อ.นิธิ เข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยปากสุดท้าย คดี ‘ไผ่’ ชูป้ายค้านรัฐประหาร

พรุ่งนี้ (18 ก.ย. 61) เวลา 08.30 น. ที่ศาลทหารขอนแก่น (ศาล มทบ.23) จะมีการสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายในคดีนักศึกษากลุ่มดาวดินชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่ง ‘ไผ่ ดาวดิน’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจำเลย ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จะเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยปากสุดท้าย หลังเสร็จการสืบพยานปาก อ.นิธิ จะเป็นอันเสร็จการสืบพยานจำนวน 9 ปาก ที่ใช้เวลากว่า 1 ปี 3 เดือน และจบกระบวนการในศาลทหารชั้นต้นที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 2 ปี เศษ หลังการรับฟ้องคดีของศาล มทบ.23 ในเวลา 20.30 น. ของวันที่ 19 ส.ค. 59 จะเหลือเพียงการนัดฟังคำพิพากษา

ซึ่งหากศาล มทบ.23 พิพากษาว่า ‘ไผ่’ กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

ย้อนหลังไปในวาระครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มดาวดิน รวม 7 คน ทำกิจกรรมชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น โดยนอกจากป้ายคัดค้านรัฐประหาร ยังมีป้ายข้อความเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทรัพยากรในอีสานที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร เช่น “เหมืองเถื่อนเมืองเลย” “เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก” “ที่ดินสู้มาตั้งนานพอรัฐประหารไล่รื้ออย่างเดียว” “การศึกษาเผด็จการ  ม.นอกระบบ” พร้อมทั้งตะโกนว่า “เผด็จการออกไป เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และเล่าเรื่องราวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอีสาน

(ภาพกิจกรรม 1 ปี รัฐประหาร ที่มา ประชาไท )

หลังเริ่มทำกิจกรรม หัวหน้ากองข่าว มทบ. 23 ได้อ้าง ม. 44 ให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวนักศึกษาทั้ง 7  พร้อมทั้งนักศึกษาหญิง อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ร่วมสังเกตการณ์การทำกิจกรรมอีก 6 คน นำตัวขึ้นรถไปที่ มทบ.23  โดยในระหว่างการควบคุมตัวมีนักศึกษาถูกทำร้ายร่างกาย 1 คน

หลังจากควบคุมตัวนักศึกษา 7 คน ไว้ในห้องขัง และพยายามเกลี้ยกล่อมให้เข้าปรับทัศนคติ 7 วัน แต่ ‘ไผ่’ และเพื่อนไม่ยอมรับการปรับทัศนคติ  แม้จะถูกดำเนินคดี เพื่อยืนยันว่าตัวเองไม่ผิด ทหารจึงควบคุมตัวนักศึกษาทั้ง 7 ไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้รับการประกันตัวในวันรุ่งขึ้น โดยตำรวจเรียกหลักประกันคนละ 7,500 บาท และมีเงื่อนไขในการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

ทันทีที่ได้รับการประกันตัวออกจากห้องขังของ สภ.เมืองขอนแก่น พวกเขาได้อ่านแถลงการณ์ที่เขียนขึ้นในห้องขัง จดบันทึกลงบนกล่องโฟมใส่ข้าว มีเนื้อหาดังนี้ “ทหารที่รักทั้งหลาย การที่พวกคุณกักขังเรามันก็ขังได้แต่ร่างกายเท่านั้น คุณไม่สามารถกักขังหัวใจอันเสรีของเราได้ กรงเหล็กแข็งๆ หรือจะสู้หัวใจของเราได้ ม.44 ที่รักมันก็แค่ตัวอักษรที่เผด็จการเขียนขึ้นมา แล้วมโนเองว่าเป็นกฎหมายในเมื่อกฎหมายบอกว่าเราผิด เราก็ผิดตามกฎหมายแต่เราไม่เคยผิดต่อสำนึกของหัวใจตัวเองสำนึกที่รู้ผิดชอบชั่วดี สำนึกในความเท่ากันของสิทธิเสรีภาพของสามัญชน และสำนึกถึงความชั่วร้ายของเผด็จการ และม.44 ที่พวกเรายอมรับไม่ได้ ตราบใดที่เผด็จการยังไม่หยุด ขุดเจาะปิโตรเลียม ไล่ที่ดิน โปแตช โรงไฟฟ้า เหมือง เขื่อน อุตสาหกรรม และยังไม่คืนอำนาจให้ประชาชน พวกเรายืนยันว่าจะเป็นปฏิปักษ์ต่อเผด็จการอันโสมม”

ต่อมา วันที่ 8 มิ.ย. 58 กลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน ประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่นัดหมาย โดยพร้อมรับโทษ ไม่หลบหนี แต่ไม่ยอมรับว่าการชูป้ายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

1 ปี ต่อมา วันที่ 19 ส.ค. 59 ขณะ ‘ไผ่’ ได้รับการประกันตัวจากคดีประชามติและได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำอำเภอภูเขียว ตำรวจได้นำหมายจับของศาล มทบ.23 ในคดีชูป้ายนี้ ซึ่งออกตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 58 เข้าจับกุม ‘ไผ่’ ควบคุมตัวส่งอัยการศาล มทบ.23 และส่งฟ้องศาลในเวลา 20.30 น. อันเป็นเวลานอกราชการ

กระบวนการสืบพยานในคดีนี้เริ่มขึ้นได้ในอีก 9 เดือนต่อมา และใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี มีรายละเอียด ดังนี้

22 พ.ค.60 โจทก์นัดพยานซึ่งเป็นชุดจับกุมในวันเกิดเหตุไว้ 2 ปาก คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง หัวหน้ากองข่าว มทบ. 23 ผู้กล่าวหา และ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 พยานมาศาลเพียง 1 ปาก  คือ ร.อ.อภินันท์ ส่วน พ.อ.สุรศักดิ์ ติดราชการไม่มาศาล หลัง ร.อ.อภินันท์ เบิกความเสร็จ ทนายจำเลยแถลงขอถามค้านพยานปากนี้พร้อมกับ พ.อ.สุรศักดิ์ ในนัดหน้า เนื่องจากเป็นพยานคู่กัน

27 ก.ค. 60 พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง เข้าเบิกความต่อศาล และตอบคำถามค้านของทนายจำเลยจนเสร็จ (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี)

22 ส.ค.60 อัยการทหารนำ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ต่อจากที่เคยเข้าเบิกความตอบโจทก์ไว้ในการสืบพยานนัดแรก เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 60 (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย)

29 ก.ย. 60 พยานโจทก์ที่นัดไว้ 2 ปาก คือ นายราชา ถิ่นทิพย์ ช่างภาพของสำนักข่าว Thai PBS และ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวน ไม่มาศาล เนื่องจากเปลี่ยนที่อยู่ จึงไม่ได้รับหมาย ศาลให้เลื่อนการสืบพยาน 2 ปากนี้ออกไปในนัดหน้า ทนายจำเลยแถลงขอให้โจทก์นำพยานปาก พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำภิโล ซึ่งเป็นชุดจับกุม เข้ามาสืบให้เสร็จก่อนที่จะสืบพยานปากพนักงานสอบสวน โจทก์แถลงขอตัดพยานปาก พ.ต.ท.นรวัฒน์ แต่ทนายจำเลยยังติดใจถามค้านพยานปากนี้ ศาลจึงให้โจทก์นำ พ.ต.ท.นรวัฒน์ มาเบิกความในนัดหน้าพร้อมกับ นายราชา (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ เลื่อนสืบพยาน คดี ‘ไผ่’ ชูป้ายค้าน รปห.-ศาลอนุญาตโจทก์แก้ไขฟ้อง)

20 พ.ย. 60 พยานโจทก์ที่นัดไว้ 2 ปาก มาศาลเพียงปากเดียว คือ นายราชา ถิ่นทิพย์ ส่วน พ.ต.ท. นรวัฒน์ คำพิโล ไม่มาศาลโดยไม่ทราบเหตุขัดข้อง (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ นักข่าวเผยเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายภาพขณะนักศึกษาดาวดินถูกจับกุม)

22 ม.ค. 61 พยานโจทก์ที่นัดไว้ 2 ปาก มาศาลเพียงปากเดียวคือ พ.ต.ท.นรวัฒน์ ส่วน พ.ต.อ.พิสิฐ เดินทางไปราชการที่ จ.สกลนคร ไม่มาศาล  ทั้งนี้ ในระหว่างการสืบพยาน ซึ่งพยานมักจะตอบคำถามของทนายจำเลยที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายว่า ไม่ขอออกความเห็น ไม่แน่ใจ หรือขอไปศึกษาก่อน จตุภัทร์ได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า การที่พยานตอบเช่นนั้น ทำให้จำเลยรู้สึกว่าการจับกุมในครั้งนี้ไม่มีเหตุผล พยานอ้างเพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยไม่ได้ทำตามกฎหมาย (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ ‘ไผ่’ แถลงกลางศาล พยานจับกุมโดยอ้างเพียงคำสั่ง ไม่คำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย)

22 มี.ค. 61 โจทก์นำพยานปาก พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีเข้าเบิกความ จากนั้นโจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอนำนายจตุภัทร์-จำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกในนัดหน้า (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ ประหลาด! ค้านรัฐประหาร ต้องขออนุญาต คสช. พงส.ชี้ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุน รปห.)

15 พ.ค. 61 ศาล มทบ.23 นัดสืบพยานจำเลยปากแรก โดย ‘ไผ่’ ขึ้นเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง หลังการเบิกความในช่วงเช้า ทนายจำเลยแถลงว่า ยังมีประเด็นที่ทนายจำเลยต้องถามจำเลยอีกหลายประเด็น แต่ศาลติดราชการ ไม่สามารถทำการพิจารณาต่อได้ในช่วงบ่าย จึงให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยปากนี้ออกไป (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ “ไผ่” ชี้การทำรัฐประหารคือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง)

9 ก.ค. 61 ทนายจำเลยนำจตุภัทร์เข้าเบิกความเป็นพยานตนเองต่อจากนัดที่แล้ว และนำนายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ ‘ไผ่’ ชี้ เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่)

10 ก.ค. 61 ทนายจำเลยนำ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ (อ่านรายละเอียดคำเบิกความที่ ‘ดาวดิน’ ชูป้ายค้าน รปห. ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ)

ติดตามการสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายที่ศาล มทบ.23 จ.ขอนแก่น หรือติดตามอ่านรายละเอียดคำเบิกความได้ที่นี่

 

X