ไม่ไต่สวนคำร้องคัดค้านฝากขัง ศาลให้ประกันตั้งเงื่อนไขห้ามคนอยากเลือกตั้งชุมนุมการเมือง

วันนี้ (24 พ.ค.61) พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้งชุมนุมและเดินขบวน ในวันที่ 21-22 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งภายในปีนี้ ไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดา โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ กลุ่มที่ถูกคุมตัวที่ สน.พญาไท 10 คน และถูกคุมตัวที่ สน.ดินแดงอีก 5 คน

ได้แก่ อานนท์ นำภา, ชลธิชา แจ้งเร็ว, ณัฏฐา มหัทธนา, เอกชัย หงส์กังวาน, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, คีรี ขันทอง, พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์, วิโรจน์ โตงามรักษ์, ปัญญา (นามสมมติ) และภาคภูมิ (นามสมมติ) อีกกลุ่ม ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ปิยรัฐ จงเทพ, วิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์ และนิกร วิทยาพันธุ์

แจ้งข้อกล่าวหา  

สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแกนนำ 8 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ชลธิชา แจ้งเร็ว, ณัฏฐา มหัทธนา, เอกชัย หงส์กังวาน, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และปิยรัฐ จงเทพ ถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่งในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, และฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 108 เดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร โดยรังสิมันต์, สิรวิชญ์ และปิยรัฐ ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114 กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ด้วย

และต่อมา พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแกนนำทั้งแปดเพิ่มในข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ศ.2558 คือ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ตามมาตรา 15(2)(4)(5), ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16(1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19

ในส่วนของผู้ชุมนุม 7 คน ได้แก่ คีรี ขันทอง, พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์, วิโรจน์ โตงามรักษ์, ปัญญา (นามสมมติ), ภาคภูมิ (นามสมมติ), วิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์ และนิกร วิทยาพันธุ์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่งในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, และฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 108 เดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร โดยวิเศษณ์ และนิกร ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114 กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ด้วย

นอกจากนี้ มีการแจ้งข้อหาผู้ชุมนุมทั้งเจ็ดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คือ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16(1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19

 

ความเคลื่อนไหววันนี้ 

ในช่วงเช้า ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เวลา 8.30 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้เดินทางมาตรวจสำนวนการสอบสวนคดีการจับกุมตัวแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จำนวน 15 คน ที่ สน.ชนะสงคราม หลัง คสช.ได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนครบกำหนดการควบคุมตัว 48 ชั่วโมง โดยสั่งให้สอบปากคำเพิ่มเติมในบางประเด็น เนื่องจากมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำนวน 80 คน มาร้องทุกข์ที่ สน.นางเลิ้ง และยื่นหนังสือที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่าได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดข้อกังวลและส่งผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 10 นาย ซึ่งในกรณีเจ้าหน้าที่ได้ทำหนังสือขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งความคนอยากเลือกตั้ง เตรียมส่งศาลฝากขัง ทางมหาวิทยาลัยได้แถลงไม่ดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้

12.30 น. ผู้ต้องหาที่ถูกคุมตัวอยู่ที่ สน.พญาไท และที่ สน.ดินแดง ทยอยเดินทางมาถึงศาลอาญา รัชดา โดยลงจากรถทักทายผู้มาให้กำลังใจก่อนจะเดินเข้าห้องพิจารณาเวรชี้

12.40 น. พนักงานสอบสวนกำลังยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 15 คน โดยทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยยกเหตุผล ดังนี้

– ผู้ต้องหาใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยเป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ  ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมไม่มีเหตุความวุ่นวาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้ใด  การชุมนุมที่ถูกกล่าวหาไม่ใช่การก่อเหตุอันตราย ประกอบทั้งผู้ต้องหาไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งเกี่ยวกับคดีนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุมซึ่งพยานหลักฐานในคดีนี้ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือภาพบันทึกวีดีโอเหตุการณ์ก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้ว การปล่อยตัวผู้ต้องหาจึงไม่เป็นอุปสรรคและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

– ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอนและไม่มีเจตนาที่จะหลบหนีแต่ประการใด คดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้ต้องหาจนเสร็จแล้ว นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังสร้างภาระเกินจำเป็นกับผู้ต้องหา ยังกระทบต่อการศึกษาเล่าเรียน ทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก

– ความผิดตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 เป็นความผิดทางการเมือง กล่าวคือ ความผิดตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ว่า “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” นั้น เป็นคำสั่งที่ออกมาโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายหลังจากที่ได้ยึดอำนาจในการปกครองประเทศแล้ว โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการความเห็นชอบจากประชาชน

– การใช้เสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมือง ของบุคคลที่มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายร่วมกันอันเกิดขึ้นจากความสมัครใจรวมตัวกันของปัจเจกบุคคล และ เป็นวิธีในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของมวลชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนและกระตุ้นเตือน “รัฐบาล” ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหาร

15.20 น. ศาลยกคำร้องคัดค้านการฝากขังของผู้ต้องหา โดยไม่ได้ทำการไต่สวน และมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 15 คน

ในเวลาต่อมาทนายความผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้ง ทั้ง 15 คน ได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาคนละ 100,000 บาท

ความเห็นของศาล 

ผู้พิพากษาเวรชี้ได้ถามผู้ต้องหาว่า คัดค้านการฝากขังใช่หรือไม่ อานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ต้องหาตอบว่า ใช่ ก่อนที่ศาลแจ้งว่าเลยกระบวนการขั้นนั้นมาแล้ว ให้ไปขอใช้สิทธิประกันตัวหรือใช้สิทธิอุทธรณ์แทน โดยคำสั่งอนุญาตฝากขังระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ในชั้นพิจารณา เมื่อคดีอยู่ในระหว่างพนักงานสอบสวนซึ่งสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีเหตุที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังระหว่างสอบสวน และอนุญาตให้ผู้ร้องฝากขังได้ตามขอ

ต่อมาทางด้านทนายความและนายประกันของผู้ต้องหา ยื่นเรื่องเพื่อขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 100,000 บาท เฉพาะกรณีของณัฏฐา มหัทธนา ระบุเพิ่มเติมว่า หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติม อาจเรียกหลักประกันเพิ่ม นอกจากนี้ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขการให้ประกันผู้ต้องหาทั้ง 15 ว่า ห้ามผู้ต้องหาทำการชุมนุมทางการเมืองอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายแก่สาธารณชน

หมายเหตุ แก้ไขข้อมูลเมื่อวันที่ 25 พ.ค.61 เวลา 16.40 น. 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนฝากขังกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง-ธรรมศาสตร์แถลงไม่ดำเนินคดี

 

X