เส้นทางการต่อสู้ของประเวศ ประภานุกูล: จากทนายความ สู่ “จำเลย” ที่ปฏิเสธความเป็นจำเลย

 

“โดยที่ศาลไทยไร้ความชอบธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงขอประกาศไม่ยอมรับกระบวนพิจารณาคดีนี้ของศาลไทยโดยศาลอาญา และข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีนี้ โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายความเข้าดำเนินคดี ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย ไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล

“ทั้งนี้ การดำเนินคดีนี้ของศาลไทยโดยศาลอาญา จะเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียว อันเป็นการดำเนินคดีโดยขัดต่อหลักกฎหมาย”

คำแถลงการณ์ของประเวศ ประภานุกูล ฉบับที่ 1  เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560

.

ประเวศ ประภานุกูล เป็นทนายความ แต่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งหมด 13 กรรม ซึ่งหากถูกพิพากษาตามที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดอาจจะต้องถูกจำคุกเป็นระยะเวลาสูงสุดกว่า 100 ปี แม้ท้ายที่สุดแล้วกฎหมายจะให้ลงโทษจำคุกสูงสุดได้ไม่เกิน 50 ปีก็ตาม คดีของทนายประเวศนับได้ว่าเป็นคดีหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างมากในคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพภายหลังการรัฐประหาร 2557

ท้ายที่สุด ศาลพิพากษาว่าเขามีความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คปค.ฉบับที่ 25/2549 จากเหตุไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน ให้ลงโทษจำคุกรวม 16 เดือน ส่วนข้อหาตามมาตรา 112 ศาลให้ยกฟ้อง โดยไม่ระบุเหตุผลไว้แน่ชัด ทนายประเวศถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ก่อนได้รับการปล่อยตัวในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2561

ส่วนสำคัญในเรื่องราวนี้ไม่เพียงอยู่ที่ผลของคำพิพากษาอันเป็นบทสรุปของคดี แต่กลับเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้คดีใน “กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งทนายประเวศเลือกใช้วิธีการ “กามิกาเซ่” (Kamikaze) คือการต่อสู้แบบพลีชีพ ตามคำของเขาเอง  เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการที่เขาเห็นว่า “อยุติธรรม” โดยยืนยันไม่ยอมรับกระบวนการใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างถูกดำเนินคดี

อะไรคือภูมิหลังความเป็นมาของเขา ที่นำมาสู่การเลือกวิธีการต่อสู้เช่นนี้ จากนักศึกษากฎหมายคนหนึ่ง เลือกประกอบอาชีพทนายความ กระทั่งกลายมาเป็น “จำเลย” ในคดีที่เขาต่อสู้ปฏิเสธความเป็น “จำเลย” นั้น แถมด้วยการตกเป็น “ผู้ต้องขัง” ในเรือนจำ ย้อนดูบางส่วนของเส้นทางชีวิตก่อนวันที่เขาต้องตกเป็นจำเลยแบบดับเครื่องชน เรื่องราวของทนายประเวศ ประภานุกูล

.

นักเรียนผู้เลือกมธ. เพราะอิทธิพลจาก 14 ต.ค.    

ทนายประเวศ ปัจจุบันอายุ 59 ปี ในวัยเด็กเติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย พ่อและแม่เป็นจีนโดยกำเนิด แต่ทนายประเวศมาเกิดที่ประเทศไทย และเติบโตในย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร สำหรับสมัยนี้คงถือว่าเป็นครอบครัวใหญ่ เมื่อเขามีพี่น้องจำนวน 6 คน โดยทนายประเวศเป็นลูกคนที่สาม  พ่อและแม่ประกอบอาชีพเปิดร้านขายของชำอยู่หน้าโรงเรียนสหะพาณิชย์ปุณณวิถี ที่ทนายประเวศได้เข้าเรียนอยู่ในชั้นประถม

ต่อมาเขาเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา เขตคลองเตย ขณะอายุ 13 ปีเศษ เป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แม้ไม่ได้ไปเข้าร่วมในการชุมนุมดังกล่าว แต่ก็โตพอที่จะได้รับรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แล้ว

หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย ก็สอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ขณะนั้นสามารถเลือกคณะในการสอบได้ 4 ลำดับ ทนายประเวศได้เลือก 3 ลำดับแรกเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอีก 1 ลำดับเป็นคณะนิติศาสตร์ โดยได้เล่าถึงเหตุผลที่เลือก 4 คณะนี้ เนื่องจากตัวเองได้เรียนสายวิทยาศาสตร์ ใน 4 ลำดับ ที่เลือกมานั้นไม่มีการสอบในรายวิชาชีววิทยาที่ตนเองไม่ชอบอยู่ และขณะนั้นได้มีความคิดว่าไม่ว่าจะสอบติดคณะใดที่เลือก ก็จะทำการเรียนในคณะนั้น

ส่วนคณะนิติศาสตร์ที่เลือกมาแตกต่างจากคณะอื่นๆ นั้น มาจากความสนใจในอาชีพทนายความ ที่คิดไว้ตั้งแต่ต้น คือหากได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์แล้ว อาชีพที่เขาอยากจะทำคืออาชีพทนายความ เนื่องจากตอนเด็กๆ เคยดูภาพยนตร์ในทีวีขาวดำ โดยพระเอกของเรื่องเป็นทนายความจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เนื้อเรื่องเกี่ยวกับคดีความในศาล ออกแนวการสืบสวนแบบเชอร์ล็อก โฮมส์ ส่วนตัวพระเอกที่เป็นทนายความนั้นเมื่อมีผู้ต้องหามาหา ก็จะสามารถจับเรื่องราวและสามารถวิเคราะห์เรียงร้อยต่อกันได้ จนนำไปสู่การสืบพยานต่อสู้คดี แล้วบทสรุปก็จะพบว่าจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าหา เป็นการรู้จักกับอาชีพทนายความที่ฝังอยู่ในใจของทนายประเวศมาตั้งแต่วันนั้น

ประกอบกับโดยส่วนตัวแล้วทนายประเวศเป็นคนชอบเล่นหมากรุก และเขารู้สึกว่าอาชีพทนายความนั้น ก็คล้ายกับการเล่นหมากรุกบนกระดานเป็นงานที่เหมือนการเล่นเกมส์ที่ต้องอ่านคู่ต่อสู้และเดินหมากเอาชนะกัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจากประสบการณ์ทำงานจะได้ค้นพบว่าการแพ้ชนะกันทางคดีหลายครั้งไม่ได้อยู่ที่ “กึ๋น” ในการเล่นเกมส์ แต่อยู่ที่มีเส้นสายดีแค่ไหนก็ตาม

ด้านมหาวิทยาลัยที่เลือก คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยแรงผลักดันจากสิ่งที่ได้รับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นผู้นำในการชุมนุมต่อสู้ดังกล่าว จึงได้เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้  และสุดท้ายเขาก็สอบติดที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2522

.

(ภาพจาก : Banrasdr Photo)

.

นักศึกษากฎหมาย: ช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยเรียบๆ

เมื่อสอบได้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ทนายประเวศได้เข้าเรียนในฐานะนักศึกษาธรรมดาๆ คนหนึ่ง เขาย้อนทบทวนให้ฟังว่าช่วงชีวิตนักศึกษาปี 1 และปี 2 เป็นเหมือนช่วงเรียนรู้ว่าข้างในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ต่อมาปี 3 ทนายประเวศได้เริ่มมีความคิดอยากทำงานหารายได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อได้ลงมือทำงานไปพร้อมกับเรียนด้วย ผลปรากฎว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ผลการเรียนก็ตกลง ได้เข้าห้องเรียนน้อยลง การทำงานก็ไม่ได้อะไร แถมยังมีหนี้สินติดตัวกลับมา  หลังจบปี 3 เทอมสอง ก็รู้ทันทีว่าตนเองต้องจบการศึกษา 5 ปีแน่นอน ทำให้รู้สึกแย่อยู่ช่วงหนึ่ง

พอขึ้นปีที่ 4 จึงกลับมาตั้งใจเรียนและเข้าชั้นเรียนอีกครั้ง และเริ่มลงเรียนเต็ม 22 หน่วยกิจ  ทำให้สามารถเก็บหน่วยกิจได้อย่างเต็มที่ ส่วนรายวิชาของปีอื่นๆ ที่ค้างมาจากปีก่อนๆ ก็จะทำการอ่านหนังสือทำความเข้าใจด้วยตนเอง โดยเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ช่วงต้นเทอมการศึกษา อ่านไปทีละวิชา เมื่ออ่านจบทุกวิชาก็ถึงช่วงสอบพอดี ทำให้จบการศึกษา 5 ปีเต็มๆ ได้ โดยใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยจนถึงช่วงภาคฤดูร้อนของปี 5 เลยทีเดียว

ในวัยนั้น เขาไม่ได้มีรายวิชาหรือสาขากฎหมายที่สนใจเป็นพิเศษ เพียงแต่ทำคะแนนได้ดีในรายวิชากฎหมายอาญา กับกฎหมายวิธีพิจารณาความทั้งแพ่งและอาญา

ประเวศไม่ได้เป็นเด็กกิจกรรม แม้เคยได้ร่วมทำกิจกรรมกับกรรมการนักศึกษาของคณะอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงสต๊าฟธรรมดา ไม่ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแต่อย่างใด และเคยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาอยู่ครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากมายนัก

“เรียกได้ว่าชีวิตนักศึกษาเป็นพวกปลายแถวเลยก็ได้ ไม่มีอะไรพิเศษ”

.

ทนายความ: ค้นหาเส้นทางชีวิต สู่การใส่ครุย

หลังจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ด้วยระยะเวลา 5 ปี ทนายประเวศ ได้ไปขึ้นทะเบียนเป็นทนายความไว้ตั้งแต่ปี 2528 โดยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงก่อนที่จะมีพ.ร.บ.สภาทนายความ ทำให้คนที่จะเป็นทนายสามารถไปขึ้นทะเบียน โดยไม่ต้องทำการสอบได้เลย แต่ทนายประเวศก็ยังไม่ได้หันมาประกอบอาชีพนี้โดยตรง เขาเข้าไปทำงานในบริษัทประกันและบริษัทเอกชนหลายแห่งอยู่ 2-3 ปี

จากนั้นช่วงปี 2530 จึงได้ไปทำงานในสำนักงานทนายความของรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัย ราว 11 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้ฝึกงานด้านทนายความอย่างจริงจัง เพราะช่วงที่เข้าไปทำงานยังไม่มีคดีความเข้ามา ต่อมามีเพื่อนที่ได้เปิดสำนักงานทนายความอีกแห่ง ได้ชักชวนมาทำงานด้วยกัน จึงได้เข้าไปทำร่วมกับเพื่อน ทำอยู่ได้ระยะหนึ่ง เพื่อนก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ ทนายประเวศจึงได้กลับไปทำงานในบริษัทเอกชนอีกครั้งราวปีกว่าๆ

เส้นทางชีวิตระหกระเหินไป จนกระทั่งในปี 2534 ทนายประเวศจึงได้เข้าทำงานในสำนักงานทนายความแห่งแรกที่ถือได้ว่าเป็นการฝึกงานด้านทนายความอย่างจริงจัง งานส่วนใหญ่ที่ได้ทำเป็นงานตามที่ได้รับมอบหมายคดีมา แต่ภายในออฟฟิศก็ไม่ได้มีคดีมากมาย เป็นสำนักงานทนายรุ่นเก่าซึ่งคดีความที่รับมาจะขึ้นอยู่กับเครือข่ายของหัวหน้าออฟฟิศที่จะว่าจ้างเข้ามา แตกต่างกับยุคนี้ที่จะมีการตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาเปิดรับว่าความและช่วยเหลือทางคดีอย่างจริงจัง ส่วนการเติบโตของทนายความในสำนักงานก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทนายความหลายคนในออฟฟิศที่เคยทำงานด้วยกัน ปัจจุบันได้เป็นผู้พิพากษาแล้วก็มี

จากนั้นราวปี 2536 ทนายประเวศก็ได้ออกจากสำนักงานทนายแห่งแรกที่ตนเองได้เข้าทำงาน ก่อนมีโอกาสไปทำงานกับออฟฟิศทนายอีก 2 แห่ง เป็นระยะเวลาไม่นานมาก จนในที่สุดก็ออกมาเป็นทนายความอิสระทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสำนักงานทนายใดอีก

ประสบการณ์การทำคดีของทนายประเวศในช่วงแรกส่วนมากมักเป็นคดีแพ่ง มีบ้างที่ได้ทำคดีอาญา แต่ค่อนข้างน้อย แม้เคยมีความคิดที่จะไปลงชื่อเพื่อเป็นทนายความขอแรงที่ศาล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปทำ ลักษณะของการรับคดีเมื่อมาเป็นทนายความอิสระก็จะเกิดจากคนรู้จักแนะนำต่อๆ กันมา เมื่อมีคนเกิดคดีความก็จะมีการแนะนำกันว่ารู้จักทนายความคนใด ให้มาปรึกษาคนนี้ คดีส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบนี้เป็นหลัก

.

ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวในฐานะทนายความ

เหตุการณ์ที่ทำให้ทนายประเวศเริ่มแปรเปลี่ยนจากทนายความอิสระ กลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะทนายความที่เคลื่อนไหวทางสังคม และออกมายืนเคียงข้างฝ่ายผู้เสียหาย คือกรณีการแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทอีซี่บาย ที่ปล่อยสินเชื่อและให้กู้ยืมเงินสด แต่เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2548

ทนายประเวศเล่าว่าขณะที่เข้าไปช่วยผู้เสียหายต่อสู้คดีนี้ คิดเพียงว่าเป็นการตอบโต้การทวงหนี้โหด ทวงหนี้แบบประจานของบริษัทดังกล่าว ที่มีการทวงหนี้ด้วยการส่งแฟกซ์ทวงหนี้ไปยังที่ทำงาน หรือโทรศัพท์ไม่ขาดสาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่ทางบริษัทคิดเป็นอัตราร้อยละ 50-60 ต่อปี เกินกว่ากฎหมายกำหนด คือ 15% ต่อปี ไปมาก

สำหรับทนายประเวศนั้น คิดว่าการแจ้งความกลับครั้งนั้นเป็นเพียงวิธีการ หลังจากการเข้าแจ้งความแล้ว ยังต้องมีการแถลงข่าวเพื่อให้ประเด็นเป็นที่สนใจของสังคม ส่วนลูกหนี้ของบริษัทดังกล่าวนั้นมีจำนวนมากอยู่แล้ว เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกไป ลูกหนี้จำนวนมากก็ออกมาแสดงตัว จนทำให้ทนายประเวศเป็นที่รู้จักจากเหตุการณ์นี้ คล้ายกับเป็นคนจุดชนวนให้เสียงเรียกร้องของผู้เสียหายจำนวนมากเริ่มดังขึ้น

ทนายประเวศเล่าว่ามีอยู่วันหนึ่งขณะตนเองอยู่ต่างจังหวัด ทีมงานคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดาได้ติดต่อให้ไปเป็นแขกรับเชิญในรายการ “ถึงลูกถึงคน” โดยจะทำการซื้อตั๋วเครื่องบินให้กลับกรุงเทพฯ เพื่อให้ไปทันออกอากาศในวันนั้นเลย หลังออกรายการ ยังทำให้ในช่วงดังกล่าวสายโทรศัพท์ของทนายมีผู้ติดต่อเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

หลังจากเหตุการณ์นั้น ก็ได้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการทวงหนี้แบบโหดนี้ตามมา ตั้งแต่ตอนนั้นเอง ภาพลักษณ์ของทนายประเวศก็ได้เปลี่ยนไปเป็นทนายความที่ยืนต่อสู้เพื่อกลุ่มลูกหนี้คนจนที่ได้รับผลกระทบ มีการติดต่อให้ช่วยคดีในลักษณะดังกล่าวตามมาอีกมาก

“ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นการเคลื่อนไหว มาสะดุดหูตอนมีนักข่าวคนหนึ่งถามว่าทำไมพี่ถึงได้ออกมาเคลื่อนไหว ก็เฮ้ย มันงงอะ เพราะว่าตอนขยับทำตรงนั้น ไม่ได้คิดว่ามันเป็นการเคลื่อนไหว แต่เป็นการช่วยเหลือคดี แต่ว่าพอคิดดู มันก็ใช่น่ะ มันเป็นการเคลื่อนไหวแบบหนึ่ง” ทนายประเวศย้อนทบทวน

.

ครั้งแรกกับภาพ “กระบวนการยุติธรรม” ที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

ก่อนหน้ากรณีนี้ทนายประเวศ แทบไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด เป็นเพียงทนายความคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพไปเท่านั้น แต่เหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากกรณีบริษัทเรียกดอกเบี้ยโหดดังกล่าว ทำให้ทนายประเวศได้เห็นภาพของกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างออกไป

ตอนนั้น เขาได้ร่วมฟ้องร้องธนาคารแห่งประเทศไทยต่อศาลปกครอง เพื่อถอนประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุให้เก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 28% แล้วก็ได้พบกับ “กระบวนการยุติธรรม” ที่มีปัญหาด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก  จากการที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ได้ฟ้องไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานาหลายครั้งด้วยกัน ทำให้รู้สึกราวกับว่าศาลปฏิเสธจะตรวจสอบปัญหาดังกล่าว ทนายประเวศระบุว่าหากได้ดูประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าว จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงถ้อยคำ เพื่อให้มีการเก็บดอกเบี้ยได้เกินกว่ากฎหมายกำหนดเท่านั้น

ทนายประเวศต้องวนเวียนขึ้นศาลปกครองจากกรณีนี้เป็นเวลาปีกว่าๆ จากการจำหน่ายคดีและต้องทำการฟ้องใหม่อยู่หลายครั้งหลายหน มีอยู่คดีหนึ่งที่ทนายประเวศได้ทำการฟ้องร้อง และศาลปกครองได้ทำการรับฟ้องไว้แล้ว แต่ต่อมามีการจำหน่ายคดีอีก โดยระบุว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกประกาศฉบับใหม่แล้ว ทั้งที่ประกาศที่ออกมาใหม่ก็ยังมีข้อความเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไปแก้ไขในส่วนอื่น หากศาลปกครองกลับบอกว่าประกาศฉบับที่ฟ้องได้ยกเลิกไปแล้ว ให้จำหน่ายคดีอีกครั้ง

“ตอนนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจระบบการเมืองไทยว่ามันเป็นยังไง แต่ก็งงๆ กับมันแล้วนะว่า เฮ้ย ทำไมมันเป็นแบบนี้”

.

สู่การต่อสู้คดีทางการเมือง ด้วยคดี “ดา ตอปิโด” มาตรา 112  

สำหรับคดีแรกในสนามการต่อสู้คดีทางการเมืองของทนายประเวศ คือคดีของคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ‘ดา ตอร์ปิโด‘ ในข้อกล่าวหามาตรา 112 ซึ่งทนายประเวศได้รับการติดต่อมาให้ช่วยเหลือทางกฎหมายเมื่อปี 2551 หนึ่งในเหตุผลที่รับทำคดีนี้ คือ “เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะคดี พูดง่ายๆ เขาก็รู้ว่าตกลงมันแพ้แน่ แต่เขาต้องการสู้ คือมันสบายใจ ถ้าเขาบอกต้องการชนะ ก็คงไม่รับ เพราะมันมองเห็นแล้วว่าไม่มีทาง”

ทนายประเวศทบทวนให้ฟังว่ากรณีของดารณีมีประเด็นที่ต่อสู้ คือการพิสูจน์ความจริงในสิ่งที่พูด ขณะต่อสู้คดี ทนายก็พยายามหาหลักฐานเพื่อมาพิสูจน์ในสิ่งที่คุณดารณีพูดแล้วถูกนำมาฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ผลสุดท้ายด้วยความที่ยังไม่เข้าใจระบบพอ ประกอบกับสิ่งหนึ่งที่ได้พบในคดีนี้ คือประเด็นเรื่องแผ่นซีดีทีพยายามต่อสู้เพื่อทำลายน้ำหนักของหลักฐานชิ้นนั้น ที่นอกจากแผ่นซีดีดังกล่าวแล้ว ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่าคุณดารณีเป็นผู้พูดข้อความตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งยังเกิดเหตุการณ์โต้แย้งกันถึงขึ้นประท้วงศาลจากการที่ศาลพยายามจะเปิดแผ่นซีดีดังกล่าวต่อหน้าจำเลย เพื่อการรับฟังซีดีแผ่นดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดี เพราะนอกจากแผ่นซีดีแล้วฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้มีประจักษ์พยานหรือหลักฐานอื่นใดมาพิสูจน์ความผิดได้อีก ยิ่งตอกย้ำว่าภาพของกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เที่ยงตรงอย่างที่เคยเข้าใจ

คดีนี้ระหว่างการพิจารณา ศาลยังสั่งให้มีการพิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งก่อนหน้านั้นตลอดอาชีพทนายความที่ผ่านมา ทนายประเวศไม่เคยได้พบกับการพิจารณาคดีที่ปิดลับมาก่อนเลย

ทนายประเวศระบุว่าบทเรียนที่สำคัญในคดีของคุณดา คือการเปิดความคิด มันเป็นคดีที่เป็นจุดเริ่มต้นถึงการคิดถึงการต่อสู้ในคดีที่มีการพิจารณาเป็นการลับ เพราะถ้าหากคดีเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผยแล้ว ก็ยังมีแรงของประชาชนคอยติดตามสนับสนุน แต่การพิจารณาคดีที่ปิดลับนั้น ไม่มีทั้งหมด จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น เขาได้พัฒนาทางความคิดมาจนเป็นบทสรุปที่จะใช้ต่อสู้คดีในคดีของตนเองในภายหลัง

.

.

จำเลย: จากทนายความที่ตื่นตัวทางการเมือง จนกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดี

หลังรัฐประหาร 2549 บรรยากาศทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น รวมทั้งสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เริ่มขยายตัว ยังขยายความสนใจทางการเมืองของทนายประเทศ โดยเฉพาะการได้อ่านบทความเกี่ยวกับระบบการเมืองไทยและสถาบันประเพณีที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต

ช่วงปี 2553 เขาได้เริ่มใช้งานเฟซบุ๊ก ได้เริ่มเขียนบทความชุดหนึ่งจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอกับกระบวนการยุติธรรมมา ในหัวข้อ “ศาลยุติธรรม: ยุติอย่างเป็นธรรมหรือยุติความเป็นธรรม” เป็นบทความชุด 3 ตอน ที่เป็นการเขียนในคราวเดียวกัน ในบทความได้บรรยายถึงโครงสร้างของศาลยุติธรรม และการนำเสนอแนวคิดเรื่องระบบลูกขุนจากนั้นได้เขียนเพิ่มเติมอีก 2 ตอน รวมเป็น 5 ตอน[1]

ความตั้งใจดั้งเดิมของประเวศ คือการใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางนำเสนอแนวความคิดทางการเมือง อีกทั้งเขายังเคยได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมต่างๆ ของทั้งสองสีเสื้อ โดยเป็นการไปเดินดูและได้รับเชิญไปขึ้นพูดบนเวทีเล็กๆ บ้างบางครั้ง โดยประเด็นที่ไปพูดคุยก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดจะกำหนดมาให้ รวมถึงการพูดถึงประสบการณ์การทำคดีดาเมื่อสังคมสนใจการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น

พอเกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ทนายประเวศไม่เคยถูกเรียกตัวหรือถูกคุกคามใดๆ กระทั่งวันที่ 29 เม.ย. 2560 เป็นวันที่ทนายประเวศถูกจับกุมไปจากบ้านพักของตนเอง โดยขณะนั้นยังไม่มีหมายจับใดๆ  เขาถูกควบคุมตัวเข้าไปในค่ายทหาร การต่อสู้ของทนายประเวศเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น ด้วยการอดข้าวเป็นเวลา 1 วัน เพื่อให้สามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกับเพื่อน ให้ช่วยจัดการเรื่องคดีความต่างๆ ของตนเองที่ยังคงค้างอยู่ให้ และอีกครั้งเป็นการไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปทำการแจ้งข้อหาและสอบสวนถึงภายในค่ายทหาร

หลังถูกนำตัวออกจากค่ายทหาร เขาถูกส่งตัวไปฝากขังตามมาตรา 112, มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่ตอนนั้นทนายประเวศก็ได้เริ่มคิดว่าตนเองอาจต้องใช้วิธีการในการต่อสู้แบบกามิกาเซ่ คือการดับเครื่องชนกับกระบวนการยุติธรรม และพยายามชี้ให้เห็นความไร้ความชอบธรรมของศาลในการดำเนินคดีนี้ โดยการพยายามปฏิเสธมัน  เพราะในเมื่อการต่อสู้ในระบบ รู้แน่ว่าแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง ก็ต้องทำลายระบบ ทนายประเวศคิดไว้แบบนั้น

แม้ก่อนหน้านี้ทนายประเวศเคยได้เสนอวิธีการต่อสู้นี้ให้กับคนอื่นๆ อยู่บ้าง แม้บางคนจะเข้าใจในแนวความคิด แต่ก็ไม่มีใครเลือกใช้วิธีการนี้ ส่วนทนายประเวศเองก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องใช้วิธีการต่อสู้ที่ตนเองได้คิดขึ้นมากับกรณีของตัวเอง

เมื่อเริ่มการพิจารณาคดีในศาล ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายประเวศได้เริ่มวิธีการต่อสู้ตามที่เขาเชื่อ ด้วยการแถลงขอถอดทนายความในคดีของตนเองที่เคยแต่งตั้งไว้ ก่อนที่จะได้ยื่นหนังสือที่เขียนด้วยลายมือตนเองจากภายในเรือนจำเพื่อแถลงการณ์ต่อศาล จำนวน 2 ฉบับ ยืนยันไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีนี้ และไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีใดๆ ของศาล (ดูในรายงาน)

ต่อมา จึงได้มีการนัดหมายสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 พ.ค. 61 โดยในวันเริ่มสืบพยานโจทก์ ฝ่ายโจทก์ได้ขอให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งศาลก็ได้สั่งให้มีการพิจารณาคดีลับเช่นกัน ให้เหลือเฉพาะพยานและตัวความในห้องพิจารณาเท่านั้น ทำให้หลังจากนั้นจึงได้เกิดปรากฏการณ์การสืบพยาน ที่อาจกล่าวได้ว่า “แปลกประหลาด” ที่สุดเท่าที่ “กระบวนการยุติธรรม” ของประเทศไทยอาจเคยพบเจอ ด้วยการสืบพยานต่อหน้าจำเลยที่ไม่ยอมรับกระบวนการ ยืนยันปฏิเสธความเป็นจำเลยของตนเอง ไม่ให้การใดๆ ไม่ยินยอมแต่งตั้งทนายความ ไม่มีการลงชื่อใดๆ ของจำเลยในเอกสารทางคดี กลายเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปโดยฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียว

ทนายประเวศได้เปรียบตนเองเป็นเพียง “เหยื่อ” ของกระบวนการดังกล่าว การนั่งอยู่ภายในห้องพิจารณาระหว่างกระบวนการที่ตนเองไม่ยอมรับดังกล่าว ไม่ได้มีความรู้สึกใดๆ เพียงแต่อยู่ตรงนั้นเพื่อยืนยันการต่อสู้ของตนเอง

ทนายประเวศระบุว่าเขาได้ทำใจตั้งแต่ตอนที่ถูกยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ว่าวิธีการต่อสู้นี้ต้องแลกด้วยอิสรภาพ อาจจะต้องถูกคุมขังไปเรื่อยๆ แต่ก็คิดว่าจะต้องยืนยันความคิดของตนเองไป โดยไม่ท้อถอย เขาเปรียบเปรยมันกับตำรายุทธพิชัย ”ซุนวู” ที่เคยอ่านอยู่หลายครั้ง

“ซุนวูบอกว่าในยุทธภูมิมรณะ ต้องรวมกำลังสู้ตาย”

.

นักโทษ: เมื่อร่างกายต้องถูกจองจำ

ความรู้สึกที่ทนายประเวศมีอยู่ ขณะถูกคุมขังมีเพียงว่า “คนอย่างผมนี่มันไม่ใช่นักโทษ การเข้าไปอยู่ในนั้นมันอยู่ผิดที่ผิดทาง แล้วก็คือกลายเป็นว่ามันมีความรู้สึกอีกแง่หนึ่ง เหมือนโชคชะตาส่งเข้าไปเพื่อเรียนรู้ รับรู้สิ่งที่อยู่ในนั้น เพื่อออกมาทำอะไรอย่างอื่น เกี่ยวกับในนั้น เกี่ยวกับอะไรหลายอย่าง”

นอกจากนั้นทนายประเวศยังได้เคยให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (ilaw) บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่ถูกคุมขังไว้ว่า สภาพความเป็นอยู่ภายในเรือนจำนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ส่วนตัว” กิจวัตรประจำวันทุกอย่างถูกกำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจน และการถูกคุมขังของทนายประเวศทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะต้องมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะหากอยู่ภายในเรือนจำแต่ยังคงทำตัวเหมือนกับการอาศัยอยู่ภายนอก ที่คิดถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ภายในเรือนจำหากเคยให้สิ่งของแก่นักโทษคนอื่นๆ ครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะถูกขออีกสิ่งของอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งอาจจะนำความเดือดร้อนมาให้ตนเองได้

สำหรับนักโทษนั้นไม่ว่าจะเป็นนักโทษที่ก่ออาชญากรรมหรือนักโทษการเมือง ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน อยู่ร่วมกันในสถานะนักโทษเช่นเดียวกัน ความแตกต่างนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลตามแต่นิสัยใจคอ ส่วนทนายประเวศเองเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง จึงมักจะอยู่คนเดียวมากกว่า จึงไม่ค่อยมีเพื่อนนักโทษ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้

อาจด้วยระยะการคุมขังที่ยังไม่มากนัก สำหรับทนายประเวศแล้ว เขาไม่ได้รับผลกระทบต่อความคิด-จิตใจมากนักเมื่อได้รับการปล่อยตัว แต่คิดว่าสิ่งที่ได้รับจากการถูกคุมขัง คือเรื่องการไม่กินเหล้ากับสูบบุหรี่ โดยหลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว เขายังไม่ได้ซื้อบุหรี่อีกเลย

.

(ภาพจาก : Banrasdr Photo)

.

เมื่อถามว่าประเมินผลการต่อสู้ด้วยวิธีที่เขาดำเนินมาทั้งหมดนี้อย่างไร ทนายประเวศคิดว่า “วิธีนี้ ถ้าหากว่ามีแค่ผมคนเดียว ก็จบ มันจะไม่มีผลเอฟเฟคอะไรมาก แต่ถ้ามีคนที่สอง ที่ใช้วิธีนี้ มันจะมีคนที่สามตามมา แล้วเมื่อไหร่มีคนถึงหมื่นเนี่ย ระบบจะถูกล้ม”

ปีเศษผ่านไปหลังการต่อสู้ในคดีตนเอง การเมืองยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก แม้ประเทศกำลังดูเหมือนจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ทนายประเวศคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีความหวัง เพราะประเทศไทยกำลังมีรัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการที่สุด ทั้งยังมีการวางกลไกของคสช.ไว้อย่างซับซ้อน เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่หากไม่ทำตามจะมีความผิดถึงขั้นจำคุก เป็นต้น เป็นสภาวะที่ย้อนหลังไปไกลยิ่งกว่า พ.ศ. 2475 ด้วยซ้ำ และเคยมีอาจารย์รัฐศาสตร์คนหนึ่งกล่าวถึงระบบเช่นนี้ว่าเป็น “เผด็จการคณาธิปไตย” ซึ่งไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร พรรคการเมืองจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ ก็ยังถูกอำนาจทหารควบคุมไว้อยู่ดี

ส่วนความคิดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมนั้น ทนายประเวศเห็นว่าต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมสำหรับทนายประเวศนั้นไม่มี ทั้งกระบวนการและองค์กรยุติธรรม ส่วนความคิดนั้น คือการรื้อสร้างใหม่ เพราะเห็นว่าไม่สามารถซ่อมแซมหรือปฏิรูปได้แล้ว ระบบที่เป็นอยู่ได้ฝังรากลึกมากๆ

“หากเปรียบกระบวนการยุติธรรมเป็นฟัน ก็คงเป็นฟันที่ผุลงไปถึงรากฟันแล้ว ไม่สามารถเยียวยาได้ นอกจากการถอนออก หากเปรียบเป็นรถ ก็เป็นรถที่ต้องขาย แล้วซื้อคันใหม่เท่านั้น”

.

อ่านเพิ่มเติม

คดีทนายประเวศกับโซ่ตรวน 112 อันเนิ่นนานยาว

ตลกร้าย ทนายประเวศ หลักการพิจารณาโดยเปิดเผย และสิทธิที่หายไปจากรัฐธรรมนูญ

อ่านคำแถลงใหม่ “ทนายประเวศ” ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ก่อนศาลพิพากษาคดี ม.112-116

อ้างอิง

[1] ดูบทความทั้ง 5 ตอน ได้ในบทความชุด “ศาลยุติธรรม: ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม” ตอนที่ 1 , ตอนที่ 2 , ตอนที่ 3, ตอนที่ 4  และ ตอนที่ 5

.

X