“ไนท์” ชี้การดำเนินคดีกับคนเห็นต่างทางความคิด เป็นการตัดทอนการใช้สิทธิที่ง่ายที่สุด

 

ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 สืบพยานผู้ร่วมจับกุม 7 นักศึกษาคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ด้านภานุพงศ์ชี้การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยเป็นทัศนคติที่ดี จึงไม่จำเป็นต้องปรับทัศนคติกับเผด็จการ

24 พ.ค. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ (มทบ.23) นัดสืบพยานโจทก์ในคดีชูป้ายรัฐประหาร ของนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนซ์” อดีตนักกิจกรรมกลุ่มดาว จากการจัดกิจกรรมชูป้ายในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ของ 7 นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 โดยอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้อง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 102/2560 ที่ผ่านมาอัยการศาล มทบ.23 ยื่นฟ้อง ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เพียงคนเดียว และยื่นฟ้องภานุพงศ์ เป็นคนที่ื 2  เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 60 จึงถูกแยกเป็นอีก 1 คดี

ก่อนที่จะเริ่มสืบพยานในวันนี้ จำเลยได้มีความประสงค์ขอแต่งนายศุภณัฐ บุญสด เข้าเป็นทนายร่วมของตนในคดีนี้ ศาลอนุญาต จากนั้นโจทก์เริ่มนำสืบพยาน โดยพยานในวันนี้คือ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยทหารสารวัตร มทบ.23 หนึ่งในผู้ร่วมจับกุมในคดีดังกล่าว

โดย ร.อ.อภินันท์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารสารวัตร มทบ.23 มีหน้าที่ในการปกครองบังคับบัญชาทหารสารวัตรและปฏิบัติตามคำสั่งของ มทบ.23 ในวันเกิดเหตุ ตนได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวว่ามีนักศึกษาจะมาจัดกิจกรรมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและได้รับคำสั่งให้จัดกำลังไปเฝ้าสังเกตการณ์ โดยให้ทหารวางกำลังรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเวลาประมาณ 13.00 น. มีนักศึกษา 7 คน มาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวมายืนชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นป้ายสีขาวหลายแผ่น เช่น คัดค้านเหมืองแร่เมืองเลย

เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าจับกุมนักศึกษาในข้อหามั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนักศึกษามาที่ มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ แต่นักศึกษาไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ ทหารจึงส่งตัวให้ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำบันทึกการจับกุม ซึ่งตนได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ส่วนแผ่นป้ายต่างๆ ตำรวจได้ยึดเป็นของกลาง

หลังจาก ร.อ.อภินันท์ เบิกความตอบอัยการเสร็จ ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า จะถามค้านพยานโจทก์ในนัดหน้าพร้อมกันกับ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง และ ร.ต.อ.นรวัฒน์  คำภิโล ในวันที่ 5 ก.ย. 61 เวลา 09.00 น. เนื่องจากเป็นผู้ร่วมจับกุมที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน

ด้านภานุพงศ์ แสดงความเห็นว่า การแสดงออกทางความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรทำได้ เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะพูดเรื่องรัฐบาล การทำงาน หรือผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะมันคือการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริง มันคือข้อเรียกร้องของประชาชน และรัฐบาลควรจะรับฟัง อีกทั้งการดำเนินคดีต่อคนที่แสดงออกแบบนี้คือการตัดทอนกระบวนการของการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ง่ายที่สุด ทหารไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาควบคุมการใช้สิทธิของพวกเรา ไม่ว่าใครก็ตาม เพราะตัวเราเองเป็นผู้กำหนดการใช้สิทธิของตัวเอง และทัศนคติของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นทัศนคติที่ดีกว่าทัศนคติของเผด็จการ จึงไม่จำเป็นต้องปรับทัศนคติที่มาจากเผด็จการ และเผด็จการต้องปรับทัศนคติตัวเองมาเป็นประชาธิปไตย

 

สองฝั่งข้างซ้ายและขวาของภานุพงษ์เป็นทนายความในคดีนี้ และเพื่อนๆของ ภานุพงศ์ ที่มาร่วมให้กำลังใจในการสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้

บันทึกคำให้การพยานโจทก์ (โดยสรุป)

พยานโจทก์ชื่อ ร้อยเอกอภินันท์ วันเพ็ชร อายุ 55 ปี ปัจจุบันเป็นผู้บังคับกองร้อยทหารสารวัตร ที่ มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์  (มทบ.23) รับตำแหน่งมาตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน และปัจจุบันข้าฯ มีหน้าที่ในการปกครอง บังคับบัญชาทหารสารวัตรและปฏิบัติตามคำสั่งของ มทบ .23  ข้าฯ เกี่ยวข้องกับคดีนี้เนื่องจากเป็นผู้ร่วมจับกุมนักศึกษาทั้ง 7 ราย และที่จำได้  คือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และภานุพงศ์ ศรีธนานุวัตร ซึ่งเป็นการจับกุมในข้อหามั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตและนายจตุภัทร์ ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ ส่วนนายภาณุพงศ์มีตัวอยู่ในศาลตอนนี้ด้วย ข้าฯ จำได้ (พยานชี้ตัวจำเลย)

ข้าฯ ทราบว่า นอกจากจตุภัทร์ และภานุพงศ์ ที่ถูกดำเนินคดี ส่วนคนอื่นได้หลบหนี นอกจากนี้ผู้ร่วมจับกุมยังมีพลเอกสุรศักดิ์ สำราญบำรุง และพนักงานสอบสวน สภ. ขอนแก่น  คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58  เวลาประมาณ 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงหน้าศาลหลักเมืองจังหวัดขอนแก่น

ข้าฯ ได้รับแจ้งจากหน่วยข่าวว่ามีนักศึกษาจะมาจัดกิจกรรมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยผู้บัญชาการ มทบ.23 มีคำสั่งให้ข้าฯ จัดกำลังไปเฝ้าสังเกตการณ์โดยให้ทหารวางกำลังรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเวลาประมาณ 13.00  น. มีนักศึกษามาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยมีนักศึกษา 7 คน กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวมายืนชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นป้ายสีขาวหลายแผ่น เช่น คัดค้านเหมืองแร่เมืองเลย ส่วนป้ายอย่างอื่นข้าฯ จำไม่ได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมนักศึกษาและบอกว่าการกระทำดังกล่าวของนักศึกษาเป็นการขัดคำสั่งของหัวหน้า คสช. และในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้แต่งตัวในเครื่องแบบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนักศึกษามาที่ มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ แต่นักศึกษาไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ ทหารจึงส่งตัวนักศึกษาไปให้ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ส่วนแผ่นป้ายต่างๆ ตำรวจก็ยึดเป็นของกลาง

ในขณะเกิดเหตุ และขณะจับกุม ข้าฯ ทราบว่ามีสื่อมวลชนจากไทยพีบีเอส ได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวไว้ และในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกคำให้การของข้าฯ และข้าฯ ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ข้าฯ ไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในคดีนี้มาก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยื่นฟ้อง ‘ไนท์ ดาวดิน’ คดีชูป้ายต้าน รปห. ขึ้นศาลทหารอีก

ศาลทหารเปิดนอกเวลาราชการ ฟ้อง ‘ไผ่ ดาวดิน’ คดีชุมนุมครบ 1ปี คสช.รัฐประหาร และขังระหว่างพิจารณาที่เรือนจำกลางขอนแก่น

 

X