“ไผ่” ชี้การทำรัฐประหารคือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง

‘ไผ่ ดาวดิน’ เบิกความเป็นพยานให้ตนเองในคดีชูป้ายค้านรัฐประหาร ชี้ การทำรัฐประหารเป็นความผิดฐานเป็นกบฏ คสช. อ้างรักษาความสงบและการปราบคอร์รัปชั่นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

15 พ.ค. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร์  นัดสืบพยานจำเลยปากแรกในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เป็นจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

นัดนี้ไผ่ขึ้นเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง โดยอธิบายความหมายของป้ายผ้าและป้ายกระดาษจำนวน 5 แผ่น ที่ถูกยึดในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 ป้ายดังกล่าวมีข้อความว่า “ม.นอกระบบ”, “เหมืองเถื่อน เมืองเลย”, “เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก”, “ที่ดินสู้กันมาตั้งนาน เกิดรัฐประหารไล่รื้ออย่างเดียว” และ “คัดค้านรัฐประหาร” ทั้งนี้ ไผ่อธิบายว่า “ม.นอกระบบ” หมายถึง คัดค้านการเอามหาลัยออกนอกระบบ เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้นักศึกษา “เหมืองเถื่อน เมืองเลย” หมายถึง กรณีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเมืองเลยถูกล้อมตีกลางดึก ก่อนรัฐประหาร แต่พอหลังรัฐประหารทหารเข้าไปแทรกแซง ทำให้เรื่องนี้เงียบ “เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก” หมายถึง หลังรัฐประหาร ประชาชนไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแผนพัฒนา “โขง เลย ชี มูล”  ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีการสร้างเขื่อนและผันน้ำมาจากแม่น้ำโขง “ที่ดินสู้กันมาตั้งนาน เกิดรัฐประหารไล่รื้ออย่างเดียว” หมายถึง หลังรัฐประหารชาวบ้านไม่สามารถต่อสู้หรือเคลื่อนไหวเรื่องที่ทำกินได้ และ คสช.ออกคำสั่งไล่รื้ออย่างเดียว

ส่วนแผ่นป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” ไผ่เบิกความอธิบายว่าหมายถึง ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เนื่องจากการทำรัฐประหารคือ การประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง กล่าวคือ เป็นการยกเลิกฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การทำรัฐประหารยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อหากบฏ เป็นการทำลายประชาธิปไตย ไผ่ยังเห็นว่า คำสั่งของ คสช. ไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจากไม่มีเหตุผลและไม่เป็นธรรม มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 ก็เป็นปัญหา เนื่องจากรับรองให้คำสั่งของ คสช.เป็นกฎหมาย เป็นการให้อำนาจทหารทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบอำนาจได้ และเป็นเรื่องที่อันตรายมากในระบอบประชาธิปไตย

ไผ่ยังเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า เขาไม่ได้คิดว่าการคัดค้านรัฐประหารหรือการสนับสนุนรัฐประหารอย่างไหนถูกต้อง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะคิด สังคมควรมีเหตุผลที่จะฟังกันและกัน แต่สำหรับเขาคิดว่าการคัดค้านรัฐประหารเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมในขณะนั้น นอกจากนี้ ไผ่ยังเบิกความชี้ให้เห็นว่า หลังจากมีการทำรัฐประหาร เสรีภาพในการแสดงออกถูกจำกัด และคนที่ออกมาคัดค้านหรือเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ จะถูกดำเนินคดี ดังในกรณีของเขา การที่ทหารอ้างเรื่องการรักษาความสงบและการปราบคอรัปชั่นในการทำรัฐประหารนั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจถ่วงดุลกันอยู่แล้ว ข้ออ้างดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของทหาร อีกทั้งการทำรัฐประหารไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีอำนาจถ่วงดุล

อย่างไรก็ตาม หลังการเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองของไผ่ในช่วงเช้า ทนายจำเลยแถลงว่า ยังมีประเด็นที่ทนายจำเลยต้องถามจำเลยอีกหลายประเด็น แต่เนื่องจากศาลติดราชการ ไม่สามารถทำการพิจารณาต่อได้ในช่วงบ่าย จึงให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยปากนี้ออกไป พร้อมกับนัดสืบพยานจำเลยที่เหลืออีก 3 ปาก ในวันที่ 9-10 ก.ค. 61 โดยทนายจำเลยแถลงว่า พยานจำเลยอีก 3 ปาก จะเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้เชื่ยวชาญด้านกฎหมาย และนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์

 

บันทึกคำให้การพยานจำเลยตอบคำถามนายจำเลย

ข้าฯ จบการศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะเรียนอยู่กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ ดาวดิน ตั้งแต่เข้าปี 1 (พ.ศ.2553) กลุ่มดาวดินทำกิจกรรมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้สังคมและนำปัญหาที่ได้เรียนรู้มาเผยแพร่ และได้ไปลงพื้นที่จริง โดยเน้นปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากร นอกจากนี้ดาวดินยังเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการคัดค้านการเอามหาลัยออกนอกระบบ และเนื่องจากในวันเกิดเหตุ (22พ.ค.58) มีการชูป้ายอยู่ 5 แผ่นและมีห้าข้อความโดยมี

แผ่นป้ายที่ 1 “ม.นอกระบบ”

ดาวดินคัดค้านการเอามหาลัยออกนอกระบบ (ม.นอกระบบ) ตั้งแต่ ข้าฯ เข้ากลุ่มดาวดิน ก็เคลื่อนไหวเรื่องนี้อยู่แล้ว เนื่องจากการเอามหาลัยออกนอกระบบเป็นการผลักภาระให้นักศึกษา กล่าวคือ จากเดิมรัฐจะช่วยจ่ายค่าเทอมให้นักศึกษา แต่ถ้าเอามหาลัยออกนอกระบบ นักศึกษาก็จะได้จ่ายเองทั้งหมด และการออกมาคัดค้านนั้นมันจะช่วยให้เรื่องดังกล่าวชะลอ ทั้งนี้ ก่อนรัฐประหารยังมีการเคลื่อนไหว คัดค้าน เรื่อง ม.นอกระบบ ทำให้เรื่องชะลอและไม่กล้าเอามหาลัยออกนอกระบบ แต่พอหลังรัฐประหาร อธิการบดีถูกแต่งตั้งให้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และถูกแต่งตั้งเข้าสภา หลังจากนั้นมหาลัยก็ถูกทำให้ออกนอกระบบ ซึ่งแนวคิดเรื่องแปรรูปการศึกษามีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ต่อมาถ้าคณะไหนก่อตั้งขึ้นหลัง พ.ศ. 2542 จะต้องออกนอกระบบ ส่วนคณะไหนตั้งก่อน พ.ศ. 2542 ให้อยู่ในระบบเดิม จากนั้นในช่วงปี 2554 มีนักศึกษาออกมาคัดค้านเกี่ยวกับ ม.นอกระบบ ข้าฯ อธิบายให้เห็นว่า ถ้ารัฐไม่มีแนวคิดแบบนี้ เราก็ไม่คัดค้าน เพราะเราต่อต้านเรื่องนี้มาตลอด ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งมาคัดค้าน เพราะก่อนหน้ารัฐบาลนี้ เราก็ทำและสามารถออกมาคัดค้านและแสดงออกได้ จนสามารถยกระดับการต่อสู้เพื่อต่อรองอำนาจรัฐเราก็เคยทำได้ แต่พอรัฐประหารเรากลับทำไม่ได้

แผ่นป้ายที่ 2 “เหมืองเถื่อน เมืองเลย”

ขณะเป็นนักศึกษา ข้าฯ ได้เข้าไปเผยแพร่กฎหมายสิทธิ โดยการอบรมกับชาวบ้าน ข้าฯ ได้ไปลงพื้นที่ศึกษากรณีเหมืองแร่ที่เมืองเลยร่วมกับชาวบ้าน และได้เห็นถึงปัญหาจึงได้ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน แต่ก่อนหน้านั้นรุ่นพี่ได้เคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านอยู่แล้ว เนื่องจากนายทุนมีอำนาจเหนือรัฐ หมายถึง นายทุนก็ใช้รัฐเป็นเครื่องมือและอำนาจ ส่วนชาวบ้านก็ใช้สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญในการต่อสู้กับรัฐ ทำให้ปัญหาเรื้อรังเพราะชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้ และนี่คือความขัดแย้ง ข้าฯ ยกตัวอย่างกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเมืองเลยถูกล้อมตีกลางดึก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร แต่พอหลังรัฐประหารทำให้เรื่องนี้เงียบ โดยมีทหารเข้าไปแทรกแซง

นอกจากนี้ภายหลังรัฐประหาร มีทหารเข้าไปในพื้นที่ ห้ามไม่ให้ชาวบ้านชุมนุมกันเกิน 5 คน แม้แต่ชาวบ้านจะประชุมกันก็ทำไม่ได้ หรือแม้แต่เวลาที่ข้าฯ และเพื่อนนักศึกษาจะเข้าไปให้ความช่วยแหลือเรื่องกฎหมายยังต้องขออนุญาต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ อีกทั้งตั้งแต่หลังรัฐประหารยังทำให้ขั้นตอนของการทำ EIA ลดลง เป็นการตัดทอนกระบวนการ และพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อนายทุน และยิ่งทุนเหนือรัฐเผด็จการ ยิ่งทำให้ง่ายและมีอำนาจมากขึ้น

แผ่นป้ายที่ 3 “เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก”

กล่าวคือ มันเป็นแผนพัฒนาเรื่องเขื่อน ชื่อ “โขง เลย ชี มูล”  ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ผ่านมาทางเลย ลงแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล นี่คือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐก่อนรัฐประหารและเราสามารถคัดค้านได้ เราเคยให้ข้อมูลกับชาวบ้าน โดยการถือโทรโข่ง ปราศรัย และชูป้าย แจกใบปลิว พูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านได้ แต่พอหลังรัฐประหารเราไม่สามารถทำได้

แผ่นป้ายที่ 4 “ที่ดินสู้กันมาตั้งนาน เกิดรัฐประหารไล่รื้ออย่างเดียว”

กรณีที่ดินก่อนรัฐประหาร ชาวบ้านต่อสู้เรื่องที่ดินมานานและอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานและชาวบ้านก็ต่อสู้ได้ แต่พอรัฐประหารชาวบ้านไม่สามารถต่อสู้หรือเคลื่อนไหวอะไรได้ และ คสช.กลับออกคำสั่งไล่รื้ออย่างเดียว เช่น กรณีที่มีข้อพิพาทกับรัฐ บางคนถูกดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเขาก็ต่อสู้จนได้อาศัยอยู่ หรือบางพื้นที่ก็อยู่ในช่วงพัฒนาข้อเสนอและดำเนินการ ทั้งนี้การต่อสู้ของรัฐจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ส่วนชาวบ้านจะใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์

แผ่นป้ายที่ 5 คัดค้านรัฐประหาร

หมายถึงการคัดค้านรัฐประหารที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 ข้าฯ อธิบายเพิ่มว่า เมื่อปี 2556 มีการเคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งเป็นการคัดค้านของกลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งโดยส่วนตัวข้าฯ ก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรม แต่ข้าฯ เห็นด้วยว่าชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อยควรจะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ข้าฯ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับระดับผู้นำ เช่น คนที่สั่งการสลายการชุมนุม หรือทหารระดับผู้สั่งการเป็นต้น และกลุ่มดาวดินก็ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ และยังเคยถูกทาบทามให้ไปเป็นแกนนำที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ไป

ต่อมาในตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยอมถอยโดยการประกาศยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้ง  แต่กลุ่ม กปปส. กลับไม่ยอมถอยและมีท่าทีทำให้สถานการณ์นำไปสู่เงื่อนไขการทำรัฐประหาร จากนั้นดาวดินก็ถอยออกมาและไม่ร่วมกับแนวทางของ กปปส.อีกเลย เนื่องจาก กปปส.ไม่ยอมเลิกชุมนุมและมีข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จากนั้นมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้งจากกลุ่ม กปปส. ซึ่งทางกลุ่มดาวดินไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่ม กปปส. และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ไปยื่นเรื่องที่ศาลปกครองว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ถูกต้องและจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่รัฐประหาร แต่ศาลปกครองไม่รับเรื่อง ทั้งนี้การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะได้ ต้องเกิดจากภัยพิบัติ ไม่ใช่เกิดจากภัยที่เกิดจากมนุษย์ และดาวดินออกมาพูดต่อสาธารณะเพื่อสื่อถึงกลุ่ม กปปส. ว่าการกระทำของกลุ่ม กปปส.จะทำให้ประเทศล้าหลัง

ก่อนรัฐประหารมีการใช้รถทหารและทหารมีการตรึงกำลัง มีการประกาศกฎอัยการศึก และในช่วงนั้นมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. ส่วนการที่ทหารอ้างว่าการที่มีการชุมนุมปิดสถานที่ราชการ จึงมีการทำรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และการที่ทหารอ้างว่าจะเข้ามาเพื่อปราบคอรัปชั่น ข้าฯ คิดว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะปกติก็มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และนิติบัญญัติคอยถ่วงดุลกันอยู่ และเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้วและทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐ ดังนั้นรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการปัญหา เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาดังกล่าว และให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ การที่ทหารเข้ามาและบอกว่าเพื่อจัดการกับปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของทหาร อีกทั้งการทำรัฐประหารไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการถ่วงดุล ดังนั้นการทำรัฐประหารก็มีการคอรัปชั่นได้เช่นกัน เช่น เรื่องของไมโครโฟน เรื่องนาฬิกาและเรื่องอุทยานราชภักดิ์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถพูดได้

ข้าฯ มองว่าการทำรัฐประหาร คือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง กล่าวคือ เป็นการยกเลิกฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ และฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ทั้งนี้ การทำรัฐประหารมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อหากบฏ และข้าฯ กับกลุ่มเพื่อนดาวดินเคยไปยื่นต่อศาลว่า คสช.เป็นกบฏ ซึ่งกบฎเป็นผลทางกฎหมาย ส่วนผลทางการเมืองนั้น การทำรัฐประหารคือการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วทหารเข้ามาทำรัฐประหาร แถมยังออกคำสั่งให้คนต้องทำตาม ข้าฯ คิดว่าสิ่งเหลานี้ไม่มีความชอบธรรมและขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชาชน เพราะเป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามเท่านั้น เหมือนกับตอนนี้ที่ข้าฯ ต้องมาอยู่ตรงนี้ก็เพราะการทำตามคำสั่ง และสิ่งเหล่านี้เป็นการตัดตอนกระบวนการของประชาธิปไตย อีกทั้งเขากลับอ้างตนว่าเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย และเป็นคนที่ทำลายคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ การที่ข้าฯ ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกลับเป็นคนผิดและถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดนั้นมันคือยุคที่ผิดเพียน

ข้าฯ เห็นว่าคำสั่งของ คสช. ไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจากโดยหลักของกฎหมายเป็นเรื่องหลักการและเหตุผล แต่คำสั่งของ คสช. ไม่มีเหตุผลและไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการห้ามคิดห้ามแสดงออก อีกทั้งก่อนหน้านี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญายังเคยมีคำพิพากษาปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร ในคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า “หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป”

นอกจากนี้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 ยังเป็นปัญหา เนื่องจากรับรองให้คำสั่งของ คสช.เป็นกฎหมาย เป็นการให้อำนาจทหารทั้งนิติบัญญัติ ตุลาการและบริหาร ซึ่งไม่มีเหตุผล ไม่สามารถตรวจสอบอำนาจได้ และทำให้อำนาจผิดเพี้ยนตามผู้ใช้อำนาจและเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากในในระบอบประชาธิปไตย

ต่อมาในช่วงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางมาที่ จ.ขอนแก่น เพื่อมาทำภารกิจและก่อนหน้านั้นพลเอกประยุทธ์ เคยประกาศว่าคนทั้งประเทศเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร จึงทำให้ข้าฯ และเพื่อนต้องทำให้เขาเห็นว่าในประเทศนี้ยังคงมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารอยู่ เราเห็นว่าการอยู่เฉยๆ อาจจะถูกเหมารวมว่าเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ข้าฯและเพื่อนจึงออกมาคัดค้านด้วยการชู 3 นิ้วซึ่งเป็นการยืนเฉยๆ โดยไม่พูดอะไร  และมีข้อความบนเสื้อว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประหาร” โดยใส่กัน 5 คน คนละ 1 คำ

ทั้งนี้การชู 3 นิ้วหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีเพราะข้าฯ เชื่อมั่นในวิธีการสันติวิธี แต่การกระทำของข้าฯ และการเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ทหาร ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่เข้าจับตัวอย่างรวดเร็วและถูกนำตัวมาปรับทัศนคติในค่ายทหาร

ข้าฯ ไม่ได้คิดว่าการคัดค้านรัฐประหารหรือการสนับสนุนรัฐประหารอันไหนถูกต้องที่สุด เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะคิด สังคมควรมีเหตุผลที่จะฟังกันและกัน แต่ข้าฯ คิดว่าการคัดค้านรัฐประหารเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมในขณะนั้น ข้าฯ ไม่ยอมรับการปรับทัศนคติและไม่ยอมเซ็นว่าได้ปรับทัศนคติ เพราะถ้าเซ็นเท่ากับว่ายอมรับการปรับทัศนคติ และสนับสนุนว่าการปรับทัศนคติเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จากนั้นข้าฯ ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับเพื่อนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.จุฬาฯ ม.บูรพา ในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือ NDM

 

อ่านคำให้การพยานโจทก์:

หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี

สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย

นักข่าวเผยเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายภาพขณะนักศึกษาดาวดินถูกจับกุม

‘ไผ่’ แถลงกลางศาล พยานจับกุมโดยอ้างเพียงคำสั่ง ไม่คำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย

ประหลาด! ค้านรัฐประหาร ต้องขออนุญาต คสช. พงส.ชี้ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุน รปห.

 

X