ในวันที่ประชาธิปไตยยังผลิบาน: ย้อนอ่านฎีกายกฟ้องผู้ชุมนุม

ในวันที่ประชาธิปไตยยังผลิบาน: ย้อนอ่านฎีกายกฟ้องผู้ชุมนุม

พาดหัวข่าวจากไทยโพสต์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2545

 

การชุมนุมสาธารณะเคยเป็นอาวุธของคนยากไร้ เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยออกไปให้กว้างไกลกว่าแค่การมีผู้แทนในรัฐสภา กรณีนี้แตกต่างจากการใช้การชุมนุมเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปลายทศวรรษ 2550 ก่อนที่บรรยากาศของเสรีภาพในการชุมนุมจะตกต่ำลงเป็นอย่างมากหลังจากที่ประเทศไร้ระบอบประชาธิปไตยมากกว่า 4 ปี ภายใต้การปกครองของระบอบรัฐประหาร ซ้ำร้ายกว่านั้นการชุมนุมสาธารณะที่เคยเป็นอาวุธของคนด้อยอำนาจ ยังถูกกำหนดให้เป็นภัยต่อความมั่นคงในปัจจุบัน

การดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาชุมนุมตั้งแต่หลังรัฐประหารถึงปัจจุบัน

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีประชาชนที่ถูกละเมิดจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นจำนวน 614 คน และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2561 มาจนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. จัดการเลือกตั้งตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ถึง 130 คน

ข้อกล่าวหาที่ผู้ชุมนุมต้องเผชิญมีตั้งแต่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ข้อกล่าวหาจำนวนไม่น้อยเลยเถิดไปจนถึงกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการชุมนุม เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522, พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง. พ.ศ.2493 หรือแม้กระทั่ง พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ต่างถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้งสิ้น แน่นอนว่าวิธีปฏิบัติเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการนิติรัฐในโลกเสรีประชาธิปไตย

หลักการทั่วไปของนิติรัฐ

คาร์ล ชมิทท์ (Carl Schmitt) นักทฤษฎีการเมืองผู้วางรากฐานให้กับนิติรัฐสมัยใหม่ (rule of law) เสนอไว้ว่า แนวคิดนิติรัฐต้องประกอบไปด้วยการให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชน รวมถึงการต่อต้านอำนาจรัฐ ดังนั้นรัฐต้องจำกัดตัวเองภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย การที่รัฐจะก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่เสรีภาพของปัจเจกชน จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น และรัฐที่มีนิติรัฐนี้จะต้องทบทวนความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครองโดยองค์กรฝ่ายตุลาการอีกด้วย เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “สิทธิขั้นพื้นฐาน”

สิทธิขั้นพื้นฐานประกอบไปด้วย 1.สิทธิเสรีภาพอันล่วงละเมิดมิได้ของปัจเจกชน (Liberty rights of the isolated individual) ยกตัวอย่างเช่น เสรีภาพในด้านความเชื่อ (อาจจะเกี่ยวกับการเลือกนับถือศาสนา) เสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สินส่วนตัว เป็นต้น และ 2.สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการติดต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์กับปัจเจกบุคลอื่นๆ (Liberty rights of the individual in connection with other individuals) ตัวอย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เสรีภาพในการพูด  เสรีภาพในการพิมพ์ เสรีภาพในการทำงาน รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม

ชมิทท์เน้นย้ำว่าหากไม่ใช่สภาวะที่เป็นข้อยกเว้น (State of Exception) การใช้อำนาจของรัฐที่จะก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่แห่งสิทธิขั้นพื้นฐานของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของปัจเจกชนจำเป็นต้องมีขอบเขตที่แน่นอน[1] โดยรัฐต้องประกันเสรีภาพเหล่านี้และไม่ต้องรับรองหรือประกันโดยกฎหมายลายลักษณ์อักษร ในโลกสากลหลักการนี้ไปปรากฏใน มาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก [2]

วันที่ประชาธิปไตยผลิบาน

ย้อนไปในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เราจะพบว่ามีเนื้อหาที่เข้าใกล้ความฝันและหลักการทางนิติรัฐมากที่สุด ซึ่งได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ส่งผลให้ในช่วงเวลานั้นนอกจากเสถียรภาพของรัฐสภาจะมีความเข้มแข็งแล้ว การต่อรองของประชาชนคนรากหญ้าก็เบ่งบานไม่น้อยหน้าการแข่งขันของนโยบายทางพรรคการเมืองเช่นกัน จำนวนการชุมนุมประท้วงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ เช่น ปี 2521 จำนวน 42 ครั้ง, ปี 2525 จำนวน 61 ครั้ง, ปี 2533 จำนวน 170 ครั้ง ,ปี 2537 จำนวน 988 ครั้ง, ปี 2538 จำนวน 755 ครั้ง, และปี 2540 จำนวน 1,200 ครั้ง [3] เป็นตัวเลขเชิงประจักษ์ที่สะท้อนการเติบโตของความเติบโตในการใช้เสรีภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ใช้ช่องทางต่อรองนี้ได้อย่างคึกคักมากที่สุด คือ “สมัชชาคนจน” ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานมากที่สุดหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นต้นมา พวกเขาและเธออาศัยการชุมนุมเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาลให้ลงมาแก้ไขปัญหาจากการพัฒนาของรัฐที่เรื้อรังมายาวนาน จนกระทั่งเกิดการฟ้องร้องหลายครั้ง และในบางครั้งการฟ้องร้องนั้นได้นำมาสู่การวางบรรทัดฐานทางนิติรัฐอันก้าวหน้าสำหรับการชุมนุมขึ้นมา

ดังจะพบในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553 – 5554/2556 ซึ่งเป็นคดีที่อัยการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสาววนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์และพวก ในข้อหาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง บุกรุก หมิ่นประมาท และความผิดต่อเจ้าพนักงาน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1-6 มีนาคม 2536 เมื่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลกว่า 500 คน ร่วมกันชุมนุมที่แก่งคันเห่ว บ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม จ.อุบล เพื่อขัดขวางไม่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระเบิดแก่งเพื่อสร้างเขื่อนปากมูล ในเวลาต่อมาการไฟฟ้าผลิต ได้แจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำชาวบ้าน

ต่อมาศาลจังหวัดอุบลฯได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อในปัญหาข้อเท็จจริง ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้ยกฟ้อง และเมื่อโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาได้พิพากษายืน ให้ยกฟ้อง ในวันที่ 27 พ.ย.2556 กว่า 20 ปี คดีนี้จึงสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของชาวบ้านสมัชชาคนจน โดยระหว่างที่กระบวนการทางศาลดำเนินอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ในคดี คือนางสาววนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ได้เสียชีวิตจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง เมื่อเดือน พ.ศ. 2550 ส่งผลให้เธอถูกจำหน่ายคดีออกไปก่อนที่จะได้ฟังคำพิพากษาครั้งสำคัญ

การชุมนุมด้วยเหตุแห่งความจำเป็น

สำหรับการพิจารณาการชุมนุมของสมัชชาคนจนครั้งนั้น ศาลได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงโดยชี้ว่า การชุมนุมมีเหตุแห่งความจำเป็น เนื่องจากการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำและระเบิดหินเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยตรง และหากกระทำไปแล้วย่อมยากแก่การแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมได้ จึงถือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

สิ่งที่ศาลหยิบขึ้นมาพิจารณาคือการกระทำของจำเลยและพวกแม้เป็นการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานบอกให้เลิกไม่ยอมเลิกตาม ป.อ. มาตรา 215, 216 และร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นที่ต้องรวมกลุ่มกันและเข้ายึดพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อน จึงจะสามารถระงับยับยั้งภยันตรายดังกล่าวได้ และการกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกปราศจากอาวุธและมิได้ใช้ความรุนแรงใด ๆ ก็เป็นการพอสมควรแก่เหตุให้ นายทองเจริญ สีหาธรรม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 67

ในส่วนของการร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนและร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งโจทก์ฎีกาว่าการที่ นายทองเจริญ สีหาธรรมกับพวกพาประชาชนมากถึงประมาณ 500 คน เข้าไปยึดเต็นท์ สะพานและไม่ยอมออกไป เป็นการประสงค์ต่อผลและเล็งเห็นผลเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขและทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

โจทก์ได้ฎีกาต่อว่าการที่ นายทองเจริญ สีหาธรรมร่วมกับพวกประมาณ 500 คน ฝ่าแนวตั้งรับของเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยของผู้เสียหายเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวแล้วยึดพื้นที่บางส่วนไว้ ดังปรากฏตามภาพถ่ายจนมีผลทำให้ผู้เสียหายและบริษัทเวียนินี่ไทย จำกัด ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและระเบิดหินในช่วงนั้นได้ เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำไปโดยรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผลเพื่อขัดขวางการสร้างเขื่อนของผู้เสียหายโดยตรง ทั้งจำเลยย่อมต้องรู้ดีว่าการกระทำของคนจำนวนมากเช่นนี้เป็นการทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและยังเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการครอบครองพื้นที่ของผู้เสียหาย

เขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี: ภาพโดย สำนักข่าวประชาไท

คำวินิจฉัยที่ยึดโยงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ในข้อกล่าวของโจทก์ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า แม่น้ำมูลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนจำนวนมากได้ใช้สอยเพื่อการเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้านมาเป็นเวลาช้านาน และยังคงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนในพื้นที่จะใช้สอยและหาประโยชน์จากแม่น้ำมูลเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีพเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองสืบต่อไปได้ มิใช่เป็นสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดโดยเฉพาะ

ดังนั้นการที่ผู้เสียหายจะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนตามโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูลซึ่งต้องมีการปิดกั้นทางเดินของน้ำในแม่น้ำมูลและระเบิดหินในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะเพื่อขยายร่องน้ำ อันทำให้ธรรมชาติต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายนั้น ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่และตลอดลำแม่น้ำมูลในหลาย ๆ ด้านอย่างมากด้วยเช่นกัน จึงควรต้องมีการศึกษาผลได้ผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินการ มิใช่มุ่งประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้าเพียงด้านเดียว

นอกจากนี้ศาลฎีกาได้พิจารณาบริบทแวดล้อมของการชุมนุมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการวินิจฉัยกล่าวคือ ก่อนการชุมนุมในเดือนธันวาคม 2536 กลุ่มชาวบ้านเคยร้องเรียนผู้เสียหายว่าบริเวณหัวงานที่มีการก่อสร้างยังมีที่ดินและบ้านของชาวบ้านที่ยังไม่ได้เวนคืนและได้รับผลกระทบจากการระเบิดหิน ทั้งเสียงรบกวนและเศษหินตกใส่บ้านเรือน อันแสดงว่ารัฐบาลและผู้เสียหายมุ่งแต่จะสร้างเขื่อนโดยปกปิดความจริงและมิได้ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชน

          “…จำเลยกับพวกซึ่งรวมกลุ่มกันคัดค้านด้วยความสงบโดยปราศจากอาวุธและมิได้ใช้กำลังประทุษร้ายใด ๆ ได้พยายามที่จะขจัดความเดือดร้อนด้วยการยื่นข้อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลและผู้เสียหายลงไปแก้ไขปัญหาแล้ว ดังปรากฏตามใบปลิวโดยข้อเรียกร้องดังกล่าวก็สมเหตุสมผลและเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีอยู่จริง แต่ไม่เป็นผลและไม่เคยได้รับคำตอบจากรัฐบาลและผู้เสียหาย…”

ทั้งตามพฤติการณ์ในขณะนั้นก็ไม่มีวิธีการอื่นใดเลยที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะพึงกระทำได้โดยชอบเพราะการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำและระเบิดหินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการทำลายระบบนิเวศน์สายน้ำโดยเฉพาะพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยตรงกำลังดำเนินอยู่อย่างชัดแจ้ง หากกระทำไปแล้วย่อมยากแก่การแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้

การใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ใช่นิติรัฐ

จากตัวอย่างของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เห็นได้ว่า มีกฎหมายจำนวนมากที่ถูกนำมาใช้จัดการกับผู้ชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งมีลักษณะไม่แตกต่างจากการชุมนุมของประชาชนในปัจจุบัน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ฯลฯ

ทว่าสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาในการจัดการชุมนุมของประชาชนหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา ซึ่งต่างออกไปจากบริบทการชุมนุมของสมัชชาคนจนนั้น คือการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกฎหมายอื่นที่ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน เช่น การห้ามการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารในการกระทำการอันลิดรอนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 หรือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ดังนั้น แม้ว่าการชุมนุมของประชาชนจะเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การเรียกร้องเลือกตั้ง การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ การชุมนุมต่อรองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากนโยบายคสช. ประชาชนกลับถูกหว่านแหกวาดจับดำเนินคดีไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้เป็นการปกครองโดยกฎหมายตามอำเภอใจ (rule by law) มิใช่การปกครองด้วยหลักนิติรัฐ (rule of law)

การกลับไปทบทวนคำพิพากษาฎีกาที่เคยวางบรรทัดฐานทางสิทธิมนุษยชนอย่างตรงไปตรงมา อาจจะช่วยให้เราเข้าใจและนำหลักนิติรัฐที่มีหัวใจอยู่ที่การจำกัดอำนาจรัฐมาปรับใช้ในสังคมไทย เพื่อไม่ให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรงกว้างขวางอย่างที่เป็นมา

 

รายการอ้างอิง

[1] Carl Schmitt, Constitutional Theory, (Durham and London: Duke University Press, 2008),167-249.

[2] UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR), Article 21.      http://treaties.un.org/doc/Publication/UNTS/Volume%20999/volume-999-I-14668- English.pdf, สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560

[3] ประภาส ปิ่นตบแต่ง, “การเมืองบนท้องถนน 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย” กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกริก. ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา, 2541)

X