ตร.ชี้ ปราศรัยค้านการประชุม อบต. ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

 

พยานโจทก์ตำรวจชี้การชุมนุมไม่มีการขู่ทำร้ายสมาชิก อบต.เขาหลวง แต่การชูป้าย ปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประชุมของสภา อบต. ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้านทนายจำเลยชี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 61 ศาลจังหวัดเลยนัดสืบพยานโจทก์ในคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข่มขืนจิตใจ ซึ่งมี 7 แม่หญิง สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้แก่ นางพรทิพย์ หงชัย, นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์, นางมล คุณนา, นางระนอง กองแสน, นางสุพัฒน์ คุณนา, นางบุญแรง ศรีทอง, และนางลำเพลิน เรืองฤทธิ์ เป็นจำเลย โดยพนักงานอัยการจังหวัดเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหา ชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 8, 10 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 เป็นคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 2858/2560 (อ่านคำฟ้องที่นี่)

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 59 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดราว 150 คน เดินทางเข้าร่วมรับฟังการประชุมสภา อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตามคำเชิญของประธานสภาฯ เพื่อติดตามการประชุมสภาฯ ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตเพื่อขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด การประชุมในครั้งนั้น ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำยังไม่ถูกแก้ไขและเยียวยา ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2559 จำเลยทั้ง 7 คน ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาข่มขืนใจผู้อื่นฯ โดยมีสมาชิก อบต.เขาหลวง 16 คน เป็นผู้เข้าร้องทุกข์ และนางพรทิพย์ถูกแจ้งข้อหา จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดย พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง เป็นผู้กล่าวโทษ ต่อมา มีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 7 เพิ่มเติม  ในข้อหาชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ

ก่อนการสืบพยานโจทก์ในวันแรก สมาชิก อบต.เขาหลวง 16 คน ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวด้วย โจทก์แถลงคัดค้านการเข้าเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ไม่คัดค้านในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ ศาลพิเคราะห์เห็นว่า มูลเหตุแห่งคดีนี้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ อบต.เขาหลวง โดยผู้ร้องที่ 1, 2, 4, 5, 6 และ 7 เป็นสมาชิก อบต.เขาหลวง ที่ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมประชุม ซึ่งโจทก์มีพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนสนับสนุน จึงอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งหกคนดังกล่าวเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการเฉพาะในข้อหาข่มขืนจิตใจผู้อื่นฯ ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นความผิดทางอาญาซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ร้องทั้ง 16 คน เป็นโจทก์ร่วมได้

 

ในวันแรกของการสืบพยานโจทก์ โจทก์นำพยานเข้าสืบ 6 ปาก ได้แก่ นายศักดิ์โชติ เรียนยศ, นายนิกร ศรีโนนสุข, นายแตง ตองหว้าน, นายสุรศักดิ์ ดวงจำปา, นายวีระพล กัตติยะ และนายวัชรพงษ์ บัวบานบุตร ซึ่งทั้งหกเป็นโจทก์ร่วม และเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ พยานโจทก์ทั้งหกคนเบิกความคล้ายกันว่า ผู้ที่มาชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้มีการข่มขู่คุกคาม เพียงแต่การประชุมก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ชุลมุนในห้องประชุม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สมาชิกสภา อบต.หวาดกลัวและไม่กล้าขึ้นไปประชุม นายวัชรพงษ์ เบิกความด้วยว่า นางพรทิพย์ จำเลยที่ 1 ได้พูดจาข่มขู่ในขณะยืนปราศรัยว่า ถ้าใครขึ้นไปประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัย จึงเกรงว่าจะถูกทำร้ายหากขึ้นไปประชุม

ทั้งนี้ สมาชิก อบต.ซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมทั้ง 6 คน มีทนายความ ซึ่งตอบคำถามศาลว่า เป็นทนายความของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำหน้าที่เป็นทนายให้ โดยก่อนหน้านี้ทนายของบริษัทฯ เคยเป็นทนายให้กับ 16 สมาชิก อบต.เขาหลวง ที่ยื่นฟ้อง 6 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ในคดีข่มขืนใจและทำร้ายร่างกาย จากกรณีที่เกิดความวุ่นวายในการประชุมสภา อบต. ในวาระพิจารณาต่ออายุการขอใช้พื้นที่ป่าไม้-ส.ป.ก.เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 และคดีที่บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้าน 50 ล้านบาท กรณีการทำป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” ที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย “ปิดเหมืองฟื้นฟู” ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน

ส่วนการสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 ก.พ. 61  พยานโจทก์รวม 3 ปาก เข้าเบิกความ ได้แก่ พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวังสะพุง (สภ.วังสะพุง), พ.ต.ท.ยศพนธ์ วันทองสังข์ สารวัตรป้องกันปราบปราม สภ.วังสะพุง, และ ร.ต.อ.วสันต์ แสงโทโพธิ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.วังสะพุง โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสามให้การโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุซึ่งชาวบ้านไปร่วมรับฟังการประชุมสภา อบต.เขาหลวงนั้น ได้มีการชูป้าย ปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประชุม ถือเป็นการชุมนุม และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ไม่แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยืนยันว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงหรือไม่ได้มีการขู่ทำร้ายสมาชิก อบต. และไม่ได้มีการข่มขืนจิตใจสมาชิก อบต.แต่อย่างใด เนื่องจากเจ้าหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์ตลอดเวลา

หลังเสร็จการสืบพยานโจทก์ ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี หนึ่งในทีมทนายจำเลยจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ความเห็นต่อคดีนี้ว่า ชาวบ้านมาร่วมรับฟังการประชุมสภา อบต.เขาหลวง ตามคำเชิญของสภา อบต. ซึ่งเป็นกระบวนการที่จัดขึ้น โดยจุดมุ่งหมายของหน่วยงานรัฐที่ต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเห็นว่า การที่ชาวบ้านเรียกร้องให้สภา อบต. ยุติการประชุมเพื่อไม่ให้มีการอนุมัติการขอต่อใบอนุญาตในช่วงนี้เป็นการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องถูกดำเนินคดี ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ทำให้ผู้คนหวาดกลัวที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น แม้แต่ในกรณีที่ตนเองมีส่วนได้เสีย เช่นกรณีของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกรณีนี้

ส่วนบรรยากาศการสืบพยานโจทก์ของทั้งสองวันมีชาวบ้านสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดประมาณ 40 ราย เดินทางมาให้กำลังใจจำเลยทั้ง 7 คน และเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี นอกจากนี้ มีเจ้าหน้าที่จากโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศ (CIEE: Council on International Educational Exchange), โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย โดยภายหลังพยานโจทก์เข้าเบิกความได้ 3 ปาก ศาลได้สั่งห้ามผู้สังเกตการณ์คดีจดบันทึก วันต่อมา เจ้าหน้าที่จาก ilaw ได้แถลงต่อศาลว่า ทาง ilaw ได้ติดตามและสังเกตการณ์คดีที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงอยากจะขอจดบันทึกการสืบพยาน เนื่องจากว่าการนั่งฟังอย่างเดียวอาจจะทำให้การบันทึกคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์บันทึก โดยให้เหตุผลว่า ศาลมีการบันทึกคำให้การพยานอยู่แล้ว

 

บันทึกคำให้การพยานโจทก์โดยสรุป

พยานโจทก์ปากที่ 1 นายศักดิ์โชติ เรียนยศ อายุ 45 ปี  เริ่มทำงานที่ อบต.เขาหลวง ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันยัง ดำรงตำแหน่งอยู่ตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. และเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 59 มีการจัดประชุมสภา อบต.เขาหลวง โดยบริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นเรื่องมาทาง อบต.เขาหลวงให้จัดประชุมไปตามญัตติเรื่องการขอต่ออายุหนังสือขออนุญาตให้เข้าทำเหมืองแร่ทองคำ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโคกภูเหล็ก ในวันดังกล่าวพยานไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 08.30 น. แต่พยานเข้าไปไม่ได้เพราะชาวบ้านได้ปิดล้อมสำนักงาน มีคนประมาณ 100 กว่าคน โดยนั่งตั้งแต่บันไดทางขึ้นห้องประชุม มีการกางเต็นท์และมีการปราศรัยโดยมีการพูดและการแสดงความคิดเห็น มีการใช้โทรโข่งและมีการนำชาวบ้านมา นางพรทิพย์ หงษ์ชัย และนางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ เป็นคนผลัดกันพูดเพื่อไม่ให้สมาชิก อบต. ขึ้นไปบนอาคาร ในวันดังกล่าวสมาชิก อบต.เขาหลวงไปประชุมทุกคนแต่เข้าประชุมไม่ได้ เหตุที่พยานไม่กล้าเดินฝ่าขึ้นไปประชุม เนื่องจากกลัวว่าชาวบ้านจะทำร้าย จากนั้น พยานจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ทางขึ้นอาคารมีทางเดียว พยานไม่แน่ใจว่านางพรทิพย์คือคนไหนเพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว และพยานไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

พยานโจทก์ปากที่ 2 นายนิกร ศรีโนนสุข อายุ 44 ปี เริ่มเข้ารับตำแหน่งสมชิก อบต.เข้าหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน ในวันดังกล่าว 16 พ.ย. 59 จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการต่อใบอนุญาตการขอใช้พื้นที่ป่าและพื้นที่ สปก. เพื่อทำประโยชน์จำนวน 4 แปลง ของบริษัท ทุ่งคํา จํากัด ในวันดังกล่าว พยานเดินทางมาถึงที่ประชุมเวลาประมาณ 08.00 น . ซึ่งห้องประชุมดังกล่าวเป็นตึก 2 ชั้น มีทางขึ้นทางเดียว พยานเห็นประชาชนประมาณ 100 กว่าคน มาทำอะไรไม่ทราบ  พยานไปถามประธานสภาฯ ทราบว่าชาวบ้านไม่ให้ขึ้นไปประชุม พยานเห็นชาวบ้านนั่งอยู่เยอะจึงกลัวจะถูกทำร้าย ซึ่งจากครั้งก่อนเจ้าหน้าที่ก็ถูกทำร้าย ส่วนคนในภาพคือนางพรทิพย์เป็นคนพูดว่า ไม่ให้สมาชิก อบต. ขึ้นไปประชุม และจำเลยที่ 2-4 ก็พูดเช่นกัน ส่วนจำเลยที่ 5-7 พยานไม่ได้เข้าไปดูและจำไม่ได้ว่า เขาทำอะไร จำได้แต่นางพรทิพย์ จำเลยที่ 1 คนเดียว ในวันดังกล่าวพยานได้รอการประชุมถึง 10.00 น. ก็เดินทางกลับเพราะไม่ได้เข้าประชุม จากนั้น ได้ลงชื่อมอบอำนาจให้นายศักดิ์โชติ เรียนยศ เป็นผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี รายละเอียดปรากฏในคำให้การในชั้นสอบสวน พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

พยานโจทก์ปากที่ 3 นายแตง ตองหว้าน อายุ 50 ปี เริ่มเข้ารับตำแหน่งสมาชิก อบต.เขาหลวง ตั้งแต่เมื่อไหร่จำไม่ได้ แต่ปัจจุบันยังทำงานอยู่ มีหน้าที่พิจารณาแผนพัฒนาและงบประมาณ ในวันดังกล่าวมีการพิจารณาหนังสือความเห็นชอบต่ออายุการเข้าไปทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ป่าและพื้นที่ สปก.ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และในวันดังกล่าว พยานแต่งชุดสีกากี เดินทางไปถึงสถานที่ประชุม เวลา 08.00 น เห็นชาวบ้านนั่งปิดบันไดทางขึ้น ไม่ให้ขึ้นไปประชุมและเห็นนางพรทิพย์พูดว่าไม่ให้ประชุม ส่วนคนอื่นพยานจำไม่ได้ พยานไม่กล้าขอเข้าไปประชุมเพราะว่ากลัว เนื่องจากการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเคยขึ้นไปขว้างเก้าอี้และขวดน้ำในห้องประชุม การประชุมในครั้งนี้ พยานไม่ได้เข้าประชุม และกลับบ้านเวลาประมาณ 10.00 น. พยานจำได้แต่เพียงนางพรทิพย์คนเดียวเนื่องจากเวลาผ่านมานานแล้ว  แต่ในตอนที่ไปให้การกับตำรวจจำได้ว่าจำเลยทั้ง 7 เป็นใครบ้าง

ในการตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความตรงกันว่า พยานทราบว่า การประชุมสภา อบต. เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการประชุมสภาท้องถิ่น  ประธานสภาฯ จะต้องแจ้งให้คนในชุมชนทราบและจะต้องจัดที่ให้ประชาชนด้วยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ปกติแล้วประธานสภาฯ ก็จะทำหนังสือไปให้ผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการประชุม และทุกครั้งก็จะทำอย่างนั้น นอกจากจะส่งเอกสารไปให้ชาวบ้านแล้วก็ต้องส่งเอกสารไปเชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งบริษัททุ่งคำและชาวบ้านที่รับผลกระทบ เช่น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด้วย

พยานยังตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า ในส่วนของการประชุมเพื่อพิจารณาคำขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าและพื้นที่ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ก่อนหน้านั้นได้มีการประชุมหลายครั้งแล้ว แต่ละครั้งก็จะมีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เหมืองมาร่วมรับฟังการประชุมด้วย ซึ่งหากมีจำนวนมากไม่สามารถเข้าไปร่วมรับฟังในห้องประชุมได้ก็จะมีการเตรียมสถานที่ด้านนอกไว้ให้นั่ง และต่อลำโพงให้สามารถรับฟังการประชุมจากด้านนอกได้ ทั้งนี้ อาคารที่ใช้ในการประชุมในวันดังกล่าวไม่ใช่อาคารที่ใช้ในการติดต่อราชการ ในวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยืนปะปนกับประชาชน ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านปราศรัย ก็พูดแต่เพียงว่า ที่มาวันนี้ก็เพื่อไม่ให้มีการพิจารณาลงมติให้อนุญาตใช้พื้นที่ป่าและพื้นที่  สปก. ทำเหมืองทองคำ และขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายใครแต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 สมาชิกหญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดพร้อมสู้คดี หลังอัยการยื่นฟ้อง พรบ.ชุมนุมฯ

ตร.เห็นควรฟ้อง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เหตุ อบต. เชิญไปฟังเรื่องเหมืองทอง จ.เลย

 

X