รู้จักเครือข่าย People Go ให้มากขึ้น: จากคำประกาศทวงสิทธิความเป็นพลเมือง สู่เดินมิตรภาพ

รู้จักเครือข่าย People Go ให้มากขึ้น: จากคำประกาศทวงสิทธิความเป็นพลเมือง สู่เดินมิตรภาพ

จากกรณีเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้จัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” โดยเป็นกิจกรรมเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. ถึง 17 ก.พ.61 ท่ามกลางความพยายามปิดกั้นกิจกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่การปิดล้อมประตูมหาวิทยาลัยไม่ให้ผู้ทำกิจกรรมเดินออกไป การกล่าวอ้างถึงการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แม้ผู้จัดจะมีการแจ้งจัดกิจกรรมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้ว การตรวจค้นรถของทีมงาน การคุมตัวทีมสวัสดิการ 4 คน ไปสอบปากคำ และการติดตามถ่ายรูปกดดันใกล้ชิดตลอดการเดิน

ภายใต้กิจกรรมที่กำลังดำเนินไป ชวนย้อนทบทวนกันเพิ่มเติมสักนิดว่าเครือข่าย People Go ที่กำลังเดินมิตรภาพอยู่นี้เป็นใคร? ทำอะไรมาแล้วบ้าง? และกำลังก้าวเดินเพื่อสิ่งใด?

.

People Go เป็น “เครือข่าย” ไม่ใช่ “องค์กร”

People Go Network Forum ไม่ได้เป็นชื่อของกลุ่มหรือองค์กร แต่เป็นชื่อของ “เครือข่าย” (Network) ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรที่ทำงานในประเด็นต่างๆ หลากหลายกลุ่ม โดยจากการแถลงคำประกาศวาระประชาชนของเครือข่ายในช่วงปลายปี 2559 มีกลุ่มหรือองค์กรที่ร่วมลงชื่อจำนวน 109 กลุ่ม/องค์กร

เครือข่าย People Go ยังมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่ข้ามประเด็นปัญหา คือไม่ได้เป็นการรวมตัวในกลุ่ม/องค์กรที่ทำงานหรือได้รับผลกระทบเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือประเด็นเดียวโดยเฉพาะ แต่เกิดจากการกลุ่ม/องค์กรที่มีพื้นฐานการทำงานในหลายประเด็น อาทิเช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน การศึกษา สุขภาพ ที่ดินป่าไม้ สวัสดิการของรัฐ หรือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นเหมืองแร่ เขื่อน โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น แต่ทั้งหมดรวมตัวกันภายใต้ความเห็นเรื่องการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกัน

อีกทั้ง ในเชิงสถานะของกลุ่มบุคคล ยังมีกลุ่มคนหลากหลายที่เข้าร่วมเครือข่าย ทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา เกษตรกร แรงงาน คนทำงานพัฒนาเอกชนในประเด็นต่างๆ และชาวบ้านจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

.

ออกคำประกาศทวงสิทธิความเป็นพลเมือง 2560

เครือข่าย People Go เปิดตัวเป็นครั้งแรกในกิจกรรม “ก้าวไปด้วยกัน: ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2559 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในงานนี้เป็นการจัดงานร่วมกันของหลายกลุ่มองค์กร ต่างออกแบบกิจกรรมของตัวเองมารวมกัน ในลักษณะเป็น “ตลาดนัดความรู้ประชาชน” จึงมีทั้งกิจกรรมสภากาแฟ, นิทรรศการในประเด็นปัญหาต่างๆ, กิจกรรมเสวนาวิชาการในประเด็นการศึกษา ประเด็นพ.ร.บ.แร่ ประเด็นคนชายขอบ ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือประเด็นปัญหาประชาธิปไตย, งานเปิดตัวหนังสือ “ชาวนาการเมือง”, กิจกรรมเวิร์คช็อปเรื่องระบบรัฐสวัสดิการ หรือเรื่องระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการอ่านคำประกาศวาระประชาชน “People Go 2560” (ย้อนดูกำหนดการกิจกรรม)

.

.

ในคำประกาศลงวันที่ 11 ธ.ค.59 นี้ ระบุส่วนหนึ่งว่าเครือข่ายเห็นร่วมกันว่าทิศทางการบริหารประเทศของคสช. และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำลังดำเนินไป ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายวงกว้างขึ้น, การพัฒนาขาดความสมดุลระหว่างคน สังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มทำลายวัฒนธรรมคนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรชาวนาชาวประมงพื้นบ้าน ด้วยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพจำกัดพื้นที่การแสดงออก เอื้ออำนวยให้กลุ่มทุน  ทั้งยังสร้างระบบการศึกษาที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยการกระจายอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้การมีผู้แทนทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระที่ถูกอำนาจครอบงำ และไม่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งมีการทำประชามติที่คลุมเครือและการข่มขู่คุกคาม

ในคำประกาศนี้ ยังได้เสนอข้อเรียกร้อง ทั้งต่อประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ไว้ทั้งหมด 11 ข้อ อาทิ การเรียกร้องให้คืนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิเกษตรกร สิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประเทศให้กับประชาชน, ให้มีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเร็ว และจัดให้มีการกระจายอำนาจการปกครอง, ปฏิรูปสถาบันหลักของชาติ ทั้งสถาบันในกระบวนการยุติธรรม สถาบันการศึกษา ระบบราชการ และโดยเฉพาะสถาบันด้านความมั่นคง, เปลี่ยนแบบแผนและโครงสร้างการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นต้น

ดูคำแถลงฉบับเต็มใน ภาคประชาชนประกาศ ‘วาระประชาชน 2560’ เหนือยุทธศาสตร์ชาติ

.

สู่กิจกรรมเดินมิตรภาพ: เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต

“เรา…เดินเพื่อมิตรภาพ เพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย แต่กำลังเผชิญความทุกข์ยากในสิ่งเดียวกัน เพื่อไม่ให้คนรุ่นต่อไปกล่าวได้ว่าคนรุ่นเราเพิกเฉยต่อสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมือง”

กิจกรรม We Walk…เดินมิตรภาพในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้สโลแกน “เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต”  โดยเป็นกิจกรรมเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตร รวมทั้งหมดประมาณ 800,000 ก้าว จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตไปยังจังหวัดขอนแก่น โดยตั้งเป้าว่าในระหว่างทางจะมี “เพื่อน” เพิ่มขึ้นก้าวละ 1 คน

เครือข่ายประชาชนที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มาจาก  4 เครือข่ายหลัก ได้แก่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, เครือข่ายเกษตรกรรรมทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร, เครือข่ายทรัพยากรและสิทธิชุมชน และเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

แต่ละเครือข่ายดังกล่าวมีการทำงานในประเด็นปัญหาของตนเอง แต่คำประกาศในการทำกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ระบุถึงความตระหนัก ห่วงใย และวิตกกังวลร่วมกันในวิกฤตที่ประเทศกำลังประสบ  การเดินจึงมีขึ้นเพื่อทวงคืนสิทธิการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจในความเป็นไปของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ ได้สื่อสารต่อสาธารณะในประเด็นปัญหา ความไม่มั่นคงในชีวิต การถูกลิดรอนสิทธิการประกอบอาชีพ สิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร การถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง และที่สำคัญคือการถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ ​

คำประกาศระบุว่าการเดินเป็นการ “ยื่นมือไปสัมผัสเพื่อนผู้ทุกข์ยากระหว่างเส้นทาง เพื่อนผู้เป็นพลเมืองใส่ใจสังคม เพื่อนผู้ต้องการมีส่วนร่วมในความเป็นไปของปัญหาบ้านเมือง เพื่อนผู้ต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวต่อสังคม แต่ไม่เคยได้ปรากฏ ถูกทำให้กลายเป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน เพราะประเทศตกอยู่ในภาวะเผด็จการขึ้นมาปกครองบ้านเมือง” ​

.

อ่านเพิ่มเติม คำประกาศ People Go เดิน…มิตรภาพ 2561

ดูคำแถลงของแต่ละเครือข่าย ได้แก่ ถ้อยแถลงจากก้นบึ้งหัวใจของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ,แถลงการณ์ยืนยันการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ,  แถลงการณ์เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายแผนงานฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

.

.

ภายหลังเริ่มเดินออกจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ได้สำเร็จ จนเข้าสู่วันที่สาม ทางเครือข่ายได้จัดรูปแบบการเดินเป็นทีม ทีมละ 4 คน และจะมีการส่ง “ธง” ต่อให้ทีมอีก 4 คน ที่มารับช่วงเดินต่อไป ตามระยะทางที่กำหนด ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในลักษณะนี้ โดยผู้เดินแต่ละคนยังมาจากหลากหลายกลุ่มประเด็นปัญหา อาทิ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน เกษตรกร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำจังหวัดเลย ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองลิกไนต์จังหวัดลำปาง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินและโรงไฟฟ้าจังหวัดสงขลา เป็นต้น โดยระหว่างทางมีแผนจะจัดการพูดคุยสนทนาในประเด็นปัญหาต่างๆ ร่วมกันด้วย

น่าติดตามต่อไปว่าความพยายามออกเดินเพื่อ “สร้างมิตรภาพ” ในหลากหลายประเด็นคราวนี้ จะดำเนินไปถึงจังหวัดขอนแก่นหรือไม่ และ “อนาคต” ที่พวกเขาวาดหวังถึงจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

ขอบคุณภาพประกอบทั้งหมดจากเพจ People GO network

 

X