นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4ปี สิทธิมนุษยชนภายใต้ คสช. และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย ตอนที่ 3

ภายใต้ลักษณะสำคัญทางการเมืองและกฎหมายของระบอบ คสช. ได้แก่ การจัดการและควบคุมพลเรือนโดยวิธีคิดและปฏิบัติการทางทหาร การสถาปนาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหารให้เข้าไปอยู่อย่างถาวรในรัฐธรรมนูญ และการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกเว้นสิทธิเสรีภาพของบุคคล ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกระบวนการที่ไม่ใช่การดำเนินคดี และการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการดำเนินคดีทางการเมือง

1. รูปแบบการละเมิดสิทธิ โดยกระบวนการที่ไม่ใช่ “การดำเนินคดี” การเรียกรายงานตัว การคุมตัวในค่ายทหารและการติดตามตัวที่บ้าน

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารใช้วิธีการเรียกบุคคลมารายงานตัว ควบคุมตัวในค่ายทหาร และติดตามตัวที่บ้าน “บุคคลเป้าหมาย” จำนวนมาก หลายกรณีถูกติดตามและ “เฝ้าจับตา” อย่างต่อเนื่อง จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ อย่างน้อย 876 คน ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตามอย่างน้อย 417 คน รวมทั้งสองรูปแบบกว่า 1,138 คน โดยหลายคนถูกกระทำในทั้งสองลักษณะ

กลุ่มประชาชนที่ถูกติดตามเป็นหลักและเป็นประจำ ได้แก่ กลุ่มนักการเมือง และแกนนำคนเสื้อแดงที่มีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ ประชาชนกลุ่มนี้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อนการรัฐประหารปี 2557 และถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับตา ตลอดทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อและข้อมูลส่วนบุคคลไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็น “เป้าหมายหลัก” ในการติดตาม เรียกรายงานตัว ควบคุมตัวในค่ายทหาร และเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวโดยเจ้าหน้าที่ทหารในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติการ

ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจของ คสช. ก็ถูกติดตามหลังทำกิจกรรม หรือหลังการแสดงออกเช่นกัน กลุ่มนี้มีทั้งนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือผู้แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ที่มีคนติดตามค่อนข้างมาก แต่เจ้าหน้าที่อาจไม่เคยติดตามหรือจัดทำข้อมูลมาก่อน ประชาชนกลุ่มนี้ค่อยๆ ถูก “เพิ่มในรายชื่อ” หลังออกมาทำกิจกรรม ทำให้อาจถูกเรียกรายงานตัว ถูกเจ้าหน้าที่ไปติดตามพบตัวที่บ้าน หรือถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา

ผู้ถูกติดตามและจับตาจากเจ้าหน้าที่อาจเป็นบุคคลที่มีประวัติร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อเหลือง หรือกลุ่ม กปปส. หากแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีวีระ สมความคิด  ส่วนแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของรัฐหรือเอกชนก็เป็นอีกกลุ่มที่ถูกติดตามจับตา หรือถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบ ส่วนมากเป็นช่วงการเตรียมการชุมนุมและหลังการชุมนุม หรือช่วงลงพื้นที่ของรัฐบาล คสช.

ในช่วงระยะปีแรกหลังรัฐประหาร เจ้าหน้าที่มักจะอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก (ประกาศตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557-1 เม.ย. 2558) ซึ่งเปิดโอกาสให้ทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน และเปิดโอกาสให้ควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยปราศจากการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปรากฏต่อศาล หลังจากนั้น แม้จะยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว แต่หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งสำคัญ 2 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ให้อำนาจทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในลักษณะคล้ายกฎอัยการศึก ทำให้คำสั่งทั้งสองฉบับและมาตรา 44 ถูกทหารใช้กล่าวอ้างในการจับกุม ควบคุมตัวในค่ายทหาร หรือเข้าตรวจค้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาและสถานการณ์ทางการเมือง เช่น ในช่วงแรกหลังการรัฐประหารถึงเดือนกรกฎาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งเรียกบุคคลไปรายงานตัวจำนวน 472 รายชื่อ และยังเรียกไปรายงานตัวโดยไม่ออกคำสั่งอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าควบคุมตัว หรือติดต่อบุคคลให้เข้ารายงานตัวที่ค่ายทหารโดยตรง รวมถึงควบคุมตัวผู้ออกมาชุมนุมคัดค้านรัฐประหาร เข้าไปในค่ายทหารด้วย หลายคนถูกควบคุมตัวในค่ายไม่เกิน 7 วัน แต่มีบางรายถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้เกิน 7 วัน เช่นกรณี น.ส.กริชสุดา คุณะเสน, กรณีนายยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง”, กรณีนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณ เป็นต้น ผู้ถูกควบคุมตัวแทบทั้งหมด ยังต้องยินยอมลงนามในเงื่อนไขข้อตกลง (Memorandum of Understanding หรือ MOU) กับทางทหาร โดยเฉพาะข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก

ต่อมา คสช. กำหนดให้ผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. เป็นความผิดทางอาญา ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการไม่ไปรายงานตัว อย่างน้อย 14 คน บางตนที่ถูกเรียกรายงานตัวตัดสินใจไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง ทำให้ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทั้ง คสช. ยังออกคำสั่งให้การฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก (MOU) ช่วงแรก เป็นความผิดทางอาญา ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีตามข้อหาดังกล่าว อย่างน้อย 3 ราย ไม่นับการนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อ “ปราม” ผู้เคยลงชื่อในข้อตกลง ไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง คดีทั้งสองประเภทข้างต้นยังถูกกำหนดให้อยู่ในภายใต้การพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอีกด้วย 

ส่วนลักษณะการควบคุมตัวโดยการใช้อำนาจพิเศษของเจ้าหน้าที่ทหาร มักเป็นการควบคุมตัวที่ค่ายทหาร และอยู่ในสถานที่ปิดลับ บุคคลทั่วไป ญาติและทนายความไม่สามารถติดต่อหรือเข้าถึงตัวผู้ถูกควบคุมได้ กระทั่งศาลก็ไม่เข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวของทหาร ที่อ้างว่ากระทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ปฏิบัติการนี้มักนำมาใช้กับบุคคลที่ใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบสันติ ซึ่งทำให้การควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ

รูปแบบปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอีกประการหนึ่ง คือ การควบคุมตัวครอบครัวของ “บุคคลเป้าหมาย” ไปแทน เมื่อเจ้าหน้าที่พยายามติดตามตัวบุคคลซึ่งเป็น “เป้าหมายหลัก” แล้วไม่พบตัว บางกรณีจะใช้วิธีการควบคุมตัวครอบครัว หรือญาติ ในฐานะ “เป้าหมายรอง” (ตามถ้อยคำที่ถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่ทหารเอง) แทน เพื่อกดดันให้บุคคลที่เป็นเป้าหมายหลักเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่  ระยะหลังแม้ไม่ได้ควบคุมตัว แต่ก็ใช้วิธีคุกคามหรือกดดันครอบครัวของนักกิจกรรมหรือนักศึกษาถึงที่บ้าน เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อควบคุมการทำกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวของ “บุคคลเป้าหมาย” การดำเนินการดังกล่าวกระทบทั้งต่อเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิในการได้รับความมั่นคงปลอดภัยของพลเมือง

ช่วง 2 ปีแรก การติดตาม “บุคคลเป้าหมาย” เป็นไปอย่างเข้มข้น ส่วนมากดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทหาร บางรายที่ยังแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือยังเคลื่อนไหวอยู่อาจถูกเรียกไปควบคุมตัวในค่ายทหารซ้ำ บางรายถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารทุกสัปดาห์ หรือถูกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวที่บ้านเป็นประจำ ในช่วงแรก ผู้ถูกเรียกรายงานตัวโดยคำสั่ง คสช. ที่เป็นทางการ เมื่อจะเดินทางออกนอกประเทศหลังปล่อยตัว ยังต้องทำเรื่องขออนุญาตหัวหน้า คสช. ก่อน ขณะที่ในหลายพื้นที่ ผู้ถูกเรียกรายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการถูกขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ ก่อนเดินทางออกนอกพื้นที่เสมอ พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์การเดินทาง ทำให้ได้รับผลกระทบต่อทั้งสิทธิในการเดินทางและสิทธิในความเป็นส่วนตัว

การติดตามจับตาบุคคลเป็นระยะของเจ้าหน้าที่ มีทั้งรูปแบบการเข้าไปติดตามถ่ายรูปที่บ้าน การนัดหมายกินกาแฟ หรือ “การขอความร่วมมือ” ให้ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับการปรองดอง แต่ช่วงสถานการณ์ทางการเมืองเข้มข้น ระยะการติดตามตัวบุคคลจะเพิ่มความถี่และความเข้มข้นขึ้นด้วย เช่น ก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าการอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าว หรือช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลงพื้นที่ในต่างจังหวัด เป็นต้น

ตั้งแต่ปี 2560 โดยเฉพาะหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผ่านการลงประชามติ รูปแบบการเรียกหรือติดตามตัว  มีแนวโน้มใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการเพิ่มขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ทหารยังคงอยู่ร่วมในหลายกรณี และยังมีการควบคุมตัวโดยทหารอยู่เป็นระยะ เช่น กรณีการควบคุมตัวนายเจริญชัย แซ่ตั้ง 7 วันใน ค่ายทหารช่วงปี 2560 หรือการควบคุมตัว 3 แกนนำ P-move ขณะกำลังเดินทางไปร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน คสช. และกองทัพ พยายามใช้ “ภาษา” ที่ลดความรุนแรงของปฏิบัติการเหล่านี้ลงเช่น การใช้คำว่า “ปรับทัศนคติ” “เชิญมาพูดคุย” “กินกาแฟ” หรือ “ขอความร่วมมือ” เป็นต้น ทั้งที่ถ้อยคำดังกล่าวถูกใช้อธิบายปฏิบัติการนำตัวเข้าค่ายทหาร เรียกตัวมาพูดคุย หรือเดินทางไปที่บ้าน ซึ่งเป็นการกระทำที่มีลักษณะบีบบังคับ จู่โจม และคุกคามมากอย่างแท้จริง

  • การปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ

ภายใต้ระบอบ คสช. “พื้นที่สาธารณะ” ของสังคมไทยถูกทำให้หดแคบลงอย่างมาก เมื่อการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ถูกคณะรัฐประหารและกองทัพใช้อำนาจเข้าปิดกั้น ห้ามไม่ให้จัด เข้าแทรกแซง กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการจัด ทั้งหมดล้วนกระทบต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นสมาคม  ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีกิจกรรมสาธารณะที่ถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซงแล้วอย่างน้อย 264  กิจกรรม แยกเป็นกิจกรรมที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นจนไม่สามารถจัดได้ อย่างน้อย 136 กิจกรรม และกิจกรรมที่ถูกแทรกแซง โดยการกดดัน ข่มขู่ หรือกำหนดเงื่อนไขต่างๆ  แต่ยังสามารถจัดได้ อย่างน้อย  128 กิจกรรม

รูปแบบการปิดกั้นและแทรกแซงที่พบ ได้แก่ การห้ามหรือการปิดกั้นโดยตรงในกิจกรรมที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมืองและคณะรัฐประหาร โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ากิจกรรมอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม หรือกระทบต่อความมั่นคง เป็นต้น บางกรณีใช้วิธีขอความร่วมมือโดยไม่ระบุสาเหตุแน่ชัด หรือเพียงบอกว่า “นายไม่สบายใจ” ที่จะให้จัดกิจกรรมนี้ บางกรณีเจ้าหน้าที่ใช้วิธีกดดันเจ้าของสถานที่ ทั้งมหาวิทยาลัยหรือสถานที่ของเอกชน ทำให้เจ้าของสถานที่ต้องยกเลิกการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมนั้นๆ

กรณีที่ไม่ได้เป็นการปิดกั้นโดยตรง แต่เจ้าหน้าที่ใช้วิธีพูดคุยกับผู้จัดงาน แล้วตั้งเงื่อนไข หรือขอความร่วมมือบางอย่างในการจัดกิจกรรม เช่น ขอให้เปลี่ยนวิทยากรในงานเสวนา ขอให้ไม่พูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับ คสช. หรือกำหนดไม่ให้ใช้บางถ้อยคำ เช่น “เผด็จการ” และ “กบฏ” ขณะเดียวกัน ทหารในหลายพื้นที่ยังเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยให้ควบคุมดูแลการทำกิจกรรมของนักศึกษา และให้แจ้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปยังทหารในพื้นที่  สถาบันอย่างมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้อำนาจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ทั้งการไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม หรือการเรียกตัวนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมไปพูดคุยด้วย

นอกจากนี้ กิจกรรมสาธารณะจำนวนมากยังถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับตาสอดส่อง บันทึกเสียง และภาพเคลื่อนไหว ส่งผลต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม ส่วนกิจกรรมของพรรคการเมืองก็ถูกปิดกั้นโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

  • การปิดกั้นสื่อและการควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

การควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนรับรู้ผ่าน “สื่อ” ยังเป็นความพยายามสำคัญของคณะรัฐประหาร ผ่านการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ขอให้สถานีโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศยุติการออกอากาศช่วงแรกหลังรัฐประหาร จากนั้นจึงออกประกาศ/คำสั่ง คสช. หลายฉบับ เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อในรูปแบบต่างๆ 

ประกาศฉบับสำคัญ ได้แก่ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 97/2557  โดยประกาศสองฉบับดังกล่าวกำหนดให้สื่อมวลชนทุกประเภทงดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารใน 7 ลักษณะ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้อำนาจตีความได้อย่างกว้างขวาง อาทิ ข้อ 3 (3) กำหนดให้งดเว้นการนำเสนอข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. โดยมีเจตนา “ไม่สุจริต” เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และยังกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องของบุคคลหรือสื่อที่ไม่ปฏิบัติตาม ให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ  โดย คสช. ใช้อำนาจตามประกาศทั้งสองฉบับนี้ควบคู่กับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรียกสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าพบหลายครั้ง

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังมีบทบาทสำคัญในการใช้อำนาจตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดห้ามการออกอากาศเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ มาใช้ติดตามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสถานีต่างๆ แทน คสช.  นำไปสู่ปรากฎการณ์ “จอดำ” ของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลคดีสิทธิและเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) พบว่าตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 – 10 เม.ย. 2561 กสทช. มีมติลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศ/คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง และอำนาจตามมาตรา 37 อย่างน้อย 52 ครั้ง สถานีที่ถูกสั่งลงโทษมากที่สุดคือวอยซ์ ทีวี 19 ครั้ง รองลงมาคือ พีซทีวี 12 ครั้ง และไม่น้อยกว่า 34 ครั้ง ที่ กสทช. พิจารณาลงโทษสื่อ ตามเงื่อนไขของประกาศ/คำสั่ง คสช. กรณีที่มีการชี้แจงสาเหตุที่ทำให้ถูกระงับ พบว่า ล้วนเป็นการนำเสนอข่าวหรือเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองหรือ คสช. ทั้งสิ้น

ต่อมา หัวหน้า คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 มาคุ้มครอง กสทช. ให้สามารถลงโทษสถานีโทรทัศน์ที่ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 โดย กสทช. ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ซึ่งมีผลเป็นการยกเว้น “ความรับผิด” ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วย

นอกจากนี้ คสช. ยังเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนโดยการพูดคุยกับผู้บริหารสถานีต่างๆ นำไปสู่การกดดันให้ผู้สื่อข่าวหรือผู้ดูแลการรายงานข่าวลาออก เช่น กรณีนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานี PPTV ที่มีรายงานระบุว่า คสช. เชิญผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ PPTV เข้าหารือ โดยขอร้องให้ปลดนายวันชัย เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์ คสช. มาโดยตลอด ต่อมานายวันชัยก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว

สื่อออนไลน์ยังเป็นอีกพื้นที่ที่ คสช. พยายามเข้าไปกำกับข้อมูลข่าวสาร โดยพยายามจัดตั้งหน่วยงานของรัฐจำนวนมากเข้าไปติดตามสอดส่องโลกออนไลน์ เช่น “คณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์” ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ทำหน้าที่ดูแลสอดส่องเนื้อหาในสื่อออนไลน์ หรือกรณี “ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก” ที่จัดตั้งเพื่อจับตาเนื้อหาที่อาจกระทบความมั่นคง รวมถึงการตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ในปี 2558 คสช. เสนอแนวคิดจัดตั้ง Single Gateway หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านประตูบานเดียว ทำให้รัฐสามารถควบคุมและดักจับข้อมูลที่ส่งผ่านได้ง่าย แต่แนวคิดนี้ต้องถูกชะลอไป เพราะเสียงคัดค้านจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ

ในปี 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ แก้ไขจากฉบับ พ.ศ.2550 กำหนดให้มี “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” ขึ้นมาพิจารณาปิดกั้นเนื้อหาบนเว็บไซต์ซึ่งเห็นว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี โดยไม่จำเป็นต้องผิดกฎหมาย

อีกด้านหนึ่ง กสทช. ยังมีบทบาทสำคัญในการติดตามปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” โดยเลขาธิการ กสทช. เคยเปิดเผยว่าในช่วง 3 ปีหลังรัฐประหาร ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหา “ไม่เหมาะสม” ไปแล้วกว่า 6,300 เว็บไซต์ ทั้งยังพยายามขอความร่วมมือผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่ ทั้งเฟซบุ๊ก และยูทูป ให้ร่วมปิดกั้นเนื้อหา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

  • การปิดกั้นการใช้สิทธิชุมชน และการแสดงออกของชุมชนท้องถิ่น

ตลอด 4 ปี กลุ่มองค์กรชาวบ้านหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของรัฐ ถูกจำกัดพื้นที่เรียกร้องและการแสดงออก แม้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองในความหมายของการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านผู้ปกครองโดยตรงก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นปากท้องหรือสิ่งแวดล้อมก็เผชิญกับข้อจำกัดในการแสดงออกอย่างมาก

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคม ที่ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม อย่างน้อย 66 กลุ่ม/องค์กร ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำ เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า สุขภาพ แรงงาน หรือนโยบายสาธารณะอื่น เจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรียกตัวแกนนำชาวบ้านไปพูดคุย บางกรณีไปพบแกนนำถึงบ้าน ห้ามปรามไม่ให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม โดยอ้างว่าการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ก่อให้เกิด “ความไม่สงบ” หรือระบุว่าแกนนำชาวบ้านเป็น “ผู้มีอิทธิพล” รวมทั้งยังปิดกั้นกิจกรรมการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม โดยตีความว่าเป็น “การยุยงปลุกปั่น” คัดค้านรัฐบาล บางกรณีให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงในลักษณะเดียวกันกับแกนนำกลุ่มการเมือง เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว หรือในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาขอให้ปลดป้ายคัดค้านต่างๆ ลง

ทหารยังแสดงบทบาทร่วมกับข้าราชการในพื้นที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โน้มเอียงไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ลงทุน เช่น ในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ทั้งที่จังหวัดเลยและลำปาง เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปร่วมจัดเวทีปรองดองที่มีบริษัทผู้ขอสัมปทานมาตั้งโต๊ะลงชื่อผู้เข้าร่วมประชุม มีการตรวจสอบแนวเขตที่ขอสัมปทาน การแสดงความเห็นสนับสนุนการทำเหมืองแร่ และปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการ

ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายในยุค คสช. ยังถูกละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ผ่านการปิดกั้นการร้องเรียน การรวมกลุ่ม หรือการชุมนุมเรียกร้องในลักษณะต่างๆ เช่น ชุมชนที่ได้รับผล

กระทบจากการเวนคืนที่ดินตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถูกกำลังทหารและตำรวจปิดกั้นการคัดค้านของชาวบ้าน และช่วยเร่งรัดการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าหลายพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) มาผลักดันการแก้ไขปัญหาของตนก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นหลายครั้งใน 4 ปี

แม้ปรากฏการณ์ที่อำนาจรัฐและทุนร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้แก่กัน จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอดในสังคมไทย แต่ในสภาวะทางการเมืองหลังรัฐประหารครั้งนี้ ท่ามกลางการฉวยใช้กฎหมายพิเศษและกล่าวอ้างสถานการณ์พิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมเรียกร้องในประเด็นปัญหาของตนเองอย่างหนักหน่วงขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อกระบวนการมีส่วนร่วมหรือการรับฟังความคิดเห็นในโครงการพัฒนาต่างๆ ทำให้อำนาจในการต่อรองของประชาชนต่อทั้งรัฐและทุนขนาดใหญ่ถูกลดทอนลง จนส่งผลกระทบต่อสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดสรรและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดถึงสิทธิของชุมชนในการมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

  • การซ้อมทรมาน และการคุมขังพลเรือนในเรือนจำทหาร

รูปแบบการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารหลังรัฐประหารที่ควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ปิดลับ ไม่ได้พบญาติหรือทนายความ และไม่มีการตรวจสอบคำสั่งโดยองค์กรตุลาการ นำไปสู่ความเสี่ยงและโอกาสที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกอุ้มหาย ซ้อมทรมาน ได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

หลังการรัฐประหารปี 2557 มีผู้ร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 18 กรณี กรณีสำคัญที่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ได้แก่ กรณีผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 ผู้ต้องหาอย่างน้อย 4 ราย ระบุว่าถูกซ้อมทรมานโดยการชกต่อย กระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้าย เพื่อให้ได้ข้อมูล นอกจากนี้ ผู้ต้องหาบางรายยังถูกช็อตด้วยไฟฟ้าและปรากฏร่องรอยบริเวณผิวหนัง ระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกวันที่ 9-15 มี.ค. 2558

ขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธหลายคดีเปิดเผยเรื่องการถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกโดยกลุ่มบุคคลที่พวกเขาคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ต้องหารายหนึ่งระบุว่าถูกนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนักและอวัยวะเพศ จากนั้นจึงเอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต รวมถึงใช้ปืนพกสั้นยัดเข้าปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการสอบสวนข้อร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานโดยหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง รวมถึงกำหนดมาตรการเยียวยาผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเคยตรวจสอบข้อร้องเรียนว่ามีการทรมานและระบุว่าไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะยืนยันว่ามีการทรมาน แต่รายงานฉบับเดียวกันก็ได้กล่าวถึงอุปสรรคในการเข้าถึงพยานหลักฐานในระยะเวลาที่เหมาะสม และความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่  กรณีดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่ โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอีกด้วย

นอกจากนี้ การตั้งเรือนจำเพื่อคุมขังพลเรือนขึ้นในค่ายทหาร เช่น เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (เรือนจำ มทบ.11) ซึ่งถูกตั้งขึ้นภายในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11  มีข้อมูลจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพระบุจำนวนพลเรือนที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำแห่งนี้ ระหว่างวันที่ 14 ก.ย. 2558  – 8 มี.ค. 2559 ประมาณ 47 คน และมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกคุมขังอยู่ด้วย 2 คน โดยผู้ถูกคุมขังมีทั้งผู้กระทำความผิดในข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดหรืออาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดฯ, ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์  (มาตรา 112) ข้อหาลักทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เรื่องการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนี้ เรือนจำดังกล่าวเป็นเรือนจำที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ การเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อทนายเข้าพบผู้ต้องขัง ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ด้วย การพิจารณาว่ากรณีใดจะถูกนำตัวมาควบคุมที่เรือนจำนี้ ไม่มีฐานความผิดที่ชัดเจน แต่เป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนมารองรับ

ผู้ต้องขังพลเรือนชุดแรกที่ถูกควบคุมในเรือนจำแห่งนี้คือคดีระเบิดราชประสงค์ ผู้ต้องหารายหนึ่ง คือนายอาเด็ม คาราดัก เปิดเผยในภายหลังว่าตนถูกซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวน  ผู้ต้องหาอีกกลุ่ม คือกรณีกลุ่ม “หมอหยอง” ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112) ซึ่งต่อมาผู้ต้องหา 2 ราย คือ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ เสียชีวิตภายในเรือนจำแห่งนี้ จากแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ปรากรม ว่าเกิดจากการผูกคอตาย ขณะที่นายสุริยันเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต แต่การชี้แจงสาเหตุการตายของบุคคลทั้งสองภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ยังคงเป็นที่เคลือบแคลงของสังคม อย่างไรก็ตาม เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ยังคงถูกใช้คุมขังผู้คนจนถึงปัจจุบัน

2. รูปแบบการละเมิดสิทธิผ่านการดำเนินการทางคดีทางการเมือง

คสช. ไม่ได้ใช้เพียงอาวุธหรืออำนาจดิบๆ เข้าไปคุกคามผู้แสดงออกต่อต้านรัฐประหาร แต่เครื่องมือสำคัญในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกปรากฏในรูปของ “กระบวนการยุติธรรม” ที่ถูกนำมาใช้จัดการกับผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในลักษณะต่างๆ รวมทั้งควบคุมการแสดงออกของคนทั่วไปในสังคม มีคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในยุค คสช. จำนวนมาก และเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคู่ความหรือผู้กล่าวหาดำเนินคดีโดยตรง และมีศาลทหารเป็นเครื่องมีอในการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ข้อมูลจากรมพระธรรมนูญระบุว่า มีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 1,886 คดี เป็นพลเรือนกว่า 2,408 ราย จำเลย 450 ราย ใน 369 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร

อย่างไรก็ตามกระบวนยุติธรรมที่ถูกชี้นำโดยทหารไม่ได้มีเพียงศาลทหารเท่านั้น แต่รวมถึงศาลยุติธรรมเช่นกัน ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา สามารถแยกพิจารณาข้อหาสำคัญที่ถูกใช้ในยุค คสช. ได้ดังนี้ 

  • ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112)

แม้หลังการรัฐประหารปี 2549 จะมีรายงานการเเจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เข้มข้นขึ้น แต่หลังการรัฐประหารปี 2557 กฎหมายนี้ถูกยกระดับขึ้นใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ การจัดการผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นนโยบายหลักของ คสช. ตั้งแต่แรกเริ่ม

ถึงวันที่ 30 เมษายน 2561 มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อย่างน้อย 162 คน คิดเป็น 112 คดี แยกเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก 101 คน ที่เหลือเป็นกรณีแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 54 คดี ผู้ถูกกล่าวหา 64 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 25 คน และศาลพลเรือนอย่างน้อย 20  คน 

ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมหลายประการ เช่น สิทธิในการปล่อยชั่วคราว มีผู้ไม่ได้รับการประกันตัวจำนวน 45 คน คิดเป็นร้อยละ  70 จากผู้ต้องหาและจำเลย 64 คน สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย มีคดีที่พิจารณาลับ 17 คดี คิดเป็นร้อยละ 43 จากทั้งหมด 54 คดี และสิทธิที่จะได้ร้บการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หลายคดีดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในศาลทหาร เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิปล่อยชั่วคราว จึงมีแนวโน้มเลือกรับสารภาพมากกว่าต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

หลังรัฐประหาร ศาลมีแนวโน้มที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้มาตรา 112 ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในศาลทหาร เฉลี่ยพิพากษาจำคุกกรรมละ 8-10 ปี ทำให้เกิดคดีที่ลงโทษจำคุกสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น วิชัย ถูกลงโทษจำคุก 70 ปี พงษ์ศักดิ์ ถูกลงโทษจำคุก 60 ปี และศศิพิมลถูกลงโทษจำคุก 56 ปี ทั้งหมดศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ  

นอกจากนี้ มาตรา 112 ที่มีปัญหาเรื่องการตีความอยู่แล้วกลับถูกขยายความกว้างขึ้นอีก ปรากฏในการดำเนินคดีเนื่องจากโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง การกดไลค์โพสต์ที่มีข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 การไม่ห้ามปรามหรือตำหนิผู้แสดงความเห็นเข้าข่ายมาตรา 112 เช่น กรณีนางสาวพัฒน์นรี ชาญกิจ หรือ “แม่จ่านิว” เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หลังรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตยังเกิดปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” ที่ตามมาด้วยการดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวนหนึ่ง  แต่หลังรัชกาลที่ 10 ขึ้นทรงราชย์ สถานการณ์การดำเนินคดีมี

แนวโน้มลดลง แต่ยังมีคดีสำคัญเกิดขึ้น เช่น คดี “ไผ่ ดาวดิน”, คดีทนายประเวศ ประภานุกูล, คดีผู้แชร์และคอมเมนต์โพสต์ “Somsak Jeamteerasakul” จำนวน 5 คน, คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รวมทั้งการออกหมายเรียก “การ์ตูน” ชนกนันท์ รวมทรัพย์ นักกิจกรรม ซึ่งแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทยเช่นเดียวกับ “ไผ่” จนนำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองของเธอ

ในปี 2560 แม้รายงานการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จะลดลง แต่ปรากฏการใช้มาตรการอื่นแทน เช่น การอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เพื่อควบคุมตัวนายเจริญชัย แซ่ตั้ง นักกิจกรรมผู้เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในค่ายทหาร หรือการติดตามตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึงบ้าน เพราะกดไลค์ (Like) หรือกดติดตาม (Follow) เพจการเมืองบางเพจที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ในยุคของ คสช. แทบไม่มีการรณรงค์หรือจัดเวทีสาธารณะในประเด็นมาตรา 112 ภายในประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังมีการรณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และการอภิปรายถึงปัญหาการบังคับใช้ต่อสาธารณะยังมีอยู่พอสมควร

  • ข้อหายุยงปลุกปั่น (มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา)

ก่อนรัฐประหารปี 2557 ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เป็นฐานความผิดที่ถูกบังคับใช้ค่อนข้างน้อย แต่หลังรัฐประหาร ข้อหานี้กลายเป็นเครื่องมือหลักอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ทั้งยังกำหนดให้เป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 อีกด้วย

จนถึง 30 เมษายน 2561 มีการดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 อย่างน้อย 37 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 92 คน หากแบ่งตามเนื้อหาการแสดงความคิดเห็น พบว่า การนำเสนอข้อมูลคัดค้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือหัวหน้า คสช. เป็นพฤติการณ์ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดถึง 20 คดี ส่วนการแสดงความเห็นอื่น เเม้ไม่ได้กล่าวถึง คสช. โดยตรง เเต่กระทบถึงอำนาจ คสช. เช่น ส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ หรือสื่อสารโดยใช้สีสัญลักษณ์อย่างขันเเดง ก็ถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม มีอย่างน้อย 7 คดีที่อัยการทหารเเละพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี หรือศาลสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากลักษณะการเเสดงความเห็นหรือพฤติการณ์ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 เช่น กรณีรินดาโพสต์ข้อความว่า พล.อ.ประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ ต่อมาทั้งศาลอาญาและศาลทหารมีความเห็นพ้องกันว่าคดีนี้ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 เป็นคดีหมิ่นประมาทธรรมดา ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดี หรือกรณีธีรวรรณถ่ายรูปกับขันน้ำสีแดงที่มีลายเซ็น ดร.ทักษิณ ชินวัตร ลงในหนังสือพิมพ์ และถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหา แต่ภายหลังอัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี

กล่าวได้ว่ามาตรา 116 ถูกตีความและนำไปใช้ดำเนินการกับผู้คัดค้าน คสช. ทำให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบกลายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และทำให้เกิดลักษณะการตีความให้ “รัฐบาล” มีสถานะเท่ากับ “รัฐ” และความมั่นคงของ คสช. หรือกองทัพ เท่ากับ “ความมั่นคงของรัฐ” ทั้งที่ทั้งสองประการนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกันแต่อย่างใด

  • คำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

หลังประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. มีประกาศ ฉบับที่ 7/2557 ห้ามมิให้ประชาชนชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หลังประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาบังคับใช้แทน โดยข้อ 12 ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังเห็นชอบให้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 

ภายใต้การบังคับใช้ชุดกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมดังกล่าว รัฐบาลทหารใช้ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม หรือการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ในเวลาเดียวกันทั้งที่ในทางกฎหมายเเล้ว คำสั่งฉบับดังกล่าวขัดต่อมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งรับรองหลักการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและต้องยกเลิกไปโดยปริยายเพราะมี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นกฎหมายในเรื่องเดียวกันบังคับใช้เเล้ว

จนถึง 30 เมษายน 2561 มีบุคคลถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อย่างน้อย 378 คน คิดเป็น 50 คดี  บางช่วงมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เช่น ช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในหลายจังหวัด รวม 142 คน หรือการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งช่วงต้นปี 2561 รวม 8 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 106 คน

ส่วนของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เอง ยังมีปัญหาในบทบัญญัติเเละการบังคับใช้หลายประการ ซึ่งกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม มากกว่าคุ้มครองสิทธิ เช่น กำหนดให้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งแก้ไขสถานที่ชุมนุม และกำหนดเงื่อนไขได้ ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตีความปิดกั้นสิทธิในการชุมนุมและสร้างภาระให้ผู้ชุมนุมจนไม่สามารถชุมนุมได้

ถึง 30 เมษายน 2561 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างน้อย 214 คน นับเป็น 15 คดี  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ชุมนุมเรียกร้องหรือคัดค้านโครงการสาธารณะในพื้นที่ต่างๆ เช่น การชุมนุมคัดค้านการย้าย บขส. ที่จังหวัดขอนแก่น การชุมนุมของกลุ่มประมงพื้นบ้าน 18 จังหวัดเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง การรวมตัวกันตรวจสอบรถขนแร่ของกลุ่มชาวบ้านคัดค้านเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร การชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยผู้ชุมนุมเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด คัดค้านเหมืองทองในจังหวัดเลย โดยรวมตัวกันที่หน้า อบต. ระหว่างการประชุม เป็นต้น

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

เดิมการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ก่อนหน้าการรัฐประหาร มีปัญหาหลายประการอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) ซึ่งบัญญัติว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนต้องได้รับโทษ ถูกนำมาใช้กล่าวหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทจำนวนมาก หลังรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารยังนำข้อหานี้มาใช้ในกล่าวหาผู้นำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของทหาร แม้ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะถูกแก้ไขในปี 2560 ให้มาตรา 14 (1) ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็ยังมีการบังคับใช้ในลักษณะที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและทับซ้อนกับฐานความผิดข้างต้นหลายกรณี เช่น คดีนายไมตรี จำเริญสืบสกุล นักกิจกรรมชาวลาหู่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาหลังโพสต์ข้อความระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปตบหน้าชาวบ้านลาหู่หลายคนขณะนั่งผิงไฟอยู่ คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง หรือคดีนายธนพร อุดมสิน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความซ้ำเติมผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของรองแม่ทัพภาคที่ 3 ตก ประกอบกับภาพชู 3 นิ้วของตน และคดีวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. ว่านับจากยึดอำนาจการปกครอง บ้านเมืองตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยมีข้อความเสียดสี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ประกอบด้วย ข้อหาดูหมิ่นศาล และข้อหาละเมิดอำนาจศาล

ข้อหาละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 30-33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และข้อหาดูหมิ่นศาล ตามมาตรา 198 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นอีกสองข้อหาที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับนักกิจกรรม นักวิชาการ หรือนักการเมือง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของศาลและการใช้อำนาจของตุลาการหลังการรัฐประหาร โดยมีวัตถุประสงค์ให้ยุติการกระทำนั้น หากพิจารณาข้อเท็จริงในแต่ละคดี จะเห็นว่าพฤติกรรมที่ถูกกล่าวมีความคลุมเครือ เปิดช่องให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกหยิบยกมาใช้ควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เช่น คดีทนายอานนท์ นำภา โพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดี 7 นักศึกษาที่ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล และโพสต์บทกวีถึง “มหาตุลาการ” หรือคดีของนายวัฒนา เมืองสุข ที่ถูกกล่าวหาจากการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ คสช. และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีจำนำข้าว

นอกจากนี้ นายวัฒนา เมืองสุข ยังถูกดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลอีก 2 คดี จากการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ในศาลอาญา และจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหน้าศาลอาญา กรณี 7 นักศึกษา ที่ถูกกล่าวโดยตรงจากศาลขอนแก่นว่าการทำกิจกรรมนอกรั้วศาลเพื่อให้กำลังใจ ‘ไผ่ ดาวดิน’  นั้นละเมิดต่ออำนาจตุลาการ แม้จะกิจกรรมจะดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อยก็ตาม รวมถึงกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือนนางสุดสงวน สุธีสร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการเข้าร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงวางพวงหรีดหน้าศาลแพ่งรัชดาฯ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลที่ห้ามใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมของ กปปส.

  • ข้อหาอื่นๆ

นอกจากข้อหาข้างต้น ในยุค คสช. ยังมีข้อหาอื่นที่ถูกนำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน หลายข้อหาเป็นความผิดเล็กน้อย เช่น ข้อหา ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ศ.2550 หรือข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ พ.ศ.2493 รวมทั้งข้อหาในประมวลกฎหมายอาญาที่ไม่ถูกใช้มากนัก อย่างข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร ตามมาตรา 209-210 ถูกนำมาใช้ในคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือคดีก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น

ข้อหาสำคัญอีกข้อหาหนึ่ง ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกช่วงระหว่างการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2 ซึ่งถูกนำมาใช้กับนักกิจกรรมและประชาชนที่ออกมารณรงค์หรือแสดงออกไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ภายหลังศาลยุติธรรมจะพิพากษายกฟ้องในบางคดี แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการนำ พ.ร.บ. ฉบับนี้มาเป็นเครื่องมือควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกช่วงการลงประชามติมากกว่าอำนวยการให้งานดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ คดีที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติซึ่งถูกฟ้องในศาลทหาร รวมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญายังคงไม่สิ้นสุดและดำเนินไปอย่างล่าช้าแม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้แล้ว เช่น คดีส่งจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญ คดีจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ และคดีแจกเอกสารประชามติบางพลี

ขณะเดียวกัน ยังมีคดีอีกประเภทที่แม้ไม่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกภายหลังรัฐประหาร แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับถูกจำกัดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในยุคของ คสช. เพราะถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ.2490 ซึ่งประกาศ คสช. ฉบับที่ 50/2557 กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีประเภทดังกล่าว ปัจจุบันพบว่ามีคดีประเภทนี้ถึงร้อยละ 91.9 ของคดีพลเรือนทั้งหมดที่ขึ้นศาลทหารทั้งผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือการก่อความรุนแรงใดๆ เพียงแต่ครอบครองอาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน หรือถูกจับกุมเพราะเป็นผลจากการสืบหาความผิดอื่น เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือความผิดเกี่ยวกับการบุกรุก แต่เจ้าหน้าที่ตรวจพบอาวุธ จึงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลทหารไปด้วย

  • ผลพวงจากการใช้ “กระบวนการทางกฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร

รูปแบบการใช้ข้อกล่าวหาทาง “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออก นำไปสู่ภาระทางคดีของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งภาระค่าใช้จ่าย ผลกระทบทางจิตใจ ระยะเวลาที่ต้องเสียไประหว่างต่อสู้คดี คดีในศาลทหารจำนวนมากใช้เวลายาวนานในการต่อสู้คดี เนื่องจากรูปแบบการพิจารณาที่นัดสืบพยาน 2-3 เดือนต่อนัด ทำให้การพิจารณาไม่ต่อเนื่องอย่างในศาลยุติธรรม ผ่านมา 4 ปี คดีที่ถูกกล่าวหาตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ หลายคดียังสืบพยานได้เพียงไม่กี่ปาก และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้น

ขณะที่การดำเนินคดี ยังนำไปสู่การมี “นักโทษการเมือง” ถูกคุมขังในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 ซึ่งโดยมากไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา รวมทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ที่บางส่วนถูกกล่าวหาจากการกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จึงมี “นักโทษการเมือง” เข้าออกเรือนจำอยู่เป็นระยะ ทั้งผู้ต้องขังในเรือนจำยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านสิทธิเสรีภาพ และเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่อยู่ในภาวะต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศอีกด้วย

การดำเนินคดีทั้งข้อหาฝ่าฝืนการเรียกรายงานตัว มาตรา 112 และข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ ยังนำไปสู่การผลักดันให้เกิดกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมากในประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียน ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ไม่น้อยกว่า 86 ราย ผู้ลี้ภัยบางส่วนทราบว่ามีการออกหมายจับในคดีมาตรา 112 ขณะที่จำนวนมาก แม้ยังไม่แน่ชัดว่ามีการออกหมายจับหรือไม่ ก็มีความสุ่มเสี่ยงและความกังวลต่อการถูกจับกุมดำเนินคดีดังกล่าว จึงเลือกเดินทางออกนอกประเทศ

ในอนาคตแม้ คสช. จะหมดอำนาจ มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่การดำเนินคดีทางการเมืองที่ยังไม่สิ้นสุด ปัญหานักโทษการเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมืองจะยังคงอยู่กับสังคมไทยต่อไป

X