เปิดคำให้การ ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ พยาน ‘MBK39’ ชี้เลือกตั้งปีนี้เป็นไปได้

เปิดคำให้การ ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ พยาน ‘MBK39’ ชี้เลือกตั้งปีนี้เป็นไปได้

วันนี้ (20 เมษายน 2561) ที่ สน.ปทุมวัน กรุงเทพฯ นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ (เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์) ได้เข้าให้การกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยานคดีแกนนำกลุ่ม MBK39 ซึ่งชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง ในวันที่ 27 มกราคม 2561 โดยชำนาญให้ความเห็นต่อคดีนี้ใน 2 ประเด็น คือ หนึ่ง การเลือกตั้งคืออะไรและสำคัญอย่างไร สอง ทำไมถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งที่รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่แล้ว

ขณะที่พนักงานสอบสวนยืนยันจะส่งตัวแกนนำทั้ง 4 คน ให้อัยการวันที่ 3 พ.ค. 61 ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายรังสิมันต์ โรม, นายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ นายเอกชัย หงส์กังวาน สำหรับเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม เวลา 17.00 น. ที่ประชาชนเดินทางมารวมตัวกันบนสกายวอล์ค แยกปทุมวัน หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK) เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ชุมนุมร่วมกันถ่ายภาพร่วมกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและเดินเกาะกลุ่มแสดงออกเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่มาของนาฬิกาหรูที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นำมาสวมใส่

ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันได้แจ้งข้อหา ฝ่าฝืนฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12, ข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ (คนซ้าย) และนายอานนท์ นำภา จำเลยและทนายความคดี MBK39

การเลือกตั้งคืออะไรและสำคัญอย่างไร

ชำนาญ จันทร์เรือง ได้ให้การในฐานะพยานแกนนำ โดยกล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นวิธีการคัดสรรคนเพื่อเข้าไปทำกิจกรรมทางการเมือง การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy) เพราะเราไม่สามารถให้ประชาชนทุกคนเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยในสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการได้ ฉะนั้น จึงต้องมีกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลเพื่อเข้าไปใช้อำนาจแทนตนเอง ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ก็คือ การเลือกตั้ง (election) นั่นเอง

หลักการของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องประกอบไปด้วยหลักของความที่เป็นการทั่วไป (in general), เป็นอิสระ (free voting) มีระยะเวลาที่แน่นอน (periodic election), เป็นการลงคะแนนลับ (secret voting), หนึ่งคน หนึ่งเสียง (one man one vote) และต้องมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม (fair election) เพราะประทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีการเลือกตั้งเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้หลัก 6 ประการที่ว่านี้ โดยเป็น “การบังคับเลือก”ว่าจะเอาหรือไม่เอา หรือเลือกตั้งในกติกาที่ไม่เป็นธรรม

ทำไมถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งที่รัฐบาลยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่แล้ว

ในประเด็นนี้ชำนาญ จันทร์เรือง ให้ยกกรณีการเลื่อนเลือกตั้งของคสช. ว่า ตลอดการมีอำนาจของ คสช. 4 ปี มีการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1: จากปลายปี 2558 สู่การเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวร่วมหลังการหารือกันระหว่างนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น บอกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

ครั้งที่ 2: จากกลางปี 2560 สู่ปลายปี 2560

พลเอกประยุทธ์ กล่าวกับ นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2558 ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560 แต่ก็ไม่เกิดขึ้น

ครั้งที่ 3: จากปลายปี 2560 สู่ปลายปี 2561

การเลือกตั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงปลายปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น กระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 8 เดือนจึงเพิ่งเริ่มนับหนึ่งได้ ตามโรดแมปนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะผ่านร่างกฎหมายลูกครบ 10 ฉบับภายในเดือนมกราคม 2561 และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2561

ครั้งที่ 4: จากพฤศจิกายน 2561 สู่กุมภาพันธ์ 2562 และสู่ความไม่แน่นอน

โรดแมปการเลือกตั้งของ คสช. ที่ชัดเจนที่สุดปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 หลังจากพลเอก ประยุทธ์ บินไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศกลางทำเนียบรัฐบาลว่าในเดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

ถึงกระนั้นก็ตาม ในที่สุดสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งก็ปรากฏชัดเจนขึ้นจนได้ เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก ปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน (ซึ่งไม่มีใครไม่เชื่อว่าไม่ได้รับสัญญาณจาก คสช.) จึงตีขลุมเอาว่าต้องยืดระยะเวลาไปอีก 3 เดือน จากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ฉะนั้น จึงไม่มีความแน่นอนใดๆที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งๆที่หากกระทำโดยเร่งรัดแล้วก็ยังสามารถเลือกตั้งได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ดี แม้ว่าจะมีการยืดการบังคับใช้พรป.ส.ส.ออกไปอีก 90 วัน และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยก็ตาม เพราะฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศไว้อยู่แล้วว่าไม่กระทบต่อโรดแมปเดิมแต่อย่างใด

เหตุใดจึงเรียกร้องให้คสช.ยุติหน้าที่

ชำนาญให้ความเห็นต่อคำถามว่า เหตุใดกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงเรียกร้องให้ คสช.ยุติหน้าที่หรือลาออกทั้งๆที่สมัยรัฐบาลปกติก็ยังรักษาการจนมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ กอรปกับรัฐธรรมนูญฯปัจจุบันก็บัญญัติให้คสช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

โดยชี้ว่า การชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้ยุติการทำหน้าที่ คสช. ไม่ได้เรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญฯมาตรา 265 บัญญัติให้ คสช.ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ แต่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯใดที่บัญญัติห้ามมิให้ คสช.ลาออก ฉะนั้น หากจะอ้างว่ารัฐบาลปกติยังรักษาการใด้ แต่นั่นเป็นคณะรัฐบาลซึงไมใช่ คสช.ที่มีอำนาจล้นฟ้าด้วยมาตรา 44 เช่นนี้

ข้อเรียกร้องฯทั้งหมดนี้อาจจะดูเหมือนว่าจะปฏิบัติได้ยาก แต่ก็สามารถปฏิบัติได้ หาก คสช.ตั้งใจที่จะทำในฐานะที่เป็นคนกลาง และหากปฏิบัติได้เช่นนี้บ้านเมืองก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและสันติ

แต่หากยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพและดำเนินคดีต่อผู้ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฯปัจจุบันที่ผ่านประชามติรับรองไว้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่เราไปให้สัตยาบันไว้ก็บัญญัติรับรองไว้เช่นกัน การกระทำเช่นนี้ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ผลกระทบที่ตามมาย่อมตกแก่ประเทศไทยและคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“หมดยุคสมัยที่จะใช้คำว่าข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวแล้วครับ” ชำนาญ จันทร์เรือง ลงท้ายคำให้การในฐานะพยานแกนนำกลุ่ม MBK39

…………………

สำหรับ กิจกรรมดังกล่าวมีคนถูกดำเนินคดีทั้งหมด 39 ราย โดย 30 ราย ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  และชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ผู้ชุมนุม 2 ใน 30 รายยอมรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวน ศาลจึงพิพากษาให้จำคุก 12 วัน ปรับ 6,000 บาทลดโทษครึ่งหนึ่งจากการรับสารภาพ เหลือจำคุก 6 วัน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน  ส่วนคดีของผู้ชุมนุม 28 รายยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด แต่เบื้องต้นอัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นเสนอให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ  ส่วนอีก 9 ราย ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำจึงมีการเพิ่มข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ปัจจุบันความคืบหน้าในคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน

 

X