วาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปริมาณคดีเสรีภาพพุ่งแรง

วาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปริมาณคดีเสรีภาพพุ่งแรง

79 วัน 74 ผู้ต้องหา 11 คดีเสรีภาพ

ดูเหมือนว่าสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2561 นี้ จะไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ แม้ทางรัฐบาลทหารจะเพิ่งประกาศให้เรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เป็นวาระแห่งชาติเมื่อ 21 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมาก็ตาม

นับตั้งแต่วันนั้นกระทั่งขึ้นต้นปี 2561ได้เดือนเศษ คสช.มีการแจ้งความดำเนินคดีจากการที่ประชาชนออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกแล้วอย่างน้อย 11 คดี มีผู้ต้องหารวมแล้ว 74 คน เฉลี่ยเกือบๆ วันละคน หรือประมาณสัปดาห์ละคดี สถานการณ์การดำเนินคดีต่อประชาชนเช่นนี้ ดูจะสะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลทหารไปด้วยในเวลาเดียวกัน

รายงานชิ้นนี้ รวบรวมคดีที่เกิดขึ้นใหม่ตั้งแต่ 21 พ.ย. 2560 และความคืบหน้า จนถึง ณ วันที่ 7 ก.พ. 2561 บางกรณียังเกิดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก เช่น กรณีคดี “MBK39” อาจจะมีตามมาอีก 66 คน หากเป็นตามที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไว้

112 คดีแรกของปี 2561 จากเหตุแชร์ข่าวพระราชประวัติ ร.10 จากบีบีซี

หลังจากปลายปี 2559 ที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์รายงานข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากบีบีซีภาคภาษาไทย เพียงรายเดียว แล้วก็ไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับคนที่ไปกดไลค์กดแชร์ข่าวดังกล่าวอีก

เวลาผ่านมาราวปีเศษ วันที่ 28 ม.ค.61 ปรากฏข่าวการลี้ภัยออกนอกประเทศของ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ “การ์ตูน” นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เพราะวันที่ 16 ม.ค. เธอเพิ่งได้รับหมายเรียกจาก สน.คันนายาว ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากสาเหตุเดียวกับ “ไผ่” กรณีการ์ตูนจึงนับเป็นรายที่ 2 (อย่างน้อยที่ปรากฏเป็นข่าว) ที่ถูกดำเนินคดีจากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10

การ์ตูนเล่าไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารชื่อ “สมบัติ ด่างทา” (ไม่ทราบยศ) เข้าแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 แล้ว แต่ทางสถานีตำรวจในท้องที่ยังไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากมีปัญหาภายในสถานี เรื่องของเธอจึงถูกชะลอไว้ ทั้งนี้หลังปรากฏเป็นข่าว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้ข่าวว่าจะมีการดำเนินการตรวจสอบกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หากมีการเดินทางออกนอกประเทศจริง ก็จะขออำนาจศาลให้ออกหมายจับ (อ่านเพิ่ม ที่นี่)

คสช. แจ้งความโฆษกพรรคเพื่อไทย พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มอีกคดี

24 ม.ค.61 ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต หรือ “หมวดเจี๊ยบ” อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ ปอท. อีกครั้ง หลังจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. นำสเตตัสเฟซบุ๊กและแฟนเพจของเธอ ที่วิพากษ์วิจารณ์การทุจริตและการบริหารประเทศของ คสช. เข้าแจ้งความที่ ปอท. เป็นครั้งที่ 3 ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจสร้างความเสียหายต่อความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) หมวดเจี๊ยบให้สัมภาษณ์ว่าตนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 2 คดี 9 กระทง มีจำนวนข้อความที่ถูกนำมาดำเนินคดีรวมทั้งหมด 13 ข้อความ จาก 3 คดี เนื่องจากเธอโพสต์ข้อความเดียวกันลงใน 2 เพจ จึงถูกนับแยกกันเป็น 2 ข้อความ นับว่าเธอถูก คสช. แจ้งความดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ทนายอานนท์ไม่ถึงเดือนโดน 3 คดีรวด

ในเวลาไม่ถึงเดือน นายอานนท์ นำภา ทนายความอาสาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีเพิ่มอีก 3 คดี ทั้งจากการแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ถึงปัจจุบันทนายอานนท์มีคดีรวมทั้งหมดตั้งแต่หลังรัฐประหาร 9 คดี แล้ว

คดีแรก เหตุจากการที่ทนายอานนท์ถูกแจ้งความในความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) จากสเตตัสในเฟซบุ๊กที่วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่นในคดีนักศึกษาละเมิดอำนาจศาล จำนวน 2 ข้อความ ทนายอานนท์รับว่าเป็นผู้โพสต์สเตตัสทั้งสองจริง แต่ปฏิเสธว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา (อ่าน ที่นี่)

คดีที่สองมาจากการที่ทนายอานนท์ถูกออกสองหมายเรียก จากการเข้าร่วมกิจกรรมคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง บนสกายวอล์คแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.61 เพียงครั้งเดียว โดยหมายแรก ทนายอานนท์และพวกอีก 6 คน ถูกออกหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกไม่กี่วันต่อมาชื่อของทนายอานนท์ยังไปปรากฏอยู่ในข่าวที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกบุคคลจำนวน 39 คน ให้เข้ารับทราบข้อหาจัดชุมนุมสาธารณะอยู่ในรัศมี 150 ม. จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 ด้วย แต่หลังจากวันที่ 2 ก.พ. เขาถูกออกหมายเรียกครั้งที่ 2 รวมทั้งสามข้อหาอยู่ในหมายเดียว

สำหรับคดีที่สองนี้ทนายอานนท์ได้ประกาศทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะไม่เข้าร่วมกระบวนการใดๆ และยินดีให้เจ้าหน้าที่มาจับกุมตนเอง

คดีที่สาม ทนายอานนท์เพิ่งได้รับหมายเรียก (7 ก.พ.) ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจาก ปอท.ในวันที่ 9 ก.พ.61  พ.ต.ท.สุภารัตน์  คำอินทร์เป็นผู้แจ้งความในข้อหาในความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ณ เวลานี้ยังไม่ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม

เอกชัยหวังดีจะมอบนาฬิกา ได้คดีโพสต์อนาจารตอบแทน ปลายเดือนไปชุมนุมยังถูกแจ้งความอีกคดี

หลังจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ถูกตรวจสอบทรัพย์สินหลังจากตกเป็นข่าวว่ามีนาฬิกาหรูกว่า 20 เรือน โดยที่ไม่มีอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. มาก่อน ทั้งยังระบุว่าเป็นนาฬิกาที่เพื่อนให้ยืมมาใส่ นายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมอิสระ ได้เดินทางไปรอพบตามสถานที่ต่างๆ เพื่อมอบนาฬิกาข้อมือของตนเองให้พล.อ.ประวิตร หลายครั้ง เขาอธิบายว่าไม่ต้องการให้ พล.อ.ประวิตรต้องไปยืมนาฬิกาของเพื่อนอีกแล้ว แต่ไม่มีครั้งไหนที่นายเอกชัยทำสำเร็จ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานที่ขัดขวางและควบคุมตัวไปก่อน

จนกระทั่ง 16 ม.ค. 2561 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 4 นาย เดินทางไปที่บ้านของเอกชัย เพื่อส่งหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเรื่องนำข้อมูลที่มีลักษณะอันลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) ที่ บก.ปอท. ทั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าข้อความที่เจ้าหน้าที่ใช้ดำเนินคดีนี้เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เนื่องจากเอกชัยยังไม่ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา (อ่าน ที่นี่)

นอกจากคดีที่กล่าวไป เอกชัยยังถูกดำเนินคดีร่วมกับผู้ชุมนุมอีก 38 คน ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน เขาถูกแจ้งความดำเนินคดี 3 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เช่นเดียวกันกับกรณีของทนายอานนท์ด้วย

ภาพจาก แฟนเพจ Banrsdr Photo

ปอท. แจ้งความนักวิชาการ มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมฯ เหตุแชร์โพสต์กรณีภรรยาของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กระเป๋าแพง

หลังจากนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร กรณีกระเป๋าถือของนางนราพร จันทร์โอชา ภรรยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ มีการแชร์ต่อกันในโลกโซเชียลมีเดีย โดยมีการสันนิษฐานยี่ห้อและราคาของกระเป๋า ภายหลังมีการชี้แจงว่าเป็นเพียงกระเป๋าจากโครงการ OTOP เท่านั้น

หากเรื่องไม่จบเพียงเท่านั้น ในวันที่ 17 ม.ค. 2561 มีรายงานข่าวว่า พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่ชาญวิทย์แชร์โพสต์ของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Ploy Siripong” เมื่อ 11 ม.ค. 2561 และแสดงความคิดเห็นต่อภาพกระเป๋าถือของนางนราพร ก่อนที่ตำรวจจะออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมา (อ่าน ที่นี่)

ชาญวิทย์เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลเท็จที่อาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนก เบื้องต้นชาญวิทย์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด (อ่าน ที่นี่)

แม้ศาลปกครองคุ้มครองกิจกรรมเดินมิตรภาพ แต่สมาชิกเครือข่าย 8 ราย ยังถูกดำเนินคดี

20 ม.ค. 2561 เครือข่ายประชาชน People Go จัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ, ความมั่นคงทางอาหาร, สิทธิชุมชน และรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน โดยในวันที่ 19 ม.ค. มีกิจกรรมเสวนาและดนตรี รวมถึงการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช. จำนวน 35 ฉบับ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันดังกล่าว ผู้กำกับการ สภ.คลองหลวง ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ได้แจ้งว่ากิจกรรมในการรวบรวมรายชื่อและขายเสื้อยืดรณรงค์นั้น อาจจะขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58

ต่อมาวันที่ 20 ม.ค. เครือข่ายประชาชน People Go ประมาณ 120 คน ได้เริ่มเดินเท้าจากวิทยาลัยป๋วย อึ้งภาภรณ์ มาบริเวณประตูด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่ามีการปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าการชุมนุมดังกล่าวขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 และให้เจรจากับฝ่ายความมั่นคง แต่ไม่พบว่ามีฝ่ายความมั่นคงมาพบผู้ชุมนุมแต่อย่างใด จนผู้ชุมนุมบางส่วนต้องหาทางออกจากมหาวิทยาลัยในช่องทางอื่น และเริ่มเดินเท้าจากบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยชุดละ 4 คน โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามบันทึกภาพตลอดเวลา

21 ม.ค. 2561 ก่อนออกเดินทางเป็นวันที่สอง เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 200 นาย ได้นำกำลังเข้ามายังบริเวณที่พักของผู้ชุมนุมบริเวณวัดลาดทราย ขอตรวจค้น บันทึกภาพบัตรประชาชนของทุกคน และได้กักรถคันสุดท้ายของขบวนซึ่งบรรทุกสัมภาระพร้อมเครือข่ายอีก 4 คน ไปสอบถามโดยไม่มีหมายค้น ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา และไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าร่วมกระบวนการ จนกระทั่งปล่อยตัวในเวลา 10.30 น. ทาง People Go Network เห็นว่าการปิดกั้นประตูทางออกมหาวิทยาลัย การติดตามบันทึกภาพ การติดต่อไปยังวัดที่ผู้ชุมนุมขอเข้าพัก และการตรวจค้นนั้นละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุม จึงได้มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้การชุมนุมสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และ 4 ทำหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะ และห้ามปิดกั้น-ขัดขวางการชุมนุมจนเสร็จสิ้นกิจกรรมในวันที่ 17 ก.พ. 2561

อย่างไรก็ตาม แกนนำจำนวน 8 คน กลับได้รับหมายเรียกจาก สภ.คลองหลวง ก่อนที่วันที่ 31 ม.ค. ทั้งหมดได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ซึ่งเป็นพฤติการณ์เรื่องการจำหน่ายเสื้อยืดและการชักชวนให้ลงชื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และกรณีการกล่าวปราศรัยที่บริเวณประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต้องเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อส่งตัวให้อัยการในวันที่ 26 ก.พ. นี้ (อ่าน ที่นี่)

คดี “คนอยากเลือกตั้ง”: ร้องเพลง “คุ้กกี้เสี่ยงคุก” ไปกับวง MBK39

หลังจากมีสัญญาเรื่องการจัดการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ แต่สัญญาณดังกล่าวก็ดับหายไปอีกหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาให้ข่าวว่าตนไม่เคยรับปากว่าจะมีเลือกตั้งในปีนี้ อีกทั้งยังระบุว่ายังอยากขอเวลาอยู่ต่อเพื่อวางรากฐานก่อน แม้ว่าจะพูดกึ่งๆ ยอมรับว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังผ่านร่างกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นปี 2562 จากการเลื่อนแล้วเลื่อนอีกนี้ทำให้ประชาชนที่หวังว่าประเทศไทยจะได้กลับมาสู่ภาวะปกติ (อย่างน้อยก็ปกติกว่ารัฐบาลทหาร) แสดงความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น

เย็นวันที่ 27 ม.ค. 2561 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่ม Start Up People จึงนัดจัดกิจกรรม ‘หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ’ โดยมีการชุมนุมและปราศรัยที่สกายวอล์กปทุมวัน หน้าห้าง MBK ในวันนั้นนอกจากจะมีข่าวว่าตำรวจจะไม่ใช้กำลังเข้าจับกุมแล้ว (อ่าน ที่นี่) ยังมีการขอกับผู้เข้าร่วมให้ขยับจุดที่ยืนกันอยู่บนสกายวอล์คช่วงบริเวณทางเข้าห้างสรรพสินค้า MBK และหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ไปที่บริเวณลานกว้างกลางแยกสี่แยกปทุมวันแทน วันนั้นกิจกรรมดำเนินไปจนเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 20.00 น. พร้อมประกาศนัดชุมนุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 ก.พ. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

จากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวระบุว่าตำรวจจะออกหมายเรียกผู้จัดการชุมนุมในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/58 และยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับบุคคลรวม 7 คน (อ่าน ที่นี่) และตามมาด้วยข่าวตำรวจออกหมายเรียกบุคคลจำนวน 39 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในหมายเรียกรอบหลังนี้ มี 7 คนแรกอยู่ในหมายเรียกคดีนี้ด้วย จึงกลายเป็นถูกดำเนินคดี 2 คดี นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังระบุว่ามีตรวจสอบบุคคลอีก 66 คนเพิ่มเติมอีกด้วย แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ (อ่าน ที่นี่)

หลังจากมีข่าว บุคคลตามรายชื่อทยอยได้รับหมายเรียกให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 2 ก.พ. และกลายเป็นที่มาของแฮชแท็ก “MBK 39” ที่หมายถึงผู้ชุมนุมทั้ง 39 คน ที่ร่วมชุมนุมบนสกายวอล์คหน้าห้าง MBK จนถูกดำเนินคดีครั้งนี้

2 ก.พ. คนที่ได้รับหมายรอบหลังรวม 27 คน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ปทุมวัน แต่ทางพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนำตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลแขวงปทุมวันเพื่อฝากขังทั้งหมด แต่พวกเขาไม่คิดว่าจะถูกฝากขัง ทำให้ไม่ได้เตรียมเงินมาใช้ประกันตัว จึงขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อหาเป็นวันที่ 8 ก.พ. แทน พร้อมกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีอีก 7 คน ที่ทำหนังสือขอเลื่อนไว้ก่อนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้เลื่อน หากจะออกหมายเรียกครั้งที่สองให้มารับทราบข้อหาในวันที่ 8 ก.พ.แทน (อ่าน ที่นี่)

วันเดียวกัน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ยังให้ข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะตั้งข้อหาตามมาตรา 116 เพิ่มอีก 1 ข้อหา กับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ และนายวีระ สมความคิด ซึ่งเป็น 2 ใน 39 คน เพิ่มอีก เนื่องจากพบว่ามีการปราศรัยในการชุมนุมด้วย (อ่าน ที่นี่) และยังปรากฏต่อมาว่าในหมายเรียกครั้งที่สองของทั้ง 39 คน มีการเพิ่มข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/58 ข้อ 12 เพิ่มเข้ามาอีก 1 ข้อหา และให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายในวันที่ 8 ก.พ.

สรุปแล้ว ในขณะนี้ กรณี MBK39 มีบุคคลที่ถูกดำเนินคดี 3 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12, ข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และข้อหามาตรา 116 จำนวน 9 คน และถูกดำเนินคดี 2 ข้อหา คือฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 และชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จำนวนทั้งหมด 30 คน

ม็อบเชียร์ พล.อ.ประวิตร อยู่ต่อ ก็โดนคดีชุมนุม 2 ข้อหา

พร้อมๆ กับการชุมนุมคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ยังปรากฏการชุมนุมของผู้สนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ประมาณ 40 คน ที่หน้ากระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 โดยมีการถือป้ายให้กำลังใจ และการมอบดอกไม้ให้เจ้าหน้าที่ที่กระทรวงกลาโหม หากปรากฏว่าต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ได้สั่งการให้มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมกรณีนี้ด้วย

จนวันที่ 5 ก.พ. 2561 จึงมีนายอดุลย์ ธรรมจิตต์ หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ระบุว่าเป็นคนขับแท็กซี่ เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนที่ สน.พระราชวัง ก่อนจะถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวน้าคสช. ที่ 3/58 และข้อหาชุมนุมในเขตพื้นที่รัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ โดยนายอดุลย์ให้การรับสารภาพ แล้วพนักงานสอบสวนจึงได้นำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต โดยข่าวระบุว่าศาลได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 3,000 บาท (ดู ที่นี่)

จากนั้น วันที่ 6 ก.พ. ยังมีผู้ร่วมชุมนุมหน้ากระทรวงกลาโหม อีก 5 ราย จากจังหวัดสระแก้ว เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พระราชวัง เช่นกัน และได้ถูกแจ้ง 2 ข้อหาเช่นเดียวกับชายคนแรก (ดู ที่นี่) ทำให้รวมแล้วจนถึงขณะนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 6 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุว่าจะมีการติดตามผู้ชุมนุมคนอื่นๆ มาดำเนินการเช่นเดียวกันอีกด้วย

ภาพจากเฟสบุ๊ค ‘Wassana Nanuam

จัดแสดงละครใบ้ “ตามใจป้อม” ก็โดนคุมตัว พร้อมโทษปรับ

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กิจกรรมเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร ยังเป็นไปอย่างคึกคัก อีกกิจกรรมหนึ่งของศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ช่วงเย็นวันที่ 2 ก.พ. 2561 บริเวณสกายวอล์คอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นกิจกรรมแสดงละครใบ้ชื่อ “ตามใจ ‘ป้อม’” เล่าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและข้อครหาต่างๆ ต่อ พล.อ.ประวิตร โดยไม่ได้มีการปราศรัยหรือกล่าวข้อความใดๆ โดยหลังแสดงละครเสร็จสิ้น ผู้แสดงจำนวน 4 ราย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปที่ สน.พญาไท  (ดู ที่นี่)

ต่อมา เจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีทั้ง 4 คน ในข้อหามาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เรื่องการไม่แจ้งจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มีรายงานว่าทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ปรับในข้อหานี้ เป็นเงินรายละ 10,000 บาท ก่อนได้รับการปล่อยตัวจากสถานีตำรวจ

ทหารแจ้งความชาวบ้านพะเยาหลังออกมาให้กำลังใจ We Walk

กรณีล่าสุด คือกรณีของชาวบ้านกลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเชียงราย ได้ออกมาทำกิจกรรมเดินและถือป้ายสนับสนุนกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ตกบ่ายมีทั้งตำรวจนอกเครื่องแบบและทหารในเครื่องแบบเข้าไปที่บ้านของคนที่เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนั้นในตอนค่ำผู้ใหญ่บ้านยังโทรศัพท์เรียกชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมให้ไปพบที่ สภ.ภูซาง เมื่อชาวบ้านไปถึงก็พบว่ามีทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธปืนยาวราว 20 นาย รออยู่แล้ว (อ่าน ที่นี่)

ชาวบ้านและนักศึกษาที่เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ถูกซักประวัติและถูกสอบถามข้อมูลกิจกรรมและความหมายของป้ายข้อความ จนกระทั่งประมาณเที่ยงคืน ทหารได้แจ้งความดำเนินคดีต่อชาวบ้านและนักศึกษา รวมทั้งหมด 14 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 เรื่องการชุมนุมทางการเมือง โดยหนึ่งในนั้นยังเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ที่มีอาการพิการทางสมอง ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาซึ่งอยู่ที่สถานีตำรวจ จำนวน 11 ราย และสอบปากคำจนถึงรุ่งเช้า ก่อนจะนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงคำ ในตอนสายวันต่อมา ก่อนทั้งหมดจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 5,000 บาท ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนตำรวจไม่นำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง (อ่าน ที่นี่)

X