คดี ‘ชัชวาล’ ชุดจับกุมรับรายการอาวุธตรงกับคดีที่มีคำพิพากษาแล้ว

ศาลทหารนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ ในคดีนายชัชวาล ปราบบำรุง ที่ถูกฟ้องข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม โดยก่อนหน้านี้อัยการทหารเป็นโจทก์จำเลยในข้อหามีอาวุธปืนและกระสุนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไมได้ มียุทธภัณฑ์เอาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ได้ และฝ่าฝืนไม่ส่งมอบอาวุธปืนสงครามต่อนายทะเบียนท้องที่ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 59/2557 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อหา

ก่อนหน้านี้ วันที่ 14 ก.พ. 60 อัยการศาลทหารกรุงเทพ ได้สืบพยานโจทก์คนแรก`ไปแล้วคือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ซึ่งระหว่างเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันนี้จึงเป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์คนที่สอง

สืบพยานโจทก์คนที่สอง

วันนี้ (7 มิ.ย.61)  ที่ศาลทหาร กรุงเทพ เป็นนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยอัยการทหารได้นำคือ ร.อ.ณัฐภัทร ศรีเชียงสา ขึ้นเบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่า ตอนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 9 ก.ค.57 เดิมทีรับราชการที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เมื่อกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ประกาศกฎอัยการศึก และได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงานอยู่เขตพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สถานการณ์ในเวลานั้นล่อแหลมต่อการเกิดจลาจล คสช.ต้องประกาศกฎอัยการศึกและเข้ามาดูแลประเทศ

โดยคดีนี้พยานได้เข้าร่วมค้นบ้านพักที่มีอาวุธ คือบ้านของนายชัชวาล ปราบบำรุง ก่อนจะมีการตั้งข้อหามีอาวุธและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครอง

เหตุวันนั้น เกิดขึ้นที่หมู่บ้านพฤกษา บี คลอง 3 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยพยานได้รับการประสานงานจากกองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ ให้จัดกำลังเข้าร่วมในการตรวจค้นอาวุธ หลังจากนั้นพยานได้โทรศัพท์จากผู้บังคับบัญชา ให้ดำเนินการจัดกำลังเข้าตรวจค้นอาวุธ ที่บ้านหลังดังกล่าว จากนั้นจำเลยได้พากำลังเจ้าหน้าที่นำชี้ที่เกิดซุกซ่อนอาวุธ จนพบรายการอาวุธและเครื่องกระสุน ดังนี้ อาวุธปืน ปลย.83 จำนวน 1 กระบอก, อาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 1 จำนวน 1 กระบอก, ซองบรรจุกระสุน HK ขนาดบรรจุ 20 นัด, กระสุนปืนขนาด 5.56 มม., ลูกกระสุนระเบิดชนิดยิง ขนาด 40 มม., ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ V-40 จำนวน 2 ลูก, ลูกระเบิดขว้างชนิดสังหาร (MK2) จำนวน 1 ลูก และลูกระเบิดขว้างชนิดสังหาร (M26) จำนวน 1 ลูก

เมื่อพบอาวุธดังกล่าว ได้มีการทำบันทึกการตรวจค้นส่งให้ พันเอกวิจารณ์ จดแตง (ยศในขณะนั้น) หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้มีการนำจำเลยออกจากพื้นที่เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยพยานโจทก์ทราบว่ามีจำเลยถูกควบคุมตัวมาจากจังหวัดเชียงรายตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 61 แต่ไม่ทราบว่าจำเลยถูกควบคุมตัวไว้ที่ใด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้พาจำเลยไปหาพยานในวันที่ 9 ก.ค.61 โดยไม่ทราบว่ามีญาติของจำเลยมาด้วยหรือไม่

สำหรับการกรณีการตรวจค้นอาวุธ พยานให้การว่าจำเลยได้นำชี้ที่ซุกซ่อนอาวุธไว้ในบริเวณหมู่บ้านพฤกษา บี แต่พยานยืนยันไม่ได้ว่าอาวุธทั้ง 9 รายการที่ถูกตรวจยึดได้ในวันเกิดเหตุ เป็นรายการเดียวกันกับรายการอาวุธที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว เมื่อทนายความของจำเลยขอให้พยานยืนยันรายการอาวุธก็พบว่า รายการอาวุธที่ จ.4 ตรงกับ เอกสาร ล.4 ทุกชุด เมื่อตรวจอาค้นอาวุธพบแล้ว ไม่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด หากได้ส่งจำเลยให้หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการด้านกฎหมายทันที โดยตามบันทึกการจับกุม จำเลยไม่ได้ยอมรับว่าอาวุธนี้เป็นของตน

สำหรับการสืบพยานโจทก์นัดต่อไป ศาลทหารกรุงเทพ ได้นัดต่อไปอีกในวันที่ 23 ส.ค. 61

ชีวิตทางคดีของชัชวาล 

ไม่ใช่คดีร้ายแรงเพียงคดีเดียวของชัชวาล ปราบบำรุง เนื่องจากเขาเคยถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต และได้ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิตจากคดีระเบิดเวที กปปส. หน้าห้างบิ๊กซี เมื่อกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างรอศาลฎีกาพิจารณาพิพากษา และนายชัชวาลยังถูกดำเนินคดีอีก 1 คดี จากเหตุระเบิดเวที กปปส. ที่แจ้งวัฒนะ 3 เหตุการณ์ โดยที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นที่ศาลอาญา

ในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 นายชัชวาลอ้างว่าระหว่างถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่จังหวัดเชียงรายพร้อมภรรยาก่อนจะถูกจับแยกกัน จากนั้นนายชัชวาลถูกควบคุมตัวอยู่ในกองพันทหารสารวัตรที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.57 และถูกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากสอบสวน นอกจากนั้นระหว่างที่นายชัชวาลถูกควบคุมตัวอยู่ได้ถูกทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ โดยผู้ที่ควบคุมตัวเขาเอาไว้ด้วย จากนั้นในวันที่ 9 ก.ค. 57 เขาถูกควบคุมตัวไปยังบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีและเจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจพบอาวุธในบ้านหลังดังกล่าวและทำการยึดเอาไว้ซึ่งเป็นอาวุธ ที่นำมาสู่การดำเนินคดีในศาลทหารจนถึงวันนี้

X