจสอบก็ยังดำเนินคู่ขนานกันไป

3 ปีครึ่ง หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครอง คณะรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจ ท่ามกลางการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคำสัญญาในการ “เดินหน้า” จัดการเลือกตั้งในปีหน้า

ในปี 2560 นี้ “กฎหมาย” อย่างประกาศ-คำสั่งของคณะรัฐประหาร และตัวบทในกฎหมายหมวดความมั่นคง ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และเสรีภาพของสื่อมวลชน องค์กรตุลาการต่างๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญในการรับรองการใช้ “กฎหมาย” เหล่านั้น ภายใต้คำวินิจฉัยที่รองรับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่องในหลายคดี ขณะหน่วยงานและองค์กรรัฐหลายองค์กรก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในมิติต่างๆ

ปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้น จึงเป็นปีที่สังคมไทยยังคงตกอยู่ใน “หลุมดำ” ของการใช้อำนาจโดยคณะรัฐประหาร เป็นปีที่สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยยังคงล่องหน-หลงทางอยู่ภายในแรงดึงดูดของหลุมดำแห่งระบอบอำนาจนิยม 10 เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ และคดีความต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างเด่น ๆ ของการหายสาบสูญไปของสิทธิเสรีภาพ ที่ยังไม่รู้เมื่อไรพลเมืองในสังคมไทยจะติดตาม-ค้นพบมันกลับมา

ในส่วนสถานการณ์คดีมาตรา 112 ในรอบปีนี้ สามารถอ่านได้ใน 1 ปี การคุมขัง ‘ไผ่ ดาวดิน’ กับสถานการณ์มาตรา 112 ในรอบปี 2560

1. คดีในงานประชุมไทยศึกษา: ภาพสะท้อนความพยายามทำให้สังคมไทยกลายเป็น “ค่ายทหาร”?

คดีใหม่ที่สังคมให้ความสนใจในปี 2560 คดีหนึ่ง คือ คดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 คดีนี้อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 รับมอบอำนาจจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นผู้แจ้งความกล่าวหา 5 นักวิชาการ-นักกิจกรรม-นักศึกษา ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ข้อกล่าวหาระบุว่าการติดป้ายดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ ขณะที่ผู้ต้องหาที่ชูป้ายสามคนระบุว่าข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงการที่เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาแทรกแซงการประชุมวิชาการที่มีความสำคัญระดับนานาชาติก่อน

การดำเนินการของทหารเช่นนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในไทยและนานาชาติ โดยมีสถาบันทางวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมมากกว่า 70 องค์กร นักวิชาการหรือภาคประชาสังคม มากกว่า 1,071 รายชื่อ ร่วมกันเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนี้ โดยเห็นว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการอย่างยิ่ง

คดีนี้เป็นอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 2557 ที่สะท้อนถึงการคุกคามพื้นที่ทางวิชาการ พื้นที่เสวนาสาธารณะต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่เกิดขึ้นมาตลอด จนลุกลามไปถึงการประชุมในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งมีนักวิชาการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย ขณะเดียวกันก็สะท้อนไปถึงการใช้สิ่งที่กล่าวอ้างว่าเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหารในการเป็นเครื่องมือ “ปิดปาก” การแสดงออกโดยสงบสันติ และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

เช่นเดียวกับการใช้ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นกลไกสร้างภาระทางคดีให้กับนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักศึกษา ที่ทำกิจกรรมทางการเมือง กระทั่งเป็นภาพสะท้อนถึงความพยายามทำให้สังคมไทยแปรสภาพกลายเป็น “ค่ายทหาร” ที่ คสช. พร้อมกองทัพ กำลังปกครองและ “ธำรงวินัย” อยู่

2. 3 คดี ข้อหาละเมิดอำนาจศาล: การตีความเพื่อจำกัดเสรีภาพกลุ่มเห็นต่าง?

หลังทิ้งท้ายปี 2559 ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ลงโทษจำคุก 1 เดือน อ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงวางพวงหรีดหน้าศาลแพ่งรัชดาฯ ประท้วงคำสั่งศาลที่ห้ามใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมของ กปปส.  ในปี 2560 ก็มีคดีละเมิดอำนาจศาลอีกอย่างน้อย 3 คดี ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา 8 คน ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก

เริ่มจากเดือนมีนาคม ศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายเรียก 7 นักศึกษา เนื่องจากมีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล จากการจัดกิจกรรมนอกรั้วศาล เพื่อให้กำลังใจ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ซึ่งถูกฟ้องในคดี 112  ต่อมาศาลขอนแก่นพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติกรรมแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี ยกเว้น ‘นิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ซึ่งจบปริญญาตรีแล้ว ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

จากนั้น ในเดือนสิงหาคม วัฒนา เมืองสุข  อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาด้วยคดีละเมิดอำนาจศาลถึง 2 คดี จากการเฟซบุ๊กไลฟ์ในศาลอาญา ระหว่างรอการฝากขังใน คดี ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ  ศาลได้พิพากษาว่า วัฒนาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี และจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหน้าศาลอาญา หลังยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งให้ฝากขังในคดี ม.116 ข้างต้น ศาลพิเคราะห์ว่าวัฒนานัดหมายสื่อมวลชนมาให้สัมภาษณ์โดยไม่ขออนุญาตศาลก่อน จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” ของไทยบัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อควบคุมให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและรวดเร็ว โดยปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 ในทั้ง 3 คดี ผู้ถูกกล่าวหาถูกพิพากษาว่า “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” อันเป็นความผิดตาม มาตรา 31(1) ซึ่งศาลไม่จำเป็นต้องออกข้อกำหนดก่อน ที่ผ่านมาศาลฎีกาตีความไว้อย่างกว้างขวาง บางกรณีครอบคลุมถึงการกระทำที่อยู่นอกบริเวณศาล ทำให้เป็นปัญหาเรื่องความชัดเจนว่าการกระทำใดบ้างจะถือเป็นความผิด

เช่นเดียวกับการตีความการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในทั้ง 3 คดีนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดี จึงไม่ได้ขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดี อีกทั้งกิจกรรมของนักศึกษาจัดขึ้นนอกรั้วศาล เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกต่อสถานการณ์ที่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพและไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่านั้น

กรณีการให้สัมภาษณ์ที่บันไดศาลอาญาก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นปกติ แต่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีการแสดงออกเพื่อคัดค้านการใช้อำนาจของ คสช. ทำให้สาธารณชนอาจตั้งคำถามได้ว่า ความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” ถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพของกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐหรือไม่  รวมทั้งถูกใช้เพื่อคุ้มครองศาลจากการถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่

แม้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะมีปัญหาดังกล่าวมา แต่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเพิ่มขึ้นมา จากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ปัญหาเรื่องการใช้ความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” จึงยิ่งน่าจับตาในปีหน้าว่าจะส่งผลต่อสถานการณ์การแสดงออกอย่างไรต่อไป

3. ทนายอานนท์ยืนเฉยๆ ผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

นอกจากคำสั่งคณะรัฐประหารเกี่ยวกับการชุมนุม กฎหมายการชุมนุมที่ออกโดย สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ยังเป็นกฎหมายสำคัญที่ถูกใช้ดำเนินคดีต่อผู้แสดงออกทางการเมืองต่อ คสช.

ผลคดีสำคัญคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ คือคดีของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน กระทำความผิดไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 10 มาตรา 12 และมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากเหตุการณ์จัดกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2559  ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่าอานนท์กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษปรับ 1,000 บาท

ภาพโดย Banrasdr Photo

อานนท์ยื่นอุทธรณ์ข้อกฎหมายในสองประเด็นคือ การจับกุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการประกาศเตือน ยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกคำบังคับ หรือประกาศพื้นที่ควบคุม ตามมาตรา 21 มาตรา 23 และมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นั้นยังไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 ว่าเมื่อเจ้าพนักงานได้สอบถาม และจำเลยรับว่าไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง จึงเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ไม่ต้องมีหมายจับ และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว จึงเป็นการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มิได้ห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นการตรา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม  และการจัดกิจกรรมของจำเลยเป็นไปโดยสงบและเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ศาลพิจารณาว่าหากจำเลยเห็นว่ากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่และยังไม่มีการเพิกถอน  กฎหมายจึงยังคงมีผลบังคับใช้อยู่  ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

การตีความกฎหมายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้จัดการชุมนุมซึ่งไม่แจ้งการชุมนุมได้ในทันที เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ทั้งที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กำหนดขั้นตอนไว้โดยเฉพาะเช่นนี้ ย่อมทำให้ขั้นตอนการปฏิบัติการของเจ้าพนักงานชุมนุมสาธารณะนั้นไร้ผลในทางกฎหมายอย่างสิ้นเชิง และจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมต่อไปภายในอนาคต

4. “เสรีภาพในการชุมนุมถูกจำกัดได้ภายใต้ ม.44”: ศาลแพ่งยกฟ้องกรณีนักกิจกรรมฟ้องเรียกค่าเสียหาย

อีกคดีสำคัญที่คำพิพากษาของศาลส่งผลเป็นการรองรับการใช้อำนาจของ คสช. คือคดีที่กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ในการสลายการชุมุนมในกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 โดยเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2560 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่จับกุมและควบควบคุมตัวโจทก์ทั้ง 13 คนโดยชอบแล้ว ความเสียหายซึ่งเกิดแก่โจทก์ อันเป็นมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ เกิดจากโจทก์ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่เอง

การฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐกรณีละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนโดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 นี้ ถือเป็นคดีแรกที่ศาลมีคำพิพากษา ความน่าสนใจของคดีอยู่ที่กระบวนการพิจารณาและประเด็นที่ศาลวินิจฉัย เช่น เมื่อเริ่มแรกทางพนักงานอัยการ (ในฐานะทนายความของรัฐซึ่งเป็นจำเลย) อ้างพยานบุคคลเข้าสืบ 19 ปาก รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. แต่ท้ายสุดแล้วก็ตัดพยานปากดังกล่าวออกและย่นระยะเวลาสืบพยานโจทก์และจำเลยลงเหลือ 6 นัด จากเดิมที่กำหนดไว้จำนวน 10 นัด 

ภายหลังจากกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งสลายการชุมนุมและเข้าจับกุมโจทก์ทั้ง 13 ในวันดังกล่าวกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และหากเป็นการกระทำละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ตลอดระยะเวลาการสืบพยาน โจทก์ทั้ง 13 อ้างถึงการใช้สิทธิในการเข้าชุมนุมของตนซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  ประกอบกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557

ในคำพิพากษาของศาลเองก็วินิจฉัยรับรองหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศดังกล่าว แต่อธิบายว่าขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และตามมาตรา 44 ประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ การกระทำของโจทก์ทั้ง 13 ซึ่งศาลอ้างตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงย่อมถูกจำกัดได้ภายใต้มาตราดังกล่าว

ศาลระบุว่าฉะนั้นแล้ว การกระทำของโจทก์ทั้ง 13 ซึ่งพยายามรวมตัวกันเพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ถึงระยะเวลา 1 ปี ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. จึงเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า และเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย  การที่เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบใช้กำลังจับกุมจนเกิดความเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินของโจทก์ทั้ง 13 จึงเกิดขึ้นเพราะโจทก์ทั้ง 13 ขัดขืนการจับกุม ไม่ใช่เพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ศาลยังวินิจฉัยต่อไปอีกว่า การที่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับและการควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวนั้นสามารถกระทำได้

แม้คำพิพากษาดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ทำให้เห็นแนวทางการตีความกฎหมาย กรณีนี้ศาลวินิจฉัยว่าเสรีภาพในการชุมนุมถูกจำกัดได้ภายใต้มาตรา 44 ประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แต่ศาลยังไม่วินิจฉัยว่าเนื้อหาของคำสั่งนั้นเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ตามความจำเป็นและได้สัดส่วนหรือไม่ ศาลเพียงแต่วินิจฉัยว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่นั้นชอบด้วยกฎหมาย เพราะกระทำต่อผู้ที่มารวมตัวกันเพื่อชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่าการไม่แจ้งสิทธิ การควบคุมตัวไว้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา การด่าทอโจทก์บางคนด้วยถ้อยคำหยาบคาย รวมถึงความเสียหายอื่นที่เกิดแก่โจทก์คนหนึ่งจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลนั้นเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่

5. ศาลฎีการับรองอำนาจรัฐประหาร: คดีไม่ไปรายงานตัว ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’

3 ปีครึ่งของการรัฐประหาร คดีไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. ของ ‘บก.ลายจุด’ สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นคดีแรกที่สู้จนถึงศาลฎีกา

คดีนี้ ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาให้เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 ลงโทษปรับ 500 บาท แต่เห็นว่าไม่เป็นความผิดตามประกาศ คสช. เนื่องจากคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งระบุให้สมบัติต้องมารายงานตัวนั้นไม่ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนไว้ ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ซึ่งมีเนื้อหากำหนดโทษบุคคลที่ไม่มารายงานตัวเป็นการบัญญัติกฎหมายขึ้นหลังจากสมบัติไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. แล้ว และมุ่งหมายเจาะจงเฉพาะบุคคล ขัดต่อหลักกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจลงโทษได้

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และฉบับที่ 29/2557 ให้ลงโทษให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี

เมื่อถึงชั้นศาลฎีกา สมบัติต่อสู้ว่าขณะที่ คสช. ออกประกาศและคำสั่งเรียกรายงานตัวเขานั้น คสช. ยังไม่มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ และการไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. เป็นการใช้สิทธิต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. ตามมาตรา 69 และ 70 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าหลัง คสช. ยึดอำนาจแล้ว นอกจากประกาศใช้กฎอัยการศึก ยังได้ออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการต่าง ๆ ที่เป็นการใช้อำนาจบริหาร แสดงให้เห็นว่า คสช. สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว คสช.จึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สิทธิของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ถูกยกเลิกไปนับตั้งแต่ คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ทั้งยังไม่ปรากฏการต่อต้านจากประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ จน คสช. ไม่อาจบริหารประเทศได้

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าการรัฐประหารจะสำเร็จต่อเมื่อต้องมีรัฐธรรมนูญมายกเว้นความผิด และต้องมีพระบรมราชโองการมารับรองสถานะของคณะรัฐประหาร เป็นเพียงความเข้าใจของจำเลยเอง ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดที่ว่าจะต้องมีการดำเนินการดังกล่าว จึงจะถือว่ายึดอำนาจปกครองสำเร็จ

ในส่วนประเด็นต่อสู้ที่ว่าประกาศ คสช. เป็นการกำหนดโทษย้อนหลัง ศาลเห็นว่าไม่ได้เป็นการกำหนดโทษย้อนหลัง เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2557 ซึ่งเป็นคำสั่งเรียกรายงานตัวฉบับแรกที่มีชื่อสมบัติ แต่ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ที่ 25/2557 ที่สั่งให้บุคคลที่ยังไม่มารายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2557 ต้องมารายงานตัว มิฉะนั้นจะมีโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษสมบัติตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1ปี

เท่ากับว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหารถูกรับรองอีกครั้งโดยศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ

6. คดีประชามติยังดำเนินไป ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และคำสัญญาสู่การเลือกตั้ง

ปี 2560 นี้ ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้อีกครั้ง นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติมาภายใต้ปรากฏการณ์การคุกคาม การจับกุม การตั้งข้อกล่าวหา ดำเนินคดี ต่อบุคคลหรือกลุ่มที่ออกมาให้ข้อมูล จัดกิจกรรมรณรงค์ และแสดงความคิดเห็น ไปในแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประชาชนจำนวนอย่างน้อย 212 คน ที่กลายเป็น “ผู้ต้องหาคดีประชามติ” (รายงานศูนย์ทนายฯ) ผ่านมากว่า 1 ปี คดีเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป และทยอยขึ้นสู่ชั้นศาล

ในปี 2560 นี้ ศาลมีคำพิพากษาใน “คดีประชามติ” ที่จำเลยได้ต่อสู้คดีแล้ว 3 คดี ได้แก่ คดีของสามารถ ขวัญชัย ที่ถูกกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559  มาตรา 61(1) วรรค 2 จากการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปชูสามนิ้ว ไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถ ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษา)

ต่อมาคือ “คดีฉีกบัตรประชามติ” ของปิยรัฐ จงเทพ ที่ถูกตั้ง 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ทำลายบัตรออกเสียง, ทำลายเอกสารราชการ, ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย และข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ  ร่วมกับจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ เพื่อนนักกิจกรรม ซึ่งศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษาลงโทษข้อหาทำลายบัตรออกเสียงและข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหายของจำเลยที่ 1 ที่ได้ให้การรับสารภาพไว้ โดยปรับ 2,000 บาท จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 3 ในข้อกล่าวหาร่วมกันก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน (คำพิพากษา)

คดีล่าสุดที่ศาลมีคำพิพากษา คือคดีของวิชาญ ภูวิหาร ที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 จากกรณียืนพูดคุยว่าจะไม่ไปลงคะแนนเสียงประชามติในตลาดสด อ.พิบูลมังสาหาร คดีนี้ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้ง 2 ปี (คำพิพากษา)

ในปีหน้านี้ แม้ประเทศอาจจะ “เดินหน้า” ต่อไปสู่การเลือกตั้ง ตาม “คำสัญญา” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่าจะให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย. 2561 แต่ “คดีประชามติ” และ “ผู้ต้องหาประชามติ” อีกจำนวนมาก ยังต้องต่อสู้คดีอีกหลายคดี อาทิ คดีส่งจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญ, คดีน่าเชื่อว่าจะแจกสติ๊กเกอร์โหวตโน, คดีจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ, คดีแจกเอกสารประชามติบางพลี, คดีประชามติ “ไผ่ ดาวดิน” และเพื่อน เป็นต้น  ซึ่งคดีเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าล้วนเป็น “ตราบาป” อันสะท้อนไปถึงฐานที่มาอัน “ไม่ชอบธรรม” ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของสังคมไทย

7. เรื่องหาย ๆ แห่งปี 2560

ช่วงสงกรานต์ของปีนี้ ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่กินพื้นที่บนโซเชียลมีเดีย คือการหายไปของ ’หมุดคณะราษฎร’ ซึ่งถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ที่มีข้อความว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

นิสิตนักศึกษา 3 สถาบัน เดินทางไปแจ้งความเรื่องหมุดคณะราษฎรหายไป

“เขาขอให้ผมเพลาเรื่องนี้ลงไป เพราะมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่มี invisible hands (มือที่มองไม่เห็น) อยู่เยอะ …” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีไทย หลังเสียงทวงถาม และข้อเรียกร้องหาความผิดชอบต่อการหายไปของหมุดคณะราษฎรโดยใช้ช่องทางตามกฎหมายถูกทำให้เงียบและค่อย ๆ เลือนหาย รวมไปถึงทำให้บางคนมีคดีความติดตัว

ผลกระทบจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร ทำให้วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย มีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นของตนเองเพิ่มอีกคดี ประชาชนทั่วไปอีกอย่างน้อย 4 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้

ขณะที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย บุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ และเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร หลังพยายามยื่นหนังสือร้องเรียนและแจ้งความเรื่องหมุดหาย ส่วนกิจกรรมเสวนาทางวิชาการถูกทหารแทรกแซงไม่ให้จัดหรือพูดถึงเรื่องหมุดอีกอย่างน้อย 2 งาน

ผ่านมากว่า 8 เดือนจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของหมุดคณะราษฎร และทางเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีใครออกมาติดตามหาหมุดคณะราษฎร กระทั่งนำ “หมุดหน้าใส” ออกไป ทำให้นี่อาจเป็นการอุ้มหายทางประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของประเทศ แต่ไม่ว่าจะหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือประชาชนก็อาจมีชะตากรรมไม่ต่างกัน เพราะ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ก็ถูกทำให้หายเข้ากลีบเมฆก่อนหมุดคณะราษฎรจะหายไปไม่นาน

8. การเคลื่อนไหวของ ‘เอกชัย’ กับการถูกจับกุม 4 ครั้งในปีเดียว

ปี 2560 นี้ ความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่ง คือกรณีของเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 เขาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปถึง 4 ครั้งจากการพยายามจะทำกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่เคยมีครั้งใดที่เจ้าหน้าที่จะแสดงหมายจับ ระบุอำนาจที่ใช้ควบคุมตัว หรือแสดงตัวว่าเป็นใครมาจากไหน และยังเป็นการจับกุมตั้งแต่ยังอยู่ที่บ้านถึง 2 ครั้ง เกือบทุกครั้งเขาได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกับที่ถูกจับกุม ยกเว้นครั้งสุดท้ายที่ถูกควบคุมตัวถึง 4 วัน

เอกชัยถูกจับครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2560 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จากการไปยื่นเรื่องร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไป ครั้งนั้นเขาถูกนำตัวไปมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)

ต่อมา เอกชัยยังถูกจับกุมจากเรื่องหมุดคณะราษฎรอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2560 ครั้งนี้เขาตั้งใจจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปฝังทับหมุดหน้าใส ตำรวจที่รออยู่ในบริเวณใกล้เคียงเข้าจับกุมแล้วนำตัวไปที่ มทบ.11 อีก

มาถึงครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 เอกชัยถูกตำรวจคุมตัวไปจากบ้านขณะกำลังจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ ให้เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 5 ธ.ค. กลับมาเป็นวันที่ 24 มิ.ย. ตำรวจนำตัวเขาไปที่สำนักงานเขตบางกะปิ เพื่อให้เอกชัยยื่นหนังสือร้องเรียนที่นี่แทนการไปทำเนียบรัฐบาล

จนกระทั่งในครั้งล่าสุด หลังจากเอกชัยโพสต์ว่าจะใส่เสื้อแดง และจะทำอะไรบางอย่างในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หากวันที่ 24 ต.ค. 2560 เอกชัยก็ถูกทหารและตำรวจสันติบาลเข้าจับกุมที่บ้าน โดยให้เขาเลือกว่าจะไป “ค่ายทหาร” หรือ “ไปเที่ยวเมืองกาญจน์” แต่ไม่มีตัวเลือกให้เขายังได้อยู่ที่บ้าน

สุดท้ายเมื่อเลือกที่จะไปกาญจนบุรี เอกชัยถูกพาไปควบคุมตัวที่รีสอร์ตในตัวอำเภอเมืองและที่อำเภอทองผาภูมิ แม้ว่ารีสอร์ตในทองผาภูมิจะเปิดให้บริการเหมือนรีสอร์ททั่วไป แต่กลับมีเจ้าของเป็นหนึ่งในตำรวจชุดที่ควบคุมตัวเขา

เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวเอกชัยกลับถึงบ้านในบ่ายวันที่ 28 ต.ค. 2560 แต่ก่อนปล่อยตัวยังให้ลงชื่อรับเงื่อนไขปล่อยตัว และขู่ว่าจะดำเนินคดีหากยังไม่เลิกเคลื่อนไหว

แม้ว่ารูปแบบจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่จุดประสงค์ของการควบคุมตัวยังคงเป็นการให้หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง เอกชัยไม่ได้ร่วมเดินทางโดยสมัครใจเนื่องจากไม่มีเสรีภาพในการเลือก การเลือกว่าจะไปเที่ยวกาญจนบุรีหรือค่ายทหาร และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมตลอดเวลา ไม่อาจติดต่อสื่อสารบุคคลภายนอกได้โดยอิสระนั้น ไม่นับว่าเป็นทางเลือกหรือความยินยอม การกระทำดังกล่าวจึงถือได้ว่าละเมิดต่อเสรีภาพของประชาชน และวิธีการที่ใช้ก็ยังไม่มีฐานอำนาจใดทางกฎหมายมารองรับการกระทำของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

9. บทบาท กสทช. จอดำ และการพยายามควบคุมสื่อในยุค “ไทยแลนด์ 4.0”

ในรอบปีนี้การเซ็นเซอร์สื่อทั้งโทรทัศน์และออนไลน์ของ กสทช. อย่างการสั่งระงับการออกอากาศรายการโทรทัศน์ สั่งพักใบอนุญาตทีวีหรือเรียกสั้นๆ ว่า “จอดำ” และการติดตามปิด URLs จำนวนหลักพัน ดูจะกลายเป็นผลงานของ กสทช. ที่ปรากฏข่าวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

แม้แต่เมื่อ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็ยังมีข่าวการสั่งพักใบอนุญาตช่อง TV24 เป็นเวลา 30 วัน โดยให้เหตุผลว่ามีบางรายการที่นำเสนอข่าวไม่เป็นกลาง  ก่อนหน้านี้ กสทช. ยังเคยสั่งพักใบอนุญาตช่อง Peace TV เป็นเวลา 30 วัน และช่อง Voice TV เป็นเวลา 7 วัน และยังมีการใช้มาตรการสั่งระงับการออกอากาศเฉพาะบางรายการ เช่น  รายการ Daily Dose ของ Voice TV 7 วัน รายการสนธิญาณฟันธงตรงประเด็นของช่อง Spring News 1 เดือน การปรับช่อง Peace TV 50,000 บาท หรือกรณีสั่งสถานีวิทยุ Spring Radio งดออกอากาศ 5 วัน

จะเห็นได้ว่าสถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่นำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และมีภาพเป็นสถานีโทรทัศน์ของคนเสื้อแดง (จะมีแต่เพียงสถานีวิทยุสปริงเรดิโอ และสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์เช่นนี้) ในกรณีที่มีการชี้แจงสาเหตุที่ทำให้ถูกระงับ ก็พบว่าล้วนเป็นการนำเสนอข่าวหรือเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองหรือ คสช.

บางครั้งไม่ปรากฏว่าต้นเรื่องเป็นการร้องเรียนมาจากใครที่ไหน แต่หลายครั้ง “คณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเลขาธิการ คสช.” ก็เป็นชื่อที่ปรากฏบ่อยๆ ว่าเป็นผู้ชงเรื่องให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการต่อสถานีโทรทัศน์เหล่านี้

เดิมนั้น กสทช. เอง มีมาตรา 37 ใน พ.ร.บ.กสทช.ฯ ที่ให้อำนาจสั่งระงับทันทีหรือสั่งพักใบอนุญาตการออกอากาศสถานีที่ออกอากาศเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาช

แต่เมื่อ 14 ก.ค. 2559  คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ให้เนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นการขัดต่อตามมาตรา 37 ด้วย และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ยังสร้างสภาวะยกเว้นการรับผิดต่อการใช้อำนาจของ กสทช. เหมือนกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. ทำให้สถานีโทรทัศน์ที่ถูกสั่งระงับออกอากาศรายการหรือถูกพักใบอนุญาต ไม่สามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของ กสทช. ได้

นอกจากเรื่องการควบคุมการนำเสนอข่าวในโทรทัศน์แล้ว กสทช. ยังปรากฏบทบาทในฐานะผู้ประสานกับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย เช่น  Google, Facebook ให้มีการถอดหรือปิดกั้น URLs จำนวนหลักพัน ตามข่าวล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นทั้งหมด 3,726 URLs ทั้งนี้ รายงานข่าวไม่ได้ระบุกรอบเวลาชัดเจนว่าจำนวนนี้นับตั้งแต่เมื่อไหร่และรวมกับของเดือนใดบ้าง และก็ไม่อาจจะทราบได้ว่า URLs จำนวนดังกล่าวมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง จึงเข้าข่ายเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย

ส่วนข่าวใหญ่พอสมควรในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ทาง กสทช. ให้สัมภาษณ์เชิงข่มขู่ว่าจะปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เฟซบุ๊กและดำเนินคดีกับบริษัทเฟซบุ๊กที่อยู่ในประเทศไทยด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 หากไม่ถอดเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ที่มีจำนวน 131 URLs แต่สุดท้ายก็ไม่มีการปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กแต่อย่างใด และทางเฟซบุ๊กให้ข่าวว่าจะไม่มีการดำเนินการ หากไม่มีหมายศาล ภายหลังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงมีการส่งหมายศาลถึงผู้ให้บริการเหล่านี้

สุดท้ายในระยะยาว พ.ร.บ.กสทช.ฯ ฉบับ พ.ศ. 2560 ได้ทำให้ กสทช. มาอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ คสช. ก็ยังเข้ามามีบทบาทการคัดเลือกกรรมการในขั้นสุดท้ายผ่าน สนช. ได้ เนื่องจากกรรมการชุดปัจจุบันหมดวาระลงแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และอยู่ในสถานะรักษาการจนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่เข้ามา ต่อให้มีการเลือกตั้งแล้ว สมาชิกวุฒิสภาที่จะพิจารณาก็ยังมาจากการสรรหาโดย คสช. ได้อีกเช่นกัน

พอจะคาดหมายได้เลยว่า กสทช. จะมีบทบาทในการรับสนองนโยบายปิดกั้นแทรกแซงสื่อไปอีกนานหลังจากนี้

10. ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเจ้าปัญหา

ก่อนวันขึ้นปีใหม่ไทยหนึ่งวัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง การงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต ลงวันที่ 12 เม.ย. 2560 ระบุว่า

“ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไปงดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของบุคคลตามประกาศนี้บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ดังนี้

“1. นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 2. นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 3. Mr.Andrew Macgregor Marshall”

ประกาศดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เพราะทำให้เข้าใจว่า เพียงแค่กดติดตามบุคคลทั้งสามบนเฟซบุ๊กก็เป็นความผิดตามกฎหมาย ขณะที่แวดวงกฎหมายต่างก็งุนงงสับสน เพราะเป็นประกาศที่ออกมาโดยไม่มีฐานกฎหมายรองรับ อ้างแต่เพียงคำสั่งศาลลอย ๆ ซึ่งโดยปกติศาลอาญาจะมีอำนาจสั่ง ‘บล็อกเว็บ’ อยู่แล้ว แต่ไม่อาจสั่งห้ามติดตามบุคคลหนึ่งบุคคลใดบนเฟซบุ๊กได้ รวมถึงไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้การกดติดตาม หรือติดต่อบุคคลบนโลกออนไลน์เป็นความผิด ส่วนการเผยแพร่จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ต่อมาบีบีซีไทยรายงานว่า น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียง “การประชาสัมพันธ์ทั่วไป” เป็นความหวังดีที่ให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ‘อย่างถูกต้อง’ ใช้สติในการแชร์ข้อมูลข่าวสารไม่ให้เกิดผลกระทบในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่วนการแชร์หรือไลค์จะเป็นความผิดหรือไม่ ต้องดูที่เจตนาและวัตถุประสงค์ รวมทั้งตัวข้อมูลว่าเป็นข้อมูลใด มีผลกระทบ หรือผิดตามหมายศาลหรือไม่

ส่วนคมชัดลึกรายงานว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาปฏิเสธที่จะตอบว่า การกดติดตามบุคคลทั้งสามเป็นความผิดหรือไม่ เนื่องจากอยู่ในฐานะองค์กรศาล หากมีคดีเกิดขึ้นจะต้องเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี

กลายเป็นคำตอบจากเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งสร้างความคลุมเครือ ไม่แน่นอน ไม่ชัดเจนว่าทำแบบไหนจึงจะไม่ผิดกฎหมาย ขยายความหวาดกลัวต่อการรับข้อมูลข่าวสาร และจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนให้แคบอยู่เพียงแต่ที่รัฐเห็นว่า ‘ถูกต้อง’ เท่านั้น

X