ศูนย์ทนายฯ เผยสถิติ เรียกตัว-จับกุม หนึ่งเดือนรัฐประหาร

ศูนย์ทนายฯ เผยสถิติ เรียกตัว-จับกุม หนึ่งเดือนรัฐประหาร

เผยสถิติ เรียกตัว-จับกุม หนึ่งเดือนรัฐประหาร

ศูนย์ทนายฯ เสนอยกเลิกกฎอัยการศึก-ปิดกั้นสื่อ-ศาลทหาร

วันที่ 23 มิถุนายน 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว “หนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร : สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” (One Month after the Coup d’etat: The State of Human Rights in Thailand)

หลังการประกาศยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกประกาศและคำสั่งออกมาหลายฉบับที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ การเรียกบุคคลให้มารายงานตัว การปิดกั้นและควบคุมสื่อทุกชนิด การห้ามชุมนุมหรือแสดงความเห็นทางการเมือง และการให้พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร นอกจากนี้ คสช.ยังใช้มาตรการต่างๆ เช่น การจับกุมผู้แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร การจับกุมถึงที่พักอาศัยและตรวจค้นโดยไม่มีหมาย การควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่และเหตุผลในการควบคุมตัว ในบางรายไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อกับญาติ ซึ่งล้วนสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างยิ่ง

ในระยะเวลาหนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร พบสถิติผู้ถูกเรียกตัวและจับกุมเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ดังนี้ ผู้ถูกคำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัว 454 คน มีผู้ถูกเรียกให้รายงานตัวในต่างจังหวัดที่ไม่ได้ประกาศให้สาธารณะรับรู้ 57 คน นอกจากนี้มีการจับกุมบุคคลที่ไม่มีหมายเรียกใดๆ มาก่อน 113 คน จับกุมจากการแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะ 55 คน และจับกุมผู้ถูกเรียกแต่ไม่ได้ไปรายงานตัว 10 คน

จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอต่อคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ดังนี้

  1. เสนอให้ยุติการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยยกเลิก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีเหตุให้ใช้กฎอัยการศึกอีกต่อไปแล้ว และให้ใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ
  2. เสนอให้ยกเลิกมาตรการปิดกั้นและควบคุมสื่อทุกชนิด เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อประชาชนจะได้รับรู้ว่า การกระทำต่างๆ ของ คสช. มีประโยชน์หรือมีผลกระทบอย่างไร
  3. เสนอให้ยุติการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยสงบ และยกเลิกประกาศห้ามชุมนุม เนื่องจากเสรีภาพการแสดงออกเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย การควบคุมตัวและดำเนินคดีของผู้ที่แสดงออกจึงเป็นการละเมิดเสรีภาพอย่างร้ายแรง
  4. เสนอให้ยกเลิกการบังคับให้บุคคลมารายงานตัว และยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขเมื่อปล่อยตัวบุคคลที่ไปรายงานตัวหรือถูกกักตัว เนื่องจากการเรียกบุคคลมารายงานตัว ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ว่าเรียกไปเพราะเหตุใด และมีการกำหนดโทษเมื่อฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว ซึ่งเป็นการกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งเงื่อนไขการปล่อยตัวก็มีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพหลายประการ ผู้ที่ไปรายงานตัวหรือกักตัวจำต้องยอมรับอย่างไม่มีทางเลือก
  5. ควรใช้มาตรการในการจับกุมและควบคุมตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และควรกำหนดหลักเกณฑ์การจับกุมและควบคุมตัวที่ชัดเจนและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น ควรกำหนดให้บุคคลที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวมีสิทธิที่จะได้รับแจ้งเหตุที่ถูกจับกุม ได้รับทราบสถานที่ควบคุมตัว ได้แจ้งญาติ และให้ญาติเข้าเยี่ยมตามสมควร เป็นต้น
  6. เสนอให้ยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ตามประกาศ เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจดำเนินคดีของศาลทหาร เนื่องจากไม่มีตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง (ในแง่ของที่มาและการปฏิบัติหน้าที่) และคำพิพากษาไม่สามารถตรวจสอบได้โดยสาธารณชนและศาลที่สูงขึ้นไป ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา
  7. ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถือเป็นนักโทษทางการเมือง ควรคุมขังในสถานที่ที่เหมาะสม และแยกออกจากผู้ต้องขังความผิดอื่นๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและแจ้งเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ทางการเมือง

ติดต่อ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 096 789 3172, 096 789 3173, [email protected]

X