ศาลอุทธรณ์ชี้คสช.ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งจำคุกสมบัติ คดีไม่ไปรายงานตัว

ศาลอุทธรณ์ชี้คสช.ยึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งจำคุกสมบัติ คดีไม่ไปรายงานตัว

photo_2016-06-30_13-06-42

วันนี้ (30 มิ.ย.59) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่งนายสมบัติเป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตามนายสมบัติไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้

ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัวต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหารโดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมืองต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญํติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด”

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียมผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี

………………………………………………………………………………….

photo_2016-06-30_13-05-59

สรุปคำอุทธรณ์ของจำเลย

            คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 58 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 โดยสรุปความได้ว่า จำเลยเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า “…เห็นว่า โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามประกาศดังกล่าวเป็นโทษที่บัญญัติเพิ่มเติมย้อนหลังจากที่เจ้าพนักงานมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 แล้ว โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป แตกต่างไปจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง”

นอกจากนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขอยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดนี้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคหนึ่ง การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนี้มาก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

2.โจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากบบรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบตามประกาศ คสช. ที่ 25/2557 เท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ไปรายงานตัว “โดยไม่มีเหตุ หรือข้อแก้ตัวอันสมควร” และยังไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงด้วยว่า ไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวที่ไม่สมควรอย่างไร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ฟ้องของโจทก์จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

3.ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยมาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า …ประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด… ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเป็นเจ้าพนักงานตามอำนาจที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ไว้  ศาลจึงไม่อาจยกข้อโต้แย้งของจำเลยที่อ้างว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการประกาศยึดอำนาจปกครองแผ่นดินของ คสช.  เป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บรรดาประกาศ หรือคำสั่ง หรือการกระทำใดของ คสช. นับแต่วันที่ยึดอำนาจการปกครองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกประกาศ หรือคำสั่ง หรือกระทำการใด ๆ ได้

ต่อมา 24 พ.ค. 2557 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 พ.ค. 2557 ถือว่าประกาศราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวมีผลต่อจำเลยนับแต่วันที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หากจะถือตามประเพณีการปกครองของไทย ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2557 ที่ออกในวันที่ 23 พ.ค. 2557 ประกาศ คสช. (เฉพาะ) ฉบับที่ 25/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เป็นการออกคำสั่งหรือประกาศก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการแต่ตั้งหัวหน้า คสช. ในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็นการออกโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 47 ประกาศใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2557 บัญญัติให้คำสั่งหรือประกาศของ คสช. ที่ออกตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการบัญญัติมารับรองให้สถานะของคำสั่งหรือประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชอบด้วยกฎหมายและมีผลย้อนหลัง ซึ่งจำเลยเห็นว่า จะนำมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาปรับใช้กับจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจะถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังไปเอาผิดและลงโทษบุคคล โดยมีผลมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง ไม่ได้เป็นการบังคับใช้แก่บุคคลโดยทั่วไป ซึ่งขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ของกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นนำข้อกฎหมายในมาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาพิจารณารับรองสถานะของ คสช. เพื่อย้อนหลังเอาผิดและลงโทษจำเลย ยังขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 12 ที่ว่า “บุคคลใดจะถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใด ๆ ด้วยเหตุผลที่ตนได้กระทำหรือเว้นการกระทำใด ๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่มีการกระทำนั้นมิได้ระบุว่าเป็นความผิดทางอาญามิได้”

และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ข้อ 15  ที่ว่า “บุคคลย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกระทำหรืองดเว้นกระทำการใด ซึ่งในขณะที่กระทำไม่มีความผิดอาญาตามกฎหมายภายใน”

หลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย (Nullum crimen, nulla poena, sine lege)” ยังถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 4 รวมถึงถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อีกด้วย

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากขณะออกคำสั่งเรียกให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตามคำอธิบายของ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ที่ว่า เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมายความว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับการแต่งตั้ง สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ดังนั้น ขณะออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพราะที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวนั้น ได้กระทำไปโดยมีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เนื่องจากการรัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศโดยมิใช่วิถีทางตามรัฐธรรมนูญ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะต่อต้านและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 69 และ 70 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิและกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

จำเลยขอเรียนว่า จำเลยมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 69 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” และจำเลยยังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 70 ได้บัญญัติให้ “ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”

ตามคำเบิกความของ น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา พยานจำเลย ที่ว่า “สิทธิต่อต้านการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายรวมไปถึงสิทธิที่จะไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐ แม้จะได้ตราขึ้นตามกระบวนการ หากบุคคลผู้ใช้สิทธิต่อต้านเห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองนั้นเป็นไปโดยปราศจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย


รายละเอียดเพิ่มเติม

ย้อนอ่านคำเบิกความพยาน คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ประกาศ คสช. ไม่มีโทษย้อนหลัง คดี บก.ลายจุด ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช.

อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนคำสั่งได้ที่นี่

 

X