ประหลาด! ค้านรัฐประหาร ต้องขออนุญาต คสช. พงส.ชี้ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุน รปห.

22 มี.ค. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต คดีอาญาหมายเลขดำที่ 61/2559  

โจทก์นำพยานปาก พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีเข้าเบิกความ โดยพยานเบิกความว่า ได้รับตัวจำเลยกับพวกรวม 7 คน พร้อมของกลางเป็นป้ายผ้าและป้ายกระดาษ จากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในวันที่ 22 พ.ค. 58 และได้ทำการสอบสวนทั้ง 7 ในข้อหา ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยได้รับมอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นบันทึกการเคลื่อนไหวของจำเลย และภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ จากเจ้าหน้าที่การข่าวของทหาร-ผู้กล่าวหา ทั้งนี้ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พยานมีความเห็น สมควรสั่งฟ้อง

ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ควรคัดค้าน การกระทำของจำเลยทั้งการพูดและชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดหากทำคนเดียว แต่ถ้าคัดค้าน 5 คน ถือว่าผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 หากจะทำต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน ซึ่งพยานเองก็เห็นว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาด

เกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนรับว่า ไม่มีการนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการมาให้ความเห็นทางกฎหมาย ประวัติศาสตร์การเมือง และเสรีภาพในการชุมนุม พยานยังรับว่า ไม่ได้ทำการสอบสวนประเด็นสำคัญในคดีว่า การชุมนุมได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมายหรือไม่ โดยไม่ได้เรียกหัวหน้า คสช. มาสอบสวน อีกทั้ง ไม่แน่ใจด้วยว่า กรณีนี้ใครคือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจอนุญาตให้ชุมนุมได้

นอกจากนี้ พยานยังรับว่า ไม่ได้สอบสวนถึงทัศนคติทางการเมืองของ พ.อ.สุรศักดิ์ ผู้กล่าวหาในคดี ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. โดยหากมีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับจำเลย อาจถือได้ว่าเป็นพยานปฏิปักษ์ เจ้าหน้าที่ที่ทหารที่จับกุมจำเลยก็ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 มาแสดงต่อพยานในชั้นสอบสวน รวมทั้งพยานไม่ได้โต้แย้งในประเด็นที่บันทึกจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนไม่สอดคล้องกัน เช่น กรณีที่นายภานุพงศ์ถูกทำร้ายขณะถูกจับกุม

เหตุที่จำเลยถูกดำเนินคดีเนื่องจากหลังการชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร จำเลยกับพวกไม่ยอมรับการปรับทัศนคติจากเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบที่ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างทัศนคติในการคัดค้านรัฐประหารกับสนับสนุนรัฐประหาร โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร

หลัง พ.ต.อ.พิสิฐเบิกความเสร็จ โจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอนำนายจตุภัทร์-จำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกในนัดหน้า ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยปากแรกในวันที่ 15 พ.ค. 61 โดยให้ออกหมายเบิกตัวจตุภัทร์จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาในวันนัดดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 21 มี.ค. 61 ศาล มทบ.23 ก็ได้นัดสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนซ์” นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 102/2560 อีก 1 คดี จากการจัดกิจกรรมเดียวกันกับจตุภัทร์ แต่เพิ่งอายัดตัวภานุพงศ์ส่งฟ้องต่อศาล มทบ.23 นี้ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 60 ที่ผ่านมา โดยโจทก์ได้นำ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ขณะเกิดเหตุเป็นหัวหน้ากองข่าว มทบ.23 เข้าเบิกความ

โดย พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง เบิกความต่อศาลว่า พยานเป็นผู้กล่าวหาและเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกนักศึกษารวม 7 คน ที่ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อ.เมืองขอนแก่น หลังจากที่เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือให้ยุติกิจกรรม แต่นักศึกษาไม่ยุติ เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งว่า การชุมนุมขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 และเชิญตัวนักศึกษาไปที่ มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ จำเลยและพวกไม่ยอมรับการปรับทัศนคติ เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวให้ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อดำเนินคดี ในข้อหา ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป

นัดต่อไปวันที่ 24 พ.ค. 61 โจทก์จะนำ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร เจ้าหน้าที่ทหารผู้ร่วมจับกุมเข้าเบิกความ จากนั้น ทนายจำเลยจึงจะถามค้าน พ.อ.สุรศักดิ์ และ ร.อ.อภินันท์ ในนัดเดียวกัน เนื่องจากเป็นพยานที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน

 

คำให้การโดยย่อของพนักงานสอบสวน – พยานโจทก์

พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ อายุ 49 ปี ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ขณะเกิดเหตุรับราชการที่ สภ. เมืองขอนแก่น ตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่สอบสวนคดีความผิดอาญาทั่วไปในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

พ.ต.อ.พิสิฐ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี โดยได้ทำการสอบสวนนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และพวก รวมทั้งสิ้น 7 คน ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะพยานเป็นพนักงานสอบสวนที่ สภ. เมืองขอนแก่นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง และ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำภิโล กับพวก ได้ควบคุมตัวจำเลยกับพวกมาส่ง พร้อมของกลางเป็นป้ายผ้า ป้ายกระดาษ และมีบันทึกจับกุม หลังรับตัวจำเลยกับพวก พยานได้สอบปากคำจำเลยกับพวก จากนั้นได้คุมตัวจำเลยกับพวกไว้ที่ สภ.เมือง ต่อมา เช้าวันที่ 23 พ.ค. 58 มีคนมาประกันจำเลยกับพวก โดยผู้บังคับบัญชาได้อนุญาตให้ปล่อยตัว

พ.ต.อ.พิสิฐ เบิกความอีกว่า พ.อ.สุรศักดิ์ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการกระทำครั้งก่อน ๆ ของจำเลยที่ถูกปรับทัศนคติ มามอบให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติม พยานยังได้รับภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุซึ่งจัดทำโดย นายราชา ถิ่นทิพย์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส แต่ไม่แน่ใจว่าได้รับจาก พ.อ.สุรศักดิ์ หรือนายราชา จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พยานมีความเห็น สมควรสั่งฟ้อง ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

จากนั้น พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบคำถามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในแผ่นซีดีที่เป็นวัตถุพยาน กลุ่มจำเลยได้พูดคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คำพูดดังกล่าว สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย พยานในฐานะพนักงานสอบสวน ฟังคำพูดดังกล่าวแล้ว เห็นด้วย

พนักงานสอบสวนตอบคำถามทนายจำเลยโดยรับว่า ในวันที่ 22 พ.ค. 57 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตำแหน่ง ผบ. ทบ. ขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ การรัฐประหารดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งการปกครองโดยที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มีการออกคำสั่งให้คณะรัฐมนตรียุติการปฏิบัติหน้าที่ และให้ยุติการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฏ ซึ่งการกระทำความผิดฐานเป็นกบฏนั้น เป็นสิ่งที่สมควรคัดค้าน

พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายจำเลยอีกว่า หลังยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ได้ตั้งทหารเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ และเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่หากเป็นดังกล่าวก็ไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย  คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวมีสิทธิคัดค้าน แต่ต้องขออนุญาตจาก คสช. ตามที่กฎหมายกำหนด ทนายจำเลยถามว่า การที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า คนที่จะคัดค้าน คสช. ต้องไปขออนุญาต คสช. ก่อนเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาดหรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า ก็ทำนองนั้น

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเบิกความตอบทนายจำเลยรับว่า ในคดีนี้จำเลยกับพวกชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด ส่วนตัวพยานเห็นว่า การชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ถ้าทำเพียงคนเดียวก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าไปคัดค้าน 5 คนถือว่าผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ทนายจำเลยถามอีกว่า การที่บัญญัติว่าการคัดค้านรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำ 5 คน เป็นความผิด เป็นสิ่งที่ประหลาดหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ประหลาด เนื่องจากกฎหมายมีเหตุผลและเจตนารมณ์ในตัวเอง

พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายอีกว่า ไม่ทราบว่า การคัดค้านรัฐประหารเป็นผลเสียต่อ คสช.หรือไม่ แต่จากประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีการทำรัฐประหารหลายครั้ง และกลับมาเป็นประชาธิปไตยได้เพราะมีนักศึกษาประชาชนหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งหากไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน พยานก็เห็นว่า การคัดค้านรัฐประหารดังกล่าวจนได้ประชาธิปไตยกลับมาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี การที่จำเลยไปชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 ก็ไม่มีผู้เสียชีวิต

ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนว่า ในการสอบสวน พยานมุ่งเน้นเพื่อเอาจำเลยมาลงโทษหรือเพื่อให้ความเป็นธรรมกับจำเลย พ.ต.อ.พิสิษฐ์ตอบว่า เพื่อให้ความเป็นธรรม แต่รับว่า ในการสอบสวน ไม่มีการนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการมาให้ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ได้สอบนักวิชาการที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง และไม่ได้นักวิชาการมาให้ความเห็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม

พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยอีกว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 การชุมนุมทางการเมืองสามารถทำได้ถ้าได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย ซึ่งการสอบสวนว่า การชุมนุมได้รับอนุญาตหรือไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญในคดี แต่พยานไม่ได้มีคำสั่งเรียกหัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสอบสวน พยานไม่มั่นใจว่า กรณีนี้บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลชุมนุมได้หรือไม่ คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง หรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวน พ.อ.สุรศักดิ์ ก็ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. มาแสดง

พนักงานสอบสวนตอบเกี่ยวกับการสอบปากคำ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ว่า พ.อ.สุรศักดิ์ มีสถานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. แต่ในชั้นสอบสวน พยานไม่ได้สอบสวนถึงทัศนคติทางการเมืองของ พ.อ.สุรศักดิ์ ทนายจำเลยถามว่า จากคำเบิกความในชั้นศาล พ.อ.สุรศักดิ์มีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับจำเลย และถือว่าเป็นพยานปฏิปักษ์หรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า ไม่ใช่ พ.อ.สุรศักดิ์ เป็นข้าราชการ ต้องให้ความเป็นธรรมกับจำเลยอยู่แล้ว พยานยังระบุว่า ในชั้นสอบสวน พ.อ.สุรศักดิ์ ตอบคำถามของพยานทุกคำถาม โดยไม่ได้ใช้สิทธิที่จะขอไม่ตอบคำถาม แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรในชั้นศาล พ.อ.สุรศักดิ์ จึงขอไม่ตอบทนายจำเลยหลายคำถาม

พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายจำเลยถึงกระบวนการในการสอบสวนต่อไปว่า จำไม่ได้ว่า คนที่เป็นผู้บัญชาการในการจับตัวจำเลยกับพวกในที่เกิดเหตุ คือ ร.อ.อภินันท์ ใช่หรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวนทั้ง ร.อ.อภินันท์ และ พ.อ.สุรศักดิ์ ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 มาแสดง พยานจำไม่ได้ด้วยว่า ทั้งสองได้อ้างว่า เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 เนื่องจากมีชั้นยศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไป ทั้งนี้ ร.อ.อภินันท์ไม่ได้ใช้สิทธิในการไม่ขอตอบคำถามของพยานในชั้นสอบสวนเช่นกัน

พนักงานสอบสวนในคดีตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า ในบันทึกจับกุมไม่ปรากฏว่า จำเลยและพวกมีการต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน แต่ที่บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนระบุว่า จำเลยและพวกมีการขัดขืนไม่ให้เจ้าหน้าที่พาตัวไป พยานไม่ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ไว้ อีกทั้งในชั้นสอบสวนนายจตุภัทร์ให้การว่า ในการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายนายภานุพงศ์โดยชกที่ไข่ แต่ในบันทึกจับกุมไม่ได้ระบุไว้ พยานก็ไม่ได้โต้แย้งหรือสอบถาม พ.อ.สุรศักดิ์ในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม พยานได้ส่งนายภานุพงศ์ไปตรวจที่โรงพยาบาลขอนแก่น มีผลการตรวจเป็นเอกสารส่งให้อัยการด้วยแล้ว  

หลังเกิดเหตุจำเลยกับพวกถูกควบคุมตัวมาที่ มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ แต่จำเลยกับพวกไม่ยอมรับการปรับทัศนคติ จึงถูกดำเนินคดี ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.พิสิฐ ว่า ระหว่างทัศนคติในการคัดค้านรัฐประหารกับสนับสนุนรัฐประหาร ทัศนคติอย่างไหนที่ต้องปรับ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร

พยานเบิกความอีกว่า ไม่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักกับกลุ่มดาวดินมาก่อน เพิ่งเคยรู้จักในวันที่เจ้าหน้าที่นำตัวมาส่ง และทราบจากการสอบปากคำและข่าวว่า จำเลยคือ ไผ่ ดาวดิน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งทราบว่า กลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มกลุ่มกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ป้ายของกลางอื่น ๆ นอกจากป้ายคัดค้านรัฐประหารแล้วก็เป็นป้ายรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น เรื่องเหมือง ม.นอกระบบ เป็นต้น

พยานรับตามที่ทนายจำเลยให้ดูเอกสารว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ ในมาตรา 4 บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 เคยบัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ, สิทธิในการต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติวิธี และหน้าที่ของบุคคลในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไว้ในมาตรา 63, 69 และ 70 รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิในการชุมนุมไว้ใน ข้อที่ 19 และ 21

ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.พิสิฐ พนักงานสอบสวนอีกว่า ในชั้นสอบสวนพยานได้นำความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร มาประกอบในการสอบสวนหรือไม่ พยานตอบว่า เพิ่งเคยเห็นความเห็นของศาลฎีกาดังกล่าว และไม่ได้นำมาประกอบการสอบสวน

เครดิตภาพ Manus Klaeovigkit

 

อ่านรายละเอียดการสืบพยานโจทก์ปากอื่นก่อนหน้านี้:

หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี

สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย

เลื่อนสืบพยาน คดี ‘ไผ่’ ชูป้ายค้าน รปห.-ศาลอนุญาตโจทก์แก้ไขฟ้อง

นักข่าวเผยเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายภาพขณะนักศึกษาดาวดินถูกจับกุม

‘ไผ่’ แถลงกลางศาล พยานจับกุมโดยอ้างเพียงคำสั่ง ไม่คำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย

 

X