หลักฐานมีเพียงภาพจากกล้องในคดีเดิม: บทสะท้อนม.116 คดีที่ 3 ของจำเลยติดป้ายประเทศล้านนา

          ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย. 61 ศาลจังหวัดเชียงรายได้ทำการสืบพยานในคดีของนายออด สุขตะโก และพวกรวม 3 คน ในข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการพบป้ายข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ที่บริเวณสะพานลอย หน้าตลาดสดป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 57 เป็นเวลากว่า 4 ปี แล้ว ที่เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้น  และคดีนี้เป็นคดีที่ 3 สำหรับจำเลยทั้งสาม จากป้ายลักษณะเดียวกัน แต่สถานที่แตกต่างกันออกไป

 

            หากจะให้เห็นภาพของคดีที่ 3 ในหมวดหมู่คดีความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่จำเลยทั้งสามคือ นายออด สุขตะโก, นายสุขสยาม จอมธาร และนางถนอมศรี นามรัตน์ ชาวบ้านจากอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้เผชิญหน้าอยู่ในวันนี้  คงต้องย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร วันนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ที่จังหวัดเชียงราย ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงหรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบและให้การสนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในภาคเหนือ ได้เดินทางมาพบเจอกับบุคคลที่พวกเขาชื่นชม อีกทั้งเป็นการให้กำลังใจกับน.ส.ยิ่งลักษณ์  ต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครโดยกลุ่มกปปส. เพื่อต่อต้านรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น รวมทั้งมีความพยายามขัดขวางหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และศาลอาญาในขณะนั้นได้ปฏิเสธการออกหมายจับแกนนำ กปปส. ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  โดยจำเลยทั้งสามในคดีนี้ก็ได้เดินทางมาจากบ้านของตนเองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

นำมาสู่เรื่องราวคดีแรกของจำเลยทั้งสาม ที่เริ่มขึ้นหลังจากนั้น เมื่อมีการพบป้ายข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดอยู่บริเวณสะพานลอยข้ามถนนพหลโยธิน หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 57  ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดเชียงราย ได้เป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557

กระทั่งหลังการรัฐประหารของคสช. ในวันที่ 13 มิ.ย. 2557 พนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับบุคคลสามคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ติดป้ายดังกล่าว คือจำเลยทั้งสามนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี โดยที่จำเลยทั้งสามได้ต่อสู้คดี จนในที่สุดศาลจังหวัดเชียงรายได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 58 โดยพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามมาตรา 116 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี แต่ฝ่ายจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงให้ลดโทษ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปี และจำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ เป็นระยะเวลา 5 ปี

ป้ายที่พบติดในอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.57 (ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์) 

            แต่เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อปรากฎว่าในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดเหตุในคดีแรกคือระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2557 มีการพบป้ายข้อความดังกล่าวนี้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ทั้งที่จังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และพิษณุโลก

ต่อมา ราวเดือนสิงหาคม 2557 พนักงานสอบสวนสภ.เมืองพะเยา ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา 3 คนเดียวกันนี้ คือ นายออด, นายสุขสยาม และนางถนอมศรี มารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 116 เช่นกัน จากกรณีการติดป้ายลักษณะเดียวกันในจังหวัดพะเยาด้วย ซึ่งคดีไม่มีความคืบหน้าใดๆ มาเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยที่นายออดหนึ่งในผู้ต้องหาจึงเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองพะเยา ได้แจ้งมายังผู้ต้องหาทั้งสามคน ให้เดินทางไปรับทราบคำสั่งในคดี โดยระบุว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องคดี และต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดพะเยาก็มีคำสั่งให้ฟ้องคดีเช่นเดียวกัน

จำเลยทั้งสามคนในคดีนี้ถูกฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดพะเยาเป็นครั้งที่สอง และต้องยืนยันให้การต่อสู้คดีอีกครั้ง หากได้เข้าฟังการพิจารณาในคดีที่ 2 ที่เป็นไปอย่างเงียบเหงา ณ ศาลจังหวัดพะเยาอยู่เป็นเวลา 6 วัน ในห้องพิจารณาที่มีเพียงจำเลยทั้งสาม ทนายจำเลย และอัยการ บางวันก็มีเพื่อนอีกคนหนึ่งของจำเลยแวะเวียนมาพบปะบ้างเล็กน้อย คงจะเกิดคำถามขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินอยู่ตรงหน้าไม่มากก็น้อย เพราะจากการสืบพยานตลอดทั้ง 6 วัน พบว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมมาฟ้องร้องคดีต่อจำเลยทั้งสามนั้น ล้วนเป็นพยานหลักฐานในคดีแรกที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาต่อจำเลยทั้งสามไปเรียบร้อยแล้ว

พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบทั้งหมดก็ได้เบิกความว่า ป้ายที่พบเป็นป้ายแบบเดียวกัน ขนาดและสีเดียวกัน ข้อความเหมือนกัน ไปจนถึงลักษณะการมัดลวดก็เหมือนกัน และพยานหลักฐานเพียงหนึ่งเดียวที่นำมาสู่การดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสาม คือลักษณะความเหมือนกันของป้ายที่พบและลักษณะการติดบนสะพานลอยเหมือนกับคดีที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีกล้องวงจรปิดจับภาพจำเลยทั้งสามไว้ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการจึงเชื่อว่าผู้กระทำเป็นจำเลย หากแต่จำเลยทั้งสามก็ได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับป้ายที่อื่นๆ นอกจากป้ายที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่จำเลยทั้งสามบังเอิญผ่านไปในช่วงที่มีการติด ซึ่งท้ายที่สุดศาลจังหวัดพะเยาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานโจทก์ยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ทำการติดป้ายในพื้นที่เกิดเหตุตามฟ้อง และจากผลการตรวจแผ่นป้าย ไม่สามารถยืนยันถึงตัวจำเลยทั้งสามได้

 

           

             เรื่องราวก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อได้มีการฟ้องร้องคดีต่อจำเลยทั้งสามอีกครั้ง เป็นคดีที่สาม จากเหตุการณ์ในช่วงเดียวกันเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 57  จากป้ายลักษณะเดียวกัน ที่มีการพบบริเวณสะพานลอยหน้าตลาดป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย หลังจากผ่านมากว่า 4 ปี   ได้มีการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ต่อผู้ต้องหา 3 คน คือนายออด, นายสุขสยาม และนางถนอมศรี

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามได้นำหมายจับไปที่บ้านของนายออด พร้อมกับนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สภ.แม่ลาว การแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้นโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย ก่อนที่นายออดจะถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงรายในวันถัดมา และได้รับการประกันตัว  ส่วนผู้ต้องหาอีกสองราย คือนางถนอมศรี และนายสุขสยาม ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนสภ.แม่ลาว เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 60 ก่อนถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลเช่นเดียวกัน ทั้งสองคนถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 4 วัน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ในการประกันตัว ก่อนญาติและทนายความจะยื่นประกันตัวทั้งสองคน

นำมาสู่การฟ้องร้องคดีต่อจำเลยทั้งสามในที่สุด โดยก่อนเริ่มการสืบพยาน จำเลยและทนายความได้พบว่า พวกเขาต้องต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง กับพยานหลักฐานของโจทก์ที่แทบจะไม่แตกต่างจากคดีที่ศาลจังหวัดพะเยา ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่สามารถยืนยันตัวจำเลยทั้งสามได้

 

การสืบพยานในคดีที่ 3 กับพยานหลักฐานจากคดีแรกอีกครั้ง 

ตลอดการสืบพยานพยาน 3 วันระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย. 61 ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบรวมทั้งสิ้น 5 ปากด้วยกัน โดยล้วนเป็นพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีในอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว ฝ่ายโจทก์ได้อ้างพยานเพื่อนำเข้ามาสืบต่อศาลมากกว่านี้ราว 10 กว่าปาก หากในวันแรกของการสืบพยานนั้น  ศาลได้สอบถามทนายความจำเลยว่าหากพยานโจทก์ปากไหนที่สามารถรับคำเบิกความเป็นเอกสารได้ ก็อยากให้รับกัน เพราะจากที่ศาลพิจารณาแล้ว พยานหลายปากไม่ได้เบิกความเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสามอยู่แล้ว เช่น เป็นเพียงการตรวจสอบป้ายที่มีการพบ เป็นต้น

ศาลระบุว่าอยากให้สืบพยานเฉพาะที่เป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้เท่านั้น และศาลได้สอบถามทางอัยการว่าในคดีนี้ ไม่มีประจักษ์พยานเลยใช่หรือไม่ ทางอัยการตอบว่าใช่ ทนายจำเลยจึงได้ยินยอมรับคำเบิกความของพยานโจทก์เป็นจำนวนหลายปากด้วยกัน ทำให้ไม่ต้องนำพยานเข้ามาสืบต่อศาล

พยานโจทก์ที่เข้ามาเบิกความก็ได้เบิกความในส่วนที่ตนเองเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีการพบป้ายสีขาว มีข้อความ ”ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ที่มีขนาดกว้างยาวประมาณ 1 คูณ 10 เมตร  ตัวหนังสือสีแดง พื้นสีขาว ผูกด้วยลวด คล้องไว้กับสะพานลอย และจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเพียงพยานเจ้าของร้านเกมส์ใกล้กับสะพานลอยที่เกิดเหตุ ระบุว่าในช่วงเย็นวันที่เกิดเหตุได้เห็นกลุ่มคนจำนวนราว 5-6 คน ขึ้นไปบนสะพานลอย แต่ก็ไม่เห็นหน้าแต่อย่างใด

พยานโจทก์ 2 ปากที่เป็นคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้เบิกความว่า พยานได้ทราบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นคล้ายกันในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พบป้ายข้อความที่มีขนาด สี และข้อความแบบเดียวกัน เมื่อลักษณะต่างๆ ตรงกัน จึงเชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน และทราบว่าในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีภาพกล้องวงจรปิด ซึ่งเห็นตัวผู้กระทำพบว่าเป็นจำเลยทั้งสามในคดีนี้ และพยานเชื่อว่าหากป้ายนี้ถูกแขวนไว้ จะก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่อำเภอแม่ลาว จึงรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนโดยมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม ด้านทนายจำเลยก็ได้ถามค้านพยานว่า ในอำเภอแม่ลาวที่เกิดเหตุนั้นก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงใช่หรือไม่  ซึ่งพยานโจทก์ก็ได้เบิกความว่าใช่  คำถามนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงจำเลยทั้งสามเท่านั้นที่จะเป็นผู้ทำการติดป้าย อาจเป็นกลุ่มอื่นๆ ก็สามารถทำได้

เมื่อทำการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นในวันที่ 28 มิ.ย. 61  ทนายจำเลยได้ขอทำการสืบพยานจำเลยต่อเนื่องเพื่อทำให้การพิจารณาแล้วเสร็จในวันนั้นเลย โดยที่ฝ่ายจำเลยได้อ้างจำเลยทั้งสามขึ้นเบิกความ ศาลจังหวัดเชียงรายจึงได้ทำการสืบพยานจำเลยต่อเนื่องในวันเดียวกัน โดยการสืบพยานจำเลยทั้งสามเป็นไปอย่างรวดเร็ว

จำเลยทั้งสามเข้ามาเบิกความยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายในอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงรายในคดีนี้ และได้เล่าเหตุการณ์ในคดีแรกที่จังหวัดเชียงรายว่า ในวันนั้นจำเลยทั้งสามเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงรายเพื่อให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ภายหลังการให้กำลังใจแล้วเสร็จ ได้เดินทางมายังห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่าและเดินข้ามสะพานลอยที่เกิดเหตุ เพื่อไปยังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงเหมือนๆ กันเรียกให้ช่วยทำการติดป้าย จำเลยทั้งสามจึงได้ช่วยติดป้าย จนเป็นเหตุในคดีแรกที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น ในวันอื่นๆ จำเลยทั้งสามก็ได้อาศัยอยู่บ้านตนเอง โดยไม่ได้เดินทางไปในจุดเกิดเหตุอื่นๆ ตามที่ถูกกล่าวหา

เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์และจำเลย ศาลจังหวัดเชียงรายได้นัดหมายเพื่อฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ส.ค. 61 เวลา 9.00 น.

 

            เรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อจำเลยทั้งสามในสองครั้งหลังนี้ จะไม่ก่อให้เกิดคำถามเลยหรือว่า ได้เกิดอะไรขึ้นกับขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา ในข้อกล่าวหาที่รุนแรงในหมวดคดีความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ที่มีเพียงพยานหลักฐานหนึ่งเดียวที่นำมาสู่ตัวจำเลยทั้งสามได้ คือภาพจากกล้องวงจรปิดจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ในคดีแรกที่ได้จบลงและมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดไปแล้ว คำถามคือพยานหลักฐานดังกล่าวแน่นหนามากพอหรือไม่ ภาพกล้องวงจรปิดจากสถานที่เดียวนำไปสู่การฟ้องร้องต่อจำเลยทั้งสาม จากกรณีสถานที่ต่างกันไปอีกถึง 2 สถานที่ ถึง 2 ครั้งด้วยกันนั้น  เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วหรือ จนมาถึงขั้นที่เป็นคดีความฟ้องร้องต่อศาล และก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่อจำเลยในการพิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

แล้วกระบวนการยุติธรรมแบบใดกัน ที่สามารถยอมรับให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ควรได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และปล่อยให้กระบวนการล่วงเลยมาจนถึงขนาดเป็นคดีความฟ้องร้องนี้ได้   หากในอนาคต จะมีกรณีตัวอย่างเพื่อนำมาพิจารณาเพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรม  คดีความของจำเลยทั้งสามคนนี้คงเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่าง ที่ชี้ให้เห็นความบกพร่องและช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และสมควรต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างยิ่ง

 

 

X