เปิดคำพิพากษายกฟ้องกลุ่มพลเมืองโต้กลับ : ศาลฎีการับรอง คสช. รัฐประหารชอบด้วยกฏหมาย

วันนี้ (22 มิ.ย. 61) ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1805/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 1760/2558 ที่ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับนำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพและพวกรวม 15 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รวม 5 คน ประกอบด้วย พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว และพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  (โหลดคำพิพากษาฉบับเต็ม) โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยสองส่วน ส่วนแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าว่า ที่ศาลล่างทั้งสอง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาว่า

“……มาตรา 47 และ มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อมโนธรรมและหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรมของมนุษย์อย่างชัดแจ้งอันมีผลทางให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่สภาพเป็นกฎหมายแต่อย่างใด และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานทั่วไปของระบบกฎหมายที่ว่า “บุคคลหาอาจถือเอาประโยชน์จากความฉ้อฉลที่ตนได้ก่อขึ้น หาอาจเรียกร้องใดบนความอยุติธรรมของตน หาได้รับยกเว้นความรับผิดจากอาชญากรรมของตัวเองได้” การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงไม่อาจจะพ้นจากความรับผิดตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)  พุทธศักราช  2557  กำหนดไว้ได้ ….” 

ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า

“สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้น จะต้องประกอบไปด้วยดินแดนอาณาเขตแน่นอนและมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้น โดยมีรัฐบาลปกครองและมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ แม้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิบห้าที่อ้างว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ไม่ชอบในลักษณะที่เป็นกฏหมายก็ดี แต่การตีความกฏหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ตามที่กล่าวไปแล้ว และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน ……..เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรีและวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยดังที่โจทก์ทั้งสิบห้ากล่าวอ้าง และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฏหมาย” 

จากนั้นศาลฎีกาได้อ่านความในมาตรา 48 อีกครั้ง

“……มาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557  นั้น ประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจในการไต่สวน อีกทั้งในมาตรานี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ศาลฎีกายังได้เพิ่มเติมเรื่องบทบัญญัติมาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไว้ในคำพิพากษาว่า

“มาตรา 279 ที่ได้บัญญัติรับรองประกาศ คำสั่งและการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่งหรือการกระทำที่มีผลบังคับใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฏหมายรัฐธรรมนูญนี้และกฏหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป….ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฏหมาย”

การวินิจฉัยส่วนที่สอง ที่โจทก์ทั้งสิบห้าฎีกาเรื่องที่ศาลยกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้อง ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 (1) เป็นการข้ามขั้นตอนกระบวนการพิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลเห็นว่า

“การที่ศาลรับฟ้องไว้เพื่อไต่สวนมูลฟ้องนั้น ไม่จำเป็นต้องศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้องหรือต้องวินิจฉัยว่าฟ้องมีมูลและประทับรับฟ้องไว้พิจารณาก่อนเสมอไป หากศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี หรือมีเหตุตามกฏหมายที่จำเลยไม่ควรรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องจำเลยไป ทั้งนี้ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ดังนี้ เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงดังที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น ศาลชอบที่จะยกฟ้องได้เลย โดยไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้องก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบห้านั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสิบห้าฟังไม่ขึ้น

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ไปยังไม่ถึงจุดเริ่มต้น: ทบทวน 3 ปี กลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องคสช. ข้อหากบฏ ก่อนศาลฎีกาพิพากษา

ประชาชนยังไม่เคยเอาผิดได้: ย้อนดูคดีฟ้องคณะรัฐประหารเป็นกบฏ จากยุคจอมพลถนอมถึงคสช.

 

X