จับตาคดี ‘รินดา’ โพสต์ข่าว ‘ประยุทธ์’ โอนเงินหมื่นล้าน ศาลนัดฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้

พรุ่งนี้ (25 ม.ค.61) เวลา 9.00 น. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “รินดา” แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง ในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาในประเด็นข่าวลือเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาได้โอนเงินหลักหมื่นล้านไปยังธนาคารในสิงคโปร์

คดีนี้น่าจับตาทั้งในแง่ที่เธอถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 มาก่อน แต่ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมเห็นว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ไม่เข้าข่ายความผิดนี้ แต่กลับมีการสั่งฟ้องคดีที่ศาลอาญาใหม่ด้วยข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 แทน โดยที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นอนุมาตราใด อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ที่ถูกแก้ไขในปี 2560 ยังระบุชัดเจนว่าไม่ให้นำไปใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท และ “ผู้เสียหาย” คือพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา ก็ไม่ได้เป็นผู้มาแจ้งความด้วยตนเอง ขณะตัวจำเลยยืนยันถึงเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ

“ข่าวลือ” เรื่องพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาโอนเงินหมื่นล้าน

เหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2558 ในช่วงเวลาเดียวกับข่าวนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่กำลังเป็นประเด็น ยังปรากฏข่าวลือในโซเชียลมีเดียว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาได้โอนเงินหลักหมื่นล้านไปยังธนาคารในประเทศสิงคโปร์ จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ออกมาให้ข่าวปฏิเสธและกล่าวว่าข่าวลือดังกล่าวออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

9 ก.ค.2558 ปรากฏข่าวพล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการตำรวจปราบปราบกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ให้สัมภาษณ์ว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้มาตรา 44 ควบคุมตัวหญิงคนหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีไปเนื่องจากเกี่ยวข้องกับข่าวลือดังกล่าว และยังระบุอีกว่าไม่สามารถเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวได้ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการขอออกหมายจับต่อไป(อ่าน ที่นี่)

วันรุ่งขึ้น เธอถูกนำตัวไปแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงไอซีทีให้ข่าวว่าสืบทราบว่ามีการใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “รินดา พรศิริพิทักษ์” โพสต์ข่าวลือเรื่องดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.2558 แล้ว ในวันที่ 8 ก.ค. จึงดำเนินการจับกุมตัวรินดาไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 และทหารได้ส่งตัวต่อให้กับ บก.ปอท. ต่อเพื่อทำการสอบสวน(อ่าน ที่นี่)

ในการแถลงข่าว รินดากล่าวว่าข้อความที่ทำให้เธอถูกดำเนินคดีนั้น เธอไม่ได้เขียนขึ้นมาเอง แต่เป็นการคัดลอกมาจากข้อความในไลน์เท่านั้น เธอไม่ได้มีเจตนาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแก่ชาติบ้านเมือง เธอเพียงแค่เห็นตัวเองเป็นประชาชนคนหนึ่ง จึงมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม และพล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นบุคคลสาธารณะด้วย

รินดาถูกใช้ข้อกล่าวหาเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” มาดำเนินคดี ด้วยฐานความผิด “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 14 (2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 จากโพสต์ที่กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์และภรรยา หลังแถลงข่าวเธอถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารและไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยศาลให้เหตุผลว่าเป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ หากปล่อยตัวอาจจะเกิดอุปสรรคในการสอบสวน

จากทหารหลายคันรถบุกบ้าน ก่อนถูกนำตัวไปค่ายทหาร

ครอบครัวของรินดา (สงวนนามสกุล) ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2558 โดยระบุว่ารินดาถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ร่วมกับทหารที่มาในเครื่องแบบ จับกุมตัวไปตอนบ่ายของวัน ในสภาพบ้านถูกรื้อค้น คอมพิวเตอร์ กระเป๋าสตางค์ และทองหายไป ก่อนที่รินดาได้ติดต่อกลับมาว่าถูกทหารจับกุมตัวไป แต่ครอบครัวยังไม่ทราบเหตุผลที่ของการจับกุม

ในช่วงเย็นวันที่ 9 ก.ค.2558 ทางครอบครัวได้รับแจ้งอีกครั้งว่า รินดาถูกนำตัวไปที่ บก.ปอท. บริเวณศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะแล้ว ทนายความของศูนย์ทนายความฯ จึงติดตามไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ในชั้นนี้เธอให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์จริง แต่ทำไปเพราะเห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ

รินดา หรือ “หลิน” อายุ 46 ปี เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง ประกอบอาชีพขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทางออนไลน์ เริ่มสนใจติดตามการเมืองจากการพูดคุยกับสามี แต่เธอไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อน จนกระทั่งหลังสามีเสียชีวิตในปี 2555 จึงได้ไปร่วมกิจกรรมรำลึกวันสำคัญทางการเมืองต่างๆ และร่วมช่วยเหลือนักโทษการเมือง

หลินย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทหารเข้าจับกุมว่า หลังจากเธอไปเรียนเต้นรำและกลับถึงบ้านในตอนบ่ายเศษๆ มีเจ้าหน้าที่กว่า 10 นาย ทั้งทหารพร้อมอาวุธปืนยาวอย่างน้อย 4 นาย และตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่สวมแจ็กเก็ตดำที่เธอไม่ทราบสังกัด เข้ามายืนปิดทางเข้าออกบ้าน แล้วยืนล้อมเธอเอาไว้ ขณะยังมีเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณข้างนอกบ้านอีก แต่ไม่ทราบจำนวน เธอมาทราบจากเพื่อนบ้านภายหลังว่ามียังมีเจ้าหน้าที่เอารถทหารมาจอดปิดปากซอยอื่นๆ ในระแวกบ้านของเธออีกด้วย

เจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่มีใครแสดงตัว ไม่บอกชื่อ ยศ หรือสังกัด อีกทั้งไม่มีหมายค้น หมายจับ และไม่แจ้งข้อหาใดๆ เพียงแค่บอกว่ามาเรื่องที่เธอโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊ก แล้วเข้าค้นบ้านทันที ก่อนยึดอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของเธอไว้ นอกจากนั้น ยังเข้าใช้คอมพิวเตอร์ พร้อมเปิดเฟซบุ๊กของเธอ เพื่อให้ดูข้อความที่เธอโพสต์ เจ้าหน้าที่บอกกับเธอว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขามาที่นี่ และโพสต์นี้ยังผิดกฎหมายเป็นการหมิ่นประมาทและเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกด้วย

แต่หลินก็ไม่เข้าใจว่าจะเป็นความผิดได้อย่างไร เพราะเห็นว่าข้อความกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะอยู่แล้ว

การตรวจค้นใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวหลินขึ้นรถของทหาร แต่เธอไม่ยอมและแจ้งว่าหากเอาตัวเธอไป จะถือเป็น “การอุ้ม” เพราะจะไม่มีใครรู้เรื่องเลย เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้เธอติดต่อคนในครอบครัวได้หนึ่งคน เธอจึงโทรหาแฟนและเล่าสถานการณ์ให้ฟัง พร้อมฝากให้ช่วยดูแลลูกทั้งสองคน จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำตัวเธอไปขึ้นรถกระบะอีกคันที่จอดรออยู่แทน บนตัวถังรถนั้นไม่ได้มีเครื่องหมายแสดงหน่วยงานใดๆ หลินยังถูกปิดตาระหว่างเดินทาง ทำให้ไม่รู้ว่าถูกนำตัวไปที่ใด รู้สึกตัวอีกทีก็ถึงในค่ายทหารแล้ว
หลินถูกนำตัวเข้าไปในห้องคล้ายห้องประชุมในอาคารหลังหนึ่ง ที่มีเจ้าหน้าที่นั่งรออยู่แล้วนับสิบนาย เธอคิดว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร และมีเจ้าหน้าที่ไอซีทีรวมอยู่ด้วย แต่ก็ไม่มีใครแนะนำตัวเองว่ามีชื่อยศ หรือสังกัดอะไร เพียงแต่อ้างว่าการควบคุมตัวเธอเป็นไปตามอำนาจของมาตรา 44

ในการซักถามของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าเรื่องโพสต์ของหลินไม่ใช่เรื่องหลักที่เจ้าหน้าที่สนใจ แต่กลับเป็นการถามหาความเชื่อมโยงระหว่างเธอกับคนเสื้อแดงหรือแกนนำของกลุ่มต่างๆ และการเข้าเยี่ยมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเรือนจำ ซึ่งบางคนเธอก็รู้จักแต่ชื่อ ไม่เคยเจอตัว หรือเจอแต่ในที่ชุมนุมแล้วไปขอถ่ายภาพด้วยเท่านั้น ต่อมา ภาพเหล่านี้ได้ถูกเอามาประกอบการแถลงข่าวของตำรวจในการเชื่อมโยงว่าเธอเกี่ยวข้องกับใครหรือกลุ่มใดบ้าง

หลังการสอบสวน หลินถูกคุมตัวอยู่ภายในค่ายทหารหนึ่งคืน ก่อนที่ทหารจะนำตัวไปส่งให้พนักงานสอบสวน บก.ปอท.ในตอนเย็นของวันที่ 9 ก.ค.

2 ศาล ชี้คดีไม่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่น แต่เรื่องยังไม่จบ

คดีนี้ อัยการทหารได้ยื่นฟ้องต่อศาลทหารในฐานความผิดตามมาตรา 116 แต่ก่อนที่คดีจะเริ่มการพิจารณาในศาลทหาร ศาลทหารกลับเป็นผู้เห็นเองว่าคดีนี้เข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงได้ขอให้มีการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามมาตรา 10ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542

ต่อมาทั้งศาลทหาร(อ่าน ที่นี่) และศาลอาญา(อ่าน ที่นี่) มีความเห็นตรงกันว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดในฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 แต่เป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 เท่านั้น จึงอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบเนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

หากในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาท บุคคลที่ได้รับความเสียหายต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง แต่ในคดีนี้ ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างในสเตตัสเฟซบุ๊กของหลินทั้งสองคน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์และภรรยา ก็ไม่มีใครมาเป็นผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีเอง

หากต่อมา พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ส่งสำนวนเดิม พร้อมมีความเห็นสั่งฟ้องข้อหาเดียว ตามมาตรา 14 ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้อัยการในศาลพลเรือน ก่อนที่อัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าสเตตัสเฟซบุ๊กนี้เป็นความผิดตามอนุมาตราใดจาก (1)-(4) ของมาตรา 14 ซึ่งมีนัยยะที่แตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากอาจจะเป็นความผิดทั้งกับปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” ก็ได้ รวมทั้งตามเจตนารมณ์ของมาตรา 14 นี้ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่อย่างใด หากการสั่งฟ้องเช่นนี้ ก็ทำให้หลินต้องกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีอีกครั้ง (อ่าน ที่นี่)

เอกสารผลการสืบสวนอ้างการดำเนินคดีนี้ เป็นการป้องปรามบุคคลที่มีแนวคิด “ต่อต้าน คสช.”

หลังจากวันแรกที่หลินถูกจับกุม จนกระทั่งการสืบพยานสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2560 เป็นเวลาทั้งหมด 2 ปี 5 เดือน ในคดีมีพยานเพียงไม่กี่คน การสืบพยานจึงเสร็จสิ้นภายในสองวันตามกำหนด และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ม.ค.ที่จะถึงนี้

ในการสืบพยานคดีนี้ แม้ว่าศาลจะไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาคดีลับ แต่ก็ได้สั่งห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างพยานเบิกความต่อศาล

พยานที่มาเบิกความในคดีนี้มีทั้งหมด 5 ปาก พยานฝ่ายโจทก์เป็นตำรวจ บก.ปอท. 3 ปาก ได้แก่ ผู้ทำการสืบสวนคดี ผู้จับกุม และผู้สอบสวนพยานในคดี ส่วนพยานฝ่ายจำเลยมีเพียง 2 ปาก ได้แก่ ตัวหลินเอง และสาวตรี สุขศรี อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลินเบิกความต่อศาลว่าตนเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง เธอเห็นข้อความดังกล่าวถูกส่งต่อกันทางไลน์ และเป็นข่าวการเมืองโดยทั่วๆ ไป ซึ่งหัวข้อและเนื้อหาของข่าวพาดพิงถึงพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีและภรรยาในทางลบ แต่ตนก็ไม่ได้อ่านละเอียด จนกระทั่งถูกจับกุมแล้วเจ้าหน้าที่ทหารนำมาให้อ่านอีกครั้ง

ร.ต.อ.พงศกร ตันอารีย์ สารวัตร กอง 2 บก.ปอท. ผู้สืบสวนคดี ระบุว่าเขาตรวจพบสเตตัสเฟซบุ๊กของหลินที่ตั้งการเผยแพร่เป็นสาธารณะ (Public) ในวันที่ 7 ก.ค. 2558 ซึ่งข้อความดังกล่าวโพสต์เอาไว้ก่อนตรวจพบหนึ่งวัน

เขาเบิกความว่าข้อความในสเตตัสของหลินเป็นข้อความเท็จ ทำให้ผู้อื่นตระหนกตกใจ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จากนั้นตนจึงนำชื่อและภาพถ่ายจากเฟซบุ๊กไปเทียบกับทะเบียนราษฎร์ จนทราบตัวตนและที่อยู่ และยังพบอีกว่าหลินมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง เมื่อตรวจสอบแล้วจึงเดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่กอง 2 บก.ปอท. ในวันที่ 8 ก.ค.2558 ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งว่าศาลทหารได้ออกหมายจับในวันที่ 9 ก.ค. และยังได้รับแจ้งจาก มทบ.11 ว่าได้จับกุมตัวหลินเอาไว้แล้ว พยานจึงเดินทางไปรับตัวผู้ต้องหามา

พยานยังตอบคำถามทนายจำเลยว่า จากการสืบสวนเขาเองไม่ทราบว่าการโพสต์ดังกล่าว หลินเป็นคนโพสต์เองจริงๆ หรือไม่ แต่เป็นการโพสต์ด้วยชื่อบัญชีเฟซบุ๊กของรินดา และพยานตรวจสอบแล้ว เชื่อว่าผู้เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กนี้คือหลิน

ทนายความได้ถามในประเด็นการตีความเนื้อหาของสเตตัสดังกล่าว ร.ต.อ.พงศกรตอบว่าในส่วนของการตีความคำว่าทรัพย์สินในสเตตัสนี้ อาจตีความหมายถึงทรัพย์สินส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีและครอบครัวก็ได้ หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินก็ได้

ทนายความยังได้นำชุดเอกสาร “ผลการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งเป็นประมวลผลการสืบสวนเกี่ยวกับการข่าวลือเรื่องดังกล่าวนี้มาถามร.ต.อ.พงศกร ในเอกสารมีการกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับหลินว่าเป็น “เป้าหมาย” และการดำเนินการกับเธอจึงเป็น “การป้องปรามบุคคลที่มีแนวคิดต่อต้านคสช. และนายกรัฐมนตรีโดยตรง” เพื่อลดระดับแนวร่วม และน่าจะส่งผลให้ “เกิดความเกรงกลัวในการเผยแพร่ข้อความที่ไม่เหมาะสม” ในเอกสารดังกล่าวยังมีภาพถ่ายที่หลินถ่ายกับแกนนำกลุ่ม นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นกลุ่มย่อยต่างๆ แต่ในเอกสารไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลินเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นอย่างไร

ร.ต.อ.พงศกร กลับตอบในประเด็นเกี่ยวกับเอกสารฉบับนี้ว่าตนไม่ได้เป็นผู้จัดทำ และยังไม่มีการระบุหน่วยงานหรือบุคคลที่จัดทำเอกสารด้วย และเอกสารชุดดังกล่าวใครจะเป็นผู้จัดทำ เขาก็ไม่ทราบ แต่เขาเป็นผู้นำส่งต่อให้กับพนักงานสอบสวนเอง แต่ภายหลังเขารับว่าเป็นผู้จัดทำเมื่ออัยการฝ่ายโจทก์ถามติง

พนักงานสอบสวนระบุพล.อ.ประยุทธ์และภรรยา ไม่เคยมาแจ้งความในคดีนี้

พยานสำคัญของฝ่ายโจทก์อีกปาก คือ ร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ ศรีสุโพธิ์ เป็นพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ผู้รับแจ้งความ และเป็นผู้ขอให้ศาลออกหมายจับ และเป็นผู้รับตัวผู้ต้องหามาสอบสวน เขาเบิกความว่าตอนที่ ร.ต.อ.พงศกรมาแจ้งความได้นำเอกสาร “ผลการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง” มามอบให้กับพยาน เมื่อร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ ได้รับแจ้งความแล้ว เขาจึงไปขอให้ศาลทหารออกหมายจับในวันที่ 9 ก.ค. เมื่อศาลออกหมายจับแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงดำเนินการเข้าจับกุมที่บ้านพักของน.ส.รินดา จากนั้นเขาได้รับตัวหลินในเวลา 17.30 น.ของวันเดียวกัน

ทั้งนี้ จะเห็นว่าคำให้การของเขานั้นขัดแย้งกับเรื่องที่เกิดขึ้นคือหลินถูกเจ้าหน้าที่ทหารร่วมกับตำรวจเข้าจับกุมตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. ก่อนที่ร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ จะไปขอให้ศาลทหารออกหมายจับ

ร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ เบิกความว่าในการสอบปากคำ หลินได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา หลังจากนั้นเขายังได้สอบสวนนายพงศธร วรรณสุคนธ์ จากกระทรวงไอซีที นายพงศธรระบุว่าข้อความดังกล่าวโพสต์โดยบัญชีเฟซบุ๊ก “รินดา” และร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ยังสอบสวนพนักงานธนาคารกสิกรไทย ซึ่งทำการตรวจสอบข้อมูลบัญชีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและภรรยา ไม่พบว่ามีการเปิดบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทย

ภายหลังการสอบสวนเขาจึงได้ทำความเห็นสั่งฟ้องต่ออัยการศาลทหาร เนื่องจากความผิดตามมาตรา 116 ถูกประกาศให้ศาลทหารพิจารณาคดี แต่ภายหลังอัยการทหารได้แจ้งให้ตนไปรับสำนวนกลับ เพื่อฟ้องศาลยุติธรรมต่อไป เนื่องจากศาลทหารเห็นว่าข้อความไม่มีเนื้อหาในเชิงปลุกระดม ซึ่งจะเป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่เป็นเพียงการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 เป็นความผิดในฐานหมิ่นประมาท จากนั้น พยานจึงได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อสั่งฟ้องหลินต่อศาลยุติธรรมต่อไป

ร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ตอบคำถามทนายความเกี่ยวกับชุดเอกสาร “ผลการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง” ที่ได้รับมอบมาจาก ร.ต.อ.พงศกร ว่าเอกสารชุดนี้เป็นลักษณะรายงานต่อผู้บังคับบัญชา เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่สืบสวนมาได้เท่านั้น ไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนข้อความในเอกสาร และเอกสารชุดนี้ยังไม่เกี่ยวกับการกล่าวหาหรือการแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้อีกด้วย

ทนายความยังถามร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ ในประเด็นเกี่ยวกับข้อความที่ระบุว่าให้คนไทยทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับการเงินการธนาคารร่วมกันตรวจสอบในประเด็นที่กล่าวถึงการโอนเงินของพล.อ.ประยุทธ์และภรรยา นั้น เป็นการขอให้ช่วยกันตรวจสอบ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าเกิดการโอนเงินจริงๆ แต่ร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ก็ได้เบิกความว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนสามารถติชมหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของนายกรัฐมนตรีได้

ร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ตอบทนายความอีกว่าทั้งพล.อ.ประยุทธ์และภรรยา ไม่ได้เข้ามาแจ้งความ อีกทั้งตนก็ไม่เคยเรียกทั้งสองคนมาสอบถามข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำตามข้อความดังกล่าวหรือไม่

ร.ต.อ.ปัสสิทธิ์ตอบทนายความในการทำความเห็นสั่งฟ้อง เขาได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้วจึงสั่งฟ้อง เพราะเห็นว่าหากมีการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว จะทำให้ประชาชนตระหนกตกใจ และทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ที่คิดว่าข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ซึ่งจะกระทบความมั่นคง แต่ไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยโพสต์เพื่อต่อต้านรัฐบาลหรือพล.อ.ประยุทธ์

นอกจากพยานที่เบิกความในข้อเท็จจริงของคดีแล้ว ทางฝ่ายจำเลยยังมี สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความในประเด็นทางกฎหมาย โดยสาวตรีกล่าวถึงตัวกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับปี 2550 ที่ถูกนำมาใช้ในคดีนี้ ว่าได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ในปี 2560 แล้ว โดยยกเลิกความในมาตรา 14 เดิม และแก้ไขอนุมาตรา 2 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่ององค์ประกอบความผิด เพื่อจำกัดการตีความของบทบัญญัติอนุมาตราดังกล่าว ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับอนุมาตราอื่น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และการบังคับใช้กฎหมายยังต้องใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันด้วย

จากข้อเท็จจริงในศาล สู่ข้อสังเกตในคดี

ข้อความในสเตตัสของหลินไม่เข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา สามารถเห็นได้จากเนื้อหาของข้อความที่กล่าวถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาเท่านั้น และเป็นเพียงข่าวลือที่เกี่ยวกับการโอนเงินจำนวนมากไปยังต่างประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นการเรียกร้องให้ช่วยกันตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ฝ่ายอัยการซึ่งเป็นโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความดังกล่าวจะกระทบความมั่นคงอย่างไร

จากคำให้การของร.ต.อ.พงศกร ผู้ที่ทำการสืบสวนคดีและเป็นผู้กล่าวหาหลินก็ยังเบิกความว่า “ทรัพย์สิน” ที่ถูกกล่าวถึงในสเตตัสยังสามารถตีความได้ทั้งเป็นทรัพย์สิน “ส่วนตัว” หรือ “ของแผ่นดิน” และยังยืนยันด้วยคำวินิจฉัยของศาลทหารและศาลอาญาที่ได้ระบุว่าข้อความดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 แต่เป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทเท่านั้น

แต่เมื่อเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงต้องมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ หากก็ปรากฏว่า ไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีจากทั้งตัวพล.อ.ประยุทธ์และภรรยา แต่อย่างใด

อีกทั้ง ทางฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบได้ว่าการโอนเงินของพล.อ.ประยุทธ์และภรรยา เกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ เพราะในข้อความที่หลินโพสต์ไม่ได้กล่าวถึงเพียงบัญชีส่วนตัวของคนทั้งสอง แต่ยังได้กล่าวถึงบัญชีที่ทั้งสองคนอาจจะให้บุคคลอื่นไปเปิดบัญชีแทนด้วย แต่จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทยมีเพียงว่าทั้งสองคนไม่ได้เปิดบัญชีกับทางธนาคารเท่านั้น แต่ไม่ได้มีข้อมูลบัญชีของคนอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับพล.อ.ประยุทธ์และภรรยาหรือไม่ และระยะเวลาที่ทำการตรวจสอบก็มีเพียงแค่ตั้งแต่วันที่ 5-16 มิ.ย. 2558 เท่านั้น แต่ไม่มีข้อมูลในช่วงก่อนและหลังช่วงเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่มีอยู่จึงยังไม่พอจะกล่าวได้ว่าข้อความในสเตตัสของหลินเป็นเท็จหรือไม่

หลินเองได้ยืนยันว่าการกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบบุคคลสาธารณะโดยสุจริต ไม่ได้ตั้งใจจะกระทำความผิดหรือต้องการให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือสาธารณะ อีกทั้งเธอก็ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกด้วย โดยที่การตรวจสอบการเคลื่อนย้ายเงินในลักษณะดังกล่าวที่ปรากฏในข่าวลือก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่เธอจะทำได้

สิ่งที่น่ากล่าวถึงอีกประการหนึ่ง คือชุดเอกสาร “ผลการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง” ที่ตำรวจนำมาประกอบสำนวนคดีนี้ แม้ว่าในการเบิกความของพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจจะบอกว่าไม่ได้นำมาพิจารณาในการแจ้งความ แต่ข้อมูลลักษณะนี้กลับไปปรากฏในการแถลงข่าวการจับกุม พร้อมผังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างหลินกับแกนนำกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ในชุดเอกสารก็ไม่ได้มีเนื้อหาว่าหลินไปเกี่ยวกับบุคคลเหล่านั้นเพราะอะไร อย่างไร เมื่อไร และที่ไหน นอกจากมีเพียงภาพถ่ายที่หลินถูกถ่ายคู่กับบุคคลที่มีการอ้างถึงในเอกสาร ทั้งนี้หลินก็ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าเป็นเพียงภาพที่ถ่ายตามกิจกรรมหรือที่ชุมนุมเท่านั้น

แม้ว่าถึงที่สุดเอกสารชุดดังกล่าว “อาจจะ” ไม่ถูกองค์คณะผู้พิพากษานำมาพิจารณาพิพากษาในคดีนี้ แต่เนื้อหาความเชื่อมโยงดังกล่าวก็ได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนแล้วในการแถลงข่าว โดยที่ไม่มีข้อเท็จจริงว่าหลินมีความเกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายกับบรรดาแกนนำกลุ่มต่างๆ อย่างไร

นอกจากนั้น ระหว่างที่คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด ในเดือนพฤษภาคม 2560 ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของกฎหมายฉบับนี้ โดยมีการแก้ไขเพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า มาตรานี้ใช้กับการฉ้อโกง ปลอมแปลง หรือหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ และไม่ให้นำไปใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่มีระบุไว้อยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากข้อหาหมิ่นประมาทเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ แต่หากกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะยอมความไม่ได้ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี

ในคดีของหลินได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยฉบับปี 2550 เอาไว้โดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนอีกด้วยว่าเป็นอนุมาตราใด หากเป็นตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ของกฎหมายฉบับเดิม ก็จะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดในฉบับ 2560 และศาลทหารและศาลอาญาได้เคยวินิจฉัยแล้วว่าข้อความในสเตตัสของหลินไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 แต่เป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาท ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 (2) ด้วย (อ่านประเด็นการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาดำเนินคดีหลังรัฐประหารได้ ที่นี่)

X