จับตา: คดีทนายประเวศกับโซ่ตรวน 112 อันเนิ่นนานยาว  

จับตา: คดีทนายประเวศกับโซ่ตรวน 112 อันเนิ่นนานยาว  

ประเวศ ประภานุกูล

29 เมษายน 2560 หากนับวันคร่าวๆ แล้วก็ถือว่าครบ 1 ปี การจองจำชีวิตอันเนิ่นนานยาวของประเวศ ประภานุกูล ทนายความวัย 58 ปี ซึ่งการหายตัวไปอย่างน่าวิตกของเขาในตั้งแต่วันนั้น กว่าจะเป็นที่รับรู้ผ่านสื่อมวลชนต้องรอไปจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ถัดจากนั้นอีกหนึ่งวัน ประเวศ ประภานุกูล และประชาชนอีกคน 5 คน ที่หายตัวไปอย่างลึกลับในช่วงเวลาเดียวกันจึงได้ปรากฏตัว ทว่าเป็นการปรากฏตัวในฐานะจำเลย บนศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

กล่าวเฉพาะประเวศ เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กอันมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 10 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในลักษณะเข้าข่ายปลุกระดมประชาชนตามมาตรา 116 อีก 3 กรรม รวมถึงการถูกแจ้งความใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) โดยเนื้อหาที่ถูกใช้เป็นหลักฐานคือการแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าชื่นชอบในระบอบสาธารณรัฐหรือสมาพันธรัฐ และยืนยันให้หลายๆ คนพูดเรื่องนี้เพราะไม่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112

ขณะที่พรุ่งนี้ (8 พฤษภาคม 2561) จะเป็นวันที่ ศาลอาญารัชดาได้นัดพิจารณาคดีภายใน 3 วันรวด ตั้งแต่วันที่ 8-10 พฤษภาคม ซึ่งประเวศยืนยันมาโดยตลอดว่า เขาปฏิเสธกระบวนการดำเนินคดีทุกรูปแบบ โดยต่อจากนี้ชีวิตของเขาจะเป็นเช่นไร ผู้คนอาจจะต้องช่วยกันจับตา

ที่มาที่ไปคดีประเวศ

ประเวศ ประภานุกูล คือทนายความที่มีบทบาทในการช่วยเหลือคดีแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาร้ายแรงหรือผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคม 2553 และยังเคยเป็นทนายความให้แก่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด‘ ในคดีมาตรา 112 รวมถึงให้ความช่วยเหลือแก่ลูกความที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเก็บดอกเบี้ยมหาโหดจากบริษัทที่ให้บริการบัตรเครดิต

ตลอดเวลาที่ถูกคุมขังประเวศ ประภานุกูล ได้พยายามยื่นคัดค้านการฝากขังและขอประกันตัวในคดีที่ถูกกล่าวหา แต่ทว่าเขาถูกปฏิเสธทุกครั้ง

วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับบันทึกการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำการตรวจค้นบ้านพักของนายประเวศย่านสายไหม กรุงเทพฯ และพบว่าการตรวจค้นเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 6.00-8.00 น. ของวันที่ 29 เมษายน 2560 โดยเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ช่วงเวลาเดียวกับที่มีข่าวสะพัดว่าประเวศ ประภานุกูล ได้ถูก คสช.จับกุมตัวไป และเมื่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้พยายามติดต่อประเวศก็ไม่สามารถติดต่อได้[[1]]

การปรากฏตัวในที่สาธารณะครั้งแรกของประเวศหลังจากถูกคุมตัว ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ศาลได้ทำการฝากขังเขา โดยไร้ซึ่งญาติที่มายื่นประกันตัว  ก่อนที่เขาถูกส่งเข้าเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางการตีพิมพ์ข่าวของเขาไปหลายสื่อทั่วโลก รวมถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ตีพิมพ์พาดหัวอย่างน่ากังวลว่า “ทนายด้านสิทธิของไทยอาจจะต้องถูกขังคุกถึง 150 ปี”[[2]]

จากการสอบถามของทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า 4 พฤษภาคม 2560 ประเวศได้ทำการอดข้าวประท้วง ขณะที่ถูกคุมขังร่วมกับผู้ต้องหาอีก 5 คน ใน มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) นอกจากนี้ทั้ง 6 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ควบคุมตัวในช่วงเช้าวันที่ 29 เมษายน 2560 โดยไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่แจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบว่าถูกควบคุมเพราะเหตุใด ก่อนจะพาตัวไปที่ มทบ.11

จากการตามไปสอบถามโดยทนายความพบว่า ผู้ถูกควบคุมตัวบางรายถูกปิดตาและมีผ้าคลุมศีรษะระหว่างเดินทางด้วย บางรายเล่าว่าถูกปิดตาทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารพาไปห้องน้ำ ในส่วนกรณีของประเวศพบว่า เมื่อไปถึง มทบ.11 เขาถูกแยกควบคุมตัว สอบปากคำ และซักถามประวัติส่วนตัว ซึ่งประเวศให้ความร่วมมือ และยอมลงชื่อในเอกสาร เพราะคิดว่าจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ระหว่างนั้นเขาขอโทรศัพท์ติดต่อบุคคลที่ไว้วางใจ แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอดอาหารเพื่อประท้วงการจำกัดสิทธิดังกล่าว[[3]]

26 มิถุนายน 2560 ทนายความของประเวศ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง อ้างเหตุกระทบสิทธิเสรีภาพและโอกาสต่อสู้คดีของผู้ต้องหา อีกทั้งจำเลยยังไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานไม่ได้ ถึงกระนั้นต่อมาศาลได้มีคำสั่งว่า พนักงานสอบสวนได้มีการสรุปสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว แต่จำเป็นที่จะต้องยื่นเรื่อง เพื่อทำความเห็นทางคดีเสนอผู้บังคับบัญชา สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อมีคำสั่งต่อไป และยังคงมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีความมั่นคงของ สตช. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการอยู่ จึงมีความจำเป็นต้องฝากขังต่ออีก 12 วัน

25 กรกฎาคม 2560 ศาลรับฟ้องคดี ‘ทนายประเวศ’ รวม 13 กรรม ทั้ง ม.112 – ม.116 พ่วง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปได้ว่า ในระหว่างวันที่ 25 มกราคม – 23 เมษายน 2560 ประเวศได้กระทำความผิดรวมทั้งหมด 13 กรรม ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวม 10กรรม และในข้อหากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) รวม 3 กรรม

จนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 2560 ‘ทนายประเวศ’ ได้ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทยในคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เขาได้เขียนคำร้องสองฉบับ ฉบับแรก เขาขอถอนทนายความก่อนยื่นหนังสือแถลงต่อศาล ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากเห็นว่าศาลมีส่วนได้เสียในการพิจารณาคดีมาตรา 112  และไม่ได้รับความเป็นธรรมในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ชี้เท่ากับการพิพากษาล่วงหน้าก่อนการฟ้องคดี

ขณะที่คำร้องฉบับที่ 2 ระบุว่าตัวเขาเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาลอาญา โดยถ้อยคำในคำสั่งของศาลที่ว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์” เนื้อความในคำร้องที่ประเวศเขียน ระบุว่า “ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงความคิดเห็นของศาลอาญาว่าตนได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายทั้งที่ยังไม่ได้มีการสืบสวนและยังไม่ได้มีการตัดสินว่าตนได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ เป็นการพิพากษาล่วงหน้าก่อนการฟ้องคดีด้วยซ้ำ”

เหตุผลในการสู้คดี

กล่าวได้ว่าการต่อสู้คดีของประเวศ ดำเนินต่อมาใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือการยืนยันสิทธิในการคัดค้านการฝากขังและสิทธิในการประกัน พร้อมกับคัดค้านการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการคุมขังบุคคลตามอำเภอใจ

คำให้การที่สำคัญของประเวศ ในวันที่ 18 กันยายน 2560 แสดงให้เห็นแนวทางการต่อสู้คดีของเขา เมื่อเขาแถลงต่อศาลว่าขอถอนทนายความและจะไม่ขอมีส่วนร่วมใดๆ ในการพิจารณาคดีนี้ ดังที่ประเวศได้ยื่นหนังสือแถลงต่อศาล 2 ฉบับ ที่เขียนด้วยลายมือของตนเองมาจากเรือนจำ ระบุว่า “ศาลไทยประกาศตนว่ากระทำในพระปรมาภิไธย  ศาลจึงมีส่วนได้เสียในการพิจารณาคดี ทำให้ขาดความเป็นกลางและขาดความชอบธรรมในการพิจารณาคดี”

บางช่วงบางตอนระบุว่า “…ขอประกาศไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ของศาลไทย โดยศาลอาญา และข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีนี้ โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายความเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล”

ในเวลาต่อมาประเวศ ได้แถลงเหตุผลในการต่อสู้ผ่านจดหมายจากเรือนจำ 3 ฉบับที่สะท้อนให้เห็นแนวทางการต่อสู้คดีของเขาเองที่ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด

จดหมายฉบับแรก ที่ถูกส่งออกมาจากเรือนจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 มีสาระสำคัญว่า “แท้จริงแล้วเป็นการฟ้องศาลไทยต่อชาวโลก เป็นการโจมตีไม่ใช่ป้องกัน หรือต่อสู้คดี มันเลยยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ไม่ว่าผลคดีของอาจะเป็นยังไง ประวัติศาสตร์โลกจะตัดสินศาลไทยในอนาคต และที่ว่าคนทั่วไปยากจะเข้าใจ ยังไงก็คงมีหลายคนเข้าใจ”

ขณะที่จดหมายฉบับที่สอง ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ระบุความรู้สึกของเขาเองว่า ศาลได้กำหนดผลคดีของเขาไว้ล่วงหน้า ปล่อยให้ตำรวจยึดเครื่องมือทำงานของเขาไป ทำให้เขาไม่มีเครื่องมือสำหรับต่อสู้คดี ขังไว้ทำให้ไร้ทางต่อสู้ทุกอย่าง จากนั้นก็บอกให้สู้คดีให้เต็มที่ บอกว่าเปิดโอกาสให้สู้คดีอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่สกัดกั้นการต่อสู้ไว้แล้วทุกทาง ในความเห็นของประเวศแล้วเขาเปรียบการต่อสู้คดีนี้เป็นการชกมวยโดย “ศาลเป็นกรรมการ มันคือการที่กรรมการจับเขามัดมือมัดเท้าอุ้มขึ้นเวที เรียกคู่ต่อสู้เข้ามาแล้วบอกชกได้ โดยกรรมการประคองตัวอา (ตัวประเวศเอง) ไว้ให้ฝ่ายตรงข้ามชกข้างเดียว”

ก่อนจะปิดท้ายที่จดหมายฉบับที่สาม 8 เมษายน 2561 ซึ่งระบุว่า “ถึงศัตรูของเสรีภาพ รวมทั้งผู้อาจเป็นศัตรู พวกเขาพึงระลึกว่าเสรีภาพเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุดของเรา เราจะเจรจาเสียสละเพื่อเสรีภาพแต่เราจะไม่ยอมจำนนเพื่อเสรีภาพตลอดไป”

นี่เป็นเพียงร่องรอยแนวทางการต่อสู้ที่ปรากฏออกมาเท่านั้น ยังมีจดหมายอีกบางฉบับที่ไม่สามารถหาต้นฉบับใดๆ ได้ แม้ว่าเขาจะยืนยันว่าได้ส่งออกมาจากนอกเรือนจำได้แล้ว

ร่วมจับตาประเด็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เวลา 9.00 น. ในวันพรุ่งนี้ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา จะเป็นนัดการพิจารณาคดีที่สำคัญของประเวศ ประภานุกูล นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ทหารหลายนายเข้าจับกุมจากบ้านพักไปที่ มทบ.11 ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2560 โดยไม่ได้มีการแจ้งหมายจับของศาลแต่อย่างใดและได้ยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและทรัพย์สินอย่างอื่นไปด้วย ระหว่างการควบคุมตัวที่ค่ายทหารไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งสิทธิและไม่สามารถแจ้งญาติหรือบุคคลอื่นว่าตนเองถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารได้ จนถึงวันนี้ก็ล่วงเวลากว่าปีกว่าแล้ว

ด้วยแนวทางการต่อสู้คดีที่ประสงค์ไม่เข้าร่วมกระบวนการใดๆ ในคดี ไม่ว่าจะเป็นการถอนทนายความ 3 คน และประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล ก็ทำให้การสืบพยานโจทก์เพียงฝ่ายเดียวในวันพรุ่งนี้ 8 -10 พฤษภาคม 2561 จำเป็นต้องจับตาดูกันว่าคดีของเขาจะลงเอยเช่นไร

 

[[1]] https://tlhr2014.com/?p=4163

[[2]] https://www.reuters.com/article/us-thailand-rights/thai-rights-lawyer-faces-up-to-150-years-in-prison-for-royal-insult-idUSKBN18007Y

[[3]] https://tlhr2014.com/?p=4194

X