แหวน : จากพยาบาลอาสา พยานคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ สู่จำเลยคดีความมั่นคง 2 คดี

เดือนมีนาคม 2553 ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. จัดชุมนุมกลางกรุงเทพมหานครเพื่อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา เพราะถูกแต่งตั้งขึ้นมาภายในค่ายทหารจนกลายเป็นฉายาของนายกฯ คนนี้ในเวลานั้น

รัฐบาลในเวลานั้นได้ตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)” ขึ้นมาจัดการกับชุมนุมดังกล่าวโดยใช้ทหารจากกรมกองต่างๆ เป็นกำลังหลักเข้ามาควบคุมสถานการณ์ จนกระทั่งมีการใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุมถึง 2 ครั้ง หรือที่ ศอฉ.เรียกปฏิบัติการของตัวเองว่า “ขอคืนพื้นที่” ในครั้งแรก 10 เมษายน และ “การกระชับพื้นที่” ในครั้งที่สอง 13 -19 พฤษภาคม ส่งผลให้มีทั้งผู้ชุมนุม นปช. ประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ปิดล้อมและเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตเกือบ 100 คน และบาดเจ็บอีกพันกว่าคน

เย็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ช่วงเวลาสุดท้ายของการชุมนุมและการใช้กำลังทหารปราบปรามการชุมนุมที่กำลังจะสิ้นสุดลง ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาลอาสาที่กำลังช่วยรักษาพยาบาลแก่ผู้ชุมนุมที่รอเดินทางกลับบ้านอยู่ในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เพราะก่อนหน้านั้นมีการประกาศให้พื้นที่วัดเป็นเขตอภัยทานทำให้ผู้ชุมนุมคิดว่าการหลบอยู่ภายในวัดจะปลอดภัยกว่า และในเวลานั้นทหารได้วางกำลังไว้บนถนนทุกสายที่อยู่รอบพื้นที่การชุมนุมหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม และเคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่ชุมนุมในเช้าวันที่ 19 เพื่อสลายการชุมนุม

แหวนได้อยู่ในช่วงเวลาที่ทหารบนรางรถไฟฟ้าช่วงสถานีชิดลม-สยาม ใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้ามาภายในวัดปทุมวนาราม เธอจึงกลายเป็นพยานปากสำคัญต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นภายในวัด หลังเหตุการณ์นี้เธอขึ้นเบิกความในฐานะพยานในกระบวนการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คนที่อยู่ในวัด

แหวน (หญิงชุดพยาบาลซ้าย) กำลังปฐมพยาบาล อัฐชัย ชุมจันทร์ ภาพโดย Steve Tickner

แหวนจึงเป็นประจักษ์พยานต่อการเสียชีวิตของคน 2 คน (จาก 6 คน) ทั้งจากการพยายามยื้อชีวิตของอัฐชัย ชุมจันทร์และได้เห็น กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่อยู่ในเต๊นท์พยาบาลถูกยิงต่อหน้าต่อตา แหวนยืนยันในศาลว่าเหตุการณ์ในเย็นวันนั้น ทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าด้านหน้าวัดเป็นผู้ยิงผู้ชุมนุมที่อยู่ในวัด แต่นอกจากคำเบิกความของเธอแล้วทั้งประจักษ์พยานคนอื่นและหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏในศาลทั้งหมดล้วนสนับสนุนคำพูดของเธอ และสุดท้ายศาลมีผลพิจารณาว่าทหารเป็นผู้ยิงทั้ง 6 คนเสียชีวิตโดยที่ไม่มี “ชายชุดดำ” (ในความหมายบุคคลชุดดำติดอาุวุธ) อยู่ในวัด

>> เบิก 3 ประจักษ์พยานสำคัญ 6 ศพ วัดปทุมฯ ยันทหารยิงจากราง-ตอม่อ BTS

>> ศาลสั่ง 6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร-ไม่มีชายชุดดำในที่เกิดเหตุ

.

3 ปี 5 เดือน 18 วัน

เวลาผ่านไป 6 ปี จากที่แหวนเคยเป็นพยานปากสำคัญในคดีสลายการชุมนุม เธอถูกเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นจำเลยในคดีเตรียมก่อการร้าย ที่เป็นคดีสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ปาระเบิดศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 เธอถูกกล่าวหาเพียงเพราะว่ามีชื่อบัญชีไลน์ของเธออยู่ในกลุ่มไลน์คนเสื้อแดง

ไม่เพียงเท่านี้ แหวนยังถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังเธอถูกจับกุมในคดีแรก โดยคดีนี้กว่าจะมีการเริ่มดำเนินการก็หลังจากแหวนได้ประกันในคดีแรกและดำเนินการอายัดตัว

ที่สำคัญคดีทั้ง 2 อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารที่ถูกนำมาใช้กับพลเรือนตั้งแต่ 25 พฤษภาคม 2557 หลัง คสช.ทำการรัฐประหารได้ไม่กี่วัน และคดีเกี่ยวกับเหตุเตรียมก่อการร้ายก็ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เพราะทั้งสองคดีต่างก็เริ่มขึ้นในช่วงที่กฎอัยการศึกยังถูกประกาศใช้อยู่

3 ปี 5 เดือน 18 วัน คือจำนวนวันที่แหวนนับให้เราฟังว่าเธอถูกขังอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีทั้ง 2 คดี ศาลทหารถึงให้แหวนได้ประกันตัวออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำชั่วคราวโดยต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวรวมกันในสองคดีสูงถึง 900,000 บาท และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเธอจะต้องกลับเข้าไปอีกหรือไม่

แหวนเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะถูกจับกุมดำเนินคดีโดย คสช. ครั้งนี้ เธอยังไม่เคยถูก คสช. เรียกรายงานตัวเหมือนคนอื่นๆ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบมาหา บางครั้งแสดงตัวชัดเจนพร้อมบัตรเจ้าหน้าที่แต่บางครั้งก็เป็นเพียงอ้างว่ารู้จักกับคนนั้นคนนี้ และอ้างว่าจะมาขอข้อมูลเพื่อเก็บไว้แก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่เรื่องที่ถามเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเหตุการณ์การสลายการชุมนุมว่าเธอเห็นอะไรในเหตุการณ์บ้าง เห็นชายชุดดำหรือไม่

“เยอะ จำไม่ได้ เป็นสิบครั้ง ทั้งโทรนัด โทรคุย โทรขู่ เรียกเข้าไปพบ เราบอกปฏิเสธว่าถ้าพบโดยไม่มีทนายเราไม่ไปเพราะเรากลัว” คือคำตอบที่แหวนให้หลังถูกถามว่าเจ้าหน้าที่ติดต่อถึงเธอบ่อยแค่ไหน เธอยังบอกอีกว่ามีขอมาเจอที่บ้านด้วยแต่เธอไม่ยอมให้มา แต่เจ้าหน้าที่ก็รู้ข้อมูลส่วนตัวหมดว่าเธอมีลูกกี่คน เรียนอยู่ที่ไหน

จนวันที่ 11 มีนาคม 2558 โดยที่ไม่มีสัญญาณมาก่อน แหวนก็ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในเครื่องแบบทหารและนอกเครื่องแบบราว 6-7 คน เข้าจับกุมที่บ้านของลูกพี่ลูกน้องย่านพระประแดง เจ้าหน้าที่อ้างเพียงว่าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก แต่ก่อนจะทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าถามเธอว่ารู้เห็นเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่ศาลอาญาหรือไม่ แหวนก็ตอบเพียงว่าทราบจากข่าวที่มีการรายงานกันในช่วงนั้น

“เขาบอกดีเลยงั้นไปด้วยกันเลย ขอให้ความร่วมมือกับทางตำรวจหน่อย แต่เขาไม่มีหมายจับหรือหมายใดๆ ทั้งสิ้น บุกชาร์จ บุกอุ้มเลย เขาให้เราไปเก็บเสื้อผ้า โทรศัพท์ที่เราลิงก์อีเมล์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทั้งหมด 5 รายการก็เอาไปหมดเลย และข่มขู่เอารหัสไปทั้งหมดตั้งแต่อยู่บนรถ

“พอเขาเอาแหวนขึ้นรถไป เขาก็ปิดตาเราแน่นมาก ไม่ให้รู้ว่าไปไหน ในรถทำอะไร มีผู้ชายคนหนึ่งเปิดเสื้อแขนสั้นเรา เราบอก ‘พี่ทำกับหนูแบบนี้ไม่ได้นะ’ เขาบอกว่า ‘มึงทำเหมือนคนไม่เคยมีผัวเลย ก็แค่เปิดดูรอยสัก’ เปิดดูรอยสักก็ไม่ถูกต้อง เราพยายามปกป้องตัวเองแต่นาทีนั้นไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย เขาก็ละเมิดตัวเรา อยากจะเปิดดูตรงไหนก็เปิด เป็นเหมือนตัวตลกตัวหนึ่ง บำเรอความใคร่ของพวกเขาอยากทำอะไรก็ทำ”

แหวนบอกว่าอยู่บนรถเกือบ 30 นาที ก่อนจะถึงที่หมายเธอถูกเอาตัวลงจากรถและถูกพาไปที่ห้องควบคุมตัว สภาพห้องตามที่เธอเล่าให้ฟัง นั้นห่างไกลจากคำว่าอยู่สบาย และสร้างความเครียดให้เธอกล่าวคือ เป็นห้องสี่เหลี่ยม มีเตียงนอนสองเตียง มีพัดลมและกล้องวงจรปิด แต่ประตูหน้าต่างไม้ถูกล็อกปิดทึบ ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันไม่มีนาฬิกาบอกเวลา และไฟนีออนในห้องถูกเปิดทิ้งไว้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีห้องน้ำในตัว ทำให้ทุกครั้งที่เธอจะเข้าห้องน้ำต้องเคาะเรียกเจ้าหน้าที่และจะถูกเจ้าหน้าที่ที่ใส่หมวกไหมพรมเข้ามาปิดตาทุกครั้งที่ต้องออกจากห้องควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ก็ใช้ห้องเดียวกันนี้ในการซักถามเธอด้วย

“ผู้ชายน่าจะ 4-5 คนเดินเข้ามา มานั่งข้างๆ ประกบเรา พูดเป็นคำถามนำ และมึงต้องรู้ ต้องให้ข้อมูลเท่าที่กูอยากได้แต่มึงไม่มีสิทธิรู้ว่ากูเป็นใคร ไม่มีใครกล้าเปิดตาให้เราได้รู้หน้าตาของพวกเขาเลย เขาใช้ผ้าขาวดิบปิดแน่นมากจนจมูกที่เราทำมามันเบี้ยวมองไม่เห็นอะไรเลย ได้ยินเสียงไม่ชัด

“ทุกคำถามจะเป็นคำถามที่ถามนำและคำถามบังคับ และมึงต้องรู้ ต้องตอบ ถ้ามึงไม่ตอบ มึงไม่รู้ ครอบครัวมึง ลูกหลานมึง ญาติโกโหติกา โคตรพ่อโคตรแม่มึงให้ระวัง กูใช้คำสั่ง คสช. กฎอัยการศึก กูจะทำอะไรก็ได้ คำถามจะเป็น ใครเป็นคนก่อเหตุ ทำที่ไหน ทำกี่จุด รู้จักใครบ้างในนี้ จะเป็นคำถามถามนำว่า รู้จักเดียร์ไหม รู้จักสุรพลไหม รู้จักคนนั้นคนนี้ไหม เขาเปิดตาแล้วให้นั่งก้มหน้าห้ามเงยหน้าขึ้นมาแล้วก็เอารูปให้เราดูสามสี่คน เราก็บอกไม่รู้จัก

“เราก็บอกเขาว่าถ้าพี่ถามเรื่องยาพารา ยาแก้แพ้ เรื่องทำแผลหนูบอกพี่ได้ หรือแม้แต่โดนงูกัดก็บอกได้ว่าควรรักษายังไง แต่ถามเรื่องระเบิดหนูไม่รู้เรื่อง เขาก็บอก ‘มึงไม่ต้องมาเล่นลิ้นเลยมึงมีเหรอจะไม่รู้’ ”

แหวนถูกสอบสวนเป็นเวลาล่วงเลยเป็นตีเท่าไรไม่รู้ รู้แต่เราเหนื่อย เราล้ามาก ภูมิแพ้กำเริบ ตาก็เริ่มบวม โดนทั้งขู่บังคับสารพัดและไม่ให้พักเลย ชุดนี้มาชุดนี้ไป ได้พักประมาณ 20 นาทีถึง 1 ชั่วโมงเคาะเรียก ปลุกให้ตื่น ปิดตา ปลุกให้ตื่น ปิดตา อยู่อย่างนั้น ได้พักจริงคงราวตีสองตีสามได้ ตั้งแต่โดนจับตั้งแต่บ่ายโมง สอบทีละ 3-4 ชั่วโมง”

นอกจากนั้นในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่นอกจากแหวนจะถูกปิดตาเอาไว้ทำให้เธอไม่เห็นสภาพทั้งหมดของสถานที่ที่ใช้ควบคุมตัวในการสอบสวนเธอยังถูกข่มขู่ ทำร้ายด้วย

“ไม่ใช่การตบแบบเอาเป็นเอาตาย แต่มันเป็นการตีที่ไหล่ ให้รู้ว่านี่เป็นด้ามปืนนะ นี่คือมือนะ เอาปืนมาตบที่คอ ‘ให้ข้อมูลมาให้หมด มีใครบ้าง ทักษิณให้เงินมึงมาเท่าไหร่มึงถึงไม่พูด’ เราก็บอก ‘ไม่มี ไม่เคยได้ ไม่เคยคุยกับท่าน ไม่เคยรู้จักท่านเป็นการส่วนตัวเลย’

“เขาขู่จะทำร้ายครอบครัว จะทำร้ายเพื่อนสนิท ผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าเราไม่ให้ความร่วมมือ บุคคลที่อยู่ในโทรศัพท์เขาจะให้เดือดร้อนให้หมด จะยัดคดีให้หมดภายใต้กฎอัยการศึก ครอบครัวลูกเต้าจะโดนหมด โดนนี่จะเห็นหน้าไม่เห็นหน้าเห็นศพไม่เห็นศพเขาไม่รับประกัน”

แหวนบอกว่าสามวันแรกที่เธอถูกควบคุมตัวจะถูกตั้งคำถามเดิมๆ วนซ้ำเป็นสิบครั้งให้เธอหลงทาง แต่เธอยืนยันว่าเธอไม่รู้เรื่อง จนวันที่ 4 เจ้าหน้าที่ถึงย้ายเธอไปควบคุมตัวอีกห้องหนึ่งไปอยู่ห้องเดียวกับวาสนา บุษดี จำเลยอีกคนในคดีที่ถูกจับมา แม้ช่วงเวลาที่ถูกสอบสวนจะน้อยครั้งลง แต่ก็ยังเป็นคำถามเดิมๆ

 

แหวนถูกนำตัวจาก มทบ.11 มาส่งที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล

 

ตั้งแต่ถูกจับกุมจนกระทั่งถึงวันที่ 18 มีนาคม 2558 ก็ปรากฏข่าวว่าทหารได้นำตัวแหวนออกจากมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ไปส่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เธอไม่ได้พบกับทนายความตามที่เธอร้องขอ แม้ว่าในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนจะมีทนายความร่วมอยู่ด้วย แต่ก็เป็นทนายความที่ทางเจ้าหน้าที่จัดหามาให้ไม่ใช่ทนายความคนที่เธอพยายามติดต่อหรือไว้ใจ

“ตอนที่ซักถามไม่มีทนาย ทั้งๆ ที่พี่วิญญัติ (ชาติมนตรี) มาแล้ว แต่เขา (ตำรวจ) ไม่ให้ขึ้นมามีแต่ทนายของพวกเขา แล้วเขาบังคับให้เราเซ็นต่อหน้าทนายที่เขาจัดหาให้เป็นพยานว่าไม่ได้ถูกข่มขู่ คือ ไม่ได้ข่มขู่ให้เซ็นแต่มึงต้องเซ็นตรงนั้นต่อหน้าทนายที่กูจัดมาให้มึง แต่ทนายที่มึงเรียกหากูไม่ให้ขึ้นมา นี่คือความจริงของประเทศไทยที่ข้าราชการไทยทำกับคนจ่ายภาษีเป็นเงินเดือนพวกเขา”

แหวนเล่าว่าถูกดุด่า ต่างๆ นาๆ โดยตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพลในระหว่างที่เธอถูกแจ้งข้อกล่าวหาและให้เซ็นรับทราบในเอกสารต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนให้เธอเซ็น เธอยืนยันว่าจะไม่เซ็นเอกสารใดๆ เพราะเธอไม่ได้ทำอะไรผิด จนสุดท้ายเธอถูกต่อรองให้เซ็นชื่อพร้อมระบุในเอกสารด้วยว่า “ข้าไม่ทราบ” แล้วให้ไปสู้ในศาลเอง หลังเซ็นเอกสารที่ตำรวจเอาให้เซ็นหมดแล้ว ทนายความของเธอที่ติดตามมาจึงได้เข้าพบเธอในระหว่างรอพนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาลทหาร

ตั้งแต่นั้นมาแหวนก็อยู่เรือนจำตั้งแต่คดีอยู่ในชั้นสอบสวนจนกระทั่งถึงชั้นพิจารณาคดีในศาล แต่หลังเธอเพ่ิงเข้าเรือนจำไปได้ไม่นาน ก็มีตำรวจเข้าไปหาในเรือนจำและทำการสอบปากคำเธอในคดีที่เธอถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

วันที่ 24 กรกฎาคม 2560 หลังแหวนติดคุกอยู่กว่า 2 ปี ในที่สุดเธอก็ได้ประกันตัวพร้อมกับจำเลยคนอื่นอีก 3 คน ในคดีเตรียมก่อการร้าย แต่คืนนั้น ขณะเธอกำลังจะได้รับอิสรภาพ (ชั่วคราว) แหวนก็ได้รู้ว่าตัวเองกำลังจะถูกอายัดตัวต่อในอีกคดี มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาแสดงตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

“แหวนโดนล็อคกุญแจมือก่อน แล้วถูกอุ้มขึ้นรถฟอร์จูนเนอร์สีดำ ผู้ชายใส่ชุดไปรเวทสี่คน มี 2 คนลักษณะเหมือนขี้ยา อีก 2 คน เหมือนมือปืน ไม่มีลักษณะเป็นตำรวจเลย แล้วเขาก็ใส่กุญแจมือเราแล้วอ้างว่าตัวเองเป็นตำรวจกองปราบ แล้วก่อนจะพามากองปราบ ระหว่างทางก็เค้นเรา มีญาติมารับไหม เราก็บอกไม่มี ไม่รู้ใครมารับหรือเปล่า เราไม่มั่นใจถ้าบอกว่ามีคนข้างนอกจะเดือดร้อนไหม”

ปรากฏมาเจอทนายบอลและทนายต้อลที่ป้อมยาม มันขับรถออกมาจากประตูแดนในเลย เสร็จแล้วทนายต้อลก็โบกให้หยุดแล้วเอาบัตรทนายแปะหน้ารถ “ตกลงไอ้นี่ใช่ญาติมึงมั้ย” เราก็บอกไม่ใช่ญาติแต่เป็นทนาย เขาก็บอกว่า “เฮ้ย ทนายไม่ใช่ญาติ กูไม่ให้มึงคุย”

ทนายต้อลก็บอกว่า “ผมทนายวิญญัติ ชาติมนตรี [ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.)] ผมขอดูบุคคลบนรถหน่อยว่าเป็นณัฏฐธิดา มีวังปลา ลูกความผมไหม” “มึงออกไป ไม่งั้นกูยิงไส้แตกนะ มึงมาทุบรถแบบนี้ไม่ได้นะ” เพราะทนายเขาเอามือทุบกระจกจะขอดูไง พอช่วงจังหวะรถจะพุ่งตัวออก เราก็เอากุญแจมือทุบข้างรถแล้วตะโกน “พี่ต้อลๆ แหวนอยู่ในนี้ พี่บอลแหวนอยู่นี่” แหวนทุบไปครั้งหนึ่ง ครั้งที่สองมันก็ลากเราเข้ามา”

 

เหตุการณ์ขณะตำรวจนำตัวแหวนออกจากทัณฑสถานหญิงกลางในคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ถ่ายโดย นพเกล้า คงสุวรรณ

 

แหวนยังเล่าอีกว่าการต้องกลับเข้าไปในเรือนจำอีกครั้งทำให้เธอผิดหวังมากและเศร้ามาก ร้องไห้ตลอดเวลาอยู่ 2 วัน กว่าจะทำใจได้ เธอไม่คิดว่าต้องกลับเข้าไปอีก แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่เรือนจำเข้าใจและผู้ต้องขังบางคนที่เธอได้เจอก็ให้ความช่วยเหลือดี

การถูกอายัติตัวทำให้แหวนต้องอยู่ในเรือนจำอีกกว่า 1 ปี สิริรวมแล้วเธออยู่ในเรือนจำนานถึงเกือบ 3 ปีครึ่ง ศาลทหารถึงอนุญาตให้ประกันตัวอีกครั้งด้วยเงินจำนวนเกือบล้านบาท เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561

แหวนบอกว่าหลังได้ประกันตัวมา เธอต้องใช้ยานอนหลับเพื่อช่วยให้นอนได้ และจากประสบการณ์ที่ถูกจับกุมไปขังไว้ในค่ายทหารทำให้ตอนนี้เธอหวาดระแวงมาก เธอไม่สามารถอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยได้

 

คนเสื้อแดงไปรอต้อนรับแหวนออกจากทัณฑสถานหญิงกลางในคืนวันที่ 4 กันยายน 2561 หลังศาลทหารได้ให้ประกันตัวอีกครั้ง ภาพโดย Banrsdr Photo

.

ทำไมมาสนใจเรื่องการเมือง

ย้อนกลับไปก่อนที่แหวนจะได้เข้ามาสัมผัสกับเรื่องการเมืองจนทำให้เธอได้มีเรื่องดีเรื่องร้ายเหล่านี้ เธอเคยทำงานเป็นผู้ช่วยเภสัชกรในร้านขายยาแห่งหนึ่งเป็นเวลา 4 ปี ทำให้มีความรู้เรื่องยา อุปกรณ์การแพทย์ พอลาออกจากงานเห็นมีเพื่อนทำงานเป็นพยาบาลอาสาอยู่ก็ไปช่วยเขาเป็นพยาบาลอาสาด้วย แต่ก็ไม่ได้ไปทำทุกวัน แต่จะทำเฉพาะตอนมีเหตุการณ์ เช่น น้ำท่วม วันสำคัญต่างๆ เช่นวันพ่อหรือวันแม่ ตอนนั้นไม่ได้มีสังกัดเป็นการรวมตัวกันเองไม่ได้มีสังกัดอะไร ตั้งกลุ่มกันเองชื่อกลุ่มกรีน เจเนอรัล ใช้สัญลักษณ์สีแดง

แหวนบอกว่าเธอไม่เคยไปชุมนุมทางการเมืองมาก่อนจนมีนาคมปี 2553 เมื่อการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เริ่มต้นขึ้นเพียงไม่กี่วัน เธอก็ได้จับพลัดจับพลูเข้าไปในที่ชุมนุมเพราะแม่ของเธอให้เธอไปตามน้องชายที่หายไปหลายเดือนในที่ชุมนุม แม้สุดท้ายเธอจะหาน้องไม่เจอ แต่เธอก็ได้เข้าไปในที่ชุมนุมหลายครั้งเพราะมีญาติและคนจากบ้านเดียวกันเข้าไปในที่ชุมนุมทำให้เธอได้คุยกับคนหลายคน แล้วก็ทำให้เธอมีโอกาสได้ใช้ความถนัดของตัวเอง

“พอไปหลายครั้งเข้าก็เกิดความสงสาร และรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาขาดคือยารักษาโรคและการทำแผลเบื้องต้น แผลยุงกัด แผลถลอก ฟกช้ำ ปวดหัว เป็นไข้ แพ้อากาศ ท้องเสีย แหวนก็ซื้อยาสามัญประจำบ้านและยาพารา ยาแก้แพ้ที่จ่ายเองได้เข้าไปแจกจ่ายแล้วก็ดูแล”

“เราก็ไม่รู้ใครเป็นใคร ณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) จตุพร (พรหมพันธุ์) วีระ (มุสิกพงศ์) 10 เมษา ตอนนัั้นยังไม่รู้เรื่องเลย เข้าไปก็แค่เข้าไปคุยกับคนที่บ้าน ก็ดีใจเพราะเราไม่ได้ไปบ้านนอกนาน 2 ปีครั้ง ปีละครั้ง ก็อารามดีใจ แล้วเราก็เห็นความลำบากเห็นความตั้งใจของพวกเขาเห็นที่พวกเขาถูกกระทำ เราก็ไม่ได้มีความรู้ทางการเมือง เราไม่ได้รู้ว่าพวกเขามาต่อสู้เพื่ออะไร เราแค่ว่าพวกเขาถูกกระทำแบบอยุติธรรมมากๆ เลย เรารับไม่ได้ที่พวกเขาถูกรังแก เขาแค่อยากได้หีบบัตรเลือกตั้งทำไมเขาต้องให้หีบศพ ทำไมเขาต้องเอาแก๊ซน้ำตายิงลงมาจาก ฮ. ทำไมเขาต้องมาไล่ยิงกันขนาดนี้ มันก็เกิดความผูกผันแล้วก็ความเป็นห่วงญาติแล้วก็ครูบาอาจารย์”

หลังเหตุการณ์ปี 2553 เธอก็เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น ทั้งการไปเป็นกรรมการหมู่บ้านเสื้อแดงที่จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมกลุ่ม PPN หรือ The People Power Network ทำการอบรผู้นำชุมชน แกนนำต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการอบรมภาวะผู้นำ เรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญของประเทศไทย เธอยืนยันว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นการทำอย่างถูกกฎหมายทุกอย่าง แต่พอเกิดรัฐประหาร 2557 กิจกรรมเหล่านี้ก็ลดลงเพราะถูกคณะรัฐประหารห้ามจัด

เมื่อถามว่าเธอเริ่มสนใจเรื่องการเมืองได้อย่างไร แหวนบอกว่าก่อนหน้านั้นก็มีความคิดทางการเมืองแต่ไม่ได้มากมายอะไร แต่เธอเห็นว่านโยบายของพรรคการเมืองที่เป็นรูปเป็นร่างมากที่สุดก็คือ ยุคของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เธอมีธุรกิจ 3 อย่าง จ้างคนงานได้หลายคน มีเงินหมุน และยังสามารถจ้างแม่บ้านให้มาช่วยดูแลลูกชายทั้งสองคนได้ด้วย ทำให้เธอมีเวลาไปเรียนศึกษาทักษะการทำงานเพิ่มเติม

แต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2555 ทำให้ธุรกิจหลายอย่างของเธอหายตามน้ำไปหมด และเธอก็เริ่มมีปัญหากับครอบครัวสามีเพราะเธอออกมาเผยแพร่ความจริงเกี่ยวกับเหตุสลายการชุมนุม

“ปี 2555 กิจการส่วนตัวจบหมด พลิกเลยทั้งครอบครัว กิจการโดนน้ำท่วมทั้งหมด ร้านเสริมสวยไม่เหลือเลยขายอะไรไม่ได้สักอย่าง เซ้งร้านก็ไม่ได้ ก็เซ้งแค่เครื่องสำอางให้เพื่อนทำต่อ โรงกลึงก็มีปัญหากับเพื่อนเรื่องการจ่ายเช็คเก็บเงิน จึงประคองไว้แค่ปั๊มลม แล้วทางแม่สามีก็ไม่เข้าใจที่เราเริ่มออกมาให้ข่าวเยอะเหมือนกัน โดนแม่สามีและน้องสาวตามอาละวาดเขาไม่ต้องการให้เผยแพร่ข่าวสารอะไรทั้งสิ้น เขาจ้างให้เลิกกับครอบครัว 1 แสนบาท เราไม่รับเงินแต่เราจะจบดีๆ คุยกันดีๆ พ่อเด็กๆ เขาก็ไม่ยอม จนกระทั่งบอกว่าเขาว่ามีแฟนใหม่จึงยอมแยกทางกันตอนปี 2555 และไม่ยอมให้เจอลูกชาย 2 คน ตอนนี้อยู่กับพ่อของเด็กๆ คนโตอายุ 16 ปี คนเล็ก 8 ปี สามีคนที่สองก็แยกทางกัน ไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากซ้ำเติม”

ถึงเธอจะได้ประกันตัวออกมาใช้ชีวิตข้างนอกแล้ว แต่หลังเหตุการณ์ทั้งหมดได้ผ่านมาทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับครอบครัวของอดีตสามียิ่งแย่ลง เมื่อครอบครัวสามีเธอไม่ยอมให้เธอติดต่อไปหาลูกๆ ทำให้เธอก็ไม่กล้าติดต่อไปอีก และตอนนี้เธอก็ยังไม่สามารถกลับไปมีอาชีพที่มั่นคงได้อีก นอกจากนั้นคดีทั้งสองคดีของเธอก็ทำให้เธอต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

คดีของเธอทั้งสองคดีก็ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเชื่องช้า ทั้งคดีที่เกี่ยวกับเหตุระเบิดที่อัยการทหารซึ่่งเป็นฝ่ายโจทก์ติดตามพยานมาไม่ได้บ่อยครั้งจนทำให้การพิจารณาคดีเลื่อนแล้วเลื่อนอีกนับสิบครั้ง โดยที่การสืบพยานในศาลทหารแม้ว่าศาลจะให้นัดสืบต่อเนื่องแต่ก็เป็นความต่อเนื่องคนละแบบกับศาลพลเรือนที่มักจะนัดสืบติดต่อกันทั้งสัปดาห์หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ในศาลทหารกลับเป็นเพียงการนัดล่วงหน้า 2-3 นัด โดยอาจจะเป็นการนัดสืบพยานเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งวัน การที่อัยการไม่สามารถติดตามพยานมาศาลบ่อยครั้งทำให้ทั้งเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายของผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอย่างมาก

ส่วนคดี ม.112 ของแหวนเพิ่งเริ่มสืบพยานเมื่อ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และคดีนี้หากศาลทหารมีคำพิพากษาแล้วจะอุทธรณ์ ฎีกาไม่ได้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้นคดีคาดว่าจะยังต้องสืบพยานกันอีกยาวนานเนื่องจากมีพยานทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายรวมกันถึง 20 ปาก แต่สืบไปได้เพียง 3 ปาก คดีที่สองนี้จึงอาจยาวนานไม่น้อยไปกว่าคดีแรกของเธอ

 

X