นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4 ปี สิทธิมนุษยชนภายใต้ คสช. และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย ตอนที่ 4

นิติรัฐที่พังทลาย: รายงาน 4 ปี สิทธิมนุษยชนภายใต้ คสช. และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย ตอนที่ 4

ภายใต้การปกครองประเทศซึ่งนำโดยหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปีที่ 4 หลังจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการเรียกบุคคลเข้าพบ การติดตามสอบถาม การควบคุมการเผยแพร่ข่าว การควบคุมตัว ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง และแม้รัฐบาล คสช. จะประกาศให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการดำเนินการให้ “สิทธิมนุษยชน” เป็นวาระแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า รอยต่อของการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐบาลที่นำโดยทหารสู่การบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดผลกระทบจากการกระทำของคนกลุ่มดังกล่าว จากการนำแนวคิดและกระบวนการทางทหารมาใช้ในการบริหารงานประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ผลพวงนี้เกิดจากการสร้างระบอบกฎหมายให้ความมั่นคงของรัฐอยู่เหนือหลักสิทธิเสรีภาพ และออกแบบให้รัฐธรรมนูญเข้ามารองรับการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ คสช. และส่งต่อความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงพระราชบัญญัติซึ่งออกโดย สนช. พร้อมทั้งข้อยกเว้นความรับผิดไม่ว่าในทางใดๆ ให้แก่รัฐบาลในชุดต่อไป โดยผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจนั้นไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐรับผิดหรือชดเชยเยียวยาแก่ตนได้  

เพื่อยับยั้งมิให้ผลพวงทางกฎหมายชุดดังกล่าวได้รับการรองรับและบังคับใช้เสมือนกฎหมายปปกติซึ่งมีคุณค่าในสังคมประชาธิปไตย และเพื่อให้กลไกของกฎหมายปกติสามารถดำเนินการได้โดยปราศจากการชี้นำจากทหาร มีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ตกเป็นข้อยกเว้นภายใต้เหตุผลการจัดการประเทศด้วยความมั่นคงของรัฐอีก ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบและนำตัวผู้กระทำความผิดในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษในอนาคต ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงทางกฎหมายของ คสช. ดังนี้

1. แยกทหารออกจากการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน

จากผลต่อเนื่องของการขยายเขตแดนของกรอบคิดและปฏิบัติการแบบทหาร ตลอดจนการเข้าแทรกแซงการใช้อำนาจอธิปไตยในสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดยกองทัพ จึงต้องจำกัดบทบาทของทหาร โดยแยกเด็ดขาดจากการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนโดยแท้ อย่างน้อยที่สุด ทหารต้องยุติการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติการในงานบริหาร นิติบัญญัติ และในคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งหมด ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นธรรมและโดยเร็วที่สุด และต้องแก้ไขมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ให้อำนาจ คสช. แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน โดยการเสนอชื่อจาก กกต.

นอกจากนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องจัดให้มีกระบวนการเยียวยาแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน โดยการนำตัวผู้ก่อการรัฐประหารเข้าสู่การพิจารณาคดี สร้างระบบที่ประชาชนและหน่วยงานอื่นสามารถควบคุมและตรวจสอบการทำงานของกองทัพได้ ต้องดำเนินการปฏิรูปกรอบคิดเรื่องความมั่นคงควบคู่กับการเคารพซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนเปิดเผยข้อมูล วัตถุประสงค์ และรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลของประชาชนที่กระทำโดยกองทัพหรือหน่วยงานต่างๆ ภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ต่อสาธารณะ

2. จัดการกับผลพวงทางกฎหมายของ คสช.

ด้านผลพวงทางกฎหมายในระบอบ คสช. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเสนอให้ทบทวนผลพวงทางกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำพาสังคมเข้าสู่ภาวะที่กลไกทางกฎหมายสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามหลักนิติรัฐ และเพื่อให้ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจากประชาชนเองและโดยองค์กรตุลาการ โดยแบ่งชุดกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

ชุดที่ 1 กฎหมายที่มาจากโครงสร้างหรือวิธีการออกโดยมิชอบ กล่าวคือ ชุดกฎหมายที่ออกโดยคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งมิได้มาจากฐานการใช้อำนาจนิติบัญญัติของประชาชน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ต้องได้รับการทบทวนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะดำเนินการทบทวนนั้น อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการ พรรคการเมือง หรือหน่วยงานรัฐ/องค์กรอิสระก็ตาม

หลังจากการทบทวนด้วยกระบวนการดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดและโดยเร็วที่สุด ต้องยกเลิกและแก้ไขบางมาตราในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เช่น ยกเลิกมาตรา 265 และมาตรา 279 ซึ่งรับรองความชอบด้วยกฎหมายและการกระทำของคณะรัฐประหารในมาตรา 44 มาตรา 47 และมาตรา 48 ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และต้องทบทวนเพื่อแก้ไขมาตรา 255 ซึ่งบัญญัติวิธีการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่มีผลเป็นการยกเลิกหรือแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ โดยให้กระบวนการดังกล่าวเป็นการเยียวยาความไม่เป็นอิสระและความไม่เป็นธรรมในช่วงการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560

เช่นเดียวกันกับข้อเสนอต่อการยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ต้องยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยทันที เช่น การกำหนดให้การกระทำความผิดบางประการอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ฉบับที่ 38/2557 และฉบับที่ 51/2557 การห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เป็นต้น

กฎหมายระดับพระราชบัญญัติซึ่งออกโดย สนช. สืบเนื่องจากกระบวนการออกกฎหมายดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เบื้องต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอว่า ควรจำแนกสาระสำคัญและผลกระทบซึ่งเกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัตินั้น ด้วยการทบทวนเจตนารมณ์และเนื้อหาของพระราชบัญญัติซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นลำดับแรก เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 รวมถึง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ซึ่งตราโดยละเมิดต่อสิทธิของประชาชนในการกำหนดเจตจำนงของนเอง และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการสาธารณะ แต่กลับมีผลบังคับใช้เป็นการควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในอนาคตหลายประการ

ชุดที่ 2 กฎหมายที่อยู่ในกระบวนการบังคับใช้โดยมิชอบ กล่าวคือ ชุดกฎหมายซึ่งเป็นความผิดทางอาญาที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตีความและบังคับใช้อย่างเข้มข้นหลังการรัฐประหาร โดยไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการกับบุคคลซึ่งเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานยุยุงปลุกปั่น ตามมาตรา 116  ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (มาตรา 30-33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง) และความผิดฐานดูหมิ่นศาล (มาตรา 198 ประมวลกฎหมายอาญา) เป็นต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอให้มีการทบทวนองค์ประกอบทางกฎหมายและโทษทางอาญาของความผิดในแต่ละฐาน เนื่องจากเป็นชุดกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่การจำกัดสิทธิของบุคคลต้องได้สัดส่วนและเป็นไปตามความจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ชุดกฎหมายทั้ง 2 กลุ่ม ที่ถูกบังคับใช้ต่อกลุ่มบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐาน

ดังกล่าว ต้องได้รับการทบทวนทั้งในระดับภาพรวมและเป็นรายคดี เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเยียวยาเป็นรายบุคคลต่อไป (รายละเอียดปรากฏในข้อ 4)

3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการใช้ฐานกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนส่งเสริมให้ศาลวินิจฉัยและมีคำพิพากษารับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน

การสร้างระบอบกฎหมายใหม่ซึ่งกลายเป็นผลพวงทางกฎหมายของ คสช. ยังเกิดขึ้นควบคู่กับการพิจารณาคดีทางการเมืองของศาลยุติธรรมและศาลทหาร ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าต้องแยกทหารออกจากทุกส่วนของการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด มีรายละเอียดในข้อเสนอต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ ดังนี้   

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ต้องยกเลิกการนำพลเรือนเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร เพื่อยืนยันหลักความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาล พนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน ต้องยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงพยานหลักฐาน สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ ต้องออกกฎหมายให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในศาลทหาร เนื่องจากคดีเกิดขึ้นระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้สามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อศาลยุติธรรมได้ และขอรับการเยียวยาจากรัฐทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน

รัฐควรต้องประกันระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรตุลาการกับประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอันแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย ให้ศาลต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยการยกเลิกโทษอาญาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทั้งตามมาตรา 30 – มาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และมาตรา 38 – มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นอัยการ ต้องยกเลิกการเข้ามากำกับและควบคุมการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของพนักงานอัยการไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดจนสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน โดยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจมีดุลพินิจเหนือพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี

นอกจากนี้ ต้องยุติการดำเนินคดีซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามบุคคลซึ่งเห็นต่างด้วยการใช้ช่องทางสั่งไม่ฟ้องคดี ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตาม พ.ร.บ.องค์กรและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และท้ายที่สุด รัฐต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2561 ที่ให้อำนาจ กอ.รมน. ทั้งระดับภาคและระดับจังหวัดชี้นำการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการในแง่การอำนวยความยุติธรรมในคดี และการรักษาความมั่นคงของรัฐอย่างเร็วที่สุด 

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจ  เช่นเดียวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นอัยการ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกเลิกนโยบายซึ่งออกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2559 ที่กำกับควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสร้างระบบการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนมิให้ถูกชี้นำโดยทหารตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินคดี โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้รับมอบอำนาจจาก คสช. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ยกเลิกกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้มาระหว่างการควบคุมหรือการซักถามของทหารซึ่งอยู่บนฐานของกฎอัยการศึก ประกาศ คสช. และ/หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.  ตลอดทั้งยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ให้อำนาจแก่ทหารเป็นเจ้าพนักงานและเป็นพนักงานสอบสวนในความผิดฐานที่ถูกกำหนดโดยประกาศหรือคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งหมด

ส่วนในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเสนอว่า องค์กรดังกล่าว โดยการสนับสนุนของรัฐและภาคประชาสังคม ควรเป็นแบบอย่างแก่ศาลอื่นในการนำพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นฐานในการวินิจฉัยคดีและสร้างบรรทัดฐานในการรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ผ่านการพิจารณาพิพากษาคดี (Strategic Litigation Human Rights Based Approach) 

4. เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของทหาร

สำหรับบุคคล กลุ่มบุคคล และชุมชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของ คสช. และ

เจ้าหน้าที่ทหารตลอด 4 ปีหลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเสนอต่อการเยียวยาประชาชนกลุ่มนี้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ

ประเภทที่ 1 การเยียวยาประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ไม่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ บุคคลที่ยอมรับข้อตกลงอันจำกัดสิทธิบางประการ ตาม MOU ที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร บุคคลที่ลี้ภัย

ทางการเมือง และบุคคลที่ถูกติดตาม ข่มขู่ หรือควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อันละเมิดต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอให้รัฐเปิดเผยข้อมูลและจำนวนบุคคลในกลุ่มดังกล่าวทั้งหมด และรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบตามการจัดมาตรฐานเทียบกับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิการเมือง (ICCPR) ส่งต่อ และสร้างให้มีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนและรับข้อเสนอแนะจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลและ คสช. ต้องยกเลิกคำสั่ง กฎ หรือการกระทำ ซึ่งมีผลจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม ตลอดทั้งการจัดการทรัพย์สินและการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของ คสช. โดยยกเลิกระบบการจัดทำ MOU เพื่อให้ประชาชนต้องยอมรับเงื่อนไขอันล่วงละเมิดต่อสิทธิดังกล่าว ยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ ยกเลิกระบบการยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือเงิน เนื่องจากบุคคลนั้นไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ตลอดทั้งประกันสิทธิให้ผู้เดินทางออกนอกประเทศ เนื่องมาจากความหวาดกลัวในการถูกดำเนินคดี หรือถูกข่มขู่คุกคาม อันเนื่องมามีความเห็นต่างจากรัฐ ได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ประเภทที่ 2 การเยียวยาประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยถูกรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี ได้แก่ บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญาฐานต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 2 อันเนื่องมาจากเหตุจูงใจทางการเมือง หรือตกเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสามารถแบ่งพิจารณาตามช่วงชั้นการดำเนินคดีของทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหาร ได้แก่

คดีที่ถึงที่สุดแล้วในศาลยุติธรรมและศาลทหาร รัฐต้องจัดทำระบบรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ถูกกล่าวหา และออกกฎหมายเพื่อรองรับให้ความต้องการของผู้ถูกกล่าวหาที่ประสงค์จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ และเปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งพลเรือนและทหารที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารช่วงประกาศกฎอัยการศึกสามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อศาลยุติธรรมได้

นอกจากนี้ รัฐต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการพิจารณาทั้งหมดตามหลักศุภนิติกระบวนการ (Due Process of Law) และจัดกระบวนการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือ ทั้งในรูปแบบตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินแก่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัว

คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลยุติธรรมและศาลทหาร  รัฐต้องแสดงจำนวนคดีและจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของทั้งสองศาล เฉพาะคดีที่อยู่ในศาลยุติธรรม ขอให้รัฐประกันสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมอย่างเคร่งครัด รับรองสิทธิในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รับรองสิทธิที่จะเข้าถึงการตรวจพยานหลักฐานของฝ่ายตรงข้าม และสิทธิที่จะมีทนายความที่ตนเลือก ส่วนคดีในศาลทหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ยืนยันให้ย้ายคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณามายังศาลยุติธรรม

คดีที่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาศาล รัฐต้องแสดงจำนวนคดีและจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าว เพื่อทบทวนการดำเนินคดีในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและชั้นอัยการ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอให้ยุติการดำเนินคดีอย่างไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้งในรูปแบบตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน

5. จัดการคำพิพากษาที่รับรองความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหาร สร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย และการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิ้นผลไป

ประเด็นสุดท้ายที่เป็นผลพวงทางกฎหมายในระบอบ คสช. คือ คำพิพากษาอันเป็นผลผลิตมาจากสถาบันตุลาการ เพราะนอกจากจะคงอยู่พร้อมกับผลพวงอื่นแล้ว ผลของคำพิพากษาในระบบกฎหมายไทย ยังมีบทบาทในการพิทักษ์ให้การกระทำใดๆ ก็ตาม อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำรัฐประหารของ คสช. ยังคงชอบด้วยกฎหมาย และวางหลักให้เกิดเอกสิทธิ์คุ้มครองทั้ง คสช. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช.ในขณะนั้นให้มิต้องรับผิดหรือรับโทษ ไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอนาคต เช่นเดียวกัน คำพิพากษาบางส่วนเป็นผลมาจากการให้สถานะกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชนสามารถบังคับใช้ จนนำมาสู่การวินิจฉัยลงโทษประชาชนซึ่งเป็นคู่ความในคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเสนอต่อการจัดการคำพิพากษาที่มีลักษณะดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ชุด ตามผลของคำพิพากษา ประกอบด้วย กลุ่มคำพิพากษาซึ่งรับรองความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหารของ คสช. ตลอดทั้งผลซึ่งนำมาสู่การสร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองมิให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางกฎหมาย และกลุ่มคำพิพากษาที่ต้องนำมาทบทวนและทำให้สิ้นผลไปในส่วนที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นผลจากการกระทำของ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนี้

ชุดที่ 1 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหารของ คสช. เพื่อลบล้างความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ของการกระทำรัฐประหารโดย คสช. ต้องทำให้คำพิพากษา ซึ่งอย่างน้อยที่สุด คำพิพากษาฎีกาที่ 3578/2560 คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่วินิจฉัยว่า คสช. มีฐานะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แม้พระมหากษัตริย์ยังไม่มีพระบรมราชโองการรองรับสถานะของ คสช. ต้องสิ้นผลไปทันที ทั้งนี้ เพื่อทำลายหลักในการวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจอันไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ต้องถูกลบล้างและไม่ถูกนำมาอ้างโดยสถาบันตุลาการในอนาคต

ชุดที่ 2 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งสร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองมิให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางกฎหมาย และกลุ่มคำพิพากษาซึ่งนำกฎหมายอันละเมิดสิทธิเสรีภาพมาวินิจฉัยเพื่อลงโทษประชาชน

ประการแรก คือ กลุ่มคำพิพากษาซึ่งเป็นผลมาจากการปรับใช้มาตรา 44 มาตรา 47 และ 48 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ตลอดจนคำพิพากษาที่วินิจฉัยตามประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งอาศัยฐานอำนาจตามมาตราดังกล่าวในการออกและบังคับใช้เป็นกฎหมาย ต้องทำให้สิ้นผลไป เพราะมีลักษณะสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดด้วยการรับรองว่า คสช. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ/คำสั่ง คสช.  ไม่ต้องเข้าสู่การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง ซึ่งหมายความว่าเอกสิทธิ์ที่คุ้มครองทั้ง คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติให้ไม่ต้องตกเป็นผู้กระทำความผิดและรับโทษทางกฎหมายเหล่านี้ ต้องสิ้นผลไปด้วย

ประการที่สอง คือ กลุ่มคำพิพากษาที่เกิดจากการรับรองผลผลิตการใช้อำนาจของ คสช. ในรูปแบบคำสั่ง ประกาศ และพระราชบัญญัติของ สนช. ให้มีสถานะเท่าเทียมและเป็นส่วนหนึ่งในระบบกฎหมายที่ออกในสภาวการณ์ปกติ และกลุ่มคำพิพากษาที่เกิดจากการรองรับความชอบด้วยกฎหมายของผลผลิตการใช้อำนาจของ คสช. ดังกล่าว โดยนำมาวินิจฉัยให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพที่ตนควรมีควรได้ในระบอบประชาธิปไตยต้องรับโทษ เช่น คำพิพากษาหรือคำสั่งอันเกิดจากการวินิจฉัยประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่กำหนดโทษอาญาแก่ผู้ไม่มารายงานตัวต่อ คสช. คำพิพากษาหรือคำสั่งอันเกิดจากการวินิจฉัยประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งตีความไปในทางที่ไม่คุ้มครองและนำมาสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ต้องสิ้นผลไปเช่นกัน.

>>>ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มที่นี่<<<

X