คดี We Walk และ คดี We Want to Vote Movement : คำถามที่รัฐไทยต้องตอบผู้รายงานพิเศษของ UN

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และด้านส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders/ Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression หรือผู้รายงานพิเศษของ UN) ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) (หนังสือลำดับที่ UA THA 2/2018 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561) ให้รัฐบาลไทยชี้แจง กรณีการจับกุมและคุมขังนักกิจกรรมที่เข้าร่วมรณรงค์ “We Walk เดินมิตรภาพ” เมื่อเดือนมกราคม 2561 และกรณีการละเมิดด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักกิจกรรมที่มีส่วนร่วมต่อต้านการเลื่อนการเลือกตั้ง กรณีเมื่อวันที่ “27 มกราคม 2561″ หรือ คดี MBK39  ซึ่งทั้งสองกรณีมีผู้ถูกกล่าวหาจากทางการไทยรวมแล้ว 19 คน

กระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยยังมิได้มีหนังสือตอบถึงผู้รายงานพิเศษของ UN แต่อย่างใดถึงเรื่องดังกล่าว อีกทั้งการดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหายังคงอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ซึ่งหมายความว่า ข้อกล่าวหาว่ารัฐไทยใช้กระบวนการยุติธรรมละเมิดสิทธิของนักกิจกรรมทั้งสองคดี ยังคงมีอยู่

 

“สถานการณ์ล่าสุดด้านคดีความของกลุ่ม “We Walk เดินมิตรภาพ” และ “We Want to Vote Movement”

ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำเดือนกรกฎาคม 2561 คดีความของ 8 ผู้ต้องหาจากการรณรงค์ “We Walk เดินมิตรภาพ” อัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ออกไปเป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากอัยการสูงสุดยังไม่มีความเห็นกลับมาถึงการสั่งฟ้องคดีนี้ โดยมีนัดหมายฟังคำสั่งพนักงานอัยการอีกครั้งในวันที่ 7 สิงหาคม 2561 (https://tlhr2014.com/?p=8049)  ในส่วนของประชาชนซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั้วไป หรือกลุ่ม We Want to Vote Movement ในช่วงระยะเวลาเพียงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2561 ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฟ้องคดีแล้วกว่า 130 ราย โดยแต่ละคดียังคงดำเนินไปภายใต้กระบวนการยุติธรรม บางคดีอยู่ในชั้นสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ บางคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีของอัยการ และบางคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น (ดูรายละเอียดคดีและการนัดหมายได้ที่   (https://tlhr2014.com/?p=7016 และ https://tlhr2014.com/?p=8138)”    

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบหลังรัฐประหาร ปี 2557 โดยเฉพาะบุคคลที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หรือแสดงความเห็น ตลอดทั้งรวบรวมและบันทึกข้อมูลบุคคลดังกล่าวเข้าสู่ระบบ และนำเสนอต่อสาธารณะ จึงขอทบทวนว่าหลังรัฐประหารที่ผ่านมา กลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงผู้รายงานพิเศษของ UN เข้ามาดำเนินการ ตั้งคำถาม มีข้อเรียกร้อง หรือเสนอความเห็น ต่อรัฐบาลไทยในสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างไร และเฉพาะในคดี We Walk และ คดี MBK39 ผู้รายงานพิเศษมีคำถามและความเห็นต่อมาตรการชั่วคราวที่รัฐบาลไทยอย่างไร ดังนี้

 

รู้จักการใช้กลไกพิเศษ (UN Special Procedures) หลังรัฐประหาร 2557

 

ภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่ใช้ในการติดตาม-ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ หรือในรายประเด็น โดยบุคคลหรือคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

กลไกพิเศษเหล่านี้ ทั้งในรูปของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) หรือคณะทำงาน (Working Group) จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่าง ๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ทั้งยังจะมีการเผยแพร่หนังสือของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงาน และคำชี้แจงของรัฐต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติด้วย (ดูเพิ่มเติม ในรายงาน https://tlhr2014.com/?p=3587)

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงต้นปี 2561 ผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานในประเด็นต่าง ๆ ของ UN ได้เคยมีการส่งหนังสือสื่อสารกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติกับทางการไทยมาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 21 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดที่ผู้รายงานพิเศษของ UN ส่งมาถึงรัฐบาลไทย คือ หนังสือลำดับที่ UA THA 2/2018 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งสรุปข้อเท็จจริงคดี We Walk และ คดี MBK39 นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษของ UN ยังมีคำถามและข้อเสนอให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการชั่วคราวต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ดังนี้

 

ข้อเท็จจริงโดยย่อจากหนังสือของผู้รายงานพิเศษของ UN

  1. การจับกุมและคุมขังนักกิจกรรมที่เข้าร่วมรณรงค์ “ We Walk เดินมิตรภาพ” ซึ่งออกมาแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในช่วงที่อยู่ระหว่างการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยเมื่อเดือนมกราคม 2561 ผู้เข้าร่วมจำนวน 8 คน ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และประชาชนอีก 4 รายถูกจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อประชาชน 4 รายหลังนี้

 

  1. กรณีการละเมิดด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักกิจกรรมซึ่งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง กรณีเมื่อวันที่ “27 มกราคม 2551” ที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพมหานคร (หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเห็นชอบให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งมีผลให้แผนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนออกไป) ซึ่งมีประชาชนกว่าร้อยคนร่วมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 ผู้เข้าร่วมชุมนุม 7 คนถูกนายทหารจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติแจ้งความในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12

 

คำถามที่สำคัญถึงทางการไทย มีดังต่อไปนี้ 

  1. ให้รัฐบาลไทยยืนยันถึงฐานทางกฎหมายที่ใช้ในการจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาข้างต้น และระบุว่ากฎหมายและมาตรการเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อให้มีการแสดงออกซึ่งเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

 

  1. ให้ระบุว่าได้ดำเนินการหรือจะดำเนินการทางกฎหมาย และมีหรือจะมีมาตรการใด ๆ เพื่อเป็นการประกันว่า รัฐบาลไทยได้เคารพ เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

 

  1. ให้ระบุว่ารัฐบาลไทยมีกฎหมายหรือมาตรการอะไรเพื่อเป็นการประกันว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำงานด้วยความปลอดภัยและมีบริบทในการทำงานที่ปราศจากความกลัวหรือการกระทำอันเป็นการข่มขู่ทั้งหลาย รวมไปถึงในบริบทที่ปราศจากการละเมิดในรูปแบบใด ๆ

 

  1. ให้รัฐบาลไทยระบุว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 4 ข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

รัฐบาลไทยควรมีมาตรการชั่วคราวเพื่อยุติการละเมิดตามข้อกล่าวหา

ผู้รายงานพิเศษของ UN ย้ำว่าในระหว่างที่รัฐบาลไทยเตรียมตอบคำถามเหล่านี้ สหประชาชาติสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนินการหามาตรการชั่วคราวในการยุติข้อกล่าวหาว่าด้วยการละเมิดต่าง ๆ เหล่านี้ โดยต้องป้องกันการเกิดซ้ำ และต้องมีการสืบสวนอย่างถูกต้องถึงการละเมิดตามข้อกล่าวหาเพื่อเป็นการประกันถึงความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อการละเมิดนั้น

ผู้รายงานพิเศษของ UN สรุปข้อเท็จจริงประเด็นตามที่รัฐไทยถูกกล่าวหาว่าใช้การล่วงละเมิดด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อการชุมนุมด้วยความสงบและต่อนักกิจกรรม เนื่องจากพวกเขาได้เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเพิ่มความเข้มงวดในการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพภายใต้ระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมไปถึงการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไประดับชาติโดยเร็วที่สุด

 

ข้อสังเกตถึงความต่อเนื่องในการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบของรัฐบาลไทย  

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า กระบวนการสื่อสาร (UN Special Procedures) ถึงผู้รายงานพิเศษของ UN โดยภาคประชาชนในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากบริบทในการตั้งข้อจำกัดที่เพิ่มมากขึ้นต่อหลักประกันของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมไปถึงการจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและสันติ และเสรีภาพในการรวมกลุ่ม

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายและระเบียบที่รัฐบาลใช้ในการจำกัดการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชนที่ปรากฎในกรณีการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมและประชาชนทั้งสองกรณี คือ   คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่อง ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป รวมไปถึงความผิดต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  เป็นคำสั่งและพระราชบัญญัติที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการใด ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิดังกล่าว มาตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่เป็นการประกันถึงการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และหากจะมีข้อจำกัดต่อการใช้สิทธินี้ก็ควรให้เป็นไปตามข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศและหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน อีกทั้ง รัฐบาลไทยควรยุติการดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในโอกาสต่าง ๆ และละเว้นการจับกุมบุคคลที่ออกมาชุมนุมซึ่งไม่ได้แสดงความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม วรรคตอนที่ 35 -36 และ 39-40 http://www.refworld.org/docid/591e9d914.html)

 

ความต่อเนื่องนับจากปี 2557 หลังมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ มาจนถึงปัจจุบันปี 2561 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติใช้คำสั่งและกฎหมายที่เป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก บ่งชี้ถึงการไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เกิดผลของสิทธิที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศดังกล่าวตามที่ไทยได้สัญญาไว้ต่อนานาชาติ และยังแสดงให้เห็นว่าประชาชนที่อาศัยในประเทศอาจไม่ได้รับการคุ้มครองในความปลอดภัยเมื่อแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบต่อกิจการใด ๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน

 

อ่านเพิ่มเติม

– หนังสืออย่างเป็นทางการจากผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติฯ ที่เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) รอบดำเนินการลำดับที่ 38 มิถุนายน 2561 https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicationFile?gId=23634 (ภาษาอังกฤษ)

– สรุปข้อสังเกตต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Comittee) รอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 http://www.refworld.org/docid/591e9d914.html (ภาษาอังกฤษ)

 

 

X