‘ไม่ปกติ’ จนกระทั่งเป็นเรื่องปกติ: ม.116 ลด พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มขึ้น

ภาพผัง: ประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาจากการแชร์ข่าวเพจ KonthaiUK (ที่มา: มติชนออนไลน์)

ในรอบเดือนที่ผ่านมาเหตุการณ์จับกุมและออกหมายจับคนแชร์โพสต์จากเพจ KonthaiUK ได้หายไปจากสื่อโดยมีเพียงกรณีของวัฒนา เมืองสุข ปรากฏเป็นข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ภายใต้ความเงียบนี้ยังคงมีคนที่ถูกกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. ออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอยู่เป็นระยะในเวลาสองเดือนที่ผ่านมา

จนถึง ณ ขณะนี้ มีคนที่ถูกเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากการแชร์เพจดังกล่าวติดต่อมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายแล้ว 7 คน (ศูนย์ทนายความฯ เคยรายงานถึงกรณีนี้ไปแล้ว 3 คน) หลังจากที่ตำรวจได้แถลงข่าวว่ามีการดำเนินการจับกุมได้แล้ว 7 คน และจะออกหมายจับเพิ่มอีก 20 คน

พวกเขาถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่นำจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 14(2)  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (ฉบับแก้ไขที่ 2 พ.ศ.2560)

อีกทั้งยังมีกรณีที่คล้ายคลึงกันคือ กรณีคนที่แชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามที่ปรากฏเป็นข่าวมีจำนวนคนที่ถูกออกหมายเรียกถึง 10 คน และติดตามจับกุมได้แล้ว 4 คน ภายหลังการแถลงของตำรวจมีกรณีที่ติดต่อมาขอความช่วยเหลือกับทางศูนย์ทนายความฯ 1 คน แต่หลังจากนั้นไม่พบว่ามีคนที่ถูกออกหมายเรียกหรือถูกจับกุมเพิ่มเติมอีกหรือไม่

จุดที่เหมือนกันของทั้งสองกรณีคือ แฟนเพจทั้งสองเพจนี้มีการโพสต์เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. ทั้งนี้ จากทั้งสองกรณีไม่สามารถทราบได้ว่ามีการติดตามจับกุมและออกหมายเรียกเพิ่มมากกว่าที่ปรากฏเป็นข่าวอีกหรือไม่

 

คดีที่เกี่ยวข้อง

ภาพธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561

กรณีเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในวิธีการใช้กฎหมายและวิธีการติดตามตัวบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออก แต่ผลลัพธ์ของการเล่นงานบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกกลับไม่ได้มีความแตกต่างกัน คือยังคงเกิดการคุกคามบุคคลที่ต้องการใช้สิทธิอยู่เช่นเดิมเพื่อปรามการวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้าน คสช.ทั้งพื้นที่ออฟไลน์และพื้นที่ออนไลน์

ตามที่ฝ่ายรัฐได้ออกมาให้ข่าวเมื่อวันขึ้นปีใหม่ว่า รัฐบาลจะใช้กฎหมายปกติในการดำเนินการและจะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ  แต่การใช้กฎหมายปกติดังกล่าวก็ยังคงเป็นการดำเนินคดีกับบุคคลที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพอยู่เหมือนเดิม ซ้ำยังมีปริมาณผู้ที่ถูกดำเนินคดีพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนด้วยกฎหมาย “ปกติ” (แต่วิธีการใช้อาจจะเรียกได้ว่าห่างไกลจากคำว่าปกติ) โดยอาจจะดูได้จากกรณีคดีกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ที่มีการใช้กฎหมายร่วมกันระหว่างคำสั่งหัวหน้า คสช. และกฎหมายอาญา กฎหมายจราจร พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  หรือในกรณีที่กำลังกล่าวถึงนี้คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560

นอกจากเรื่องความไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะใช้วิธีการใดแล้ว สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาด้วยพร้อมกัน คือ ความไม่คงเส้นคงวาในการใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้ต้องการจะบอกว่าให้นำมาใช้กันอย่างเสมอหน้า แต่กฎหมายนี้ไม่ควรนำมาใช้ตั้งแต่แรก

พุฒิพัฒน์ ศรีบุญเรือง เป็นรายล่าสุดที่ติดต่อมาทางศูนย์ทนายความฯ และเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา เขาถูกออกหมายเรียกด้วยข้อหาและจากพฤติการณ์เดียวกันกับคนอื่นๆ ที่แชร์โพสต์จากเพจ KonthaiUK แต่ที่แตกต่างกันคือ เฉพาะกรณีของพุฒิพงษ์เมื่อเขาเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนกลับแจ้งเขาว่า ให้เลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปอย่างไม่มีกำหนด  โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้ต้องให้อัยการสูงสุดเข้ามาร่วมทำการสอบสวนด้วยเนื่องจากเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร[i]

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีแชร์โพสต์ของเพจ KonthaiUK หรือ เพจ กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ คือ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหากับพวกเขาไปหมดแล้ว ทั้งที่การแชร์โพสต์ดังกล่าวก็เป็นการแชร์จากโพสต์ในเพจที่แอดมินของเพจถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่าอยู่นอกราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน

กรณีล่าสุดที่ทำให้เห็นความไม่คงเส้นคงวาอย่างชัดเจนคือกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและกรรมการพรรคอีก 2 คน จากพรรคอนาคตใหม่ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 จากการที่พวกเขาทั้งสามคนไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก เรื่องที่กลุ่มสามมิตรซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ประกาศให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น กลุ่มดังกล่าวได้เดินทางพบแกนนำ นักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนนเพื่อชักชวน (หรือ “ดูด” ถ้าใช้ภาษาเดียวกับสื่อต่างๆ ) มาเข้าร่วมกลุ่มของตน

ในช่วงเวลาเดียวกับที่พรรคอนาคตใหม่ไลฟ์แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ สื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าวถึง “พลังดูด” ของกลุ่มสามมิตรตรงกันทุกสำนักตลอดช่วงดังกล่าว แต่ต้องเน้นด้วยว่าไม่มีสำนักข่าวใดถูกดำเนินคดีจากเรื่องเดียวกันนี้ จนกระทั่งกระแสข่าวเงียบหายไป

จะเห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับกรณีของ ไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่ถูกดำเนินคดีจากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเพจบีบีซี ไทย ที่สุดท้ายแล้วจากกรณีดังกล่าวก็มีแค่ไผ่ ดาวดินคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี

แม้ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะถูกวิจารณ์อย่างมากจากการถูกนำมาใช้ดำเนินคดีลักษณะหมิ่นประมาทฯ และใช้กับเนื้อหาที่มีการโพสต์หรือส่งต่อกันในทางออนไลน์ เพราะเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายฉบับนี้นั้นก็เพื่อใช้กับการก่ออาชญากรรมโดยใช้เทคนิควิธีทางคอมพิวเตอร์เสียมากกว่า เช่น การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ หรือใช้มัลแวร์โจมตีระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหวังให้เกิดความเสียหายหรือโจรกรรมข้อมูล

จนกระทั่งมีการแก้ไขในฉบับ พ.ศ.2560 ที่มีการระบุชัดถึงการไม่นำมาใช้กับกรณีหมิ่นประมาทฯ ในมาตรา 14 (1) แล้วก็ตาม และทำให้คดีที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนมีการประกาศใช้ฉบับแก้ไขศาลจะยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 14 ไปบ้างแล้ว เช่นในคดีโพสต์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาโอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ของรินดา หรือ คดีโพสต์โครงการอุทยานราชภักดิ์มีการทุจริตของนางแจ่มที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีจบสิ้นไป

แต่ศูนย์ทนายความฯ พบว่า คสช. ได้นำข้อหาตามมาตรา 14 มาใช้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กรณีของ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต หรือ “หมวดเจี๊ยบ” อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการ[ii] อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เอกชัย หงส์กังวาน จนมาถึงกรณีเพจ KonthaiUK และ กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ

 

 

ควรบันทึกเอาไว้ด้วยว่า จากกรณีที่กล่าวไปข้างต้นนั้นมีเพียงคดีของหมวดเจี๊ยบและคดีของทนายอานนท์เท่านั้นที่มีข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และดูหมิ่นศาลตามลำดับ

หากดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เข้าปี 2561 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ  คสช.ด้วย กล่าวคือจากเดิมที่ คสช. มักจะใช้ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในกรณีที่มีการวิจารณ์การทำรัฐประหารและตัวบุคลากรใน คสช. หรือข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นหลัก แล้วแจ้งด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ตาม แต่ในภายหลังจะเห็นได้ว่า คสช.แจ้งความด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) โดดๆ  ทั้งหมด

ดูเหมือนว่า คสช.จะยังเดินหน้าดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด และมีการนำกฎหมาย “ปกติ” มาใช้อย่าง “ไม่ปกติ” แม้ว่าตามคำนิยาม “ปกติ” ของ คสช.คงจะต่างออกไปเนื่องจากกระบวนการออกหรือแก้ไขกฎหมายภายใต้รัฐบาล คสช. ห่างไกลจากกระบวนการออกกฎหมายในรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตยอย่างมากก็ตาม

 

[i]       ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ระบุว่า ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานสอบสวนคนใดก็ได้

ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้ มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทน

(1) พนักงานสอบสวน ซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ

(2) พนักงานสอบสวน ซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา

[ii]      กรณีนี้มีการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14(1) แม้กระทั่งในกฎหมายจะระบุว่าไม่ใช้กับกรณีหมิ่นประมาทก็ตาม

X