7 เหตุผลที่ทนายอานนท์ต้องขอเพิกถอนคำสั่งห้ามเผยแพร่คดีฐนกร

4 ต.ค. 2561 อานนท์ นำภา ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพสั่งให้อานนท์แจ้งให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข่าวเกี่ยวกับการสืบพยานคดีฐนกร แชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา

การยื่นคำร้องดังกล่าวสืบเนื่องจากศาลทหารกรุงเทพเรียกไต่สวนอานนท์ นำภา ทนายความจำเลยในคดีที่ฐนกร (สงวนนามสกุล) ถูกฟ้องฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการแชร์ผังทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการกดไลค์เพจที่มีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และโพสต์เสียดสีคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ประกอบกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 เวลา 13.30 น. เนื่องจากนำเนื้อหาในคดีมาให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่

วันดังกล่าว ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้อานนท์ นำภา แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข้อมูลคำเบิกความและรายงานพิจารณาออกจากเว็บไซต์ภายใน 24 ชั่วโมง และห้ามนำคำเบิกความและรายงานพิจารณาในคดีฐนกรไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด มิฉะนั้นจะถือว่าละเมิดอำนาจศาล

อานนท์ นำภา เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต่อศาลทหารกรุงเทพ ในวันที่ 4 ต.ค. 2561 โดยให้เหตุผลดังนี้

1.
ศาลทหารกรุงเทพแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหลังจากที่อ่านรายงานการพิจารณา การแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญทั้งส่วนเหตุผลในการออกคำสั่ง และส่วนที่เป็นเนื้อหาคำสั่ง โดยไม่สอบถามข้อเท็จจริงในส่วนที่ถูกแก้ไข และทนายความไม่มีโอกาสโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงไม่แจ้งคำสั่งที่แก้ไขใหม่ให้ทนายความทราบ

2.
ทนายความไม่จำเป็นต้องขออนุญาตศาลก่อนนำคำเบิกความไปเผยแพร่ เพราะศาลทหารกรุงเทพไม่ได้สั่งพิจารณาคดีฐนกรเป็นการลับ การพิจารณาคดีจึงต้องทำโดยเปิดเผย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ที่รับรองให้การพิจารณาและการสืบพยานทำโดยเปิดเผยเป็นหลักทั่วไป สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

เนื้อหาคดีของฐนกรไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีส่วนที่เป็นความลับเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ การพิจารณาโดยเปิดเผยจึงเป็นหลักประกันแก่จำเลยว่าจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบความชอบธรรม และศาลได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

3.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เรียกรายงานตัว จับกุม คุมขัง และนำพลเรือนขึ้นศาลทหารหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เพื่อบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหาร ช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

การรายงานข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นเหตุให้ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวน เป็นการเผยแพร่ข้อเท็จจริงในคดี ไม่ได้นำเอกสารคำเบิกความ หรือรายงานพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพมาเผยแพร่ และเนื้อหาดังกล่าวตรงกับที่พยานได้เบิกความต่อศาล ไม่ได้บิดเบือนอันจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือทำให้กระทบต่อความยุติธรรมในคดี ทั้งพยานที่ถูกกล่าวหาในข่าวก็ไม่เคยทำหนังสือร้องเรียนหรือแจ้งว่าได้รับความเสียหายต่อศาลแต่อย่างใด

4.
การใช้ดุลพินิจของศาลต้องตั้งอยู่บนฐานของความชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือเกินขอบเขตความชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าศาลได้ออกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 โดยให้เหตุผลเพียง “อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อรูปคดี” โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจะเกิดผลเสียต่อรูปคดีอย่างไร โจทก์เองก็ไม่ได้ยื่นคำร้องว่าจะเกิดผลเสียต่อรูปคดี พยานที่เกี่ยวข้องไม่ได้แจ้งต่อศาลว่าได้รับความเสียหาย คำสั่งศาลจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงในคดี เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเลื่อนลอยของศาลเอง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

5.
การออกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ให้อำนาจศาลออกข้อกำหนดเฉพาะเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล หรือเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็วเท่านั้น แต่จะเห็นได้ว่าคำสั่งศาลดังกล่าวออกมาเพื่อปกป้องศาลและพยานจากการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตจากบุคคลอื่น ไม่มีสภาพเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล หรือเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรมและรวดเร็ว หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นใด และเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลเกินความเหมาะสม

ดังนั้น การสั่งให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข่าว และห้ามเผยแพร่คำเบิกความหรือรายงานพิจารณา เป็นคำสั่งที่เกินเลยจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ยังกำหนดให้ศาลสามารถออกข้อกำหนดเฉพาะคู่ความในคดีและบุคคลอื่นที่ปรากฏต่อหน้าศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดให้มีผลผูกพันบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับการตรากฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ คำสั่งดังกล่าวของศาลทหารกรุงเทพจึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตและไม่สอดคล้องต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

6.
หากศาลทหารกรุงเทพออกคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 36 (2) คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ใช่การออกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 หากผู้ใดฝ่าฝืนก็ไม่ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31

7.
การออกข้อกำหนดดังกล่าวของศาลกระทบต่อสิทธิในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยของจำเลย อันเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณาคดีทางอาญา ทำให้สาธารณชนไม่อาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมได้ ศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนจึงต้องยึดโยงกับประชาชน ในรูปแบบหนึ่งคือให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้

นอกจากให้เหตุผลดังกล่าวแล้ว อานนท์ นำภา ยังได้คัดค้านไม่ให้องค์คณะตุลาการที่ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 เป็นผู้ไต่สวนและออกคำสั่งในคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนี้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับกรณีนี้ และขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งในรายงานพิจารณาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 ไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งถึงที่สุดเกี่ยวกับการขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

 

X