อ่านคำแถลงใหม่ “ทนายประเวศ” ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ก่อนศาลพิพากษาคดี ม.112-116 พรุ่งนี้

พรุ่งนี้ (23 พ.ค. 61) ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนายประเวศ ประภานุกูล อาชีพทนายความ ซึ่งถูกกล่าวหาจากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว อันมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวมแล้ว 10 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหาปลุกปั่นยุยงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์ข้อความเช่นกัน จำนวน 3 กรรม, ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) และข้อหาฝ่าฝืนประกาศคมช.ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8-9 พ.ค. 61 ศาลได้นัดสืบพยานในคดีนี้ โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 6 ปาก และเนื่องจากจำเลยประกาศไม่ยอมรับกระบวนการของศาลยุติธรรม จึงยืนยันไม่แต่งตั้งทนายความ และไม่ยื่นบัญชีพยานจำเลย คดีนี้จึงมีการสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว

นอกจากนั้นในการสืบพยาน อัยการโจทก์ยังได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยระบุเรื่องการป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน และเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงสั่งให้มีการพิจารณาลับ ให้เหลือเฉพาะจำเลย และพยานที่จะเบิกความในการพิจารณาคดีเท่านั้น เมื่อการสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 23 พ.ค.2561 เวลา 9.00 น.

คดีทนายประเวศกับโซ่ตรวน 112 อันเนิ่นนานยาว

สืบพยานโจทก์คดีประเวศ นัดแรกพิจารณาลับ

ตลกร้าย ทนายประเวศ หลักการพิจารณาโดยเปิดเผย และสิทธิที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ

 

 

สู้โดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของศาล

ในคดีนี้ ตั้งแต่ในนัดพร้อมของศาล ทนายประเวศ ประภานุกูล ได้ยื่นคำร้องที่เขียนด้วยลายมือของตนเองจากเรือนจำ โดยคำร้องระบุส่วนหนึ่งว่า ศาลไทยประกาศตนว่ากระทำในพระปรมาภิไธย ศาลจึงมีส่วนได้เสียในการพิจารณาคดี ทำให้ขาดความเป็นกลางและขาดความชอบธรรมในการพิจารณาคดี จำเลยจึง “ขอประกาศไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ของศาลไทย โดยศาลอาญา และข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีนี้ โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายความเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล”

ขณะเดียวกัน คดีนี้จำเลยเคยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว 1 ครั้ง ในนัดไต่สวนฝากขังระหว่างชั้นสอบสวน และศาลไม่อนุญาต โดยระบุเหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของประชาชน โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย   ทำให้นับตั้งแต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจากบ้านไปค่ายทหาร เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560 ตามมาด้วยการนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ในวันที่ 3 พ.ค. 2560 และศาลอนุญาตให้ฝากขัง จำเลยถูกคุมขังมาจนถึงปัจจุบันมาเป็นระยะเวลา 1 ปี เศษแล้ว

ไม่ใช้ทนาย ไม่ให้การ ไม่ยอมรับอำนาจศาล : ทนายประเวศแถลงคดี 112

 

คำแถลงยืนยันไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมซ้ำอีกครั้ง: อ่านแถลงจำเลยจากเรือนจำอีก 3 ฉบับ

นอกจากนั้น ก่อนเริ่มการสืบพยานเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทนายประเวศยังได้แถลงต่อศาลสอบถามถึงคำแถลงการณ์ของตนฉบับที่ 5-7 ซึ่งได้ยื่นต่อศาลในระยะช่วงเดือนมีนาคม 2561 ก่อนเริ่มการสืบพยาน แต่ไม่พบในสำนวนคดีเมื่อมาขอคัดถ่าย ต่อมาศาลได้ตรวจสอบ และพบว่าแถลงการณ์ดังกล่าวติดค้างอยู่ จึงได้นำกลับเข้าในสำนวนใหม่

สำหรับแถลงการณ์ในฉบับที่ 5 ทนายประเวศอธิบายถึงกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล ว่าคือกระบวนการพิสูจน์ความจริง  เป็นกระบวนการดำเนินคดีอาญาอย่างยุติธรรม คือพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทั้งสองด้าน คือด้านที่พิสูจน์ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ และด้านที่พิสูจน์ว่าผู้ต้องหากระทำความผิด เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นจึงสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ  ซึ่งพนักงานอัยการจะพิจารณาข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆ หากมีข้อสงสัย หรือเห็นว่าพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนก็ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งรวมทั้งประเด็นที่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อได้พยานหลักฐานครบถ้วนแล้วและเห็นควรสั่งฟ้องคดี ก็ต้องฟ้องคดีตามข้อความจริงต่อศาลที่เป็นกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด และพิจารณาพิพากษาอย่างเป็นกลาง

จำเลยเห็นว่ากระบวนการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ไม่ได้ดำเนินตามหลักการดังกล่าว เมื่อมีการแจ้งความกล่าวหา พนักงานสอบสวนจะร้องขอออกหมายจับทันที โดยการร้องขอออกหมายจับมีพยานหลักฐานเพียงบันทึกคำให้การผู้แจ้งความเท่านั้น เมื่อได้รับหมายจับก็จะทำการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาทันที เป็นการข้ามขั้นตอนปฏิบัติไป “ในการดำเนินคดีข้อหานี้ ผู้ถูกกล่าวหาจึงถูกโจมตีโดยไม่รู้ล่วงหน้า (Justice attack)” ตั้งแต่เริ่มต้น

ในการสอบสวนคดีของทนายประเวศเอง “พนักงานสอบสวนมุ่งแต่แสวงหาหลักฐานพิสูจน์ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด อันเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพียงด้านเดียว” เมื่อพบเห็นพยานหลักฐานใดที่แก้ต่างหรือหักล้างข้อหาที่จะฟ้องก็ได้ข้ามไปไม่กล่าวถึง ทั้งยังมีการยึดเครื่องมือสื่อสารในขณะตรวจค้นทำให้ผู้ต้องหาไร้เครื่องมือแสวงหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างข้อกล่าวหาที่ถูกตั้ง รวมไปถึงการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหา อันเป็นการมุ่งทำลายล้างผู้ถูกกล่าวหา โดยใช้การดำเนินคดีอาญาเป็นเครื่องมือ

ต่อมาในชั้นอัยการก็ได้มีความพยายามอย่างมากที่จะดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาที่มีโทษสูง และอาจทำให้จำเลยถูกพิพากษาในอัตราโทษสูง  และข้อความช่วงหนึ่งที่จำเลยถูกฟ้องที่ระบุว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์นั้นไม่เป็นความจริง เพราะนับแต่คสช. ได้ทำการยึดอำนาจไปจากรัฐบาลพลเรือน ได้มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลายประการ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ตนเอง การห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมือง และไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของคสช. ระบอบการปกครองแบบนี้ไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้เลย เป็นได้เพียงเผด็จการทหาร “ความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อยู่ที่ระบบการปกครอง หาใช่ถ้อยคำในกฎหมายไม่” สิ่งเหล่านี้อัยการทราบดี แต่ได้ทำการบิดเบือนโดยหวังว่าศาลจะหลงลงโทษจำเลยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

“กระบวนการดำเนินคดีอาญาคดีนี้ จึงหาใช่กระบวนการยุติธรรมไม่ หากแต่เป็นกระบวนการฟอกขาวให้กับกระบวนการไล่ล่าฆ่าล้างคนเห็นต่างทางการเมืองของรัฐบาลเผด็จการทหารและคสช. กระบวนการดังกล่าวได้รับการประทับตรารับรองทางกฎหมายโดยศาล”

“วัตถุประสงค์ของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ของศาล ก็ยังคงเป็นการจำขังข้าพเจ้าจนตายคาคุก หรืออย่างน้อยก็จำคุกข้าพเจ้าเป็นเวลา 50 ปี ข้าพเจ้าจึงขอคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ว่าศาลไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ศาลไร้ความชอบธรรมในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้”

 

อัยการศาลยอมรับประกาศคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

ขณะที่แถลงการณ์ฉบับที่ 6 แถลงเรื่องข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศคมช. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือที่จำเลยถูกฟ้องมาด้วย โดยทนายประเวศเห็นว่าประกาศฉบับนี้ออกโดยคณะทหารที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2549 และล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร ทนายประเวศจึงตั้งคำถามว่าการที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องข้อหานี้เป็นการยอมรับประกาศของคณะกบฏดังกล่าวเป็นกฎหมาย และขอให้ศาลบังคับใช้ประกาศดังกล่าวเฉกเช่นกฎหมายเช่นนี้ เป็นการร่วมก่อการกบฏหรือไม่ เช่นเดียวกับการที่ศาลประทับรับฟ้อง

 

ศาลไร้ความชอบธรรม เพราะพิพากษาล่วงหน้าและพิจารณาคดีลับ

ส่วนแถลงการณ์ฉบับที่ 7 แถลงยืนยันคัดค้านการพิจารณาคดีนี้โดยศาลที่ไม่ชอบธรรม ไม่เพียงเป็นการพิพากษาคดีล่วงหน้าเท่านั้น การนัดสืบพยานโจทก์ข้างเดียว โดยสั่งให้เบิกตัวจำเลยไปศาลด้วยทุกครั้ง มีเจตนาบังคับให้จำเลยนั่งดูการสืบพยานข้างเดียว เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่า “ได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลย” บังคับให้ตนเป็นตรายางประทับรับรองกฎหมายให้กับการพิพากษาจำคุกตน ขณะเดียวกันทนายประเวศยังยืนยันว่าการจะสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้น

“การพิจารณาคดีลับที่ศาลจะสั่งในวันนัด จึงเป็นเพียงการปิดประตูเพื่อปิดบังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีจากการรับรู้ของสาธารณชนภายนอก เปรียบได้กับการ “ปิดประตูตีแมว” ในห้องพิจารณาคดีที่ปิดลับ มีศาลและโจทก์ที่ร่วมกันสืบพยานโจทก์ข้างเดียว ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีเพียงข้าพเจ้าผู้เป็นจำเลยเพียงคนเดียว สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเบื้องหลังประตูที่ปิดลับ จึงอาจเป็นการใช้อำนาจป่าเถื่อนแก่ข้าพเจ้าซึ่งอยู่ตัวคนเดียว”

 

 

X