สิทธิพิทักษ์ รธน. ไม่มีที่ใช้ ศาลอุทธรณ์ลงโทษอภิชาตชุมนุมต้านรัฐประหาร

สิทธิพิทักษ์ รธน. ไม่มีที่ใช้ ศาลอุทธรณ์ลงโทษอภิชาตชุมนุมต้านรัฐประหาร

31 พ.ค. 2561 ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ ถูกฟ้องฐานชุมนุมทางการเมืองหลังรัฐประหารของ คสช. ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ามีความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ปรับ 6,000 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุก เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ขณะที่ศาลแขวงปทุมวันห้ามบุคคลทั่วไปเข้าฟังคำพิพากษา และยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้สังเกตการณ์ระหว่างการพิจารณา

ประมาณ 10.00 น. ศาลแขวงปทุมวันเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ถูกฟ้องฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้
กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 จากการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557

คดีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีรายงานจากผู้สังเกตการณ์ว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยศาลแขวงปทุมวันห้ามไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าฟังคำพิพากษาคดีนี้ รวมถึงในห้องพิจารณามีการยึดโทรศัพท์ของผู้สังเกตการณ์โดยอ้างว่าเป็นนโยบายใหม่ของศาลแขวงปทุมวันตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

คดีนี้ ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าการสอบสวนมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้ศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษ 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจาก คสช. ได้อำนาจการปกครองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของ คสช. ในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น แต่เมื่อ คสช. เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การใดๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้แต่คณะรัฐบาลรักษาการก็ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการยึดอำนาจและบริหารราชการของ คสช.

“ถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว” ศาลอุทธรณ์ระบุในคำพิพากษา และเห็นว่า คสช. มีอำนาจในการออกประกาศหรือคำสั่งมาบังคับใช้

ส่วนประเด็นที่จำเลยเห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังและเป็นคุณแก่จำเลย ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้บัญญัติว่า การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่เป็นความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 อีกต่อไป อุทธรณ์ในประเด็นนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้ จำเลยยังอุทธรณ์ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69 และ 70 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม แต่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติให้ประกาศและคำสั่ง คสช. ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด ซึ่งยังถูกรับรองต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 อีกด้วย ส่วนสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับเป็นกฎหมายนับตั้งแต่ คสช. ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ขณะที่เสรีภาพในการชุมนุมตาม ICCPR นั้น ศาลเห็นว่าสถานการณ์ของประเทศไทยก่อน คสช. ทำรัฐประหารอยู่ในสภาพที่มีความไม่สงบเรียบร้อย จึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 แต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ออกมาภายหลังเป็นคุณแก่จำเลย ทั้งนี้ จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ไม่ลงโทษจำคุก และยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 นอกนั้นให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา คือปรับ 6,000 บาท

อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่

 

 

X