อ่านประมวลคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 7 แม่หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา

หลังจากชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และมีบทบาทในการเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ดังกล่าว ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการประชุมสภา อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 59 ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำยังไม่ถูกแก้ไขและเยียวยา

ต่อมา วันที่ 18 ธ.ค. 2559 นางพรทิพย์ หงชัย, นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์, นางมล คุณนา, นางระนอง กองแสน, นางสุพัฒน์ คุณนา, นางบุญแรง ศรีทอง, และนางลำเพลิน เรืองฤทธิ์ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรวม 7 คน ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309  โดยมีสมาชิก อบต.เขาหลวง 16 คน เป็นผู้เข้าร้องทุกข์ และนางพรทิพย์ถูกแจ้งข้อหา จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10  โดย พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง เป็นผู้กล่าวโทษ อีกทั้งมีการแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 7 เพิ่มเติมในภายหลัง ในข้อหาชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 และพนักงานอัยการจังหวัดเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเลย เป็นคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 2858/2560 (อ่านคำฟ้องที่นี่)

คดีมีการสืบพยานในวันที่ 31 ม.ค., 1-2 และ 8 ก.พ.  61 ก่อนการสืบพยานโจทก์ สมาชิก อบต.เขาหลวง 16 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวด้วย ศาลอนุญาตให้ผู้ร้อง 6 คน ซึ่งเป็นสมาชิก อบต.เขาหลวง ที่ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมประชุม เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการเฉพาะในข้อหาข่มขืนจิตใจผู้อื่นฯ ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นความผิดทางอาญาซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ร้องทั้ง 16 คน เป็นโจทก์ร่วมได้

ภาพวันประชุมสภา อบต.เขาหลวง เหตุในการดำเนินคดี (ที่มาภาพ ThaiPBS)

สมาชิก อบต. ผู้ร้องทุกข์ รับว่า ชาวบ้านได้รับเชิญเข้าประชุมตามระเบียบมหาดไทย และตนเองไม่ได้ถูกข่มขู่

สมาชิก อบต.เขาหลวง 6 คน ซึ่งทั้งหกเป็นโจทก์ร่วม และเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ ได้แก่ นายศักดิ์โชติ เรียนยศ, นายนิกร ศรีโนนสุข, นายแตง ตองหว้าน, นายสุรศักดิ์ ดวงจำปา, นายวีระพล กัตติยะ และนายวัชรพงษ์ บัวบานบุตร พยานโจทก์ทั้งหกคนเบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุ ได้รับเชิญเข้าประชุม แต่เมื่อไปถึง อบต.เขาหลวง พบชาวบ้านกว่า 100 คน ยืนและนั่งอยู่บริเวณอาคารห้องประชุม บางส่วนยืนขวางบันไดทางขึ้นห้องประชุม มีจำเลยที่ 1 ถือโทรโข่งปราศรัย มีพยานบางคนที่ระบุว่า เห็นจำเลยที่ 2-4 ถือโทรโข่งด้วย  โดยจำเลยที่ 1 พูดว่า จะชุมนุมจนกว่าจะเลื่อนการประชุม ประธานสภา อบต. เข้าเจรจา กลุ่มชาวบ้านก็ไม่ยิมยอม ทำให้พยานไม่สามารถเข้าประชุมได้ เพราะเกรงว่าจะมีการทำร้ายร่างกายเหมือนการประชุมครั้งก่อน

พยานโจทก์ทั้งหกตอบทนายจำเลยโดยรับว่า ชาวบ้านหมู่ 1,2,3,13 ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่เข้ามาประชุมในวันเกิดเหตุเพราะประธานสภาฯ แจ้งให้ทราบ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ.2557  โดยการประชุมในวาระดังกล่าวมีการประชุมมาแล้วหลายครั้ง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมทุกครั้ง แต่ไม่มีมติที่ประชุม เพราะมีความเห็นต่างระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมก็เคยนั่งขวางบันไดและใช้โทรโข่งพูดไม่ให้สภา อบต. ประชุม อีกทั้งในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้มีเหตุรุนแรง กลุ่มชาวบ้านก็ไม่ได้พูดจาข่มขู่อาฆาตมาดร้ายบุคคลใด แม้นายวัชรพงษ์ จะเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่า หากไม่เลื่อนประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัย แต่ก็มีพิรุธว่า พยานไม่ได้ให้การเช่นนี้ในชั้นสอบสวน

 

ผกก.วังสะพุง ชี้ ชาวบ้านร่วมประชุมเป็นไปตามกฎหมาย แต่ไม่แจ้งการชุมนุม

พยานโจทก์อีก 3 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่ พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวังสะพุง (สภ.วังสะพุง), พ.ต.ท.ยศพนธ์ วันทองสังข์ สารวัตรป้องกันปราบปราม สภ.วังสะพุง, และ ร.ต.อ.วสันต์ แสงโทโพธิ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.วังสะพุง โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสามให้การโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุ อบต.จัดการประชุมและเชิญชาวบ้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปร่วมรับฟังการประชุมสภา อบต.เขาหลวงนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย กลุ่มชาวบ้านได้มีการแสดงป้าย ปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประชุม และมีลักษณะปิดกั้นไม่ให้สมาชิก อบต.ขึ้นห้องประชุมได้ โดย ผกก.สภ.วังสะพุง เบิกความว่า ไม่ได้รับแจ้งก่อนว่า กลุ่มชาวบ้านจะมาร่วมชุมนุม จึงมอบหมายให้สารวัตรป้องกันและปราบปรามดำเนินคดีกลุ่มชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจรับว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงและไม่ได้มีการขู่ทำร้ายสมาชิก อบต. หรือพูดว่า หากขึ้นห้องประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัย ที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยทั้ง 7 ว่า ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายนั้น ฝ่ายผู้กล่าวหากลัวว่าหากเดินขึ้นบันไดจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เพราะชาวบ้านนั่งขวางอยู่เท่านั้น

สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ที่ตกเป็นจำเลยจากการคัดค้านการประชุมของ อบต.

จำเลยยืนยัน คัดค้านการประชุม เพราะได้รับผลกระทบ ไม่ได้ปิดกั้นขัดขวางใคร

จำเลย 4 คน เบิกความเป็นพยานตนเอง โดยเบิกความตรงกันว่า ตั้งแต่บริษัท ทุ่งคำ จำกัน เข้ามาทำเหมืองแร่ทองคำ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 6 หมู่บ้าน ทั้งฝุ่นฟุ้งกระจาย มลภาวะทางเสียงเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านกว่า 100 คน มีสารโลหะหนักอยู่ในร่างกายทั้งเกินและไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเหตุให้ชาวบ้านคัดค้านไม่ให้สภา อบต.เขาหลวง ให้ความเห็นชอบการขอต่ออายุใบอนุญาตขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหา

พยานจำเลยทั้ง 4 เบิกความอีกว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน คือวันที่ 14 พ.ย. 59 ประธานสภา อบต.เขาหลวง ได้มีหนังสือถึงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อเชิญให้เข้าฟังการประชุมที่ อบต .เขาหลวง วันเกิดเหตุ ชาวบ้านจึงเดินทางไปร่วมรับฟังตามคำเชิญ เมื่อไปถึง อบต.เขาหลวง ได้นั่งกระจัดกระจาย ไม่ได้กีดขวางทางเข้าออก หรือขัดขวางการทำงานของ อบต. ประชาชนทั่วไปก็สามารถมาทำธุระได้ตามปกติ ในการประชุมมีการใช้โทรโข่งเพื่ออธิบายให้กลุ่มชาวบ้านที่มาฟังด้วยกัน โดยอธิบายถึงความจำเป็นในการเข้ารับฟังการประชุม อีกทั้ง ในบริเวณที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ดูแลรักษาความเรียบร้อย

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มฯ ได้แจ้งนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาฯ ว่า ขอให้ยุติการประชุมเพราะชาวบ้านเดือดร้อน และผลกระทบยังไม่ได้มีการแก้ไข นายสมัยขอไปหารือกับสมาชิก อบต. ก่อนมาแจ้งว่าให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน ชาวบ้านขอให้ยกเลิกการประชุมว่าระดังกล่าวไปเลย นายสมัยจึงแจ้งให้ชาวบ้านทำหนังสือมา ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านไม่ได้ปิดกั้นหรือขัดขวางทางขึ้นลง และไม่ได้ยินผู้ใดพูดปราศรัยว่า หากใครเข้ามาจะไม่รับรองความปลอดภัย

 

อดีต กสม. เบิกความยืนยัน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ และปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข

พยานจำเลยอีก 2 ปาก เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ปากแรก คือ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เบิกความว่าเมื่อประมาณปี 2552 ขณะเป็น กสม. เคยได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ใน 4 กรณี คือ มีสารพิษในพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ การประกอบอาชีพ และความเป็นอยู่, บริษัททุ่งคำ ต้องการใช้พื้นที่ป่าสงวน และ สปก., มีความขัดแย้งและความรุนแรงในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ (EHIA) และมีความรุนแรงจากการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวบ้าน และบริษัท ทุ่งคำ

อดีต กสม. เบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบกรณีตามคำร้องทั้ง 4 กรณี พบว่า มีผลกระทบต่อสิทธิชุมชน ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องสุขภาพ การทำมาหากิน และมีความรุนแรงจากการเผชิญหน้ากันของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจริง จึงได้ทำรายงานการประชุมอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยในปี 2558 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็มีการร้องเรียนมาที่ กสม.อีก

 

อาจารย์นิติศาสตร์ระบุ เข้าประชุมที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ถือเป็นความผิด

พยานจำเลยปากสุดท้าย เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากสาขาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและนิติปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยทำงานวิชาการในหัวข้อ การชุมนุมโดยสงบและเปิดเผยโดยปราศจากอาวุธ เนื้อหาของการศึกษาเกี่ยวกับชุมนุมสาธารณะ ซึ่งโดยทั่วไปรัฐธรรมนูญหรือระบบกฎหมายต่าง ๆ จะให้การรับรองเสรีภาพในเรื่องนี้ไว้ว่า เป็นสิทธิและสิ่งที่มีความจำเป็น

อาจารย์นิติศาสตร์เบิกความว่า ในคดีนี้ซึ่งชาวบ้านได้รับเชิญไปประชุมที่สภา อบต.เขาหลวง เป็นการประชุมหรือชุมนุม ที่ได้รับการยกเว้น ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 (5) ซึ่งหมายความว่าหากเป็นการประชุมที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการและมีการออกจดหมาย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ จะไม่นำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาบังคับใช้

นอกจากนี้ เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะก็จะต้องได้รับการรับรองอย่างกว้างขวาง การจำกัดจะทำได้ก็ต่อเมื่อเห็นได้ชัดเจนว่า การชุมนุมนั้นกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยไว้หลายกรณี เช่น คำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมของชาวบ้าน กรณีโรงแยกก๊าซที่จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2555 ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมสาธารณะ เป็นเสรีภาพพื้นฐานที่จำเป็นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงหมายความว่า ศาลให้คำรับรองว่าการชุมนุมอย่างสงบ โดยปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ทำได้ และคำวินิจฉัยเรื่องการเดินมิตรภาพ ศาลรับรองว่า การเดินชุมนุมโดยสงบสามารถทำได้

เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ความหมายของ “ผู้จัดการชุมนุม” หมายถึง ตัวบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นหลักในการชักชวนบุคคลต่าง ๆ เข้าร่วม และเป็นผู้บริหารจัดการชุมนุม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐว่า จะจัดการชุมนุม แต่กรณีในคดีนี้ ซึ่งมาร่วมกันและเกิดการเรียกร้อง ไม่ได้เตรียมการมาก่อน ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเข้าลักษณะการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มุ่งไปที่มีการประสานของกลุ่มคน ดังนั้นกรณีตามคำฟ้องจึงไม่มีบุคคลไหนที่จะต้องแจ้งตาม พร.บ.ดังกล่าว

รศ.สมชายย้ำอีกว่า คดีนี้ชาวบ้านได้รับการเชิญให้เข้าร่วมรับฟังประชุม จึงเป็นไปตามความหมายของพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ 2558 มาตรา 3 (5) ซึ่งเท่ากับว่าการชุมนุมไม่เข้าตามลักษณะที่เป็นความผิดตามกฎหมายเพราะเป็นการเรียกประชุมโดยฝ่ายปกครองหรือองค์กรของรัฐ รวมทั้งการที่กลุ่มชาวบ้านให้ตัวแทนชี้แจงผ่านประธานสภาฯ ว่าขอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อนนั้น ก็ไม่สามารถเป็นความผิดได้

 

จับตาคำพิพากษา คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิในการมีส่วนร่วมให้ความเห็นต่อการพัฒนาหรือไม่

ศาลจังหวัดเลยนัดอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ในวันที่ 19 เม.ย. 61 เวลาประมาณ 10.00 น. ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าติดตามคือ ศาลจะวินิจฉัยให้การเข้าร่วมการประชุมที่จัดโดยสภา อบต. เป็นการชุมนุม หรือได้รับการยกเว้นตาม มาตรา 3(5) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และการคัดค้านการประชุม อบต.ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน อันเป็นการแสดงความเห็นต่อการพัฒนาท้องถิ่นนั้น ถือเป็นการข่มขืนจิตใจสมาชิก อบต. ผู้ต้องเข้าร่วมประชุมหรือไม่

ทั้งนี้  องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยกฟ้องข้อกล่าวหาต่อผู้หญิงนักปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ทั้ง 7 คน โดยระบุว่า “คดีนี้ละเมิดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย และขัดกับเจตจำนงที่ประกาศไว้โดยรัฐบาล” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “ศาลมีโอกาสยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการคุ้มครองทั้งตามกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ โดยควรยกฟ้องคดีตามข้อกล่าวหาเหล่านี้ต่อผู้หญิงทั้งเจ็ดคน” (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มที่ประชาไท)

 

X